สุริพงษ์ ตันติยานนท์ ผู้จัดการวีซ่า ประเทศไทย ให้ข้อมูลผลการสำรวจ ‘VISA: Consumer Payment Attitudes Study 2018’ ซึ่งเก็บข้อมูลกลุ่มตัวอย่าง 4,000 คนจาก 10 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน สะท้อนทัศนคติของผู้บริโภคที่มีต่อการชำระเงินในรูปแบบต่างๆ สำหรับประเทศไทยถือเป็นตลาดที่ศักยภาพสูงของวีซ่า เนื่องจากประชาชนสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ถึง 82% โดยที่จำนวนโทรศัพท์มือถือมีมากถึง 133% ของประชากรไทยทั้งหมด ระดับการเข้าถึงโซเชียลเน็ตเวิร์กอยู่ที่ 71%
แม้ผู้บริโภคชาวไทยจะคุ้นเคยกับโลกดิจิทัลอยู่แล้ว แต่วีซ่าชี้ว่า 76% ของกลุ่มตัวอย่างยังใช้จ่ายเงินสดสำหรับการใช้จ่ายส่วนบุคคลอยู่ ทั้งที่ระดับการเข้าบริการทางการเงินของธนาคารสูงถึง 83% จึงถือว่ามีโอกาสในการขยายการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (E-Payment) ที่จะขยายตัวอีกมาก ที่ผ่านมาวีซ่าพยายามผลักดันเรื่องการชำระเงินผ่านคิวอาร์โค้ดทั่วประเทศ นำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้สำหรับการโอนเงินระหว่างประเทศของกลุ่มลูกค้าองค์กร ซึ่งเป็นความร่วมมือกับธนาคารกสิกรไทย ขณะนี้ยังอยู่ในกระบวนการทดลองในแซนด์บ็อกซ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย และคาดว่าจะนำออกใช้ได้จริงเร็วๆ นี้
จากการศึกษาข้างต้น พบว่ากลุ่มตัวอย่างยังนิยมใช้เงินสดถึง 92% ซึ่งสัดส่วนเพิ่มมากขึ้นจากการเติบโตของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ และผู้บริโภคชาวไทยยังนิยมการชำระเงินสดเมื่อได้รับสินค้า (Cash on delivery) อยู่ ขณะที่การใช้จ่ายในรูปแบบชำระเงินบนแอปพลิเคชัน (In-App Mobile) ขยายตัวแตะ 57% สอดคล้องกับแพลตฟอร์มต่างๆ รวมถึงบริการรูปแบบออนดีมานด์ที่เติบโต การชำระเงินด้วยการแตะบัตร (Contactless Card) อยู่ที่ 35% การชำระเงินผ่านคิวอาร์โค้ด 32% การชำระเงินด้วยการแตะโทรศัพท์มือถือ (Mobile Contactless) 32% และการโอนเงินระหว่างบุคคล (Peer-to-peer) เช่น บริการพร้อมเพย์อยู่ที่ 18%
กลุ่มตัวอย่างชาวไทย ระบุว่าปัจจุบันคนพกเงินสดติดตัวน้อยลงเนื่องจากการใช้งานคิวอาร์โค้ด และบริการที่อำนวยความสะดวกในการชำระเงินที่หลากหลาย ทำให้หันมาใช้บริการรูปแบบอื่นแทนเงินสดมากขึ้น 62% ของกลุ่มตัวอย่างให้ความเห็นว่าสามารถใช้ชีวิตทั้งวันได้โดยไม่ใช้เงินสด ขณะที่กลุ่มตัวอย่าง 10% มองว่าสามารถใช้ชีวิตโดยปราศจากเงินสดได้ 1 เดือนเต็มหรือนานกว่านั้น ปัจจัยที่เป็นตัวเร่งของการใช้งาน E-Payment คือ ไว้ใจเรื่องความปลอดภัยมากขึ้น สะดวกสบาย และสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายตามต้องการได้ เนื่องจากปัจจุบันบัตรเครดิตและบัตรเดบิตสามารถกำหนดได้ด้วยทั้งวงเงินและหมวดหมู่ของสินค้าที่จะซื้อได้แล้ว
สิ่งที่น่าสนใจคือ 85% ของกลุ่มตัวอย่างต้องการให้มีแอปพลิเคชันเพียงแอปฯ เดียวที่สามารถชำระเงินค่าสินค้าและบริการทุกประเภทได้ ซึ่งในปัจจุบัน 60% ของกลุ่มตัวอย่างมีกระเป๋าสตางค์อิเล็กทรอนิกส์ (E-Wallet) 1-2 แอปฯ อยู่แล้ว นอกจากนี้ การชำระเงินด้วยการแตะบัตรหรืออุปกรณ์ในการชำระเงิน (Contactless Payment) เป็นแนวทางการชำระเงินที่สำคัญของโลกในอนาคต ซึ่งสถาบันการเงินในขณะนี้จะเน้นเรื่องดังกล่าวทั้งระบบ เพื่อผลักดัน ‘Open Loop Payment’ ที่สามารถแตะบัตรเพื่อชำระสินค้า บริการ และขนส่งสาธารณะได้อัตโนมัติ โดยที่ไม่ต้องพกบัตรหรืออุปกรณ์ที่จำกัดเฉพาะการใช้งานในแพลตฟอร์มนั้นๆ
แม้กลุ่มตัวอย่างชาวไทยตระหนักรู้เรื่องการชำระเงินผ่านคิวอาร์โค้ดมากขึ้นถึง 93% และ 74% สนใจเรื่องการจ่ายเงินด้วยวิธีการดังกล่าว แต่การใช้งานคิวอาร์โค้ดเพื่อชำระเงินจริงนั้นยังอยู่ในระดับ 35% เท่านั้น จึงยังมีโอกาสในการผลักดันเรื่องดังกล่าวอีกมาก ขณะที่การซื้อของออนไลน์เติบโตขึ้นแบบก้าวกระโดด พบว่ากลุ่มตัวอย่าง 8% จะซื้อสินค้าออนไลน์ทุกวันผ่านโทรศัพท์มือถือ 21% จะซื้อสินค้าสัปดาห์ละ 1 ครั้ง และ 15% ของกลุ่มตัวอย่างจะซื้อสินค้าออนไลน์เดือนละ 1 ครั้ง
สำหรับความกังวลของผู้ที่ทำธุรกิจเรื่องการถูกตรวจสอบโดยภาครัฐเมื่อใช้ E-Payment นั้น สุริพงษ์ให้ความเห็นว่ารูปแบบการชำระเงินของผู้คนทั่วโลกจะเปลี่ยนแปลงไปสู่ E-Payment มากยิ่งขึ้น รวมทั้งความสะดวกจากการแตะบัตรหรืออุปกรณ์เพื่อชำระเงินจะมีบทบาทมากขึ้น ร้านค้าที่มีช่องทางการชำระเงินที่หลากหลายจะได้เปรียบกว่าร้านที่รับชำระเงินด้วยเงินสดเพียงอย่างเดียว ซึ่งจะเป็นผลดีกับยอดขาย และความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจอย่างหลีกเลี่ยงมิได้
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์