×

Us (2019) ตายสิบเกิดแสน เรื่องสยองขวัญจากดินแดนแห่ง (การไม่มี) โอกาสและเสรีภาพ

01.04.2019
  • LOADING...
Us (2019)

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • Us ไม่ใช่หนังสยองขวัญที่ตั้งหน้าตั้งตาทำร้ายคนดูด้วยฉากน่าตื่นเต้นเขย่าขวัญอย่างไม่ลืมหูลืมตา ตรงกันข้าม มีหลายช่วงที่หนังสลับสับเปลี่ยนกลับไปมาระหว่างห้วงเวลาที่ตึงเครียดกดดันมากๆ และการสอดแทรกอารมณ์ขันที่เรียกเสียงหัวเราะจากคนดูอย่างไม่ทันได้ตั้งตัว
  • หนังไม่ได้เน้นหนักประเด็นสีผิวเหมือนกับเรื่อง Get Out เงื่อนงำและร่องรอยหลายอย่างพุ่งเป้าไปที่ความเหลื่อมล้ำต่ำสูงในทางฐานะและชนชั้น ตลอดจนการต้องเลียนแบบและทำตามเพื่อว่าจะได้ไม่ถูกทิ้งห่างในแง่ของความมั่งคั่งและการเป็นเจ้าข้าวเจ้าของ

หนังเรื่อง Us (2019) เป็นผลงานลำดับที่สองของ จอร์แดน พีล ต่อจาก Get Out (2017) ซึ่งประสบความสำเร็จทั้งทางด้านรายได้และผลรางวัลอย่างล้นหลาม (น่าเชื่อว่าจนถึงปัจจุบัน นักดูหนังคงยังไม่ลืมภาพของชายหนุ่มอ้าปากค้าง ดวงตาเบิกโพลง สีหน้าบ่งบอกความตื่นกลัวสุดขีด ซึ่งกลายเป็นช็อตที่ติดแน่นทนนานในความทรงจำ) และในลักษณะที่ไม่แตกต่างจากเรื่องแรก Us ไม่ใช่หนังที่ถูกสร้างขึ้นมาด้วยจุดประสงค์เพื่อกระตุกขวัญสั่นประสาทคนดูเพียงอย่างเดียว แม้เป็นไปได้ว่าหลายๆ คนที่จ่ายเงินซื้อตั๋วอาจจะต้องการเพียงแค่นั้น และหนังซุกซ่อนความหมายบางอย่างที่กระตุ้นเร้าให้ต้องตีความ หรืออย่างน้อยพยายามรู้ให้ได้ว่าคนทำหนังต้องการจะสื่อสารอะไรกันแน่ ไม่มากไม่น้อย เรื่องสยองขวัญที่ถูกผูกขึ้นอย่างน่าฉงนสนเท่ห์ จึงเหมือนกับเป็นข้ออ้างสำหรับการเรียกร้องให้ผู้ชมมองเห็นปัญหาหรือความยุ่งยากบางอย่างที่ถูกมองข้ามหรือเพิกเฉยอย่างน่าเวทนา

 

Us (2019)

 

หนังเรื่อง Us (ซึ่ง จอร์แดน พีล ทั้งเขียนบทและกำกับเหมือนเรื่องแรก) เริ่มต้นด้วยการพาคนดูย้อนกลับไปในปี 1986 ครอบครัวคนผิวสีซึ่งประกอบไปด้วยพ่อ แม่ และลูกสาว พากันมาเที่ยวสวนสนุกริมชายหาดในยามค่ำคืน และในระหว่างผู้เป็นพ่อกำลังสาละวนกับเกมการละเล่นเบื้องหน้า (ข้อน่าเอ่ยถึงก็คือ เกมที่ใครคนนี้เล่นผูกโยงกับเนื้อหาที่หนังกำลังจะบอกเล่าได้อย่างแยบยล) เด็กหญิงแอเดอเลดก็เดินเตร็ดเตร่และหลงเข้าไปในห้องกระจกเงาเพียงลำพัง และเหตุการณ์น่าตื่นตระหนกบางอย่างที่เกิดขึ้นในนั้นดูเหมือนจะส่งผลกระทบต่อตัวละครอย่างรุนแรง และนำพาให้สาวน้อยในตอนที่กลับออกมาไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

 

จากนั้นหนังก็พาผู้ชมข้ามกาลเวลามาช่วงปัจจุบัน แอเดอเลด วิลสัน (สวมบทโดย ลูพิตา นยองโก) เป็นแม่ลูกสอง เธอและ เก๊บ วิลสัน (วินสตัน ดุ๊ก) คนรัก กำลังขับรถไปพักผ่อน ณ บ้านตากอากาศซึ่งอยู่ไม่ห่างไกลจากชายหาดที่เกิดเรื่องในช่วงวัยเยาว์ และผู้ชมไม่เพียงสังเกตได้ถึงอะไรบางอย่างที่ยังคงตกค้างในความรู้สึกของตัวละคร เจ้าตัวยังแสดงออกในลักษณะสติแตกและเกินกว่าเหตุในฉากที่จู่ๆ เจสัน ลูกชายคนเล็กซึ่งเล่นสนุกอยู่บนชายหาดเกิดคลาดสายตา

 

ไม่ว่าจะอย่างไร ข้อที่น่ากล่าวถึงประการหนึ่งได้แก่ ฐานะทางเศรษฐกิจของตัวละครที่เรียกได้ว่ามีอันจะกิน ทั้งจากรูปแบบการใช้ชีวิต บ้านพักตากอากาศช่วงฤดูร้อน และล่าสุดเก๊บก็เพิ่งซื้อเรือสปีดโบ๊ตราคาถูก ส่วนหนึ่งก็เพื่อให้ ‘ทัดเทียม’ เพื่อนบ้าน ซึ่งในที่นี้ได้แก่พวกไทเลอร์ ซึ่งเป็นครอบครัวคนขาว กระนั้นก็ตาม หนังไม่ได้เน้นหนักประเด็นสีผิวเหมือนกับเรื่อง Get Out เงื่อนงำและร่องรอยหลายอย่างพุ่งเป้าไปที่ความเหลื่อมล้ำต่ำสูงในทางฐานะและชนชั้น ตลอดจนการต้องเลียนแบบและทำตามเพื่อว่าจะได้ไม่ถูกทิ้งห่างในแง่ของความมั่งคั่งและการเป็นเจ้าข้าวเจ้าของ

 

Us (2019)

 

จุดเริ่มต้นเรื่องจริงๆ ได้แก่เหตุการณ์ที่ครอบครัววิลสันสังเกตเห็นร่างเงาตะคุ่มๆ ของคนกลุ่มหนึ่งยืนจับมือเรียงเป็นหน้ากระดานอยู่ปากทางเข้าบ้านในยามวิกาล สันนิษฐานได้ไม่ยากว่าคงจะไม่ได้มาดี และภายหลังจากที่พวกนั้นบุกจู่โจมเข้ามาภายในตัวบ้าน สิ่งที่ทั้งหมดพบด้วยความคาดไม่ถึงก็คือ อาคันตุกะที่ไม่ได้รับเชิญซึ่งอยู่ในชุดสีแดงและมาพร้อมกับกรรไกรในมือ ล้วนมีรูปร่างหน้าตาเหมือนกับทุกคน หรืออีกนัยหนึ่ง พวกเขาเป็น ‘อีกเวอร์ชัน’ ของครอบครัววิลสัน ทว่าสีหน้าสีตาและการแสดงออกของพวกเขาดูย่ำแย่และทุกข์ระทม อันที่จริงแล้วไม่มีใครในครอบครัวคนแปลกหน้าพูดภาษาคนได้เลย ยกเว้นตัวละครที่เป็นคู่แฝดของนางเอกที่สื่อสารด้วยน้ำเสียงที่แหบห้าว น้ำตาไหลพรากตลอดเวลา ใครได้เห็น ได้ยิน และได้ฟังก็คงสัมผัสได้ถึงความเจ็บปวดและทุกข์ทรมาน

 

สิ่งที่ผู้ชมพอจะสรุปได้จากถ้อยคำของตัวละครนี้ก็คือ คนกลุ่มนี้เรียกตัวเองว่า ร่างเงา (Shadows) พวกเขามีชีวิตอยู่ด้วยความยากแค้นลำเค็ญ และเหนืออื่นใด ด้วยความเกลียดชัง และหากจะสาธยายแบบไม่เปิดเผยเงื่อนงำต่างๆ ของหนังจนเกินไป การปรากฏตัวของพวกเขาก็นัยว่าต้องการทวงคืนสิ่งที่สูญเสียหรือไม่เคยได้รับตั้งแต่ต้น หรือสิ่งที่ถูกแย่งชิงเอาไป

 

 

ว่าไปแล้ว เนื้อหาตามที่บรรยายสรุปเพียงเท่านี้อาจจะไม่สามารถสร้างผลกระทบทางอารมณ์และความรู้สึกอย่างมหึมา เพราะในแง่มุมหนึ่ง นอกจากแนวเรื่องว่าด้วยคนร้ายบุกรุกเข้ามาในบ้านจะไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่สักเท่าใด ยังคลับคล้ายว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นแต่เฉพาะกับครอบครัวเล็กๆ นี้เท่านั้น ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่ ส่วนที่ชวนให้ขนหัวลุกทีเดียวได้แก่ การที่คนทำหนังนำ ‘พฤติกรรมประสานมือเป็นหน้ากระดาน’ ของกลุ่มผู้บุกรุกนี้ไปเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในอเมริกาช่วงกลางทศวรรษ 1980 และเมื่อมองย้อนกลับไป มันเป็นอะไรที่ดูพิลึกพิลั่น เสียสติ และบ้าคลั่งทีเดียว

 

เหตุการณ์จริงที่ว่าก็คือ การรณรงค์ต่อต้านความหิวโหยและการไม่มีที่อยู่อาศัยภายใต้โครงการระดมทุนที่ใช้ชื่อ Hands Across America ซึ่งผู้เข้าร่วมกิจกรรมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยการยืนจับมือเรียงแถวเหมือนห่วงโซ่มนุษย์จากฟากขวาสุดของประเทศอันได้แก่ นิวยอร์ก ไปจรดซ้ายสุด ซึ่งก็คือเมืองลอสแอนเจลิส หนังของ จอร์แดน พีล เผยให้เราได้เห็นส่วนหนึ่งของโฆษณาดังกล่าวในช่วงต้นเรื่อง และดูผิวเผิน ภาพของผู้คนจับมือกันเป็นทอดๆ ส่งสัญญาณที่ทั้งบวกและเต็มเปี่ยมไปด้วยความหวังทีเดียว

 

แต่ก็นั่นแหละ ในทันทีที่ผู้ชมได้เห็นอะไรคล้ายๆ กันแบบนี้อีกครั้ง รูปการณ์เปลี่ยนไปอย่างชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ นอกจากไม่มีอะไรที่พอจะเรียกได้ว่าเป็นความหวังหรือความไร้เดียงสา ภาพที่ปรากฏเบื้องหน้ายังดูน่าตื่นตระหนกและหวาดผวา มันดูเหมือนลัทธิอุบาทว์ที่น่าประหวั่นพรั่นพรึง ไหนๆ ก็ไหนๆ วิธีการที่คนทำหนังเลือกนำเสนอเนื้อหาส่วนนี้ก็เป็นดังที่กล่าวข้างต้น นำเอาสิ่งที่ถูกหมักหมมไว้ภายใต้ฉากหน้าสวยหรูออกมาตีแผ่ให้ผู้คนรับรู้และมองเห็น

 

แต่สารัตถะและความหมายที่คนทำหนังต้องการจะสื่อสารก็เรื่องหนึ่ง แท็กติกและกลวิธีก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งโดยสิ้นเชิง และต้องบอกว่าอย่างหลังช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับโครงสร้างของหนังเรื่อง Us อย่างยิ่ง ไล่เลียงได้ตั้งแต่การผูกเรื่องและการวางกรอบการเล่าที่ในความสลับซับซ้อน ยังสอดแทรกไว้ด้วยรายละเอียดโน่นนี่นั่น (หรือใครจะเรียกว่า Easter Eggs ก็คงได้) ที่เชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายความหมายที่แน่นหนารัดกุม อีกทั้งความน่าเคลือบแคลงหรือความคลุมเครือของเนื้อหาในหลายส่วนก็ยังเปิดกว้างให้ผู้ชมตีความได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุดจริงๆ ไล่เลียงตั้งแต่การเล่นกับตัวเลขและข้อความในคัมภีร์ไบเบิล พฤติกรรมแปลกๆ ของเจสัน ลูกชายคนเล็ก แผลเป็นจากการถูกไฟคลอกของพลูโต คู่เหมือนของเจสัน ไปจนถึงการหักมุมในช่วงท้ายที่ไม่ได้เพียงแค่สร้างความพิศวงให้กับคนดู ทว่ายังน่าจะช่วยเติมเต็มความหมายที่คนทำหนังต้องการจะสื่อสารให้ยิ่งแหลมคม

 

 

อีกอย่างได้แก่จังหวะจะโคนในการเล่า ความน่าทึ่งและจะเรียกว่าเป็นทักษะอันเยี่ยมยอดของจอร์แดน พีล ในฐานะผู้กำกับก็คงได้ก็คือ Us ไม่ใช่หนังสยองขวัญที่ตั้งหน้าตั้งตาทำร้ายคนดูด้วยฉากน่าตื่นเต้นเขย่าขวัญอย่างไม่ลืมหูลืมตา ตรงกันข้าม มีหลายช่วงที่หนังสลับสับเปลี่ยนกลับไปมาระหว่างห้วงเวลาที่ตึงเครียดกดดันมากๆ และการสอดแทรกอารมณ์ขันที่เรียกเสียงหัวเราะจากคนดูอย่างไม่ทันได้ตั้งตัว (หนึ่งในนั้นได้แก่การเล่นมุกเกี่ยวกับหนังเรื่อง Home Alone อย่างผิดกาลเทศะของตัวละคร) และนั่นช่วยลดทอนภาวะคอขาดบาดตายของหนังไปได้เยอะทีเดียว

 

และแน่นอน การแสดงของ ลูพิตา นยองโก ที่ไม่มีทางที่ใครจะมองไม่เห็นความอุทิศทุ่มเทของเธอ และบทที่ได้รับก็ช่างเปิดโอกาสเหลือเกิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการต้องสวมคาแรกเตอร์ ‘แฝดนรก’ ของแอเดอเลด ผู้ซึ่งในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ของการปรากฏตัวเรากลับรับรู้ได้ถึง ‘ตลอดทั้งชีวิต’ ของความวิปโยคของตัวละคร และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การไม่มีโอกาสได้เห็นแสงเดือนแสงตะวัน

 

หรือกล่าวโดยสรุปแล้ว Us เป็นหนังที่นอกจากใช้ประโยชน์จากกลไกของหนังสยองขวัญอย่างได้ผลแล้ว ความสำเร็จอย่างยิ่งยวดได้แก่การทำให้ผู้ชมตระหนักได้ว่า การดูหนังเรื่องนี้เป็นเสมือนการเดินทางที่มีความหมาย และโลกของหนังสยองขวัญกับความเป็นจริงไม่ได้ดำรงอยู่อย่างเป็นเอกเทศแต่อย่างใด

 

Us (2019)

กำกับ: จอร์แดน พีล

นักแสดง: ลูพิตา นยองโก, วินสตัน ดุ๊ก, ชาร์ฮาดิ ไรท์ โจเซฟ, อีวาน อเล็กซ์ ฯลฯ

 

ตัวอย่างภาพยนตร์ 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X