ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ในทุกวันสุดท้ายของรอบตลาดการซื้อขายผู้เล่นของวงการฟุตบอล โดยเฉพาะในวงการฟุตบอลอังกฤษ จะเป็นวันที่คึกคักและตื่นเต้นที่สุดเสมอครับ
เหตุผลเพราะนี่คือ ‘โอกาสสุดท้าย’ สำหรับทุกทีมที่จะสามารถแก้ไขปัญหาเรื่องของขุมกำลังภายในทีม ก่อนที่จะเดินทางเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายของฤดูกาล หากทีมใดมีปัญหาที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นเกมรุก เกมรับ หรือจะตำแหน่งไหนก็ควรจะต้องจัดการเสียตรงนี้
เพื่อให้สามารถจะก้าวเดินไปสู่จุดหมายปลายทางที่หวังไว้ เมื่อจบฤดูกาลได้โดยไม่รู้สึกเสียใจที่ไม่ได้ทำอะไรเลย
ที่ผ่านมาเราได้เห็นการซื้อขายที่น่าตื่นเต้นกันไม่น้อยครับ โดยเฉพาะช่วงหลายปีก่อน
เรื่องระดับตำนานที่นำมาเล่าได้ทุกยุคทุกสมัยคือ ในวันสุดท้ายของตลาดฤดูหนาวปี 2011 ที่ ‘หงส์แดง’ ลิเวอร์พูล ซึ่งตัดสินใจขาย เฟอร์นันโด ตอร์เรส ศูนย์หน้าเบอร์หนึ่งในเวลานั้นให้กับเชลซีด้วยเงิน 50 ล้านปอนด์ ทำให้ต้องเร่งหาตัวตายตัวแทนเป็นการด่วน และเงินที่ได้มาได้ถูกแปรเปลี่ยนไปใช้เป็นศูนย์หน้า 2 ตัวด้วยกัน คือ หลุยส์ ซัวเรซ จากอาแจ็กซ์ อัมสเตอร์ดัม และ แอนดี้ แคร์โรลล์ ดาวยิงที่กำลังฮอตของนิวคาสเซิล ยูไนเต็ด
โดยเฉพาะรายของแคร์โรลล์ ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยความตื่นเต้น บนโลกโซเชียลมีเดียมีการเกาะติดข่าวอย่างใกล้ชิด มีกระแสข่าวว่า กองหน้าที่ถูกมองว่าเป็นความหวังของชาวอังกฤษ เดินทางด้วยเฮลิคอปเตอร์จากนิวคาสเซิลฯ เพื่อจะมาตรวจร่างกายและเซ็นสัญญาที่เมืองลิเวอร์พูล
สุดท้าย แคร์โรลล์ก็ย้ายมาเป็นสมาชิกใหม่ของ ‘หงส์แดง’ จริงๆ ด้วยค่าตัว 35 ล้านปอนด์ เป็นการปิดฉากตลาดวันสุดท้ายที่แสนตื่นเต้นได้สวยงาม
เรื่องนี้ทำให้เกิดประเพณีการลุ้นข่าวการย้ายทีมในวันสุดท้ายของตลาดซื้อขาย ว่าจะมี ‘บิ๊กดีล’ เกิดขึ้นหรือไม่ ซึ่งส่วนใหญ่ก็มีเกือบทุกปี รวมถึงเมื่อปีกลายที่อาร์เซนอลคว้าตัว ปิแอร์ เอเมอริค โอบาเมยอง ดาวยิงระดับท็อปของยุโรปจากโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ด้วยค่าตัวสูงถึง 55 ล้านปอนด์
อย่างไรก็ดี ในปีนี้เรื่องราวและความตื่นเต้นแบบนี้ได้หายไปครับ การรายงานข่าวตลาดการซื้อขายผู้เล่นในวันสุดท้ายที่เรียกกันว่า Transfer Deadline Day เป็นไปอย่างจืดชืด ไม่มีบิ๊กดีลเกิดขึ้น และแทบไม่มีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจเลย โดยเฉพาะกับทีมใหญ่
การย้ายทีมที่มีมูลค่าสูงสุดในรอบนี้คือ การย้ายทีมของ มิเกล อัลมิรอน กองกลางตัวทำเกมชาวปารากวัย ที่ย้ายจากแอตแลนตา ยูไนเต็ด ทีมระดับแชมป์เมเจอร์ลีกปีล่าสุด มานิวคาสเซิล ยูไนเต็ด ด้วยค่าตัวแค่ 20 ล้านปอนด์
ขณะที่หากจะมองหาบิ๊กดีลที่ใหญ่ที่สุดของช่วงตลาดการซื้อขายรอบนี้ ก็อาจจะอยู่ที่การย้ายทีมของ กอนซาโล อิกวาอิน ดาวยิงทีมชาติอาร์เจนตินา ที่ย้ายจากยูเวนตุสมาอยู่กับเชลซี แต่ก็เป็นแค่รูปแบบการยืมตัวเท่านั้น
นอกนั้นก็มี เดนิส ซัวเรซ จากบาร์เซโลนามาอาร์เซนอล, มิชี บาตชูอายี ที่ย้ายจากเชลซีไปคริสตัล พาเลซ, ยูริ ติเลอม็องส์ สตาร์เบลเยียม ย้ายจากโมนาโกมาเลสเตอร์ฯ โดยทั้ง 3 ดีล เป็นการย้ายทีมแบบยืมตัว และ ปีเตอร์ เคราช์ ดาวยิงจอมเก๋า ที่ได้กลับมาเล่นในพรีเมียร์ลีกอีกครั้งกับเบิร์นลีย์ โดยเป็นการย้ายสลับขั้วกับ แซม โวกส์
คำถามที่แฟนฟุตบอลส่วนใหญ่สงสัยคือ เหตุใดสโมสร โดยเฉพาะทีมใหญ่ๆ ที่พวกเขาตามเชียร์ ถึงไม่ยอมเดินเข้าสู่ตลาด แล้วหานักเตะที่พวกเขาอยากได้เข้ามาเสริมทีมให้ชีวิตรู้สึกมีความหวังสักหน่อยนะ?
คำตอบในเรื่องนี้คือ สโมสรในอังกฤษส่วนใหญ่ได้เรียนรู้แล้วครับ ว่านับตั้งแต่ที่เริ่มมีการกำหนดกรอบระยะเวลาในการซื้อขายผู้เล่นที่เรียกว่า Transfer Windows โดยแบ่งออกเป็น 2 ช่วง แทนที่ระบบเดิมที่จะเปิดให้ซื้อผู้เล่นได้ถึงวันสุดท้ายของเดือนมีนาคม การซื้อขายในช่วงฤดูหนาวนั้นเป็นการซื้อขายที่สโมสรต้องใช้จ่ายอย่างเกินความจำเป็น และบ่อยครั้งที่เรื่องมักจะจบลงด้วยความล้มเหลว
ตัวอย่างเช่น ตอร์เรสและแคร์โรลล์ที่กลายเป็นความล้มเหลวราคาแพงของเชลซีและลิเวอร์พูล
สิ่งที่สะท้อนว่าแต่ละสโมสรได้รับบทเรียนคือ ตัวเลขสถิติการใช้จ่ายในตลาดฤดูหนาว ตลาดปีนี้มีการใช้จ่ายน้อยกว่าปีที่แล้วถึง 2 ใน 3 หรือจากสถิติ 430 ล้านปอนด์ เหลือเพียงแค่ 130-140 ล้านปอนด์ (ตัวเลขที่ประเมินจาก The Times) ซึ่งน้อยกว่าการใช้จ่ายในวันสุดท้ายของการซื้อขายปี 2018 ที่วันเดียวเงินสะพัดถึง 150 ล้านปอนด์เสียอีก
ไม่มีสโมสรที่อยากจะจ่าย Crazy Money ที่มีโอกาสจะเป็นการ ‘จ่ายค่าโง่’ อีกแล้ว
สิ่งที่กำลังกลายเป็นเทรนด์ ซึ่งความจริงเริ่มเกิดขึ้นมาหลายปี แต่มาเป็นกระแสชัดเจนจริงๆ ในปีนี้คือ แต่ละสโมสร หากมีความจำเป็นที่จะต้องเสริมทัพ เพื่อให้ทีมไปได้ถึงเป้าหมาย ก็จะเลือกเจรจาในรูปแบบของการยืมตัวมากกว่าการซื้อขาด
โดยอาจจะมีการผูกเงื่อนไขเข้าไป เช่น หากเล่นถูกใจก็จะมีออปชันในการซื้อขาดเมื่อฤดูกาลสิ้นสุดลง
ยกตัวอย่าง เช่น กรณีการย้ายทีมของอิกวาอิน ซึ่งเชลซีเลือกจะขอยืมตัวจากยูเวนตุส ทีมต้นสังกัด โดยจ่ายเป็นเงินในการยืมตัว (Loan Fee) จำนวน 9 ล้านปอนด์ สำหรับระยะเวลาการใช้งานรวม 6 เดือน (หรือแค่ 4 เดือนกว่าๆ ในฤดูกาลที่เหลืออยู่) โดยมีออปชันเสริม 2 ข้อ คือ หากจะยืมต่ออีกในฤดูกาลหน้า ก็จะจ่ายเงินจำนวน 15.75 ล้านปอนด์ หรือหากอยากได้ตัวมาอย่างถาวรก็จ่ายอีก 31.5 ล้านปอนด์ ส่วนเรื่องค่าเหนื่อยสโมสรผู้ยืมตัวไปเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด
ในวงเล็บว่า เงินค่ายืมหรือค่าซื้อขาดที่จะจ่ายในภายหลังยังสามารถนำไปลงในบัญชีการเงินของสโมสรในปี 2019-20 (หรือผ่อนชำระได้ 2 ปี หากเป็นการซื้อขาด) ด้วย ซึ่งเงื่อนไขรูปแบบนี้เป็นผลดีต่อสโมสรที่อยู่ในสถานการณ์ต้องระมัดระวังเรื่องการเงิน เพื่อไม่ให้ผิดต่อกฎ Financial Fair Play
อาจมีคนสงสัยว่าแล้วเรื่องนี้เกี่ยวอะไรกับ Brexit หรือไม่?
คำตอบจากผู้บริหารระดับสูงสโมสรหนึ่งบอกว่า ถึงแม้ตลาดฤดูหนาวปีนี้จะเป็นปีที่เงียบเหงามากในรอบ 15 ปี แต่เรื่องนี้ไม่เกี่ยวข้องอะไรกับ Brexit
“สโมสรใหญ่ทั้ง 6 (แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด, แมนเชสเตอร์ ซิตี้, ลิเวอร์พูล, อาร์เซนอล, เชลซี และท็อตแนม ฮอตสเปอร์) ไม่ต้องการเร่งซื้อนักเตะชื่อดัง หรือก็ไม่มีเงินมากพอที่จะใช้จ่ายในช่วงเวลานี้ และพวกเขาก็ไม่อยากจะจ่ายเงินอย่างบ้าคลั่งเหมือนที่เป็นมาในอดีต”
แนวทางที่ดีกว่าสำหรับสโมสรคือ การพยายามซื้อผู้เล่นที่ต้องการให้ได้ในช่วงตลาดการซื้อขายฤดูร้อน ซึ่งจะเป็นนักฟุตบอลที่ตอบโจทย์ต่อความต้องการของสโมสรอย่างแท้จริง
เหมือนจะไปซื้อข้าวซื้อของอะไรก็เกิดจากการคิดไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วนแล้วว่า นี่คือของที่จำเป็น เป็นของดีราคาเหมาะสม มากกว่าการเดินดุ่มๆ เข้าไปในตลาดอย่างใจร้อน เพราะตลาดใกล้จะปิด และคิดว่า ‘ของมันต้องมี’ หรือ ‘ซื้อไปก่อน ใช้ไม่ใช้ว่ากันทีหลัง’
ดังนั้น ถึงอาจจะดูลดความน่าตื่นเต้นลงไปบ้าง แต่บางทีนี่อาจเป็นเรื่องที่ดีสำหรับทุกฝ่ายในระยะยาวมากกว่า
คนเศร้าคนเดียวในเรื่องนี้อาจเป็นผู้สื่อข่าวที่ไม่รู้จะเอาอะไรมารายงาน และต้องค้นหาข้อมูลนักฟุตบอลโนเนมที่พวกเขาอาจจะเคยได้ยินชื่อเป็นครั้งแรกอย่างเร่งด่วน เพื่อให้ทันเวลาก่อนออกอากาศ โดยไม่รู้สึกว่าเขลาเกินไปเมื่ออยู่บนหน้าจอ
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
อ้างอิง:
- www.thetimes.co.uk/edition/sport/why-spending-is-down-two-thirds-this-january-in-premier-league-56tr2bv95
- www.thetimes.co.uk/edition/sport/miguel-almirons-record-breaking-arrival-will-buy-newcastle-time-not-trophies-7wq7wv5mq
- ตลาดการซื้อขายฤดูหนาวที่มีการซื้อกันน้อยที่สุดคือปี 2010 โดยในปีนั้นมีการใช้จ่ายเพียง 30 ล้านปอนด์ แต่ส่วนหนึ่งเป็นปัญหาจากเศรษฐกิจในเวลานั้น
- ในภาพรวมตลาดการซื้อขายผู้เล่นนั้นยอดเงินสะพัดน้อยลงด้วยในปีนี้ โดยช่วงตลาดฤดูร้อนปี 2018 ตัวเลขการใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณ 1.26 ล้านปอนด์ ลดลงจากปีก่อนหน้าที่มีการใช้จ่ายที่ 1.43 ล้านปอนด์ ซึ่งเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2010 ที่ตัวเลขการใช้จ่ายลดลง
- สโมสรในพรีเมียร์ลีกมีการใช้เงินซื้อผู้เล่นจากสโมสรต่างชาติมากถึง 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (880 ล้านปอนด์) ซึ่งมากกว่าสโมสรในประเทศอื่นมากมายมหาศาล