×

รื้อถอนโรงปฏิกรณ์นิวเคลียร์แลกผ่อนปรนมาตรการคว่ำบาตร? ไฮไลต์น่าจับตาในซัมมิตทรัมป์-คิม ยก 2 ที่ฮานอย

25.02.2019
  • LOADING...
Trump kim second Summit Goal Steps to Denuclearization

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • ผู้นำสหรัฐฯ และเกาหลีเหนือ เตรียมเข้าร่วมประชุมสุดยอดที่กรุงฮานอย ระหว่างวันที่ 27-28 กุมภาพันธ์นี้ ซึ่งถือเป็นครั้งที่ 2 ของพวกเขา เพื่อต่อยอดความสำเร็จของซัมมิตรอบแรกที่สิงคโปร์เมื่อปีที่แล้ว
  • ไฮไลต์น่าจับตาของการประชุมรอบนี้คือการเจรจาเพื่อเปิดทางให้นานาชาติเข้าไปสังเกตการณ์การรื้อถอนโรงปฏิกรณ์นิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ ขณะที่เกาหลีเหนือต้องการให้สหรัฐฯ ผ่อนปรนมาตรการคว่ำบาตร หากเกาหลีเหนือปฏิบัติตามเงื่อนไข
  • มีแนวโน้มว่าซัมมิตครั้งนี้อาจคว้าน้ำเหลวหรือบรรลุข้อตกลงในกรอบที่จำกัด เพราะทั้งสองชาติตีความการปลดอาวุธนิวเคลียร์ที่แตกต่างกัน

ทั่วโลกกำลังจับตาการประชุมสุดยอดครั้งที่ 2 ระหว่างโดนัลด์ ทรัมป์ กับคิมจองอึน ที่กำลังจะมีขึ้นในกรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม ระหว่างวันที่ 27-28 กุมภาพันธ์นี้ โดยหลายฝ่ายคาดหวังว่าการประชุมรอบนี้ สหรัฐฯ และเกาหลีเหนือจะสามารถทำข้อตกลงที่ชัดเจนขึ้นเกี่ยวกับการปลดอาวุธนิวเคลียร์บนคาบสมุทรเกาหลี

 

มีอะไรน่าจับตาบ้างในซัมมิตรอบนี้

 

แหล่งข่าวเจ้าหน้าที่ในรัฐบาลสหรัฐฯ และเกาหลีใต้เปิดเผยว่าการเจรจาระหว่างทรัมป์กับคิมครั้งนี้จะครอบคลุมในเรื่องการให้เกาหลีเหนืออนุญาตให้คณะสังเกตการณ์เข้าไปตรวจสอบและเป็นสักขีพยานการรื้อถอนโรงปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ‘ย็องบย็อน’ ซึ่งเป็นสถานที่ที่ใช้ผลิตแร่พลูโตเนียม และมีแร่ยูเรเนียมเสริมสมรรถนะสำหรับผลิตอาวุธนิวเคลียร์

 

หากตกลงกันได้จะถือเป็นหนึ่งในความคืบหน้าสำคัญที่จะช่วยให้คาบสมุทรเกาหลีปลอดจากอาวุธทำลายล้างสูงในท้ายที่สุด

 

นอกจากนี้ทั้งสองฝ่ายยังเตรียมหารือในประเด็นการเปิดสำนักงานติดต่อประสานงานระหว่างกันเพื่อให้สามารถสื่อสารกันได้ง่ายขึ้น

 

หนึ่งในคำถามที่ผู้คนสนใจคือหากการเจรจาลงเอยด้วยดี ทรัมป์จะยอมผ่อนปรนมาตรการคว่ำบาตรที่มีต่อเกาหลีเหนือหรือไม่

 

นักวิเคราะห์มองว่าเรื่องนี้ยังต้องใช้เวลา เพราะทรัมป์เห็นว่าการปลดอาวุธนิวเคลียร์อย่างสมบูรณ์คือเป้าหมายสูงสุดของข้อตกลง ทว่าตัวเขาเองก็ไม่ได้รีบร้อนอะไรในเรื่องนี้ เพราะที่ผ่านมาเกาหลีเหนือมีการระงับการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์และขีปนาวุธอยู่แล้ว

 

ก่อนหน้านี้ทรัมป์เคยยื่นข้อแม้ว่าสหรัฐฯ จะยอมผ่อนปรนมาตรการคว่ำบาตรก็ต่อเมื่อเกาหลีเหนือลงมือทำบางสิ่งที่มีความหมายต่อการปลดอาวุธนิวเคลียร์เท่านั้น ซึ่งนั่นหมายความว่าการหยุดทดสอบอาวุธอาจยังไม่เพียงพอสำหรับทรัมป์

 

ถึงแม้คิมจองอึนจะรับปากทรัมป์ในเวทีซัมมิตรอบแรกที่สิงคโปร์เมื่อปีที่แล้วว่าเกาหลีเหนือจะเดินหน้าปลดอาวุธนิวเคลียร์อย่างสมบูรณ์ แต่คำว่า ‘ปลดอาวุธนิวเคลียร์’ มีความหมายและขอบเขตกว้าง ขณะที่สองฝ่ายก็อาจตีความต่างกัน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องจัดการประชุมอีกหลายครั้งเพื่อปูทางไปสู่เป้าหมายร่วมกันในบั้นปลาย

 

ที่ผ่านมาสหรัฐฯ มองว่าการปลดอาวุธนิวเคลียร์อย่างสมบูรณ์คือการยกเลิกโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์อย่างเด็ดขาดและต้องสามารถตรวจสอบได้ด้วย แต่เกาหลีเหนือมองว่าข้อเรียกร้องดังกล่าวเป็นมาตรการบีบบังคับแต่เพียงฝ่ายเดียว

 

ด้วยเหตุนี้ หนึ่งในหัวข้อพูดคุยที่เป็นวาระสำคัญของซัมมิตรอบนี้จึงหนีไม่พ้นการสร้างคำนิยามร่วมกันของคำว่า ‘ปลดอาวุธนิวเคลียร์’ (Denuclearization) เพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกัน

 

อีกประเด็นที่น่าจับตาคือหากทรัมป์กับคิมตกลงอะไรกันได้แล้ว สภาคองเกรสจะเห็นดีด้วยหรือไม่ เพราะ ส.ส. และเจ้าหน้าที่จำนวนหนึ่งได้แสดงความกังขาว่าเกาหลีเหนือเต็มใจละทิ้งโครงการอาวุธนิวเคลียร์จริงแท้แค่ไหน

 

นอกจากนี้พวกเขายังแสดงความกังวลด้วยว่าการประนีประนอมกับเกาหลีเหนืออาจบ่อนทำลายผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ในภูมิภาคดังกล่าว

 

เพราะสิ่งที่นักการเมืองในสหรัฐฯ วิตกอย่างมากคือทรัมป์อาจต่อรองกับเกาหลีเหนือ โดยยอมถอนทหารอเมริกันบางส่วนออกจากเกาหลีใต้เพื่อแลกกับข้อตกลงที่ต้องการ เนื่องจากตัวทรัมป์เองก็วิพากษ์วิจารณ์มาตลอดว่าการส่งทหารไปประจำการที่เกาหลีใต้นั้นสิ้นเปลืองงบประมาณรัฐอย่างมาก

 

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ทำเนียบขาว รวมถึงทรัมป์เองยืนยันแล้วว่าพวกเขาจะไม่นำเรื่องนี้ไปเป็นส่วนหนึ่งของวาระการประชุมกับเกาหลีเหนืออย่างแน่นอน

 

อีกประเด็นสำคัญที่จะถกกันในที่ประชุมรอบนี้คือการจัดทำโรดแมปที่มีรายละเอียดชัดเจนเกี่ยวกับการเจรจาในอนาคต รวมถึงการร่างข้อกำหนดให้เกาหลีเหนือยุติการผลิตอาวุธทำลายล้างสูงและขีปนาวุธทั้งหมด  

 

เพราะที่ผ่านมา แม้ว่าผู้นำเกาหลีเหนือจะเคยประกาศยุติกิจกรรมการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ รวมถึงการเพิ่มจำนวนอาวุธ แต่หน่วยงานเฝ้าสังเกตการณ์พบว่าเกาหลีเหนือยังไม่ได้ระงับการผลิตอาวุธแต่อย่างใด ขณะที่งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดในสหรัฐฯ ระบุว่าเมื่อปีที่แล้วเกาหลีเหนือยังคงผลิตวัสดุฟิสไซล์ในปริมาณที่มากพอสำหรับบรรจุลงในอาวุธนิวเคลียร์ถึง 7 ลูก

 

ท่ามกลางความคาดหวังที่สูงขึ้นจากซัมมิตรอบแรกที่สิงคโปร์ เจ้าหน้าที่รัฐบาลเกาหลีใต้มองว่าตัวแปรความสำเร็จของการประชุมรอบนี้ขึ้นอยู่กับเกาหลีเหนือว่าจะยอมให้ผู้สังเกตการณ์จากนานาชาติเข้าไปตรวจสอบการรื้อถอนโรงปฏิกรณ์นิวเคลียร์ในย็องบย็อนหรือไม่ เพราะสิ่งนี้คือเงื่อนไขต่ำสุดที่สหรัฐฯ ต้องการสำหรับการประชุมรอบนี้เพื่อแลกกับการที่สหรัฐฯ ยอมโอนอ่อนผ่อนตามในเงื่อนไขบางเรื่องของเกาหลีเหนือ

 

อย่างไรก็ตามการเจรจาอาจพบกับอุปสรรค เพราะเกาหลีเหนือได้แสดงจุดยืนว่าจะยอมให้นานาชาติเข้ามาตรวจสอบการรื้อถอนก็ต่อเมื่อสหรัฐฯ ยอมผ่อนปรนมาตรการคว่ำบาตรต่อเกาหลีเหนือเท่านั้น

 

ดังนั้นผลการเจรจาจะออกมาในรูปใด จะคว้าน้ำเหลวหรือไม่ จึงน่าติดตามอย่างใกล้ชิด แต่ทางสหรัฐฯ คาดหวังว่าพวกเขาจะยอมถอยเพียงก้าวเล็กๆ เพื่อแลกกับผลลัพธ์ที่มีนัยสำคัญสู่การปลดอาวุธนิวเคลียร์บนคาบสมุทรเกาหลีอย่างสมบูรณ์ในอนาคต

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X