ชายผิวขาว หน้าตาดี แต่งตัวดูภูมิฐาน ในมือของเขามีหมวกกันน็อกคู่ใจสีนำ้เงินหน้าตาละม้ายหน้ากากของ Daft Punk (หรือใครบางคนอาจจะบอกว่าเป็นจูเรนเจอร์) เดินตรงเข้ามาที่ออฟฟิศของ THE STANDARD พร้อมกล่าวทักทายเราอย่างเป็นกันเอง
สารภาพว่าทันทีที่เราพบว่าชายผู้นี้คือ ‘ลงทุนแมน’ เจ้าของผลงานที่เราและใครหลายคนติดตามมาเป็นเวลานาน ความรู้สึกหลายๆ อย่างก็ประดังประเด
ประทับใจที่ได้เจอตัวเป็นๆ ของลงทุนแมนครั้งแรก ทึ่งเพราะภาพจินตนาการของเขาที่เราสังเคราะห์เอาไว้จากตัวหนังสือต่างจากภาพของชายที่ยืนอยู่เบื้องหน้าตอนนี้ไปพอสมควร พลางอดคิดเล่นๆ ไม่ได้ว่าบางทีนี่อาจจะเป็นแผนซ้อนแผนที่ลงทุนแมนปลอมตัวมาหลอกเราอีกตลบหรือเปล่า!?
เรานัดลงทุนแมนเข้ามาที่ออฟฟิศ THE STANDARD ย่านอาร์ซีเอในช่วงสายวันหนึ่งด้วยโจทย์ที่ต่างจากการพบกันครั้งก่อนๆ เพราะอยากรู้เรื่องราวของเขาในมุมที่ลึกขึ้น และน่าจะเป็นครั้งแรกที่ลงทุนแมนยอมให้สัมภาษณ์และถ่ายรูปกับสื่อแบบตัวต่อตัว
‘เขา’ มักจะออกตัวกับเราอยู่บ่อยๆ ว่าพูดไม่เก่ง ทั้งๆ ที่ความเป็นจริงไม่ว่าเขาจะพูดหรือเล่าอะไร เราในฐานะผู้ฟังมักจะคล้อยตามคล้ายตกอยู่ในภวังค์ เพลิดเพลินไปกับข้อมูลหรือเรื่องราวสนุกๆ จากประเด็นทางธุรกิจที่เขาหยิบยกขึ้นมาบอกเล่าเป็นกรณีศึกษาได้อยู่เสมอ
ชื่อของลงทุนแมนเป็นที่รู้จักครั้งแรกเมื่อปี 2017 ในฐานะเพจที่บอกเล่าเรื่องราวหรือปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ เศรษฐกิจ การเงิน การลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยมีเอกลักษณ์อยู่ที่สไตล์การเล่าเรื่องที่สามารถหยิบจับเรื่องยากๆ มาอธิบายให้เข้าใจได้ง่ายๆ ด้วยภาษาแบบที่เพื่อนเล่าให้เพื่อนฟัง ชนิดที่แม้แต่คนไม่อินเรื่องเงินๆ ทองๆ มาก่อนก็ยังเข้าใจได้ไม่ยาก
กว่า 2 ปีผ่านไปของการถือกำเนิดและเติบโต วันนี้ลงทุนแมนมีทั้งเพจ เว็บไซต์ พ็อกเก็ตบุ๊ก จนต่อยอดไปสู่การแตกโมเดลธุรกิจสร้างแพลตฟอร์มแบ่งปันความรู้อย่าง ‘บล็อกดิต’ (Blockdit)
เรื่องราวของลงทุนแมนเริ่มต้นได้อย่างไร เขาเป็นใครมาจากไหน อะไรผลักดันให้ชายคนหนึ่งลุกขึ้นมาเขียนคอนเทนต์จนมีผู้ติดตามเกือบล้านคนในช่วงเวลาไม่กี่ปี แล้วเพราะเหตุใดเขาจึงไม่ยอมเปิดเผยตัวตนที่แท้จริงภายใต้หมวกใบนั้น
THE STANDARD จะเล่าให้ฟัง
“คนธรรมดาที่อยากแชร์เรื่องใกล้ตัวสนุกๆ ให้เพื่อนได้อ่านและเข้าใจในทุกๆ วัน”
ต้องยอมรับว่าเสน่ห์อย่างหนึ่งของลงทุนแมนที่หาตัวจับยากมากๆ คือวิธีการมองประเด็นหรือเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั่วโลกทั้งไทยและเทศ ก่อนยกมาถ่ายทอดในสำเนียงของตัวเอง สอดแทรกแง่คิดมุมมองที่เป็นประโยชน์ชนิดที่ไม่เลี่ยนเกินหรือจืดไป จนทำให้ผู้อ่านรู้สึกว่าทุกเรื่องที่เขากำลังเล่าอยู่ ‘ใกล้ตัว’ มากกว่าที่คิด
บรรณาธิการบริหาร THE STANDARD นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ เริ่มต้นยิงคำถามง่ายๆ แต่ก็เป็นคำถามเดียวกันที่ค้างคาในใจเราและอีกหลายๆ คน
“ลงทุนแมนคือใคร?”
“ผมเป็นแค่คนธรรมดาๆ ที่อยากแชร์เรื่องใกล้ตัวสนุกๆ ให้เพื่อนได้อ่านแล้วเข้าใจว่าแต่ละวันเกิดอะไรขึ้นบ้าง” ลงทุนแมนตอบแล้วเริ่มเล่าต่อว่าวิธีเล่าเรื่องหรือน้ำเสียงที่เขาใช้ถ่ายทอดผ่านตัวอักษรจะมีลักษณะคล้าย ‘เพื่อนคุยกับเพื่อน’ ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ที่ทำให้ลงทุนแมนเข้าไปเป็นเพื่อนของใครหลายคนในระยะเวลาอันรวดเร็ว
“เสน่ห์ของลงทุนแมนคือเราจะเล่าเหมือนเพื่อนคุยกับเพื่อนครับ เราอาจจะไม่ได้เก่งหรือรู้ทุกเรื่อง แต่เราจะพยายามไปเสาะหาเรื่องนั้นๆ เพื่อนำมาเล่าให้เพื่อนฟัง
“พื้นฐานผมอยู่ในแวดวงธุรกิจการลงทุนมาก่อน เลยทำให้รู้เรื่องบริษัท รวมถึงธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ อยู่มาวันหนึ่งผมเริ่มเขียนเรื่องที่ผมอยากเล่าบนเฟซบุ๊กโดยแชร์ให้อ่านได้บนโซเชียลมีเดีย ปรากฏว่ามีคนมาขอเพิ่มเป็นเพื่อนเยอะมาก ซึ่งโดยปกติแล้วเวลาที่คนเข้ามาขอเพิ่มเพื่อนก็จะกลายเป็นว่าเราต้องติดตามเรื่องของเขาด้วย มันเลยไม่ตอบโจทย์ผม
“หลังจากนั้นก็เริ่มคิดจะสร้างเพจขึ้นมา ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้นเคยคิดว่ามันไม่จำเป็นด้วยซ้ำ เพราะเราเองก็ไม่ได้จะซีเรียสขนาดนั้น มองมันเป็นเหมือนงานอดิเรกมากกว่า”
จากความสนุกและงานอดิเรกของการเล่าเรื่องให้เพื่อนฟัง ในที่สุดเพจลงทุนแมนก็ถือกำเนิดขึ้นในช่วงเดือนมีนาคม ปี 2017 โดยใช้ชื่อลงทุนแมน เนื่องจากตัวเขาเองเป็นนักลงทุน แล้วเริ่มเขียนคอนเทนต์ด้วยคอนเซปต์หยิบเรื่องใกล้ตัวที่ใครหลายคนอาจจะมีคำถามหรือความสงสัยในใจมาก่อน แต่ยังไม่มีใครนำมาทำให้กระจ่างมาถ่ายทอด
“เราจะนำเรื่องรอบตัวที่คิดว่าคนอื่นๆ ก็น่าจะอยากรู้เหมือนๆ กับเรามาเล่า ตัวอย่างเช่น ‘บัตรเครดิต’ รูดแล้วค่าธรรมเนียมไปไหนบ้าง นี่คือเรื่องที่คนถือบัตรเครดิตก็อยากรู้เหมือนกันหมด รูดบัตรเสร็จแล้วร้านได้เงินเต็มจำนวนหรือเปล่า วีซ่าและมาสเตอร์การ์ดได้อะไร ธนาคารในประเทศไทยในฐานะผู้ออกบัตรและผู้ออกเครื่องรับบัตรได้อะไรบ้าง แบ่งค่าธรรมเนียมกันอย่างไร มันเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ทุกคนอยากรู้แล้วเราก็ไปหามาเล่าให้ฟัง”
ส่วนสาเหตุที่ต้องอำพรางใบหน้าด้วยหมวกกันน็อกก็เป็นเพราะว่าไม่ต้องการให้ผู้อ่านยึดติดกับตัวคนเขียน แต่อยากให้มองทุกเรื่องราวที่มาจากลงทุนแมนว่าลงทุนแมนเป็นผู้ผลิตขึ้นมา เพื่อสร้างความรู้สึกที่ว่าชอบหรือไม่ชอบชิ้นงานไหนก็ขึ้นอยู่กับตัวงาน ไม่ใช่ที่ตัวบุคคล
“เราไม่ได้อยากให้คนมายึดติดว่าเราเป็นใคร แค่สนใจว่าเราจะเล่าเรื่องอะไรในแต่ละวันก็พอแล้วครับ
“ไม่มีประโยชน์ที่ผมจะเปิดเผยตัวตนครับ” เขายืนยันด้วยน้ำเสียงที่ค่อนข้างจริงจัง
‘สนุก รับผิดชอบ จริงใจ’ สามส่วนผสมดีเอ็นเอความสำเร็จของลงทุนแมน
ทุกเรื่องบนโลกใบนี้มักจะมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับศาสตร์ของธุรกิจและการลงทุนอยู่เสมอ นี่คือแนวคิดที่ลงทุนแมนใช้กับการมองทุกๆ ปรากฏการณ์และข่าวที่เกิดขึ้นรอบโลกในแต่ละวัน
หนึ่งในกรณีศึกษาที่ประสบความสำเร็จสุดๆ คือช่วงที่พวกเขาเอาเรื่องของศิลปินกลุ่มไอดอล ‘BNK48’ มาตีแผ่ในเชิงโมเดลธุรกิจ ซึ่งเป็นมุมมองที่ต่างจากการนำเสนอของสื่อเจ้าอื่นๆ ทั่วไปในช่วงเวลาดังกล่าว และยังถือเป็นหนึ่งในคอนเทนต์ที่เกี่ยวข้องกับน้องๆ BNK48 ซึ่งได้รับความนิยมมากที่สุดในช่วงนั้น
แม้แต่กรณีการหยิบเอาโครงการ ‘ก้าวคนละก้าว’ ของ อาทิวราห์ คงมาลัย หรือตูน บอดี้สแลม มาถ่ายทอดในเชิงโครงสร้างประเทศ เพื่ออธิบายคำถามที่ว่าทำไมตูนถึงต้องลุกขึ้นมาวิ่ง ทำไปแล้วได้อะไร พร้อมนำสถิติรายได้ของโรงพยาบาลต่างๆ ที่ขาดทุนมาเปิดให้ดู ยกรายละเอียดการจัดสรรงบประมาณของแต่ละกระทรวงในแต่ละปีของประเทศไทยมาให้เห็นกันจะจะ
สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่แสดงให้เห็นว่าถ้าคุณมองประเด็นขาดพอ ทุกเรื่องก็สามารถนำมาเล่าได้ในแบบฉบับของคุณเอง
“ผมคิดว่าเรื่องราวหรือมุมพวกนี้คนอื่นอาจจะไม่ได้มอง แต่เรามองข้อเท็จจริงที่ตัวเลข ต้นตอของทุกปัญหามันเริ่มต้นที่เงิน แล้วเงินก็คือ ‘การลงทุน’ พี่ตูนวิ่งเพื่อเงิน เมื่อมีตัวเงินมาเกี่ยวข้อง เราก็เขียนเล่าเรื่องได้ แม้แต่ BNK48 เราก็ยังเขียนได้ เรื่องที่ดูไม่น่าจะเกี่ยวกันได้ แต่เราอาจจะมีมุมมองที่ไม่เหมือนคนอื่นๆ
“เราสนุกที่ได้ทำมันโดยไม่ได้คาดหวังว่าทำแล้วจะต้องได้เท่านั้นเท่านี้ มันคือความสนุกที่ตื่นขึ้นมาแล้วมีเรื่องอยากให้ทำเยอะมาก พอเราสนุก คนอื่นก็จะสนุกไปด้วย มันเป็นความจริงใจที่เราเองก็ชอบเล่าเรื่องพวกนี้ ไม่ได้มองมันเป็นหน้าที่ พอไม่ได้มองเป็นหน้าที่ ผลงานที่ออกมา คนอ่านเขาก็จะรู้เองว่าเราไม่ได้เขียนให้มันจบๆ ไป เรื่องไหนที่ไม่สนุกเราก็ไม่ทำ เราไม่ได้เขียนทุกเรื่องในปริมาณที่มากเหมือนสำนักข่าว อย่างมากวันหนึ่งเราก็มีคอนเทนต์ประมาณ 3 ชิ้น ไม่ได้เน้นปริมาณ”
เราถามเขาต่อว่า “มีวันไหนที่รู้สึกเบื่อ ไม่อยากทำคอนเทนต์แล้วบ้างไหม” เขาตอบทันทีว่าไม่มี เพราะมนุษย์เราทุกคนก็เกิดมาเพื่อเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ ในทุกๆ วัน
“อย่างตอนนี้ผมก็ยังสนุกอยู่ และมีอะไรให้ทำหลายอย่างมากๆ ทั้งลงทุนแมนและบล็อกดิต คิดง่ายๆ มันก็เหมือนกับเรื่องการลงทุนนั่นแหละครับ ผมชอบลงทุน สนุกกับการลงทุนทุกวัน ไม่มีมีวันเบื่อเรื่องหุ้นตก ถ้าหุ้นตก ผมก็อยากรู้สาเหตุ บริษัทไหนที่หุ้นลงแล้วน่าซื้อ แต่ละวันมีเรื่องที่น่าสนใจเกิดขึ้นไม่ซ้ำกัน คนเราก็เกิดมาเพื่อเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ ตลอดเวลา”
อีกหนึ่งพฤติกรรมที่ลงทุนแมนสังเกตเห็นจากคนอ่านของพวกเขาในยุคนี้คือผู้บริโภคส่วนใหญ่รอบรู้และทันเหตุการณ์เป็นอย่างมาก ดังนั้นในฐานะคนทำคอนเทนต์ พวกเขามองว่านี่คือความท้าทายที่คนทำคอนเทนต์หรือสื่อจะต้องรู้ข้อมูลที่ต้องการนำเสนอจริงๆ มีความรับผิดชอบสูง และจริงใจเพื่อชิ้นงานที่ผลิตออกมาจะไม่สร้างความเข้าใจที่ผิดๆ ให้กับตัวคนเสพ
“เคล็ดลับคือต้องจริงใจและใส่ใจครับ คนอ่านเขาฉลาด เขารู้ว่าตัวเองกำลังอ่านอะไรแล้วได้อะไร ต้องการข้อมูลที่ครบถ้วน เราต้องจริงใจ ไม่ไปดูถูกเขา ไม่ใช่ทำๆ ไปแล้วคิดว่าเดี๋ยวก็มีคนอ่านเอง คนทำคอนเทนต์ต้องทำการบ้านมากๆ เพื่อตอบแทนที่เขาติดตามเรา ทุกวันนี้ผมนั่งคิดตลอดเวลาว่ามีคนอ่านเป็นแสนๆ คน ถ้าโยนเรื่องอะไรที่ให้ข้อมูลไม่ถูกต้องไป เขาก็จะเกิดความเข้าใจที่ผิดกันได้
“ในฐานะคนทำคอนเทนต์ก็ควรจะต้องรับผิดชอบ จริงใจ และใส่ใจในรายละเอียดมากๆ ผมแนะนำว่าต้องตั้งใจให้ดีที่สุด ไม่ต้องไปเน้นปริมาณมาก ถ้าคุณไม่มีเวลา นานๆ โพสต์คอนเทนต์สักชิ้นก็ยังได้เลยครับ แต่ขอให้การโพสต์แต่ละครั้งมันมีคุณค่าจนคนติดตามเขาเลื่อนผ่านเราไปไม่ได้ ไม่ใช่ว่าโพสต์ถี่ๆ บ่อยๆ ส่วนใหญ่คนทำคอนเทนต์จะติดกับดักนี้”
เติบโต สปอนเซอร์ กับจรรยาบรรณที่ต้องรักษาไว้
เพราะเป็นเพจที่ให้ความรู้ด้านการลงทุนและธุรกิจแก่ผู้คน ซึ่งถือเป็นศาสตร์เฉพาะทาง จึงไม่แปลกที่ผู้ประกอบการและแบรนด์ต่างๆ ในประเทศทุกๆ อุตสาหกรรมจะให้ความสนใจต่อคิวเข้าแถวรอเข้ามาลงโฆษณากับลงทุนแมนเป็นจำนวนมาก
ในมุมมองคนที่อยู่กับเพจมาตั้งแต่วันแรกและเริ่มต้นจากการลองผิดลองถูกมาก่อน ลงทุนแมนบอกเราว่าเขาไม่เคยคิดด้วยซ้ำว่าความชอบและความรู้สึกสนุกของการได้เล่าเรื่องที่ตนเองสนใจจะกลายมาเป็นช่องทางที่หาเลี้ยงปากท้องพนักงานคนอื่นๆ ได้อีกหลายสิบชีวิต
“ไม่เคยคิดเลยครับ ตอนแรกเข้าใจว่าน่าจะมีทีมงานแค่ 2-3 คน เพราะรายได้มันก็ยังไม่พอคนอื่นในช่วงแรกๆ แต่พอผ่านไปเรื่อยๆ ตอนนี้ก็มีทีมงานมากขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะเรามีบล็อกดิตด้วย
“ตอนที่คิดว่าต้องเริ่มตั้งบริษัทจริงๆ จังๆ และสร้างลงทุนแมนให้กลายเป็นแบรนด์ได้แล้วคือช่วงที่มีลูกค้าและแบรนด์เข้ามาติดต่อขอเป็นสปอนเซอร์จำนวนมาก แล้วต้องมีระบบวางบิล ระบบบัญชี ตอนนั้นผมรู้สึกว่าตัวเองคงทำอะไรพวกนี้ตามลำพังไม่ได้อีกแล้ว ก็เลยเริ่มตั้งเป็นบริษัทขึ้นมา”
เขาเล่าให้เราฟังว่าส่วนใหญ่กลุ่มลูกค้าที่ติดต่อขอเป็นสปอนเซอร์โฆษณาจะครอบคลุมทุกหมวดธุรกิจในประเทศ อสังหาริมทรัพย์ รถยนต์ ผลิตภัณฑ์อุปโภค-บริโภค หรือแม้แต่บริษัทเทคโนโลยี เพื่อใช้ลงทุนแมนเป็นอีกหนึ่งช่องทางสื่อสารกับตัวผู้บริโภค เรียกได้ว่ามีลูกค้าให้ความสนใจไม่เคยขาดสาย
อย่างไรก็ดี คำถามก็คือเมื่อสื่อหรือเพจที่เริ่มมีแบรนด์โฆษณาติดต่อเข้ามาขอสนับสนุน แนวทางหรือความรู้สึกของคนอ่านที่มีจะเปลี่ยนไปหรือไม่ หากใช่ คนทำคอนเทนต์จะมีวิธีการหรือเคล็ดลับอย่างไรในการรักษาเสน่ห์หรือจริตเดิมๆ ที่คนอ่านเคยตกหลุมรักพวกเขาในวันแรกให้คงอยู่ต่อไปไม่เสื่อมคลาย
ลงทุนแมนเปิดเผยในประเด็นนี้ว่าพวกเขาจะให้ความสำคัญกับหลักเกณฑ์อยู่ 2 ประการ หนึ่งคือดูลูกค้าว่าแต่ละเจ้าที่ติดต่อเข้ามา มีรายไหนบ้างที่ประกอบธุรกิจที่มีความสุ่มเสี่ยงว่าอาจจะผิดกฎหมาย และสอง พยายามหาตรงกลางระหว่างลูกค้าและเพจ เพราะหากบางทีลูกค้าต้องการ ‘ขายของมากๆ’ ตนก็จำเป็นจะต้องรักษาสมดุลเพจเหมือนกัน
จากลงทุนแมนสู่บล็อกดิต แหล่งรวมข้อมูลความรู้และสาระประโยชน์ที่ใครๆ ก็เข้าถึงได้
นอกเหนือจากลงทุนแมนที่เป็นช่องทางหลักในการสื่อสารกับคนอ่านจำนวนเกือบล้านคนแล้ว ลงทุนแมนยังมีเพจ ‘ลงทุนเกิร์ล’ ที่ใช้สื่อสารกับกลุ่มคนอ่านผู้หญิงที่อาจจะมีความสนใจมุมไลฟ์สไตล์ แฟชั่น หรือแบรนด์กระเป๋าไฮเอนด์มากกว่าเรื่องราวของอีลอน มัสก์
เท่านั้นยังไม่พอ ในวันที่เจ้าของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่างๆ เริ่มปรับอัลกอริทึมกันตามใจชอบจนบรรดาเพจสื่อน้อยใหญ่ได้รับผลกระทบ ยอดรีชและเอ็นเกจเมนต์ลดไปตามๆ กัน
ลงทุนแมนจึงตัดสินใจพัฒนาแพลตฟอร์มเป็นของตัวเองในชื่อบล็อกดิต เพื่อเปิดพื้นที่ให้ผู้คนได้เข้ามาแบ่งปันข้อมูลความรู้และสาระได้อย่างกว้างขวางในทุกๆ แง่มุมความสนใจ เพียงหวังว่าประเทศไทยจะมีแพลตฟอร์มสตาร์ทอัพเทคโนโลยีที่แพร่หลายเป็นของตัวเองเหมือนที่ประเทศอื่นๆ ปั้นสตาร์ทอัพของตัวเองจนติดตลาดระดับโลกมาแล้ว
หลังเปิดตัวอย่างเป็นทางการให้ผู้ใช้งานเริ่มเข้ามาใช้งานจริงตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ปี 2018 ปัจจุบันบล็อกดิตมีจำนวนผู้ใช้งานแล้วกว่า 100,000 ราย มียอดวิวเติบโตแบบเท่าตัว จากเดือนตุลาคม 2018 ที่ 2.5 ล้านครั้ง เพิ่มเป็น 5 ล้านครั้งในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา
“บล็อกดิตเกิดจากแนวคิดที่ผมเห็นว่าผู้อ่านลงทุนแมนส่วนใหญ่เขาเก่งกันมาก เลยคิดว่าถ้าคนกลุ่มนี้ได้แชร์เรื่องที่ตัวเองอยากเล่าให้คนอื่นอ่านบ้างมันก็น่าจะดีนะ แต่ปัญหาคือเราไม่มีที่ให้เขา ก็เลยอยากลองทำแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียให้พวกเขาได้แชร์เรื่องราวดีๆ เพราะตัวเราเองก็เริ่มมีรายได้จากลงทุนแมนที่พอจะนำมาลงทุนพัฒนาแพลตฟอร์มนี้ขึ้นมาแล้ว
“ในแพลตฟอร์มบล็อกดิต ทุกคนสามารถเป็นลงทุนแมนในเวอร์ชันของตัวเองได้โดยไม่ต้องยึดติดว่าเพื่อนบนหน้าโซเชียลมีเดียจะรำคาญหรือคอมเมนต์อะไร ที่สำคัญคือการโพสต์ในบล็อกดิตจะมีคนเห็นเรื่องราวของเขามากขึ้น มีเอ็นเกจเมนต์มากมาย
“ถ้าคุณเป็นคนตัวเล็กๆ ที่ไม่สิทธิ์มีเสียง ไม่มีเพื่อนหรือคนรู้จัก การไปสร้างเพจบนเฟซบุ๊กอาจต้องใช้เวลานาน แต่ถ้ามาอยู่บนบล็อกดิตแล้วคอนเทนต์ของคุณดีจริง ก็มีคนพร้อมจะรออ่านเป็นจำนวนมากโดยที่ไม่จำเป็นว่าคุณจะต้องมีฐานแฟนมาก่อนเลย เพราะฉะนั้นคนตัวเล็กๆ ก็มีโอกาสเกิดได้ง่ายขึ้น อาจจะไม่ถึงกับมียอดรีชระดับล้าน แต่ก็ทำให้เสียงของเขาดังขึ้นได้”
ลงทุนแมนให้คำจำกัดความบล็อกดิตกับเราว่าเป็นเหมือน ‘แหล่งรวมข้อคิดดีๆ ที่ใครๆ ก็สามารถแสดงความคิดเห็นได้’ ที่สำคัญต่อจากนี้จะมีการนำระบบให้ค่าตอบแทนเข้ามาใช้กับผู้ใช้งานที่มีผลงานดีอีกด้วย อ้างอิงจากระบบคำนวณของแพลตฟอร์มเอง เพื่อสร้างโลกที่น่าอยู่มากขึ้นในการแบ่งปันความรู้ในสังคม
“เราอยากทำให้สังคมนี้มันดีขึ้นด้วยการแลกเปลี่ยนความรู้และไอเดียครับ ไม่ได้คาดหวังว่าจะต้องไปแข่งกับแพลตฟอร์มอื่น แค่อยากสร้างพื้นที่ให้คนได้เล่าเรื่องราวและปรากฏการณ์ต่างๆ ในมุมที่เขาสนใจ แล้วจากฟีดแบ็กที่ได้รับก็พบว่าคนจำนวนไม่น้อยตอบรับบล็อกดิตในทางที่ดีมาก แถมยังบอกว่าเหมือนได้ย้อนวัยกลับไปเป็นเด็กเข้าห้องสมุด สนุกกับการได้ความรู้มากมายจากการหยิบหนังสือขึ้นมาอ่าน
“ถ้าคิดกันแบบเฉลี่ยแล้ว มนุษย์คนหนึ่งจะมีอายุขัยประมาณ 80 ปี ใน 80 ปีนี้เราจะมีเวลาแค่ประมาณ 29,000 วันเท่านั้น มันสั้นมาก ฉะนั้นอย่างน้อยผมก็อยากสร้างอะไรที่มันเป็นประโยชน์ให้กับสังคมบ้าง ที่มาเลเซียเขามี Grab สิงคโปร์เขาก็มี Garena หรือที่อินโดนีเซียเขาก็มี Tokopedia, Go-Jek มียูนิคอร์นเยอะแยะเต็มไปหมด ผมก็อยากให้ไทยมีแพลตฟอร์มแบบนี้เป็นของตัวเองบ้าง”
ถามถึงความท้าทายต่อจากนี้ ลงทุนแมนชี้ไปที่การพัฒนาให้แพลตฟอร์มบล็อกดิตเติบโตจนมีผู้ใช้งานในระดับล้านรายต่อเดือนให้ได้ รวมไปถึงการจัดทำระบบคัดกรองที่มีประสิทธิภาพในการแสดงคอนเทนต์น้ำดีเพื่อให้ผู้อ่านส่วนใหญ่ได้คลิกเข้าไปซึมซับข้อมูลที่เป็นประโยชน์ โดยมีเป้าหมายที่ใหญ่ที่สุดคือความสนุกที่ได้ลงมือทำ
“เป้าหมายของผมคือเราต้องสนุก ทำอย่างไรก็ได้ให้เราสนุกได้มากขึ้นในทุกๆ วัน เราไม่ได้ตั้งเป้าไว้ไกล แต่มองทีละสเตป โอเค จุดหมายของเราคืออยากให้คนมาใช้งานเป็นหลักล้านคน แต่ลงทุนแมนก็ไม่ได้มองว่าตัวเองเป็นคนเก่งหรือต้องชนะและเป็นที่หนึ่งในทุกๆ ด้าน
“เราเป็นแค่คนธรรมดาๆ ที่ต้องการเล่าเรื่องสนุกๆ หรือทำอะไรที่สนุกๆ ให้คนทั่วไปได้ติดตามในทุกวันที่ตื่นขึ้นมา”
THE STANDARD X ลงทุนแมน = ลงทุนแบรนด์
นับเป็นโอกาสพิเศษไม่น้อยที่ THE STANDARD และลงทุนแมนจะมีโอกาสได้โคจรมาร่วมงานกันภายใต้โปรเจกต์พิเศษในชื่อ ‘ลงทุนแบรนด์’ รายการตอนสั้นที่ว่าด้วยเรื่องราวความสำเร็จของแบรนด์ธุรกิจชั้นนำ เพื่อศึกษาว่าบรรดาผู้ประกอบการต่างๆ ใช้แง่คิดใดเปลี่ยนธุรกิจจนทำให้เข้าไปอยู่ในใจของใครหลายคนและประสบความสำเร็จ
ลงทุนแมนกล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า “ก่อนหน้านี้ที่เรายังไม่รู้จักกันเป็นการส่วนตัว ผมเองก็ติดตาม THE STANDARD อยู่แล้ว และคิดว่าเป็นสื่อที่ถ้าวันหนึ่งมีโอกาสได้มาเยี่ยมชมวิธีการทำงานก็คงจะเป็นเรื่องดี วันนี้ก็ถือเป็นเรื่องที่ดีที่เราได้มีโอกาสมาร่วมงานกัน ลงทุนแมนอาจจะมีข้อมูลที่ดี แต่ยังขาดการนำเสนอหรือช่องทางที่จะสื่อสารกับคนอื่นๆ อีกหลายคน ถ้าเกิดเราร่วมมือกันมันก็มีแต่ดีกับดีขึ้น ผมมีความสุขมากที่ได้มารู้จัก THE STANDARD ไม่เคยคิดว่าเป็นสื่อเหมือนกันแล้วจะต้องไม่ชอบกันหรือมองกันเป็นคู่แข่ง ยุคนี้มันเหมือนเพื่อนที่มาร่วมมือกันมากกว่า
“การทำให้ตัวหนังสือกลายเป็นภาพเคลื่อนไหวได้ก็เป็นอีกกลวิธีการนำเสนอรูปแบบหนึ่งที่ THE STANDARD ถนัดมาก เมื่อได้ร่วมมือกันแล้ว การนำเสนอผ่านภาพเคลื่อนไหวเพื่อให้คนเข้าใจก็จะทำได้ดีขึ้น และทำให้เขาเข้าใจเรื่องที่เราต้องการเสนอได้มากกว่าเดิม”
หลังจบบทสนทนา เรากล่าวขอบคุณลงทุนแมนที่เข้ามาแบ่งปันเรื่องราวที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์ให้เราฟัง ก่อนแยกย้ายกัน เขาไม่ลืมที่จะหยิบหมวกกันน็อกคู่ใจติดมือกลับไปด้วย
เพราะนั่นคือตัวตนที่เขายืนยันตั้งแต่วันแรกว่าไม่อยากให้ยึดติดว่าเป็นใคร แต่ให้ยึดกับที่ผลงานมากกว่า
เพราะสุดท้ายลงทุนแมนก็คือคนธรรมดาคนหนึ่ง ที่อยากแชร์เรื่องราวที่เข้าใจง่ายให้เพื่อนฟัง เหมือนกับประโยคที่ว่า
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง…
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์