×

ฝ่าอคติสู่ความหลากหลายทางเพศ

15.08.2017
  • LOADING...

เราต้องตั้งอัตลักษณ์กันไปอีกยาวถึงไหน ทำไมเราต้องไปสร้างกรอบใหม่ มนุษย์มีอิสระ มีศักยภาพกว้างไกลกว่ากรอบที่สังคมให้มา เราพยายามเข้าใจคนอย่างที่แต่ละคนเป็นดีกว่าไหม

 

     กว่า 30 ปีที่แล้ว ประเทศไทยยังอยู่ในยุคที่ใครหลายคนเลือกเก็บงำตัวตนจริงแท้ไว้หลังม่านประเพณี ยุคที่สังคมยังไม่คุ้นเคยหรือเปิดใจในเรื่องความหลากหลายทางเพศกลับมีคนจำนวนหนึ่งรวมตัวกันก่อตั้งกลุ่มสนับสนุนและปกป้องสิทธิของคนหลากหลายทางเพศ ทำให้สังคมไทยเริ่มรับรู้และตระหนักถึงการมีอยู่ของหญิงรักหญิงในนามกลุ่มอัญจารี

     

 

     อัญชนา สุวรรณานนท์ คือหนึ่งในแกนนำที่ก่อตั้งกลุ่ม ‘อัญจารี’ เธอผ่านความบอบช้ำและบาดเจ็บจากการถูกสังคมตีตรามานับไม่ถ้วน โดยเฉพาะการยืนหยัดตอบคำถามของสื่อมวลชนที่หยามหมิ่นความเป็นมนุษย์ เช่น “จะแนะนำพ่อแม่อย่างไรไม่ให้เลี้ยงลูกออกมาเป็นแบบนี้?”

 

     ตลอดเส้นทางที่ฝ่าฟันอคติแห่งเพศ จนมาถึงวันนี้ที่ ‘ดูเหมือน’ สังคมไทยจะยอมรับและเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศมากขึ้น THE STANDARD ได้ฟังเรื่องเล่าและมุมมองจากประสบการณ์การต่อสู้ของเธออีกครั้ง

 

     “ถ้ามองเฉพาะกลุ่มคนที่สังคมตีตราว่าเป็นผู้ที่แตกต่างออกไปในเรื่องอัตลักษณ์ทางเพศนะคะ ตอนนี้ก็นับว่าดีขึ้นกว่าเมื่อก่อน เพราะลักษณะของการกีดกันออกไปหรือท่าทีรังเกียจลดลง ความเข้าใจหรือการต้อนรับเข้าสู่พื้นที่ต่างๆ ดีขึ้น หรือแม้แต่การยอมรับในระดับครอบครัวก็มีมากขึ้น”

 

     แม้บรรยากาศของสังคมจะดูเหมือนโอนอ่อนผ่อนปรนมากขึ้น แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าอุปสรรค
ที่คนหลากหลายทางเพศต้องเผชิญจะลดน้อย หรือเปลี่ยนรูปแบบไป อัญชนาบอกว่ามีปราการ 3 ด่านที่กลุ่มคนเหล่านี้จะต้องผ่านพ้น โดยความยากอันดับแรกคือเริ่มต้นที่ตัวเอง

 

     การไม่ยอมรับตัวเอง และความสับสนในใจที่อาจจะเกิดขึ้น อันสืบเนื่องจากความรู้สึกของตัวเองสวนทาง
กับ
สิ่งบ่งบอกทางสังคมรอบๆ ตัว นี่คืออุปสรรคขั้นแรก

 

     “ความยากลำบากถัดมาคือ ครอบครัว พ่อแม่ โดยเฉพาะครอบครัวไทย หรือครอบครัวชาวเอเชียที่
เราต้องทำตามสิ่งที่ผู้ใหญ่ต้องการมากอยู่เหมือนกัน มันไม่ได้เหมือนคนในยุโรปหรือในสังคมอื่น ที่พออายุ 18
ก็เป็นตัวของตัวเองได้แล้ว แต่สังคมไทยเราจะมีความเป็นเด็กหรือลูกอย่างยาวนานมากเลย ดังนั้นครอบครัวอาจจะเป็นได้ทั้งอุปสรรค หรือเป็นที่ปกป้องเราก็ได้”

 

     ความยากลำบากอย่างที่สามคือ ‘สังคม’ ซึ่งมีโครงสร้างที่ซับซ้อน ความเชื่อ วัฒนธรรมที่สั่งสมมายาวนาน อัญชนาเปิดประเด็นชวนขบคิดว่า คนเรา
ไม่ค่อยตั้งคำถามกับสิ่งที่ ‘คิด’ ว่าเป็นเรื่องธรรมชาติ

 

     “คนเราถูกหล่อหลอมมาแล้วด้วยการเสี้ยมสอนจากสังคมว่าเป็นอย่างนี้ไม่ถูกนะ มันน่าทุเรศ มันผิดธรรมชาติ เป็นความตระหนักที่ตัวเองได้สั่งสมจากการเติบโตมาเรื่อยๆ โดยที่ไม่ได้มีใครมาบอกตรงๆ เรายังจำความรู้สึกของตัวเองที่กลัวคนอื่นจะรู้ว่าเรามีความคิดอย่างไรต่อผู้หญิงได้ พอไปทำงานก็กังวลว่าคนที่ทำงานจะรู้ นี่พูดถึงในยุคก่อนที่จะถูกดิสเครดิต คือถูกมองว่าเป็นคนที่สมรรถนะในการทำงานด้อยกว่าคนอื่น

 

     “ทั้งละครทีวี หรือวรรณคดีอะไรทั้งหลาย ก็จะมีแต่เรื่องราวความรักต่างเพศระหว่างชายหญิง มีตัวละครที่ถูกมองว่าผิดปกติเป็นตัวรองที่อาจจะเป็นตัวตลก ถูกรังแก นี่คือการสั่งสอนคนอย่างละเอียดลออมาก แม้แต่หนังสือพิมพ์ใหญ่ๆ ระดับประเทศ ก็เคยเขียนพาดหัวว่าเยาวชนไทยตอนนี้เป็นทอมดี้กันไปเยอะแล้ว เป็น ‘สวะสังคม’

 

     “แต่ละสังคมก็สร้างกรอบจากวัฒนธรรมที่ก่อร่างมายาวนาน รายละเอียดต่างกันไป แต่ที่สุดแล้วมันจะไป
สรุปว่าคนเรามีสองเพศคือชายกับหญิง หมายความถึงในเชิงสรีระที่เกิดมา สังคมไม่มีพื้นที่ให้คนที่เกิดมาเป็น
คนที่มีเพศกำกวม (intersex) คือคนที่มีองค์ประกอบของสองเพศอยู่ในคนเดียว (biological sex) ในบาง
สังคม
เด็กที่เกิดมาเป็นคนที่มีเพศกำกวมอาจจะถูกฆ่าทิ้ง หรือถูกปิดเงียบ ถ้าในสหรัฐอเมริกาก็อาจจะให้หมอผ่าตัดตกแต่งอวัยวะเพศตั้งแต่แบเบาะ

 

     “สังคมมีคอนเซปต์ว่ามนุษย์เรามีแค่นี้ ชายมีจู๋ หญิงมีจิ๋ม ตามมาด้วยความคาดหวังอัตลักษณ์ทางเพศที่สืบเนื่องจากการมีจู๋มีจิ๋มของคุณนั่นแหละ คนส่วนมากรวมทั้งเราด้วยก็เติบโตมาภายใต้การกล่อมเกลาของ
วัฒนธรรมเหล่านี้ ทำให้มองไม่ทะลุ” 

 

     ความเกี่ยวพันทางสังคมของมนุษย์ ทำให้คนมากมายเลือกจะอยู่กับการปิดบังตัวตนเพื่อความอยู่รอด
เพื่อให้คนรอบข้างยอมรับ เพื่อที่พ่อแม่จะไม่ถูกสังคมหรือญาติพี่น้องมองด้วยสายตาตัดสิน แม้จะเข้าใจเงื่อนไขทั้งหมดนี้ดี แต่วันหนึ่งเธอก็ต้องลุกขึ้นมาพูดกับสังคม

 

     “เราตั้งกลุ่มขึ้นมา เพราะรู้สึกเดือดเนื้อร้อนใจกับสภาพที่ถูกกดดัน ตอนที่ทำเรื่องสิทธิสตรี มีการจัดกลุ่มพูดคุย นำเสนอในเชิงนโยบายที่อยากแก้ให้เกิดความเท่าเทียม ระหว่างนั้นก็ยังได้ยินคำพูดในเชิงตลกขบขันถึงคนรักเพศเดียวกัน หญิงรักหญิง หรือว่าชายรักชาย เมื่อก่อนไม่มีคำพวกนี้นะคะ คำเหล่านี้เป็นคำที่กลุ่ม
อัญจารีช่วยกันคิดขึ้นมา เพราะเราต้องการหาคำที่ไม่ผูกติดกับการกีดกัน”

 

     เมื่อถามถึงความแตกต่าง หรือความยากง่ายระหว่างการเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศ ของกลุ่มหญิง
รักหญิงกับกลุ่มหลากหลายทางเพศอื่นๆ อัญชนาบอกว่าคงต้องเริ่มจากการทำความเข้าใจบริบทและค่านิยม
ในแต่ละยุคสมัยก่อน

 

     “เราโตมาในยุคที่สังคมมีกฎเกณฑ์ที่ระแวดระวังความเกี่ยวพันระหว่างชายหญิง สังคมสนับสนุนเด็ก
ผู้หญิงให้อยู่กันในกลุ่มผู้หญิงมากกว่า แล้วผู้ชายที่สนใจชายเขาก็อยู่ด้วยกัน โอกาสจะมาเกี่ยวข้องกับกลุ่มหญิงรักหญิงมันก็ยิ่งน้อยลงไปอีก ในแง่ของการเรียกร้องสิทธิมันจึงถูกแยกไปโดยปริยาย

 

     “แต่ที่ยากในแง่ของความเป็นหญิง เพราะสังคมมีกลไกบางอย่างที่ควบคุมผู้หญิงอยู่ เช่น ผู้หญิงที่มีอะไรกับผู้ชายโดยไม่ได้แต่งงาน หรือมีอะไรแค่เพื่อสนุกๆ ในปัจจุบันมีแค่คนบางกลุ่มที่ยอมรับได้ ในขณะที่สังคมกระแสหลักก็ยังมองในเชิงการตีตราอยู่ดี แต่ก็น่าแปลกที่หากย้อนกลับไปประมาณ 20 ปีก่อน ตอนที่อัญจารีเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยราชภัฏเปิดรับการสอบเข้าของนักศึกษาทุกเพศ เพราะระเบียบในตอนนั้นเขาเขียนว่า ห้ามกลุ่มที่มีความเบี่ยงเบนทางเพศ เราก็ทำเรื่องเป็นจดหมายร้องเรียนไปยื่นกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ปรากฏว่าสื่อมวลชนสนใจ มีการดีเบตกันเยอะมาก กระทรวงศึกษาธิการก็ส่งตัวแทนมาดีเบตกันในทีวี เขาก็บอกว่ามีท่าทางนิดๆ หน่อยๆ ไม่เป็นไร แต่อย่าให้ถึงขั้นทาปากแดง ทาเล็บแดงมาแล้วกัน นั่นหมายถึงจริงๆ แล้วเขาเจาะจงผู้ชายที่ไม่ทำตามกรอบที่สังคมคาดหวังให้ทำตามความเป็นชาย

 

     “จริงๆ แล้วสมัยก่อน หญิงข้ามเพศเจอสถานการณ์ที่ถูกกดดันมากพอสมควร เมื่อตอนเด็กๆ เราจำได้ว่าอาชีพเดียวของคนกลุ่มนี้ที่เคยเห็นคือ ช่างทำผม เราก็เคยสงสัย เอ๊ะ แล้วเขาไม่ต้องทำมาหากินอย่างอื่นกันเหรอ
ในขณะที่ผู้หญิงเรา แม้แต่สหประชาชาติก็มีอนุสัญญาขจัดการเลือกปฏิบัติระหว่างชายหญิง และประเทศไทยได้ไปลงนามไว้ ทำให้นักการเมืองไทยต้องแก้ไขกฎหมายหลายอย่าง เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมระหว่าง
ชายหญิง ก็ค่อยๆ เปิดประตูให้ผู้หญิงมากขึ้น

 

     “การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ไม่อยากให้มองแค่ว่าเดี๋ยวนี้หญิงรักหญิง ชายรักชาย คนข้ามเพศ
สามารถเปิดเผยตัวเองได้เท่านั้น แต่โอกาสการปฏิสัมพันธ์ระหว่างชายหญิงหลายๆ อย่างก็เปลี่ยนไปเยอะ สมัยเราเด็กๆ สามีภรรยาเดินข้างถนนแล้วจูงมือกันยังถูกคนอื่นมองค่อนแคะ นี่คือระหว่างชายกับหญิงนะคะ (หัวเราะ) คนสมัยนี้อาจจะนึกภาพไม่ออกด้วยซ้ำ เดี๋ยวนี้คนมีอิสระมากขึ้น สังเกตสิคะตอนนี้โรงแรมเล็กๆ ที่มีเบอร์ก็ไม่ค่อยจะมีแล้ว เพราะไม่จำเป็นแล้ว เดี๋ยวนี้คนสามารถใช้เวลาส่วนตัวร่วมกันในพื้นที่ที่เขาเลือกเองได้ ไม่ต้องซุกอยู่หลังม่าน”

 

     ในขณะที่สภาพสังคมเปลี่ยนไป อัญชนาบอกว่าความคิดความเข้าใจของตัวเองก็เปลี่ยนไปมากเช่นกัน จากวันที่พยายามจัดแจงตำแหน่งตัวเอง สู่วันที่อยากจะทลายกรอบอัตลักษณ์ต่างๆ ลง

 

     “แต่ก่อนนี้ เวลาเราถกเถียงกับคนอื่นที่เป็นคนรักต่างเพศ เราจะบอกว่าฉันขอเป็นคนรักเพศเดียวกัน คือพยายามจะยืนยันตัวตนของเราว่าเป็นแบบนี้ แต่หลายปีมานี้รู้สึกว่า จริงๆ แล้วเราจำเป็นไหมที่จะต้องไปต่อสู้ว่าเราเป็นคนรักเพศเดียวกัน เอาเป็นว่าเราไม่ขออยู่กับกรอบที่สังคมกำกับมาโดยวัฒนธรรมหรือธรรมเนียมต่างๆ ได้ไหม เราจะเป็นอะไรก็ได้

 

     “เราต้องตั้งอัตลักษณ์กันไปอีกยาวถึงไหน ทำไมเราต้องไปสร้างกรอบใหม่ มนุษย์มีอิสระ มีศักยภาพกว้างไกลกว่ากรอบที่สังคมให้มา เราพยายามเข้าใจคนอย่างที่แต่ละคนเป็นดีกว่าไหม และเสนอแก้กฎหมาย ที่สามารถคุ้มครองรองรับความเป็นคนของทุกคนได้”

 

     เมื่อถามว่าในขณะนี้มีการพูดถึงประเด็นความลื่นไหลทางเพศสภาพ (gender fluidity) กันมากขึ้น
อัญชนาอธิบายว่าสังคมอาจเข้าใจว่าหมายถึงบุคคลที่สามารถรักและถูกรักได้จากคนเพศต่างๆ แต่สำหรับเธอแล้ว เธอมองในแง่ที่ว่าคนเราจะเป็นอะไรก็ได้ และสังคมไม่ตั้งข้อรังเกียจ ทว่ามันจะเป็นเรื่องยากหรือไม่ในการทลายกรอบความคิดของสังคม ที่กำหนดให้ระบุอัตลักษณ์ทางเพศตั้งแต่ลืมตาดูโลก

 

     “เริ่มต้นที่ยอมรับและเคารพว่าคนเท่าเทียมกัน อันดับที่สองคือ มองเห็นว่าสิ่งที่เราเชื่อว่ามันใช่นั้น จริงๆ แล้วเป็นสิ่งที่ถูกวัฒนธรรมและธรรมเนียมต่างๆ กำหนดมา เพราะฉะนั้นทุกอย่างมันเปลี่ยนได้ ถ้าเราสามารถยึดสองกรอบนี้ไว้ ก็จะสามารถใช้สายตาอีกแบบหนึ่งมองข้อขัดแย้งที่เกิดขึ้นได้

 

     “ประเด็นสำคัญคือเราไม่ไปทลายกรอบเก่าแล้วสร้างกรอบใหม่ แต่เราทลายเพื่อสร้างมาตรฐานที่ตระหนักและยอมรับความเป็นคนเท่าๆ กัน ซึ่งจริงๆ ส่งผลกระทบถึงทุกคนหมด แม้แต่คนที่คิดว่าฉันไม่ใช่ LGBT จริงๆ คือเขามองไม่เห็นว่า ชีวิตเขาก็ได้รับผลกระทบจากกรอบต่างๆ เช่นกัน มันเป็นสิทธิที่เกี่ยวกับมนุษย์ทุกคน และสิทธินั้นก็คุ้มครองคุณ ยกตัวอย่างแบบติดตลกนะคะ ถ้าวันหนึ่งคุณออกจากบ้านมาเจอสังคมที่ยอมรับเฉพาะคนรักเพศเดียวกัน แต่คุณรักต่างเพศ คุณต้องแอบซ่อนตัวเองไว้ ไปที่ไหนก็เจอแต่คนดูถูก การเป็นแฟนกับคนต่างเพศ คุณจะรู้ได้ยังไงว่าสังคม  มันอาจจะไปถึงแบบนั้นในสักวันหนึ่ง สาระสำคัญที่อยากจะบอกคือ คุณไม่ต้องไปตัดสินสิ่งที่เขาเป็นดีกว่า มันเป็นสิทธิของทั้งชายรักชาย หญิงรักหญิง หญิงรักชาย ทุกคนได้รับสิทธิเท่ากัน เป็นเรื่องของการสร้างบรรทัดฐาน ทำสังคมให้เป็นสังคมที่เปิดกว้างและเคารพความเป็นมนุษย์

 

     “สังคมไทยยอมรับอภิสิทธิ์และการไร้สิทธิมากกว่ายอมรับหลักการสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นอุปสรรคใน
การทำงานของทุกๆ กลุ่ม ในสังคมเรายังมีคนที่ถูก
ทำให้เป็นคนชายขอบ ถูกรังแก ยกตัวอย่างทุกวันนี้ประเทศไทยก้าวหน้าจะเป็นประเทศ 4.0 แต่ยังมีคนที่เกิดและเติบโตที่นี่โดยไม่มีเลขประจำตัว 13 หลัก เป็นไปได้อย่างไร

 

     “เพื่อนเราหลายคนเป็นคนยุโรปมาเมืองไทยแล้วบอกว่า สังคมไทยให้พื้นที่การดำรงอยู่ของคนข้ามเพศ
มากกว่ายุโรปเสียอีก เราก็ยอมรับว่ามี แต่ไม่ได้ยอมรับว่าเท่ากัน ในยุโรปหลายๆ ที่ คนข้ามเพศหลายคนต้องถูกบิดให้สวมบทบาทชายหรือหญิงค่อนข้างชัดเจน  แต่เนื่องจากเขามีมาตรฐานความเชื่อเรื่องสิทธิมนุษยชนเข้มแข็งกว่าเมืองไทย ทำให้มีการผลักดันนโยบายหรือออกกฎหมายที่ให้สิทธิคนกลุ่มนี้ ประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายแบบมีส่วนร่วมในการเลือกผู้นำของตัวเอง ซึ่งบ้านเราไม่มีและคนตั้งคำถามกันน้อยมาก

 

     “ที่พูดมานี้ส่วนใหญ่เน้นประเด็นคนข้ามเพศ แต่คนรักเพศเดียวกันในต่างประเทศเขามีอิสระกว่า
บ้านเรา
ตั้งนานแล้ว บ้านเราไม่มีกฎหมายที่คุ้มครองเรื่องอัตลักษณ์ทางเพศที่จะช่วยอำนวยความสะดวก
ในการดำเนินชีวิตให้คนรักเพศเดียวกันหรือคนข้ามเพศ

 

     อัญชนาปิดบทสนทนากับเราว่า เธอเข้าใจดีว่าเรื่องการทลายกรอบเก่า โดยไม่สร้างอัตลักษณ์ใหม่
เป็นเรื่องยาก ต้องอาศัยทั้งเวลาและการเปิดใจรับฟัง แต่อย่างไรก็จำเป็นต้องพูด สังคมใช้เวลาในการสร้างความเชื่อและวัฒนธรรมต่างๆ มากำกับมนุษย์ และเธอเชื่อว่ามนุษย์เองนี่แหละที่จะต้องมองให้ทะลุและเลือก
ทางที่จะเปลี่ยนเอง

 

     “การที่เรามองว่าสังคมไม่เปิดกว้าง เราก็จะพยายามอาศัยกลไกแบบเดียวกับที่สังคมให้มากำกับ
คนต้องมีอัตลักษณ์แบบนั้นแบบโน้น เราก็ขอมีอัตลักษณ์
แบบนี้ อะไรก็แล้วแต่ มันก็ไม่จบค่ะ เหมือน LGBT
เมื่อก่อนมีแต่ G คือเกย์ ต่อมามี L ต่อมาเกิดคำถามจะเอาแต่คนรักเพศเดียวกันได้ยังไง คุณไม่รู้เหรอว่าคนที่รักทั้งสองเพศก็โดนรังแกเหมือนกัน ก็มี B ตามมา ไม่มีใครผิดที่ออกมาเรียกร้อง เพราะว่าเขาถูกกด แต่เรากำลังมองต่อไปอีกว่า ที่เขาถูกกดเพราะว่าระเบียบ วิธีคิด วัฒนธรรมของสังคม จำกัดไว้แค่ชายหญิงตามเพศกำเนิด และต้องจับคู่กับต่างเพศเท่านั้น กฎระเบียบ วิธีคิดแบบนี้ต่างหากที่มีผลกระทบต่อคนทุกกลุ่ม

 

     “อยากให้สังคมยอมรับความเป็นมนุษย์ โดยไม่ต้องไปค้นหาว่าเขาเป็นเพศอะไร แล้วก็จัดลำดับสถานภาพของคนคนนั้นจากสิ่งที่เห็น ทั้งที่สิ่งเหล่านั้นไม่ควรเป็นอุปสรรคไม่ว่าจะในด้านไหนก็ตาม”

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising