พระราชพิธีบรมราชาภิเษกมีความเกี่ยวเนื่องอย่างมีนัยสำคัญกับการกำหนดวันเลือกตั้ง ซึ่งวันนี้ (10 ม.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะกรรมการเตรียมการจัดงานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เนื่องในโอกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์หลังการประชุมว่ารายละเอียดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกจะเปิดเผยหลังการประชุมวันที่ 26 มกราคมนี้ ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในฐานะองค์ประธานที่ปรึกษาคณะกรรมการฯ จะเสด็จฯ มาเป็นองค์ประธานการประชุมที่ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งคณะกรรมการจะต้องนำบางเรื่องกราบบังคมทูลเพื่อขอพระราชวินิจฉัย และมีบางเรื่องที่ต้องกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท
อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้นสามารถเปิดเผยพอเป็นความรู้ได้ว่าพระราชพิธีบรมราชาภิเษกจะแบ่งเป็น 3 ช่วงคือ
- ส่วนเตรียมการเบื้องต้น ซึ่งจะกินเวลาตั้งแต่ 6 เมษายนไปจนถึงตลอดเดือนเมษายน
- ส่วนพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเบื้องกลาง ระหว่างวันที่ 4-6 พฤษภาคม ซึ่งในวันที่ 4 พฤษภาคมนี้ถือเป็นวันบรมราชาภิเษก ส่วนในวันที่ 4 พฤษภาคมปีต่อๆ ไปจะถือเป็นวันฉัตรมงคลไปตลอดรัชกาลปัจจุบัน
- ส่วนต่อเนื่องเบื้องปลาย ซึ่งเป็นกิจกรรมต่อเนื่องที่จัดถวาย
ขณะที่ประเด็นการกำหนดวันเลือกตั้งนั้น นายวิษณุกล่าวว่าคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไม่จำเป็นต้องรอถึงวันที่ 26 มกราคมจึงจะพิจารณากำหนดวันเลือกตั้งได้ เพราะตารางกิจกรรมส่วนเตรียมการเบื้องต้นตลอดเดือนเมษายน รัฐบาลได้จัดส่งให้ กกต. แล้ว ซึ่งสามารถนำไปพิจารณาได้เลย พร้อมเชื่อว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นไม่เกินเดือนมีนาคม
นายวิษณุกล่าวถึงข้อถกเถียงเรื่องกรอบเวลาจัดเลือกตั้ง 150 วันว่าตนยังถือหลักว่าการจัดการเลือกตั้งในกรอบ 150 วัน นับจาก พ.ร.ป. เลือกตั้ง ส.ส. บังคับใช้ (11 ธ.ค. 61) เป็นเรื่องหนึ่ง
ส่วนการรับรองและประกาศผลการเลือกตั้งภายใน 60 วันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะข้อกฎหมายอยู่คนละมาตรากัน ต้องทำให้เสร็จมาตราหนึ่งแล้วจึงต่ออีกมาตราหนึ่ง
สำหรับรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 103 กำหนดให้ กกต. ประกาศกําหนดวันเลือกตั้งต้องไม่น้อยกว่า 45 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง ส.ส. บังคับใช้
โดยนายวิษณุยังยืนยันว่าแม้จะเลื่อนวันเลือกตั้ง แต่เวลาหาเสียงต้องไม่น้อยกว่าเดิมคือ 52 วัน อย่างไรก็ตามยังไม่สามารถตอบได้ว่า พ.ร.ฎ. เลือกตั้ง ส.ส. จะประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเมื่อใด
“รัฐบาลยังไม่อยู่ในฐานะที่จะประกาศ (พ.ร.ฎ.) ไม่ใช่เก็บเอาไว้ ไม่ประกาศ” นายวิษณุกล่าว
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์