×

Rick Owens เจ้าชายแฟชั่นสายดาร์กที่ไม่เคยกลัวจะเลยขอบเขต

โดย OPOLOP POPPY
10.04.2019
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 Mins. Read
  • ริค โอเวนส์ ผู้ได้รับฉายาว่าเจ้าชายแห่งแฟชั่นสายดาร์ก เกิดที่พอร์เทอร์วิลล์ รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา หลังจบชั้นมัธยมปลาย เขาย้ายไปยังลอสแอนเจลิสเพื่อศึกษาการออกแบบแฟชั่นในวิทยาลัยศิลปะและการออกแบบ Otis College of Art and Design เป็นเวลา 2 ปี ตามมาด้วยการเข้าเรียนหลักสูตรการสร้างแพตเทิร์นและการจับเดรปที่ Los Angeles Trade-Technical College
  • เหตุการณ์ 9/11 ส่งผลกระทบทันทีต่อแบรนด์ Rick Owens เมื่อคอลเล็กชันที่ควรจะเปิดตัวในฐานะนักออกแบบหน้าใหม่ที่ถูกสนับสนุนโดย Vogue อเมริกา และ Style.com ในงาน New York Fashion Week Spring/Summer 2002 ถูกยกเลิกกะทันหัน ทำให้โชว์เดบิวต์ของแบรนด์ Rick Owens ต้องเลื่อนไปโชว์ในฤดูกาลถัดไป แต่ไม่เพียงเท่านั้น เพราะเหตุการณ์ 9/11 ยังส่งผลต่อมุมมองของริคที่มีต่อโลกใบนี้ นั่นคือไม่มีอะไรบนโลกที่สมบูรณ์แบบ เพราะความไม่สมบูรณ์แบบคือธรรมชาติที่งดงาม และถึงแม้โลกจะหมุนไปข้างหน้าโดยไม่เป็นไปตามที่หลายคนคาดหวัง แต่ท้ายที่สุดเรื่องที่หลายคนอาจมองว่ามืดมนก็ยังมีสิ่งงดงามให้ได้ค้นหาเสมอ
  • กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส คือหนึ่งในจุดหมายปลายทางที่นักออกแบบแฟชั่นทั่วโลกอยากไปสัมผัส โดยสำหรับริคแล้ว กรุงปารีสเปรียบดังสังเวียนใหญ่ที่สำหรับความท้าทายและพิสูจน์ฝีมือตัวเอง ดังที่เจ้าตัวเคยให้สัมภาษณ์ไว้กับ Style.com ว่า “Who doesn’t want to come to Paris if They’re a designer?”
  • ในปี 2006 ริคได้ว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญที่พิพิธภัณฑ์มาดามทุสโซเพื่อปั้นหุ่นขี้ผึ้งรูปเหมือนเจ้าตัวด้วยท่าทางที่กำลังปัสสาวะ เพื่อนำไปจัดแสดงในงานเทรดโชว์ชื่อดังอย่าง Pitti Uomo โดยปัจจุบันหุ่นขี้ผึ้งตัวแรกที่หลายคนมองว่าเป็นเรื่องสัปดนนั้นจัดแสดงอยู่ในร้าน Rick Owens ที่ Palais Royal กรุงปารีส

ปีนี้หนึ่งในแบรนด์ที่ผมโปรดปรานอย่าง Rick Owens กำลังก้าวเข้าสู่ปีที่ 25 ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับความเชื่อที่มีเกี่ยวกับคนวัยเบญจเพสแล้ว นี่คือช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อที่ต้องเฝ้าจับตาว่าจะประสบพบกับเรื่องร้ายหรือดี เป็นอีกหนึ่งช่วงวัยสำคัญที่คอยย้ำเตือนให้เฝ้าระวังว่าอย่าใช้ชีวิตประมาท

 

แม้ตัวผมเองเชื่อว่าจากประสบการณ์ในธุรกิจแฟชั่นที่ผ่านมาจะทำให้ ริค โอเวนส์ ผู้ก่อตั้งแบรนด์และดีไซเนอร์วัย 56 ปี พร้อมทั้ง มิเชล ลามี ผู้เป็นทั้งภรรยาสุดที่รักและมิวส์คนสำคัญจะสามารถพาแบรนด์ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นตัวพ่อของแฟชั่น ‘สายดาร์ก’ ซึ่งมีสาวกมากมายทั่วโลกก้าวข้ามปีสำคัญและพร้อมเข้าสู่ทศวรรษใหม่ในปีหน้าได้อย่างงดงามก็ตาม ดังนั้นผมจะขออาสาพาคุณผู้อ่านย้อนเวลาไปพบกับ 10 โมเมนต์สำคัญของหนึ่งในแบรนด์แม่เหล็กประจำสัปดาห์แฟชั่นของกรุงปารีสที่คุณอาจไม่เคยทราบมาก่อน

 

ริค โอเวนส์ ในวัยหนุ่ม (คนกลาง)

 

ริคอยู่ในสตูดิโอเล็กๆ ของตัวเองในปี 1998

 

กำเนิด Rick Owens

ริชาร์ด ซานเทอร์นิโน โอเวนส์ หรือที่รู้จักกันในนาม ริค โอเวนส์ ผู้ได้รับฉายาว่า ‘เจ้าชายแห่งแฟชั่นสายดาร์ก’ เกิดที่พอร์เทอร์วิลล์ รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา หลังจบชั้นมัธยมปลายก็ได้ย้ายไปยังลอสแอนเจลิสเพื่อศึกษาการออกแบบแฟชั่นในวิทยาลัยศิลปะและการออกแบบ Otis College of Art and Design เป็นเวลา 2 ปี ตามมาด้วยการเข้าเรียนหลักสูตรการสร้างแพตเทิร์นและการจับเดรปที่ Los Angeles Trade-Technical College ซึ่งสถาบันแห่งนี้นำไปสู่การทำงานในอุตสาหกรรมสิ่งทอ หลังจากสั่งสมประสบการณ์จนเจ้าตัวรู้สึกว่าถึงเวลาที่ควรจะมีแบรนด์เป็นของตัวเอง โดยได้รับการสนับสนุนจากบุคคลสำคัญอย่าง มาดามมิเชล ลามี อดีตแฟชั่นดีไซเนอร์ผู้มีแบรนด์เป็นของตัวเอง และผู้เป็นเจ้านายที่ว่าจ้างให้ริคมาทำไลน์เสื้อผ้าที่ชื่อว่า Lamy ก่อนที่ในท้ายที่สุดจะกลายมาเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจและภรรยาสุดที่รัก ทำให้ในปี 1994 ริคตัดสินใจเปิดแบรนด์ในชื่อตัวเองขึ้นมาให้โลกแฟชั่นได้รู้จัก

 

คอลเล็กชัน Fall/Winter 1998 ที่ใช้ชื่อว่า Monster หนึ่งในผลงานสร้างชื่อของ Rick Owens

 

คอลเล็กชัน Fall/Winter 2002 ผลงานเปิดตัวบนรันเวย์ New York Fashion Week ที่สนับสนุนโดย Vogue และ Style.com

 

เหตุการณ์ 9/11

คุณผู้อ่านที่เติบโตและทันรับรู้เรื่องราวเกี่ยวกับเหตุวินาศกรรมวันที่ 11 กันยายน 2001 หรือที่เรียกกันติดปากว่าเหตุการณ์ 9/11 คงทราบกันดีกว่านี่คือหนึ่งในเหตุการณ์สำคัญที่เปลี่ยนให้สหรัฐอเมริกาไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เหตุการณ์นี้ส่งผลกระทบทันทีต่อแบรนด์ Rick Owens เมื่อคอลเล็กชันที่ควรจะเปิดตัวในฐานะนักออกแบบหน้าใหม่ที่ต้องจับตาซึ่งสนับสนุนโดย Vogue อเมริกา และ Style.com (ชื่อเดิมของ Vogue Runway) ในงาน New York Fashion Week Spring/Summer 2002 ถูกยกเลิกกะทันหัน ทำให้โชว์เดบิวต์ของแบรนด์ Rick Owens ต้องเลื่อนไปโชว์ในฤดูกาลถัดไปคือเดือนกุมภาพันธ์ 2002 ปีเดียวกับที่เขาได้รับรางวัล CFDA Perry Ellis Emerging Talent Award

 

ไม่เพียงเท่านั้น เพราะเหตุการณ์ 9/11 ยังส่งผลต่อมุมมองของริคที่มีต่อโลกใบนี้ นั่นคือไม่มีอะไรบนโลกที่สมบูรณ์แบบ เพราะความไม่สมบูรณ์แบบคือธรรมชาติที่งดงาม และถึงแม้โลกจะหมุนไปข้างหน้าโดยไม่เป็นไปตามที่หลายคนคาดหวัง แต่ท้ายที่สุดเรื่องที่หลายคนอาจมองว่ามืดมนก็ยังมีสิ่งงดงามให้ได้ค้นหาเสมอ

 

ริค โอเวนส์ และปานอส เยียปานิส ในสตูดิโอ ขณะกำลังฟิตติ้งชุดนายแบบ

 

ปานอส เยียปานิส ที่แบ็กสเตจของโชว์ Rick Owens

 

เพื่อนคู่คิด

นับตั้งแต่ที่ริคเข้าสู่สนามแฟชั่นแบบเต็มรูปแบบก็ได้มีการปรับทิศทางของแบรนด์ จากเดิมที่ทำเสื้อผ้าออกมาเอาใจหนุ่มสาวแฟชั่นที่ชื่นชอบสไตล์กรันจ์แบบอเมริกันให้ดูหรูหราขึ้นจนได้รับฉายาราชาแห่ง Grunge Couture หรืออธิบายให้เห็นภาพคือเสื้อผ้าที่ดูดิบและดาร์กด้วยโทนสีและรูปแบบ


แต่ทั้งหมดเกิดจากการรังสรรค์โดยมีพื้นฐานอยู่บนปัจจัยสำคัญคือการเลือกใช้วัสดุชั้นดี งานแพตเทิร์นและคัตติ้งสุดเนี้ยบไม่ต่างจากการตัดเย็บอาภรณ์ชั้นสูง

และนั่นทำให้ผลงานของแบรนด์ Rick Owens โดดเด่นและแตกต่าง ซึ่งต้องยกความดีความชอบส่วนหนึ่งให้สุดยอดสไตล์ลิสต์นามว่า ปานอส เยียปานิส ผู้ที่ร่วมงานกับแบรนด์มาตั้งแต่ต้นยุค 2000s จนถึงปัจจุบัน เพราะปานอสคือบุคคลเบื้องหลังที่ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาและดูแลภาพรวมของคอลเล็กชัน ความสามารถของกัลยาณมิตรคนนี้การันตีได้จากความสำเร็จของแบรนด์ Rick Owens ตลอดระยะเวลาเกือบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา รวมทั้งแบรนด์อื่นๆ เช่น Givenchy (ในยุคของ ริคคาร์โด ทิสซี), Dsquared2, Vera Wang ฯลฯ

 

ร้าน Rick Owens สาขา Palais Royal ในกรุงปารีส

 

คอลเล็กชัน Spring/Summer 2007 ที่จัดหน้าร้านสาขา Palais Royal เพื่อฉลองการเปิดตัวสโตร์แห่งแรกของแบรนด์ Rick Owens

 

จากลอสแอนเจลิสสู่กรุงปารีส

กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส คือหนึ่งในจุดหมายปลายทางที่นักออกแบบแฟชั่นทั่วโลกอยากไปสัมผัส ซึ่งคำว่าสัมผัสในที่นี้ไม่ใช่เพียงแค่การไปเยือนเช่นเดียวกับนักท่องเที่ยวทั่วไป เพราะสำหรับริคแล้ว กรุงปารีสเปรียบดังสังเวียนใหญ่สำหรับความท้าทายและพิสูจน์ฝีมือตัวเอง ดังที่เจ้าตัวเคยให้สัมภาษณ์ไว้กับ Style.com ว่า “Who doesn’t want to come to Paris if They’re a designer?” การที่นักออกแบบจากอเมริกาสามารถสร้างสรรค์ผลงานให้ออกมาประทับใจคนยุโรปและทั่วโลกถือเป็นเป้าหมายสำคัญที่ทำให้ในปี 2003 ริคและเพื่อนที่เป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจ พร้อมทั้งมาดามมิเชล ภรรยาสุดที่รัก ตัดสินใจย้ายไปอาศัยอยู่ในเมืองหลวงของแฟชั่นแห่งนี้ อีกทั้งยังย้ายโชว์จากนิวยอร์กมาจัดใน Paris Fashion Week โดยเริ่มที่ Fall/Winter 2003 เป็นฤดูกาลแรก และหลังจากนั้นอีก 3 ปีต่อมาจึงเปิดบูติกแห่งแรกเป็นของตัวเองในแลนด์มาร์กสำคัญของกรุงปารีสที่ Galerie de Valois ในอาณาบริเวณของพระราชวังเก่าแก่ Palais Royal

 

ริค โอเวนส์ และหัวหน้าแผนกชุดขนสัตว์ของแบรนด์

 

ผลงานของ ริค โอเวนส์ สำหรับคอลเล็กชันกูตูร์ของแบรนด์ Revillon Fall/Winter 2003

 

บทบาทของกูตูริเยร์

แฟนคลับยุคหลังอาจไม่ทราบว่าริคเคยสวมบทบาท ‘กูตูริเยร์’ หรือช่างเสื้อชั้นสูงมาก่อน โดยในระหว่างปี 2002 -2007 ริคถูกแต่งตั้งให้เป็นอาร์ทิสติกไดเรกเตอร์ของ Revillon แบรนด์เก่าแก่ของประเทศฝรั่งเศสที่โดดเด่นในเรื่องของการรังสรรค์เสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากขนสัตว์ ซึ่งคอลเล็กชันของ Revillon ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ริคเป็นดูแลนั้นฉีกภาพลักษณ์เดิมๆ ด้วยโครงเสื้อ Deconstructive หรือโครงเสื้อที่ไม่เป็นไปตามแบบแผนที่คุ้นตา กลิ่นอายของโลกไซ-ไฟซึ่งเป็นความชื่นชอบส่วนตัว และความดิบแบบ Gothic Grunge ถือเป็นการรื้อกฎเกณฑ์เดิมๆ เพื่อนำเสนอสิ่งใหม่ๆ ให้สาวสังคมเงินหนาที่กำลังมองหากูตูร์ที่ดูหรูหรา แต่ไม่เหมือนกับกูตูร์ทั่วๆ ไป ประสบการณ์ในส่วนนี้ส่งผลมาสู่การที่ทำให้ในปัจจุบัน Rick Owens เป็นหนึ่งในแบรนด์แฟชั่นที่ใช้เฟอร์รังสรรค์ผลงานออกมาได้อย่างน่าสนใจ โดยการใช้เฟอร์และหนังเอ็กโซติกจะอยู่ในไลน์ที่ชื่อ Hun Rick Owens ซึ่ง Hun เป็นชื่อเล่นของภรรยาสุดที่รักนั่นเอง

 

ริค โอเวนส์ และหุ่นขี้ผึ้งโดยมาดามทุสโซที่แสดงท่าทางขณะเจ้าตัวกำลังปัสสาวะในปี 2006

 

ปัจจุบันหุ่นขี้ผึ้งตัวนี้ถูกจัดแสดงอยู่ในร้านสาขา Palais Royal กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

 

หุ่นขี้ผึ้งประจำร้าน Rick Owens

ในปี 2006 ริคได้ว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญที่พิพิธภัณฑ์มาดามทุสโซเพื่อปั้นหุ่นขี้ผึ้งรูปเหมือนเจ้าตัวขณะกำลังปัสสาวะขึ้นมา เพื่อนำไปจัดแสดงในงานเทรดโชว์ชื่อดังอย่าง Pitti Uomo โดยในปัจจุบันหุ่นขี้ผึ้งตัวแรกที่หลายคนมองว่าเป็นเรื่องสัปดนนั้นจัดแสดงอยู่ในร้านของ Rick Owens ที่ Palais Royal กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส นับจากวันนั้นเป็นต้นมา หุ่นติดเรตตัวนี้ก็กลายเป็นชิ้นไอคอนิกและจุดหมายปลายทางสำคัญที่ทำให้แฟนๆ ที่เดินทางไปเยือนปารีสได้แวะเพื่อช้อปปิ้งพร้อมถ่ายรูปเก็บไว้เป็นที่ระลึก และเพราะความสำเร็จจากการแชร์ต่อกันผ่านโลกอินเทอร์เน็ต ส่งผลให้แบรนด์นำแนวคิดนี้มาใช้กับร้านสาขาอื่นๆ ที่เปิดตามมา เช่น ส่วนศีรษะวางอยู่บนแท่นของร้านในลอนดอน (เปิดในปี 2009) หุ่นครึ่งคนครึ่งสัตว์ประหลาดของร้านในโตเกียว (เปิดในปี 2009) หุ่นครึ่งท่อนจัดวางบนแท่นที่มีลมเป่าให้ผมสยายตลอดเวลาของร้านในโซล (เปิดในปี 2010) และหุ่นท่าคลานสำหรับใช้งานเป็นโต๊ะรับรองของร้านใหม่บนเกาะฮ่องกง (เปิดในปี 2015) ฯลฯ

 

รองเท้ารุ่น Geobasket เวอร์ชันแรกและเวอร์ชันที่มีการปรับดีไซน์ใหม่

 

เบิร์ด ธงไชย สวมรองเท้ารุ่น Geobasket ในมิวสิกวิดีโอ OKAY ปี 2018



จากจุดเริ่มต้นที่โดนฟ้องสู่ยอดขายถล่มทลาย

หนึ่งใน ‘ชิ้นขาย’ ที่ทำกำไรให้แบรนด์ Rick Owens มากมายมหาศาลคือรองเท้ารุ่นต่างๆ โดยรุ่นเด่นซึ่งถูกพูดถึงมากที่สุดคือสนีกเกอร์หุ้มข้อรุ่น Geobasket ที่เปิดตัวมาในคอลเล็กชัน Men Fall/Winter 2006 แม้เวอร์ชันแรกจะเกิดอุปสรรคขึ้นเพราะถูก Nike ดำเนินการฟ้องร้อง เนื่องจากการตัดต่อผืนหนังเพื่อให้เกิดเส้นสายของตัวรองเท้าดันไปคล้ายคลึงกับโลโก้ Swoosh อันโด่งดังของแบรนด์ Nike ทำให้ในท้ายที่สุดทาง Rick Owens ได้มีการปรับดีไซน์ให้แตกต่างออกไป และยืนพื้นด้วยลวดลายใหม่ลักษณะนี้มาจนถึงปัจจุบัน จัดเป็นอีกหนึ่งชิ้นขึ้นชื่อของแบรนด์ที่ทำต่อเนื่องออกมาทุกซีซัน โดยมีการเปลี่ยนวัสดุเพื่อให้เข้ากับผลงานอื่นๆ ในฤดูกาลนั้นๆ เช่น การใช้หนังพื้นผิวเงาวับแบบเมทัลลิก การตกแต่งห่วงโลหะ การติดสายหนังเส้นยาวเข้ากับหัวซิป การทำพื้นรองเท้าใส รวมถึงการนำหนัง Pony และ Python มาใช้เพื่อเพิ่มมูลค่า ซึ่งคนดังในไทยที่ใส่รองเท้ารุ่นนี้ให้เห็นกันบ่อยๆ มีทั้ง โดม-ปกรณ์ ลัม ไปจนถึง เบิร์ด-ธงไชย แมคอินไตย์ ที่เพิ่งใส่รองเท้ารุ่น Geobasket ขึ้นคอนเสิร์ตที่ผ่านมา

 

ป้ายของไลน์ DRKSHDW เป็นรูปของริคที่สวมรองเท้าบู๊ตส้นสูง

 

Eastpak x DRKSHDW ในปี 2009

 

DRKSHDW ไลน์ลำลองที่ใส่ง่าย
หลังจากแบรนด์ Rick Owens ประสบความสำเร็จทั้งทางด้านชื่อเสียง รายได้ สร้างฐานแฟนคลับกระจายไปทั่วโลกทั้งในยุโรปและเอเชียได้เป็นผลสำเร็จ ในปี 2008 ทางแบรนด์จึงตัดสินใจเปิดไลน์ลำลองขึ้นมาในชื่อว่า DRKSHDW (ดาร์กชาโดว์) มีป้ายเป็นเอกลักษณ์คือรูปของริคที่สวมรองเท้าบู๊ตส้นสูง ซึ่งเป็นภาพจำที่หลายคนนึกถึงเจ้าตัวเมื่อครั้งเข้าสู่สังเวียนแฟชั่นในช่วงแรกเพื่อมาเสริมทัพทำกำไรให้อาณาจักร Owens Corp เติบโตขึ้น โดยไลน์นี้เน้นชิ้นงานที่ ‘ซื้อง่ายขายคล่อง’ เช่น งานเดนิม เสื้อยืด เสื้อเชิ้ต แจ็กเก็ต ที่มีการปรับแพตเทิร์นและวัสดุจากไลน์หลักให้ใส่ได้หลายโอกาส รองเท้ารุ่น Ramones ที่ใช้วัสดุหลักเป็นผ้า และที่สำคัญคือมีราคาที่ย่อมเยากว่าไลน์หลัก อีกทั้งในปี 2009 ไลน์ DRKSHDW ยังได้ร่วมงานกับแบรนด์ดัง Eastpak เปิดตัวคอลเล็กชันพิเศษสไตล์อาว็องการ์ดให้แฟนๆ ได้ตามเก็บสะสม ถือเป็นนักออกแบบคนแรกๆ ที่ปูทางให้ Eastpak ทำคอลเล็กชันพิเศษร่วมกับแฟชั่นดีไซเนอร์ชื่อดังมาจนถึงปัจจุบัน

 

รองเท้า Adidas x Rick Owens รุ่น Tech Runner เปิดตัวในปี 2013

 

 

นักเต้นพลัสไซส์สวมรองเท้ารุ่น Tech Runner ในโชว์คอลเล็กชัน Spring/Summer 2014

 

การร่วมงานกับ Adidas

ชื่อเสียงของ Rick Owens ถูกพูดถึงเป็นวงกว้างขึ้นในต้นทศวรรษที่ 2010s เมื่อทางแบรนด์ประกาศร่วมงานกับแบรนด์กีฬายักษ์ใหญ่ระดับ Adidas โดยผลงานสร้างชื่อชิ้นแรกเปิดตัวในปี 2013 สำหรับฤดูกาล Men & Women’s Spring/Summer 2014 เป็นสนีกเกอร์ดีไซน์สุดล้ำตามสไตล์ โดยใช้ชื่อรุ่นว่า Tech Runner เพื่อให้สอดรับกับไอเดียการออกแบบที่อิงจากภาพยนตร์แนวไซ-ไฟ แถมแฟชั่นโชว์ที่ใช้ในการเปิดตัวรองเท้ารุ่นนี้ก็ถูกพูดถึงเป็นอย่างมาก เมื่อมีการใช้นักเต้นพลัสไซส์ที่สวมใส่เสื้อผ้าของ Rick Owens พร้อมสวมรองเท้า Tech Runner เต้นตลอดการแสดง นอกจากเป็นการโชว์ให้เห็นว่าดีไซน์ไปด้วยกันได้กับเสื้อผ้าที่หลากหลายแล้วยังเป็นการโชว์ศักยภาพความแข็งแรงไปด้วยในตัว แม้คอลเล็กชันพิเศษ Adidas x Rick Owens มีราคาที่ค่อนข้างสูง แต่ก็ได้ผลตอบรับที่ดีและประสบความสำเร็จทางด้านยอดขายจนกลายเป็นอีกรุ่นที่ ‘ขาดตลาด’ ทันทีที่วางจำหน่าย นำมาซึ่งราคารีเซลที่พุ่งติดขอบเพดาน ส่งผลให้มีการร่วมงานอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งหมดสัญญาในปี 2017

(ซ้าย) ผลงานของ ชาร์ลส์ เจมส์ ในปี 1937


(ขวา) นิทรรศการ Charles James The Couture Secrets of Shape ที่ Joyce Gallery Paris

 

ผลงานของ Rick Owens ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากผลงานของ ชาร์ลส์ เจมส์ รูปซ้ายจาก Fall/Winter 2011 และรูปขวา Fall/Winter 2019

 

ด้วยรักและศรัทธาในกูตูริเยร์รุ่นใหญ่

ริค โอเวนส์ เป็นนักออกแบบแฟชั่นอีกหนึ่งรายที่มักได้แรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานจากงานศิลปะอันล้ำค่า สถาปัตยกรรมเก่าแก่ ภาพยนตร์ยุคขาว-ดำของนางเอกและสไตล์ไอคอนระดับตำนานอย่าง มาร์ลีน ดีทริช และชิ้นงานระดับมาสเตอร์พีซของกูตูริเยร์ในอดีต ไม่ว่าจะเป็น มาดามเกรย์, คริสโตบัล บาเลนเซียกา, อูแบร์ เดอ จีวองชี และชาร์ลส์ เจมส์ โดยเฉพาะกับรายหลังที่แบรนด์ Rick Owens เคยนำเสนอคอลเล็กชันอันเลื่องชื่อซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากพัฟเฟอร์แจ็กเก็ตชิ้นดังในปี 1937 มาแล้วครั้งหนึ่งในฤดูกาล Women’s Fall/Winter 2011 แต่ปี 2019 นี้ ในวาระที่ Joyce Gallery Paris ร้านเพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้กันใน Palais Royal จัดนิทรรศการ Charles James: The Couture Secrets of Shape ขึ้น และได้มาดามมิเชล ลามี ภรรยาสุดที่รักเป็นผู้ประสานงาน ทำให้ Rick Owens สร้างสรรค์คอลเล็กชันสำหรับฤดูกาลล่าสุด Fall/Winter 2019 โดยมีชิ้นงานอันเลื่องชื่อของชาร์ลส์ เจมส์ เป็นภาพจำตั้งต้นอีกครั้งหนึ่ง

 

 

Cover Photo: Francois Guillot / AFP

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X