×

วิบากกรรมที่ยังไม่สิ้นสุดของ ‘ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร’

21.08.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • ยิ่งลักษณ์ใช้เวลา 49 วัน ในการลุยหาเสียงขึ้นเป็นนายกฯ แต่จากข้อมูลเชิงลึก เชื่อว่าเส้นทางการเมืองของยิ่งลักษณ์ถูกเตรียมไว้ก่อนหน้านั้นแล้ว
  • จุดอ่อนของยิ่งลักษณ์คือการพูด จุดแข็งคือรู้จักเลี่ยงการปะทะและถ่อมตน
  • นอกจากคดีจำนำข้าวแล้ว ยังเหลือคดีในมือ ป.ป.ช. ที่ยิ่งลักษณ์ยังต้องต่อสู้อีกกว่า 10 คดี

     ย้อนไปหลังรัฐประหาร 2549 เมื่อมรสุมการเมืองกระหน่ำซัดคนตระกูลชินวัตรร่วงจากเก้าอี้นายกรัฐมนตรีไปสองคน ทั้ง ‘ทักษิณ ชินวัตร’ และ ‘สมชาย วงศ์สวัสดิ์’ ท่ามกลางสภาวะหาผู้นำไม่ได้ของพรรคเพื่อไทยในเวลานั้น

     ชื่อ ‘ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร’ น้องสาวอดีตนายกฯ ทักษิณก็ปรากฏขึ้น และเปิดตัวเป็นผู้สมัคร ส.ส. บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทยลำดับที่ 1 เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2554 ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงประสบการณ์ทางการเมือง และคำสบประมาทอื่นๆ มากมาย

 

 

     แต่อย่างที่ทราบกัน ยิ่งลักษณ์เปิดตัวออกลุยบนถนนการเมืองอย่างเต็มตัวโดยใช้เวลาเพียง 49 วัน สร้างประวัติศาสตร์ในการผงาดเป็น ‘นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของไทย’

     โดยการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 พรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง กวาดเก้าอี้ ส.ส. รวม 265 ที่นั่ง ทิ้งห่างพรรคประชาธิปัตย์ อันดับ 2 ที่ได้รวม 159 ที่นั่ง

     แต่จะว่าไป ‘49 วัน’ อาจเป็นตัวเลขบนถนนการเมืองอย่างเป็นทางการของยิ่งลักษณ์ นับจากวันเปิดตัวผู้สมัคร ส.ส. ไปจนถึงวันชนะการเลือกตั้ง

 

ทูตสหรัฐฯ จับตายิ่งลักษณ์ตั้งแต่ปี 2552 ก่อนลงเลือกตั้ง 2 ปี

     ถนนการเมืองของยิ่งลักษณ์ เชื่อว่าได้รับการปูทางมาก่อนหน้า โดยเอกสารจากวิกิลีกส์ที่เผยบันทึกลับของ เอริก จอห์น เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย ที่เขียนรายงานต่อกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ หลังพบปะกับยิ่งลักษณ์ เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2552 ว่า ยิ่งลักษณ์เริ่มมีบทบาททางการเมืองอย่างเงียบๆ และน่าจับตามองอย่างยิ่ง แถมก่อนกลับ ขณะที่ยิ่งลักษณ์จับมือกับทูตจอห์นตามปกติ นายนพดล ปัทมะ ซึ่งเดินทางไปด้วยยังพูดติดตลกกับทูตจอห์นว่า “คุณเพิ่งจะจับมือกับนายกรัฐมนตรีคนต่อไปของประเทศไทย”

 

จุดอ่อนของนายกฯ หญิงคือ ‘การพูด’

     การอ่านโพย พูดผิดพูดถูก เป็นจุดอ่อนสำคัญให้ฝ่ายตรงข้ามโจมตี พรรคประชาธิปัตย์เคยเปิดเผยสถิติการตอบกระทู้ของยิ่งลักษณ์ นับตั้งแต่เข้ามาบริหารประเทศ จนถึงการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2556 ว่า สภาผู้แทนราษฎรได้ตั้งกระทู้ถามสดยิ่งลักษณ์     ฐานะนายกฯ จำนวน 74 กระทู้ โดยยิ่งลักษณ์มาชี้แจงด้วยตัวเองเพียง 2 กระทู้เท่านั้น หนึ่งในนั้นคือกระทู้ที่ถามโดย ส.ส. พรรคเพื่อไทยเอง ส่วนอีกกระทู้เป็นของ ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ เรื่องความเหมาะสมในการแต่งตั้งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

 

 

     ขณะที่กระทู้ถามสดเรื่องการทุจริตโครงการรับจำนำข้าว อดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ไม่เคยมาชี้แจงเรื่องนี้ด้วยตัวเองแม้แต่ครั้งเดียว

     ด้าน ดร. นันทนา นันทวโรภาส คณบดีวิทยาลัยสื่อสารการเมือง มหาวิทยาลัยเกริก เคยวิเคราะห์การสื่อสารของอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ไว้ว่า แม้ยิ่งลักษณ์จะเป็นคนที่สื่อสารได้ไม่ดี แต่ก็รู้วิธีการจัดการจุดอ่อนของตนเองให้สามารถสื่อสารกับประชาชนได้ โดยใช้ทีมงานเข้ามาตอบคำถาม ไม่เอาตนเองเข้าไปปะทะ ทำให้มีภาพลักษณ์เป็นคนอ่อนโยน ถ่อมตัว และสุภาพ

 

นิรโทษกรรมเหมาเข่ง ชนวนเหตุปิดฉากนายกฯ หญิง

     วันที่ 1 พฤศจิกายน 2556 เวลา 4.30 น. พรรคเพื่อไทยดัน พ.ร.บ. นิรโทษกรรม ฉบับเหมาเข่งจนผ่านรัฐสภา ท่ามกลางความวุ่นวายระหว่างประชุม ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์วอล์กเอาต์ออกจากห้องประชุม กล่าวได้ว่าการบิดเบือนในการผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรม จากเดิมที่จะนิรโทษกรรมเฉพาะประชาชนผู้ถูกสลายการชุมนุม แต่บิดพลิ้วเพิ่มเติมรวมไปเจ้าหน้าที่ระดับสูง และคดีของทักษิณ ชินวัตร ในภายหลังนั้นเป็นจุดจบจุดตายของ ‘พรรคเพื่อไทย’ เป็นการทำลายความชอบธรรมทางการเมืองของตัวเอง และสร้างความชอบธรรมในการขับไล่รัฐบาลให้กับกลุ่ม กปปส. ในที่สุด วันที่ 9 ธันวาคม 2556 ยิ่งลักษณ์ต้องประกาศยุบสภา ปิดตำนานนายกฯ หญิงหลังดำรงตำแหน่งนาน 2 ปี 275 วัน

 

 

วิบากกรรมการเมืองยิ่งลักษณ์ที่ยังไม่สิ้นสุด

     แม้ยิ่งลักษณ์จะประกาศยุบสภาไปแล้ว แต่มรสุมการเมืองยังถล่มไม่หยุด กลุ่ม กปปส. ยังชุมนุมต่อ ไม่เอาการเลือกตั้ง และไล่ยิ่งลักษณ์ออกจากตำแหน่ง ‘รักษาการนายกรัฐมนตรี’ จนในที่สุดแม้แต่ตำแหน่งรักษาการนายกฯ ก็ไม่หลงเหลือไว้ให้เธอ

     เมื่อวันที่ 7 พฤศภาคม 2557 ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่าเธอมีความผิดจากกรณีสั่งย้าย ‘ถวิล เปลี่ยนศรี’ เลขาฯ สมช. ทำให้เธอต้องหลุดจากตำแหน่ง ‘รักษาการนายกรัฐมนตรี’

 

 

     23 มกราคม 2558 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งแต่งตั้งโดย คสช. มีมติ 190 ต่อ 18 ถอดถอนยิ่งลักษณ์จากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี

     ยิ่งลักษณ์เป็นนักการเมืองในตระกูลชินวัตรคนที่ 5 ที่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี หลังจาก ทักษิณ ชินวัตร, สมชาย วงศ์สวัสดิ์, เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ และ ชินณิชา วงศ์สวัสดิ์ ซึ่งเคยถูกตัดสิทธิ์มาแล้วจากการถูกยุบพรรคและคดีซุกหุ้น

 

 

     เฉพาะคดีรับจำนำข้าวเรื่องเดียว ‘คณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่ง’ ได้เคาะตัวเลขให้ยิ่งลักษณ์ชดใช้เงินจำนวนถึง 35,717 ล้านบาท

     แถมยังโดนคดีอาญา ซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 25 สิงหาคมนี้ ซึ่งเดิมพันไม่ใช่แค่อนาคตทางการเมืองหรือเงินทอง แต่หมายถึงอิสรภาพของเธอเอง

     วิบากกรรมของนายกฯ หญิงผู้นี้ยังไม่สิ้นสุดแค่นี้ นอกจากคดีความเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าวแล้ว ป.ป.ช. ยังมีคดีในมือที่จ่อรอคิวให้นายกฯ หญิงผู้นี้ต้องต่อสู้อีกกว่า 10 คดี

 

 

Photo: AFP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X