ทายสิว่าชายชาติใดที่ประโคมเวลาและเงินไปกับการดูแลตัวเองมากที่สุด เกาหลีคือคำตอบที่เดาไม่น่ายาก รู้ไหมว่าเหล่าโอปป้าที่เราเห็นว่าหน้าหวานผิวดีใสกิ๊งกันทุกวันนี้ แท้จริงแล้วตลอดสิบปีที่ผ่านมา คนหล่อเอาเงินไปเทให้กับสกินแคร์มากที่สุดในโลกยิ่งกว่าผู้ชายยุโรปเสียอีก
เว็บไซต์ Euromonitor สำรวจพบว่าตลาดสกินแคร์ในเกาหลีใต้เติบโตถึง 44% ตั้งแต่ช่วงปี 2011-2017 ที่ผ่านมา แถมเหล่าสาวๆ จะอ้าปากหวอไปอีกถ้าได้รู้ว่าผลสำรวจล่าสุดจาก GlobalData บอกว่า 3 ใน 4 ของผู้ชายเกาหลีแห่กันไปทำทรีตเมนต์ดูแลผิวหน้าที่ร้าน และยังกลับบ้านมามาสก์หน้าอีกสัปดาห์ละครั้งเป็นอย่างน้อย (ย้ำว่าอย่างน้อย) โดยเฉพาะเด็กหน้าใสเจเนอเรชัน Z เพราะเกือบ 60% ของคนกลุ่มนี้ใช้เวลา ‘ทำสวย’ ไปกับทรีตเมนต์เสริมหล่อโน่นนี่ เป็นอย่างไรล่ะ ผู้หญิงยุคนี้ถึงกับต้องอึ้งไป…
ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะอิทธิพลเคป๊อปนี่เอง (ก่อนผู้เขียนจะตัดใจเขียน สารภาพว่าทำใจนานมากว่าจะโทษเจ้าอิทธิพลนี่ดีไหม เพราะแตะเมื่อไร วัยรุ่นไทยโดยเฉพาะในทวิตเตอร์จะหัวร้อนขึ้นมาทันที) แต่อย่างน้อยเราก็ไม่ได้พูดลอยๆ เพราะ โรลด์ มาเลียงเคย์ ผู้อำนวยการสถาบันเกาหลีศึกษาของมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ออกมายืนยันโดยระบุว่า “พอได้ยินว่าหนุ่มวัยรุ่นสมัยนี้พยายามเลียนแบบลุคสะอาดสะอ้านเกลี้ยงเกลาของนายแบบเกาหลีแล้วอดประหลาดใจไม่ได้ (นี่เขาพูดหลังจากไปประจักษ์มาแล้วที่เมียงดง) ยิ่งใส่เสื้อผ้าพอดีตัวเรียบกริบ บวกกับผมที่ย้อมและเซตมาอย่างดี แถมตามีเหล่าเต๊งพ่วงมาด้วย (อันนี้อิทธิฤทธิ์คาถามีดหมอ) ยิ่งกว่านั้นคือปัจจุบันนี้พวกเขามีการแต่งหน้ากันเบาๆ ด้วย” ไม่เชื่อไปดูหน้าอีดงอุคได้
ความงามแบบไร้ขอบเขตเรื่องเพศ หรือ Genderless นี้ยังผุดให้เกิดคำใหม่ๆ ในวัฒนธรรมเกาหลีอย่าง ‘โกมินัม’ หรือ Kkotminam (꽃미남) ที่แปลตรงๆ ว่า Flower Boys คำที่สื่อถึงชายวัยรุ่นเจ้าสำอาง หนึ่งในวัฒนธรรมเกาหลีที่เริ่มมองข้ามบริบทของเพศมากขึ้น และจะว่าไปคงเป็นผลพลอยได้มาจากความกดดันในสังคมที่ผู้ชายต้องแข่งขันกันเอาเป็นเอาตายให้ได้งานดีๆ เพื่อเชิดหน้าชูตา เจมส์ เทิร์นบูล นักเขียนและอาจารย์มหาวิทยาลัยในปูซาน เกาหลีใต้ ผู้เชี่ยวชาญด้านแนวคิดสิทธิสตรีในเกาหลีและวัฒนธรรมยอดนิยมให้ความเห็นว่า “คงเป็นเพราะสังคมแก่งแย่งแข่งขันกันอย่างโหดทุกวันนี้ โดยเฉพาะสำหรับคนอายุช่วง 20-30 ปีที่ตั้งสเปกไว้สูงมาก ไม่ว่าจะเป็นต้องเรียนจบสูงๆ ลงเรียนคอร์สต่างๆ เพิ่มพูนความรู้ ภาษาอังกฤษก็ต้องดีเลิศ แถมตลาดความสวยความงามก็ยิ่งฝังลึก ด้วยความคิดที่ว่าไก่งามเพราะขน คนงามเพราะแต่ง ใครงามน้อยกว่าก็แพ้ไป ปัจจุบันการส่งเรซูเมสมัครงานในเกาหลียังบังคับว่าต้องแนบรูปถ่ายไปด้วยอีก
หากจะให้อธิบายถึงความ ‘อยากสวย’ ของหนุ่มเกาหลีนั้น จะว่าไปก็ซับซ้อนพอๆ กับการอธิบายว่าทำไมบ้านเราถึงแก้ปัญหาวิกฤตฝุ่น PM2.5 ไม่ได้ แต่ผลการวิจัยของโรลด์ มาเลียงเคย์ ตั้งแต่ปี 2010 ที่บอกว่าความจริงแล้วผู้หญิงเรานี่ล่ะที่เป็นสาเหตุทำให้ผู้ชายลดความแมนลง (เอ้า เสียอย่างนั้น?) เพราะหลังจากเกิดวิกฤตฟองสบู่แตกหรือวิกฤต IMF ที่กระทบทั้งเอเชีย ทำให้การจ้างผู้หญิงทำงานในเกาหลีใต้ลดลง 8.2% ไหนจะเรื่องดราม่าในที่ทำงาน เรื่องความไม่เท่าเทียมกัน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งทั้งวรรณกรรมและแผ่นฟิล์มต่างก็ชวนให้ผู้หญิงตั้งคำถามถึงบทบาทของเพศที่แท้จริง ทำให้ผู้หญิงมองหาผู้ชายที่มีลักษณะอ้อนแอ้นกว่า อย่างที่โรลด์ได้เผยว่า ‘ผู้หญิงมองหาผู้ชายที่ทำให้รู้สึกว่าอยู่ด้วยแล้วเธอมีอำนาจเหนือกว่า’ นั่นเอง
ทุกวันนี้กลุ่มผู้ชายที่เป็นนักเรียนนักศึกษาเองก็เริ่มจะไม่ค่อยอวยผู้ชายประเภทที่ล่ำบึ้ก ‘Tall, Dark and Handsome’ กันแล้ว เพราะมองว่านอกจากคนกลุ่มนั้นจะไม่ได้เรียนสูง แต่ผันตัวเองไปทำงานที่อวดอำนาจหน่อยๆ ประเภทเป็นตำรวจ ทหาร บ้างก็ไปเป็นหัวหน้าแก๊งเกเร ขณะที่ในเกาหลีเอง แม้จะบูชาผู้ชายหน้าสวยหุ่นอ้อนแอ้น แต่นั่นก็เป็นเพียงภายนอก เพราะผู้ชายเหล่านี้บางคนก็แมนใช่เล่น เห็นคนไหนแต่งหน้าเบาๆ เดินมา คนที่นั่นเขาไม่ได้คิดว่าเป็นเพศที่สามแต่อย่างใด โรลด์ยังบอกกับ CNN อีกว่าเลิกเรียกผู้ชายแบบนี้ว่า ‘สาวแตก’ ได้แล้ว เพราะจริงๆ แล้วคนกลุ่มนี้ไม่ได้สาวดังภาพที่เราเห็นด้วยซ้ำ
แคเธอรีน สปวร์ต เจ้าของบล็อกความงามอย่าง SkinfullofSeoul ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่าในเกาหลีรับเรื่องผู้ชายหน้าสวยได้ก็จริง แต่กระแสหลักๆ แล้วสังคมก็กำหนดบทบาทให้ผู้ชายต้องดูแข็งแกร่งอยู่ดี ตามสไตล์สังคมที่บูชาผู้ชายและยังให้บทบาทสำคัญกับผู้ชายมากกว่า
แล้วฝั่งตะวันตกล่ะ เราเริ่มเห็นว่าผู้ชายฝรั่งก็เริ่มหันมากันคิ้วกันมากขึ้น และเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา Chanel ก็ออกผลิตภัณฑ์ Boy de Chanel ที่บอกว่าเป็นเครื่องสำอางสำหรับหนุ่มๆ โดยเฉพาะ นำโด่งมาด้วยรองพื้น 8 เฉดสี ดินสอเขียนคิ้วคู่กับแปรงแต่งคิ้วทูอินวัน และลิปบาล์มแบบไม่มีสี ซึ่งแบรนด์เขาเคลมว่าตั้งใจจะ ‘เขียนประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับความงามของผู้ชาย’ แล้วไปวางขายที่เกาหลีก่อนจะวางขายออนไลน์ในอเมริกาเสียอีก
จะว่าไปก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ตลาดความงามจะดึงดูดความสนใจจากหนุ่มส่วนใหญ่ได้ง่ายๆ เดวิด ยี่ เจ้าของบล็อกความสวยความงามสำหรับหนุ่มๆ อย่าง Very Good Light กล่าวว่า “ในอเมริกาเอง กว่าเครื่องสำอางจะเป็นที่ยอมรับต้องใช้เวลาหลายปี แต่สำหรับเกาหลีใต้ เรื่องความสวยความงามล้ำหน้าไปมาก ตอนนี้ผู้ชายยังมีลุคแต่งหน้าเป็นของตนเองแบบที่ผู้หญิงจะมาแต่งตามก็ดูไม่เข้าท่าอีกด้วย เพราะนี่เป็นเทรนด์ที่เหล่านักร้องเคป๊อปทำกัน” เดวิดยังติงว่าสำหรับเขาแล้ว Boy de Chanel ไม่ใช่นวัตกรรมใหม่แต่อย่างใด และเป็นเหมือนเครื่องประทินผิวมากกว่าจะเป็นเครื่องสำอาง ส่วน Chanel เองต้องการจะสื่อว่าอินสตาแกรมนายแบบที่ลงรองพื้นแบบเผยผิวนั้นทำเพื่อให้สอดคล้องกับแคมเปญที่ว่า ‘แต่งหน้าให้ดูเหมือนไม่แต่ง’ นั่นเอง
ซาร่าห์ ลี ผู้ร่วมก่อตั้งแบรนด์เครื่องสำอางสุดคัลต์สัญชาติอเมริกันอย่าง Glow Recipe และผู้จัดจำหน่ายสกินแคร์เกาหลีเต็มตัวให้ความเห็นว่า ผู้ชายในอเมริกาเรียกร้องอยากได้เครื่องประทินผิวของผู้ชายโดยเฉพาะ “ที่น่าสนใจคือ Boy de Chanel หรือผลิตภัณฑ์ใกล้เคียงกันนี้น่าจะช่วยให้ผู้ชายกล้าเปิดอกคุยเรื่องความงามและการดูแลตัวเองกันมากขึ้นแบบไม่ต้องกลัวคำครหา”
ขณะที่ ไรอัน ซิม เจ้าของบล็อก Ryanraroar เสริมว่า “ผมคิดว่ามุมมองของความสวยความงามสำหรับผู้ชายได้เปลี่ยนไปแล้ว การแต่งหน้าใช่ว่าจะหมายถึงการลงสีสันมากมาย แต่ปัจจุบันนี้การแต่งหน้าเป็นการแสดงออกถึงความมั่นใจต่างหาก”
มั่นใจว่าหลังจากอ่านบทความนี้ ผู้หญิงหลายคนที่วุ่นจนไม่มีเวลามาสก์หน้าอาจต้องรีบประทินผิวกันยกใหญ่ไม่แพ้กับชายหนุ่มรูปงาม และหากผู้หญิงยังสวยได้ด้วยเมกอัพ แล้วเหตุใดชายหนุ่มจะดูแบบนั้นบ้างไม่ได้ล่ะ
ภาพประกอบ: Peakoonnang B.
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง:
- www.humanflowerproject.com/index.php/weblog/comments/koreas_lovely_kkotminam
- www.dailydot.com/upstream/k-pop-boy-bands-masculinity
- www.cbc.ca/news/world/korean-men-makeup-cosmetics-mainstream-1.4552761
- www.verygoodlight.com/author/david-yi
- https://edition.cnn.com/style/article/south-korea-male-beauty-market-chanel
- www.bbc.com/news/world-asia-42499809
- www.pressreader.com/korea-republic/the-korea-times/20171101/281917363339666