คบเพลิงของมหกรรมการแข่งขันกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้จุดขึ้นเมื่อวันที่ 19 สิงหาคมที่ผ่านมา แต่เวลาเพียงไม่ถึงสัปดาห์ข่าวที่ดูจะเป็นที่พูดถึงมากเป็นพิเศษ คือกลโกงของเจ้าภาพจัดการแข่งขัน ซึ่งประเทศมาเลเซีย ถูกวิจารณ์อย่างหนักเรื่องจากบริหารจัดการ การขนส่งนักกีฬา การจัดการอาหาร การจัดหาสนามซ้อม การพิมพ์ภาพประเทศอินโดนีเซียกลับหัว จนกลายเป็น ธงชาติโปแลนด์ และขาดการให้ข้อมูลการแข่งขันที่รวดเร็วและแม่นยำ เพื่อการทำงานที่สะดวกรวดเร็วและแม่นยำสำหรับสื่อมวลชน ที่เดินทางเข้ามารายงานข่าวการแข่งขัน จนเกิดแฮชแท็ก #ซีโกง2017 ขึ้นเต็มโลกโซเชียลมีเดีย
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทาง THE STANDARD ได้ต่อสายตรงกับ ณัฐธวัช อิงควิธาน ผู้สื่อข่าว และผู้ประกาศข่าวกีฬาซึ่งเดินทางมารายงานข่าวการแข่งขันซีเกมส์เป็นครั้งที่ 3 โดยณัฐธวัชเปิดเผยว่าจากการแข่งขันที่ผ่านมาไม่กี่วันนี้ ได้พบกับปัญหาการบริหารจัดการที่เกิดขึ้นจากเจ้าภาพ โดยเฉพาะการแข่งขันกีฬาฟุตซอล ซึ่งทั้งทีมชายและหญิงที่ประสบปัญหาการเดินทาง
“จากการได้พูดคุยกับนักกีฬาฟุตซอลพบว่ามีปัญหาสนามซ้อมไม่พร้อม และวันแรกรถบัสไม่มี ทำให้นักกีฬาต้องเดินทางไปเอง ซึ่งพอไปถึงสนามก็เจอตารางเปลี่ยนกะทันหัน ให้ต้องรอหนึ่งชั่วโมงถึงจะได้ซ้อม ส่วนทีมชายก็เจอปัญหาเดียวกันคือต้องนั่งแท็กซี่ไปเอง ซึ่งจากการได้พูดคุยกับคุณอดิศักดิ์ เบ็ญจศิริวรรณ ประธานพัฒนาฟุตซอลแห่งชาติ ก็บอกว่าเป็นเรื่องความไม่พร้อมในช่วงต้น ซึ่งเขามองว่าไม่แปลก แต่เขาพูดในทำนองรักษาน้ำใจเจ้าภาพ ซึ่งเขามองว่านอกจากไทยแล้วทีมอื่นก็โดนเหมือนกัน และทางเจ้าภาพก็ได้ปรับปรุงแล้ว”
ณัฐธวัชเชื่อว่าความพร้อมของมาเลเซียในฐานะเจ้าภาพถือว่าห่างไกลจากประเทศสิงคโปร์ เจ้าภาพจัดการแข่งขันซีเกมส์ครั้งที่ 28 หรือเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ซึ่งมีความพร้อมมากกว่าในด้านของการคมนาคม ที่สื่อมวลชนและนักกีฬาสามารถเดินทางได้ด้วยรถใต้ดิน โดยเหตุผลหลักอาจมาจากการที่มาเลเซียไม่ได้เป็นเจ้าภาพจัดมหกรรมการแข่งขันมาเป็นเวลานาน
“เชื่อว่าด้วยความที่มาเลเซียไม่ได้จัดการแข่งขันแบบนี้มานานมากแล้ว ครั้งสุดท้ายก็กีฬาเครือจักรภพปี 1998 ซีเกมส์ครั้งสุดท้ายก็ 2001 เจ้าภาพคงไม่มีทัวร์นาเมนต์รับรองก่อนซีเกมส์ ก็เลยออกมาไม่ค่อยดี โดยเฉพาะการคมนาคม ซึ่งเปรียบเทียบกับ 2 ปีก่อนที่สิงคโปร์ ประเทศเขาเล็ก และมีความพร้อมด้านการคมนาคมมากกว่า แทบจะไปถึงทุกสนามด้วยตั๋วรถไฟใบเดียว”
มีเวลาแต่ไม่เตรียมการ เหตุผลที่ดูไม่น่าให้อภัย
แม้ว่าความไม่พร้อมของมาเลเซียจะดูเป็นเหตุผลที่ดูเป็นไปได้มากกว่ากลไกการโกงของเจ้าภาพจัดการแข่งขัน แต่ซีเกมส์เป็นมหกรรมที่มีการวางแผนล่วงหน้าหลายปี ซึ่งณัฐธวัชก็ยอมรับว่ารู้สึกประหลาดใจกับการบริหารจัดการของเจ้าภาพในครั้งนี้ โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่สนามซ้อมไม่มีและเรื่องของอาหาร ซึ่ง เคยเป็นปัญหาเช่นกันในซีเกมส์ที่ประเทศสิงคโปร์
“2 ปีก่อน ซีเกมส์ที่สิงคโปร์ ตอนนั้นฟุตบอลทีมชาติไทยก็เจอปัญหาเรื่องอาหารการกิน โดยเฉพาะปัญหาเรื่องรสชาติ ซึ่งทางทีมงานก็ได้แจ้งไปทางเจ้าภาพ และเขาแก้ไขให้อย่างรวดเร็ว แต่ครั้งนี้เชื่อว่าถ้าแจ้งไปแล้วปัญหามันไม่เกิดอีกก็คงลดปัญหา ลดดราม่าไม่ให้มันเกิดขึ้นได้”
ขาดการสื่อสารที่ดีกับสื่อมวลชนและแฟนกีฬา
อีกส่วนซึ่งถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ต่อการแข่งขัน คือการสื่อสาร และการจัดการข้อมูลการแข่งขันของเจ้าภาพ ซึ่งเป็นฐานข้อมูลที่สื่อมวลชน หรือแฟนกีฬาใช้ติดตามผลการแข่งขัน และสถิติต่างๆ ที่เกิดขึ่น เพื่อสร้างความตื่นตัวกับการแข่งขัน โดยณัฐธวัชมองว่าเจ้าภาพในครั้งนี้สอบตก
“ระบบอินฟอร์เมชันหรือการทำงานของสื่อ โดยต้องอาศัยข้อมูลการทำงานของเจ้าภาพ ถ้าพูดง่ายๆ การทำงานตรงนี้ถ้าให้คะแนนเต็ม 10 ผมให้ตก คือน้อยกว่า 5 แน่นอน เพราะเอาง่ายๆ ว่า ตารางแข่งขันไม่ชัดเจน ลองคลิกเข้าไปในเว็บไซต์ของซีเกมส์ จะเห็นแค่ตารางแข่ง แต่ไม่สามารถดูรายละเอียดได้ว่า ใครชนะใครแพ้ อันนี้ไม่ใช่แค่ปัญหาของสื่อแต่ยังเป็นปัญหาของแฟนกีฬา เพราะถ้าผู้ชมจะเช็กผลการแข่งขันอะไรก็ตามมันจะไม่บอกว่าใครแพ้ชนะอะไรได้เลย ส่วนนี้ทำให้เขาไม่สามารถดึงดูดคนดูให้มีส่วนร่วมกับการแข่งขันได้ นอกจากดูผ่านทีวีอย่างเดียว อันนี้คือปัญหาในเรื่องของข้อมูล ว่ามันค่อนข้างไม่ดี เมื่อเทียบกับสิงคโปร์เมื่อ 2 ปีก่อน”
กลไกโกงหรือแค่ไม่พร้อม
จากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น หากตัดสินด้วยอารมณ์แล้วแน่นอนว่าความรู้สึกเมื่อฝ่ายผู้จัดการแข่งขัน ไม่สามารถบริหารจัดการคนขับรถรับส่งนักกีฬา ตระเตรียมอาหารการกินที่มีคุณภาพ และสนามฝึกซ้อมที่ได้มาตรฐาน ทุกอย่างจะชี้ไปทางว่าเจ้าภาพมีเป้าหมายที่จะทำร้ายขวัญและกำลังใจของนักกีฬาชาติอื่น เพื่อเป้าหมายสู่ความเป็นเลิศในซีเกมส์ แต่ณัฐธวัชที่ติดตามรายงานข่าวมาจนถึงวันที่ 21 นี้ มองว่าเป็นปัญหาของการบริหารจัดการที่ไม่พร้อมมากกว่ากลโกงของเจ้าภาพจัดการแข่งขัน
“คือยกตัวอย่างนะ ฟุตซอลเนี่ย มีคนถามเหมือนกันว่าทำแบบนั้นแล้วจะส่งผลอะไรต่อทีมชาติไทย โอเคอาจจะหงุดหงิดในช่วงแรก แต่ด้วยทักษะกีฬา สิ่งเหล่านี้ไม่ได้บั่นทอน ความสามารถนักกีฬาไทย เพราะอย่างนัดแรกเราก็ชนะเวียดนามไป 4-1 แต่อย่างนัดที่ 2 เราแพ้อินโดนีเซีย ไม่ได้แพ้เจ้าภาพมาเลเซีย และเราเองก็ยอมรับว่าเล่นได้ต่ำกว่ามาตรฐาน อันนี้คือสิ่งที่มองว่าไม่น่าจะมีผล อีกอย่างคือเรื่องวอลเลย์บอล เรื่องอาหารการกิน ต่อให้พูดแบบติดตลกว่า ถ้าเขาต้องการเล่นงานเราจริงเขาต้องใส่อะไรในอาหารเราถึงจะแข่งไม่ได้ แต่ถ้าตราบใดที่เรายังลงแข่งขันได้ปกติ ไม่ว่าวอลเลย์บอลหรือฟุตซอล มาเลเซียก็ไม่สามารถชนะเราได้อยู่ดี ถ้าไม่ถึงขั้นกับมาวางยา มันยังไม่มีเหตุผลที่จะมองว่าเป็นกลโกงของเจ้าภาพ และทำให้ไทยแพ้นัดนั้น ตอนนี้เข้าสู่วันที่ 21 กีฬาที่เรามีความหวังก็ดีอยู่ บางกีฬาที่เราด้อยกว่า นักกีฬาส่วนใหญ่ก็ยอมรับว่าความสามารถเขาไม่ได้จริงๆ บางกีฬาที่สร้างเหรียญประวัติศาสตร์อย่างปิงปองคู่ผสม เราได้ครั้งแรกในรอบ 32 ปี ก็ไม่มีอะไร เราก็ทำได้ โดยไม่ประสบปัญหาอะไร
“อีกกีฬาที่สำคัญคือ เซปักตะกร้อ กีฬาของชาติเขา ก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร แล้วสกอร์ที่ออกมาขาดลอย มาเลเซียหมดทางสู้ไทย ถ้าเราเป็นมาเลเซีย เราคงไปป่วนกับตะกร้อดีกว่าไหม เพราะเป็นกีฬาประจำชาติเขา แต่ตะกร้อก็ไม่พบอะไร เขาสู้เราไม่ได้อยู่ดี ผมเลยมองว่ากลโกงหมายถึงว่าทำเป็นรูปธรรม หรือแอบแฝงทำ เช่น แอบใส่ยา แต่ถ้าจะมีกลโกงอยากให้จับตากีฬามวยสากล เพราะเป็นกีฬาที่ตัดสินด้วยสายตา และเจ้าภาพได้ประโยชน์ ซึ่งมาถึงวันนี้ก็ยังไม่มีปัญหาอะไร
“ซีเกมส์ปีนี้คือความไม่พร้อม ซึ่งความไม่พร้อมยังไม่ส่งผลกระทบต่อนักกีฬาไทยอย่างชัดเจน เลยยังไม่ค่อยรู้สึกว่าเป็นกลโกงขนาดนั้น และนักกีฬาที่พ่ายแพ้เอง มักให้สัมภาษณ์ว่าเกิดจากความผิดพลาดของตัวเอง”
การแข่งขันมหกรรมกีฬาซีเกมส์แม้ว่าจะเป็นกีฬาที่มีสเกลเล็กเมื่อเทียบกับการแข่งขันมหกรรมกีฬาอื่นๆ แต่ในอีกมุมนี่คือเวทีสำคัญของนักกีฬาภูมิภาค เพื่อใช้เตรียมพร้อมก่อนก้าวขึ้นสู่เวทีระดับสูงขึ้นไปสู่เอเชียในเอเชียนเกมส์ และระดับโลกในโอลิมปิกเกมส์ เห็นได้จากการที่ โจเซฟ สคูลลิ่ง ฉลามหนุ่มชาวสิงคโปร์ผู้พิชิต ไมเคิล เฟลป์ส ตำนานนักว่ายน้ำเจ้าของ 23 เหรียญทองโอลิมปิกชาวอเมริกัน ก็ยังเข้ามาร่วมแข่งขันรายการนี้
การเป็นเจ้าภาพการแข่งขันซีเกมส์ที่ผ่านมาหลายครั้งมีการนำกีฬาพื้นบ้าน หรือปัญหาเรื่องความพร้อมของเจ้าภาพมาเป็นเรื่องวิพากษ์วิจารณ์ และต่อยอดไปสู่ความเชื่อว่าการแข่งขันไม่ยุติธรรมอยู่หลายครั้ง ซึ่งสิ่งนี้จะเป็นผลกระทบต่อทั้งฝ่ายผู้จัด แฟนกีฬา และที่สำคัญที่สุดคือตัวของนักกีฬาเอง
ตลอดการฝึกซ้อม การเก็บตัว การต่อสู้ เพื่อหนึ่งเสี้ยววินาทีที่เราจะเร็วกว่า หนึ่งกิโลกรัมที่เรายกได้มากกว่าคนอื่น หรือหนึ่งเซนติเมตรที่เรากระโดดได้ไกลกว่าคู่แข่ง ต่างก็แลกมาด้วยหยาดเหงื่อ และการเสียสละของนักกีฬาและทีมงาน ที่ต่างก็หวังความเป็นเลิศจากการแข่งขัน ซึ่งการเสียสละทั้งหมดนั้นจะมีความหมายอะไรหากการแข่งขันถูกวิจารณ์ว่าจะเป็นกลโกงของเจ้าภาพ
ด้วยความเชื่อว่านักกีฬาทุกคนต่างก็ต้องการชัยชนะที่ใสสะอาด เพราะ เกียรติยศในกีฬา มีพื้นที่ให้เฉพาะผู้ที่เลือกจะไปทางที่ยากลำบากและยาวนานกว่าคนอื่น เพื่อชัยชนะบนสนามที่ยุติธรรมต่อทุกคน และถ้าเลือกที่จะทำให้สนามไม่ยุติธรรมเสียแล้ว คุณคิดว่านักกีฬาไม่ว่าชาติไหนก็ตามจะรู้สึกอย่างไร?
มาเลเซียประสบปัญหาอย่างหนักในการบริหารจัดการ และเริ่มมีรายงานออกมาอย่างต่อเนื่อง ถึงข้อสันนิษฐานว่าเจ้าภาพจงใจบกพร่องในหน้าที่ เพื่อเป็นการเปิดพื้นที่ให้กับนักกีฬาชาติตัวเองบนโพเดียมในการแข่งขันกีฬา แต่ละประเภท ซึ่งเจ้าภาพมาเลเซียควรรีบแก้ไข และเฝ้าระวังไม่ให้มีกลโกงเกิดขึ้นในการเป็นเจ้าภาพครั้งนี้ เพราะมิฉะนั้นชัยชนะ หรือเจ้าเหรียญทองในครั้งนี้จะมีความหมายอะไร ถ้าผลงานทั้งหมดถูกตัดสินจากการบริหารงานที่ผิดพลาดของเจ้าภาพไปเสียแล้ว