มีคนเคยกล่าวไว้ว่าการแข่งขันบางเกมชนะตั้งแต่ก่อนเสียงนกหวีดแรกจะเริ่มต้นขึ้นด้วยซ้ำ ซึ่งชัยชนะในบางครั้งมักจะเกิดขึ้นจากการชนะสงครามจิตวิทยาก่อนเกม ไม่ว่าจะเป็นภายในห้องแถลงข่าวก่อนการแข่งขัน หรือการพูดปลุกระดมกำลังใจนักเตะตั้งแต่สนามซ้อมจนถึงห้องแต่งตัวก่อนลงสนามแข่งขัน
ฟุตบอลสมัยใหม่ให้ความสำคัญกับทุกรายละเอียดของทีม โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือเรื่องสภาวะจิตใจของนักเตะ ซึ่งหลังจากผลงานที่เราได้เห็นสิ่งที่เรียกว่าบอลหลังเปลี่ยนโค้ช โดยเฉพาะแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ภายใต้การคุมทีมของ โอเล่ กุนนาร์ โซลชาร์ ที่มีประสบการณ์คุมน้อยกว่า โฆเซ มูรินโญ อยู่หลายสิบปี แต่กลับสามารถเก็บชัยชนะติดต่อกัน 7 เกมนับตั้งแต่เข้ามาคุมทีม
ไม่ว่าจะเป็นพรีเมียร์ลีก อังกฤษ หรือเอเชียนคัพ 2019 ที่กำลังแข่งขันกันอย่างดุเดือด จิตวิทยาของผู้จัดการทีมและหัวหน้าผู้ฝึกสอนดูจะเป็นปัจจัยสำคัญในการนำพาทีมสู่ความสำเร็จ
THE STANDARD จึงตัดสินใจพูดคุยกับ ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น กรมสุขภาพจิต ซึ่งปัจจุบันยังเป็นโค้ชจิตวิทยาของสโมสรฟุตบอลเอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด
ดร.นพ.วรตม์ ยังมีประสบการณ์ในแวดวงกีฬาฟุตบอล ทั้งจบปริญญาโทด้านจิตวิทยาการกีฬาจากมหาวิทยาลัยสแตฟฟอร์ดเชอร์ สหราชอาณาจักร ประกอบกับ AFC Coaching License ระดับ C และ FA Coaching License ระดับ 2 (England) ใบประกาศนียบัตรด้านจิตวิทยาฟุตบอล ระดับ 4 (สูงสุด) จากสมาคมฟุตบอลอังกฤษ (FA) รวมถึงเคยมีประสบการณ์ 1 ปีในการเป็นเฮดโค้ชทีมเยาวชน Thanet Galaxy FC เมืองแรมส์เกต ประเทศอังกฤษ เพื่อค้นหาคำตอบถึงความสำเร็จและความล้มเหลวเกี่ยวกับศาสตร์ของจิตวิทยาในวงการฟุตบอล
เจอร์เกน คลอปป์ สุดยอด Motivator กับความสำเร็จในการบริหารทีมลิเวอร์พูล
นอกจากความฉลาดเฉลียวในด้านแท็กติกฟุตบอลแล้ว คลอปป์นั้นเป็นสุดยอดนักกระตุ้น (Motivator) โดยกระตุ้นให้ลูกทีมอยากพัฒนาตัวเองและมีเป้าหมายในการทำงานร่วมกัน
คลอปป์มักสร้างบรรยากาศที่เน้นความสุขให้เกิดขึ้นในทีม ซึ่งโดยธรรมชาติแล้วความสัมพันธ์ภายในทีมจะเกิดขึ้นในบรรยากาศที่ทุกคนมีความสุขเท่านั้น คลอปป์ยังแสดงแพสชันในงานที่เขาทำให้ทุกคนได้รับรู้ทั้งในสนามซ้อมและระหว่างการแข่งขัน
คลอปป์มักใส่ใจในรายละเอียดของผู้เล่นทุกคนนอกเหนือไปจากเรื่องการเล่นฟุตบอล เห็นได้จากที่เขาเคยให้สัมภาษณ์ว่าเขาโกรธทีมงานมากที่ไม่รู้ว่าภรรยาของ แอนดรูว์ โรเบิร์ตสัน กำลังคลอดลูกชาย
นอกจากนั้นคลอปป์ยังเป็นคนที่สามารถใช้ความกดดันมาเป็นพลังของทีมได้เสมอ ยกตัวอย่างเช่น ในรอบ 8 ทีมสุดท้ายของยูโรปา ลีก 2015-16 ที่ลิเวอร์พูลเสีย 2 ประตูในครึ่งแรกให้กับดอร์ทมุนท์ และต้องการถึง 3 ประตูในครึ่งหลังเพื่อผ่านเข้าสู่รอบรองชนะเลิศ
คลอปป์ได้ปรับสถานการณ์ที่กดดันให้กลายเป็นภาพเชิงบวกได้ โดยกระตุ้นให้ลูกทีมทุกคนสร้างเหตุการณ์ที่จะเอาไปเล่าให้ลูกหลานฟังเมื่อยามแก่ สร้างเหตุการณ์ที่แฟนบอลจะต้องจดจำตลอดไป คลอปป์ทำให้สถานการณ์ที่นักฟุตบอลกำลังจะโทษกันเองและทุกคนกำลังจดจ่ออยู่กับความผิดพลาด กลายเป็นสถานการณ์ที่ยกระดับสปิริตทีมขึ้นมาได้ และพาทีมจากเมอร์ซีย์ไซด์แซงเอาชนะไป 4-3 ในเกมนั้นได้ในที่สุด
เป๊ป กวาร์ดิโอลา กับการสื่อสารเพื่อรักษามาตรฐานระดับสูง
เคราร์ด ปิเก้ เคยบอกว่าเป๊ปไม่ได้เอาแต่สั่งๆๆ เพียงอย่างเดียว เขาจะให้เหตุผลด้วยเสมอว่าทำไมจึงอยากให้ทำเช่นนั้น เป๊ปใช้เวลาถึง 2 ชั่วโมงต่อวันในการคุยกับนักฟุตบอลแบบตัวต่อตัว
ซึ่งทำให้เขาสามารถอธิบายได้อย่างละเอียดว่าแต่ละคนควรทำหน้าที่อะไรบ้างในสนาม และจะเพิ่มศักยภาพสูงสุดได้อย่างไร จากประวัติที่ผ่านมา เป๊ปมักจะสร้างให้ทีมเกิดสิ่งที่เรียกว่า Social Identity หรือตัวตนทางสังคมที่ทั้งทีมมีร่วมกัน
ทุกคนอยากทำเพื่อทีมมากกว่าที่จะทำเพื่อตัวเอง แม้จะมีสตาร์ในทีมมากมาย ซึ่งเป็นการยากที่ตัวเป๊ปเองจะควบคุมได้เบ็ดเสร็จหมดจด แต่ถ้าเขาสามารถสร้างตัวตนร่วมกันของทีมได้ เขาก็สามารถคุมนักกีฬาทุกคนให้ไปในแนวทางเดียวกันได้โดยทางอ้อม
นอกจากนั้นเป๊ปยังใช้สื่ออย่างชาญฉลาดอยู่เสมอ เขามักชมลูกทีมเป็นรายบุคคลออกสื่อ แม้ว่าหลายครั้งนักฟุตบอลคนนั้นจะเป็นคนที่สื่อกำลังโจมตีอยู่ เขาก็ยังจะออกมาพูดปกป้องอยู่เสมอ ซึ่งสิ่งนี้เป็นสิ่งที่สำคัญกับนักฟุตบอลมาก เพราะทำให้นักฟุตบอลเล่นได้โดยไร้ความวิตกกังวลว่าโค้ชจะเชื่อสื่อต่างๆ ที่กำลังบั่นทอนจิตใจของพวกเขาอยู่ในขณะนั้น
https://www.instagram.com/p/BrudPI1l2Qk/?utm_source=ig_embed&utm_campaign=embed_loading_state_control
เคล็ดลับการสื่อสารกับนักเตะในยุคโซเชียลมีเดีย
การจะทำให้นักฟุตบอลยุคนี้ออกห่างจากโลกโซเชียลคงเป็นเรื่องยาก ยิ่งมองไปอีก 5-10 ปีข้างหน้าที่นักฟุตบอลส่วนมากจะเกิดในยุคที่โซเชียลมีเดียกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันแล้วก็ยิ่งยากเข้าไปใหญ่
ในวงการฟุตบอลอาชีพนั้น โซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือทำมาหากินอีกรูปแบบของนักฟุตบอลที่มีคนติดตามจำนวนมาก โดยพวกเขาสามารถรับโฆษณาผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น อุปกรณ์กีฬา และอาหารเสริม จนมีรายได้เป็นกอบเป็นกำ การจะบอกให้นักฟุตบอลเลิกใช้สื่อโซเชียลเลยคงทำได้แค่กับนักฟุตบอลที่ไม่มีชื่อเสียง
ผู้จัดการทีมเองต้องทำใจยอมรับว่าการเล่นพรรคเล่นพวกแบบนี้ในทีมฟุตบอลมีมานานแล้ว เพียงแต่ตอนนี้มีการขยายวงกว้างมากขึ้นจนสามารถใช้แฟนคลับมากดดันสโมสรได้เพิ่มเติม
ผู้จัดการทีมยุคนี้เองคงต้องพูดคุยกับนักฟุตบอลอย่างเป็นเรื่องเป็นราวถึงขอบเขตการใช้โซเชียลมีเดีย ควรมีทีมที่คอยมอนิเตอร์โซเชียลมีเดียของนักฟุตบอลแต่ละคนในทีมให้ไม่เกินขอบเขตที่จะทำให้เสียภาพลักษณ์ขององค์กรและกระทบกระเทือนต่อการบริหาร
ผู้จัดการทีมควรสนับสนุนการพูดคุยต่อหน้าระหว่างทุกๆ คนในทีมเพื่อลดการใช้โซเชียลมีเดียตอบโต้กันไปมา นอกจากนั้นยังต้องเชื่อมั่นในงานที่ทำ ไม่หวั่นไหวไปกับกระแสวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ บนโซเชียลที่อารมณ์มักมีบทบาทเหนือตรรกะเหตุผลต่างๆ
โฆเช มูรินโญ ความล้มเหลวของ The Special One
ในแวดวงฟุตบอลระดับสูงนั้น มูรินโญนับว่าเป็นสุดยอดผู้จัดการทีมที่อัจฉริยะมาก ความรู้ความเข้าใจเรื่องฟุตบอลนั้นติดระดับท็อปๆ ของโลก ความเป็นผู้นำสูงลิ่ว มีความสามารถในการผลักดันขีดจำกัดของนักฟุตบอลให้สามารถแสดงศักยภาพออกมาเกินความคาดหมายได้ตลอด
แต่บุคลิกและแนวคิดของเขามักเป็นดาบสองคมที่ส่งผลระยะยาวต่อนักฟุตบอลในทีมเสมอ ในเชิงจิตวิทยา นักฟุตบอลมักต้องการแบบอย่างที่ดี (Role Model) ในการทำงานเหมือนลูกชายที่เอาอย่างพ่อ
ภาพลักษณ์ The Special One ของมูรินโญที่เป็นเสมือนผู้รอบรู้ไปทุกเรื่อง ไม่เคยฟังใคร วางตัวเองเป็นศูนย์กลางจักรวาล มักทำให้นักฟุตบอลที่อยู่ด้วยเห็นเขาเป็นแบบอย่างในเรื่องนี้จนกลายเป็นมูรินโญอีกคนในทีม ยิ่งระดับสตาร์ของทีมที่มีต้นทุนความสามารถเหนือคนอื่นแล้วยิ่งอาจเอาอย่างได้ง่าย ลองคิดสภาพของทีมที่ทุกคนมีอีโก้สูงไปหมด ทุกคนหมกมุ่นกับตัวเอง คงเป็น Dressing Room ที่วุ่นวายน่าดู
โอเล่ กุนนาร์ โซลชาร์ บุคลิกของผู้นำที่แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ต้องการ
โซลชาร์นั้นเป็นลูกหม้อของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด มาก่อน การเข้ามาทำทีมของเขาจึงเหมือนรุ่นพี่ที่เคยประสบความสำเร็จในอดีตกลับมาชี้แนะแนวทางให้รุ่นน้องเกิดความหวังในการประสบความสำเร็จกับทีมอย่างที่เขาเคยทำมาแล้ว
เมื่อปราศจากกำแพงของความเป็นคนนอก ทำให้เขาเข้ามาคุมทีมได้โดยแทบไม่ต้องจูนเข้าหานักเตะมากมาย ถ้ามองถึงบุคลิกตั้งแต่สมัยเป็นนักฟุตบอลของโซลชาร์เอง เขาก็เป็นนักฟุตบอลที่มีจิตวิทยาเข้มแข็งมากและเป็นซูเปอร์ซับระดับตำนาน เขาลงสนามให้แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด 366 นัด โดยการลงสนามเกือบครึ่งหนึ่งมาจากการเป็นเพียงตัวสำรอง
นักฟุตบอลทุกคนมีความอยากเป็น 11 คนแรกที่โค้ชเลือกอยู่แล้ว แต่เขายังมุ่งมั่นในหน้าที่ของตัวเองและเน้นทำทุกอย่างเพื่อทีม จึงทำผลงานได้อย่างน่าอัศจรรย์โดยพังประตูไปถึง 126 ประตูเลยทีเดียว ประสบการณ์ในฐานะซูเปอร์ซับระดับนี้ย่อมช่วยให้เขาคุมม้านั่งสำรองของทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ได้อย่างไม่น่าหนักใจ ทำให้ทุกคนรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของทีม แม้ว่าจะไม่ได้รับโอกาสเป็น 11 คนแรกก็ตาม
ทำไม เป๊ป VS. คลอปป์ ถึงไม่ต้องการเป็นเต็งหนึ่ง
สิ่งนี้เป็น Gamesmanship หรือการใช้เล่ห์เหลี่ยมกับฝั่งตรงข้ามรูปแบบหนึ่ง โดยเป็นการใช้เทคนิค Pseudo-compliment หรือการชมแบบเทียม คือไม่ได้เป็นการชมแบบจริงใจ แต่เป็นการชมเพื่อเป็นสงครามจิตวิทยา โดยหวังผลให้ฝั่งตรงข้ามเริ่มรู้สึกวิตกกังวลกับฟอร์มของตัวเอง
โดยเฉพาะในนักกีฬาระดับสูงนั้นมักคิดเล็กคิดน้อยในรายละเอียดต่างๆ เพื่อให้ผลงานออกมาสมบูรณ์แบบที่สุด การลงรายละเอียดมากจนเกินไปจะทำให้เกิดผลตรงกันข้ามจนสมรรถนะต่ำกว่าความเป็นจริง เพราะนักกีฬาหรือโค้ชจะทำงานได้ดีที่สุดเมื่อทำงานแบบอัตโนมัติ ไม่จับจดคิดถึงแต่รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ
ปัญหากำแพงภาษาของหัวหน้าผู้ฝึกสอนกับฟุตบอลทีมชาติไทย
มีผลอย่างมาก เพราะฟุตบอลเป็นกีฬาประเภททีมที่มีไดนามิกระหว่างการแข่งขันสูง การสื่อสารจึงจำเป็นมหาศาล มีการสื่อสารกันตั้งแต่ระหว่างนักฟุตบอลด้วยกันเอง สื่อสารกันระหว่างทีมสตาฟฟ์โค้ชกับนักฟุตบอล โดยสื่อสารกันตั้งแต่ตอนซ้อมเตรียมทีม มาต่อในห้องแต่งตัว จนถึงระหว่างแข่งขัน
การที่โค้ชต้องสื่อสารด้วยภาษาอื่นแล้วมีการแปลต่อหลายๆ ทอด นอกจากจะต้องใช้เวลา 2-3 เท่าเมื่อเทียบกับการใช้ภาษาเดียวกันแล้วยังทำให้เนื้อความเปลี่ยนแปลงไปบ่อยครั้ง แม้จะแปลได้เก่งมากๆ จนเนื้อความไม่เปลี่ยน แต่อารมณ์และความรู้สึกที่แทรกอยู่ในเนื้อความนั้นมักไม่ถูกส่งต่อจากการแปล ได้เป็นแค่เนื้อหาแห้งๆ เท่านั้น นี่ยังไม่นับรวมความสามารถของล่ามในเรื่องความเข้าใจรูปแบบการฝึกซ้อม การเล่น และแท็กติกต่างๆ ของฟุตบอลซึ่งจำเป็นมากๆ
ถึงแม้ว่าจะมีคนมากมายบอกว่าโค้ชต่างชาติกับนักกีฬาสื่อสารกันด้วยภาษาฟุตบอลก็เพียงพอแล้ว แต่ในความเป็นจริงแล้วนักกีฬาไม่ใช่หุ่นยนต์ที่จะมีแค่คนมาป้อนข้อมูลวิธีเล่นให้ ลงไปแข่ง แล้วก็หมดหน้าที่
นักฟุตบอลทุกคนล้วนมีความเป็นมนุษย์ปุถุชนอยู่ พวกเขาต้องการหัวหน้าที่ใส่ใจ รับฟัง ไต่ถามสารทุกข์สุกดิบ ถามเรื่องความทุกข์ใจจากที่บ้าน ถามเรื่องความสุขที่เกิดในช่วงนี้ การสื่อสารด้วยภาษาฟุตบอลเพียงอย่างเดียวจึงไม่เคยเพียงพอสำหรับเรื่องพวกนี้ โค้ชที่จะซื้อใจนักกีฬาได้คือโค้ชที่เข้าใจตัวตนข้างในของนักกีฬาคนนั้น จะเข้าใจคนคนหนึ่งได้ก็ต้องสื่อสารได้อย่างไร้อุปสรรค หรือไม่ก็มีคนมาช่วยทำหน้าที่ตรงนี้แทน
บทเรียนจากสนามฟุตบอลสู่ความสำเร็จของผู้บริหารองค์กร
จริงๆ แล้วผู้จัดการทีมหรือโค้ชฟุตบอลนั้นทำงานหลักๆ อยู่สองอย่างคือ บริหารแท็กติก และบริหารทรัพยากรมนุษย์ การบริหารจัดการองค์กรก็คงไม่ต่างกันที่จะต้องมีการบริหารแนวทางการดำเนินงานขององค์กรและบริหารทรัพยากรมนุษย์ในองค์กรด้วย การจะเป็นผู้นำองค์กรที่ดีไม่สามารถสนใจแต่เพียงอย่างเดียวได้
ผู้บริหารควรรู้ว่าจะสามารถดึงศักยภาพอย่างไรให้แต่ละคนสามารถแสดงออกมาได้อย่างสูงสุด สามารถเป็นผู้นำที่ดีที่ไม่ได้เอาแต่ออกคำสั่งเพียงอย่างเดียว แต่มีการทำให้เห็นหรืออธิบายอย่างละเอียดถึงสาเหตุที่ให้ทำด้วย เป็นผู้รับฟังที่ดี เคารพในความเป็นมนุษย์ของทุกๆ คนที่อยู่ในองค์กรไม่ว่าเขาจะทำหน้าที่อะไร ให้คำชื่นชมเมื่อทุกคนทำผลงานได้ดี และยืดอกรับผิดชอบแทนลูกน้องเมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้น
ในโลกยุคปัจจุบัน เทคโนโลยีได้เข้ามาช่วยให้มนุษย์สามารถสื่อสารกันได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น ส่งผลให้เราสามารถเชื่อมต่อเข้าถึงข้อมูลและการสื่อสารได้ตลอดเวลา
แต่ผลกระทบที่ตามมาจากความเร็ว ไม่ว่าสิ่งใดก็ตามที่ทำด้วยความเร็วที่สูงขึ้น โอกาสผิดพลาดย่อมสูงขึ้นเช่นกัน ซึ่งความผิดพลาดที่เราได้เรียนรู้จากบทสนทนากับ ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น กรมสุขภาพจิต โค้ชจิตวิทยาของสโมสรฟุตบอลเอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด ครั้งนี้คือความผิดพลาดในการสื่อสารของผู้นำสามารถส่งผลกระทบต่อจิตใจ และสุดท้ายแม้ว่าคนที่ขึ้นชื่อว่าเป็น The Special One ก็ถึงวันที่เขาต้องพ้นจากตำแหน่งพร้อมกับความบาดหมางกับนักเตะภายในทีมจากสงครามจิตวิทยาที่เขาเลือกจะใช้กับนักเตะของเขาเอง
ดังนั้นสิ่งที่เราสามารถเรียนรู้ได้จากฟุตบอลนอกเหนือจากความสนุกตื่นเต้นและแรงบันดาลใจแล้ว บทเรียนทางจิตวิทยาของการสื่อสารในฐานะผู้นำถือเป็นอีกหนึ่งวิชาที่น่าศึกษาและเรียนรู้ไม่แพ้กับศาสตร์ของการเล่นฟุตบอลเพื่อชัยชนะเลยทีเดียว
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์