คงไม่ดูโลกสวยจนเกินไปหากจะกล่าวว่า “คนธรรมดาก็ทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่หรือเปลี่ยนแปลงอะไรแย่ๆ ในสังคมได้” เพราะปรากฏการณ์ข่าวสารที่เกิดขึ้นในปี 2018 พิสูจน์ให้เห็นแล้ว
การเปิดโปงคดีทุจริตระดับชาติเริ่มจากนักศึกษาฝึกงานและเจ้าอาวาสวัดเล็กๆ ในต่างจังหวัด
เจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อยระดับหัวหน้าชุดตัดสินใจด้วยความกล้าหาญปกป้องผืนป่าตามหน้าที่ โดยที่ยังไม่ทราบล่วงหน้าว่าต้องเจอกับอะไรบ้าง
สองป้าวัยเริ่มชราที่ต่อสู้ปกป้องสิทธิของตนตามกฎหมายอย่างเต็มที่จนนำไปสู่การสะท้อนปัญหาและความล้มเหลวของการบริหารงานเมืองหลวง
ศิลปินใต้ดินไร้ชื่อเสียงที่หาญกล้านำเสนอผลงานสะท้อนใจคนแต่ท้าทายผู้มีอำนาจ
ตลอดจนความร่วมมือร่วมใจของคนในสังคมโลกซึ่งพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อช่วยเหลือ 13 ชีวิตที่ติดถ้ำ โดยไม่มีเชื้อชาติ หรือความเชื่อมาแบ่งแยกกีดกัน
ปี 2018 จึงเป็นปีที่เรื่องใหญ่เริ่มต้น และสำเร็จได้จากคนตัวเล็ก แต่เป็นคนตัวเล็กที่มีความเชื่อและความหวัง เต็มไปด้วยความกล้าหาญ และพร้อมที่จะเสียสละแม้บางครั้งอาจต้องแลกด้วยชีวิต
ทีมถ้ำหลวง-จ่าสมาน ปฏิบัติการกู้ภัยครั้งใหญ่ของโลก
ทีมฟุตบอลเยาวชนและโค้ชทีมหมูป่าอะคาเดมีแม่สาย 13 ชีวิตติดอยู่ในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จังหวัดเชียงราย ตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2561 จากข่าวเด็กติดถ้ำธรรมดา ต่อมาจึงพบว่านี่คือปฏิบัติการกู้ภัยที่ซับซ้อนและยากลำบากที่สุดครั้งหนึ่งของโลก
ภารกิจค้นหาและกู้ภัยยาวนานกว่า 17 วัน โดยผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งไทยและต่างชาติประมาณ 7,000 คน เพื่อช่วยเหลือทั้ง 13 ชีวิต แต่น่าเศร้าที่ต้องมี 1 วีรบุรุษผู้สละชีวิตที่ถ้ำหลวง
หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ หรือหน่วยซีล ชุดแรก 20 นายระดมพลด่วนจากสัตหีบ ถึงเชียงรายเกือบตี 2 ของคืนวันที่ 24 มิถุนายน หรือล่วงเข้าเช้าวันที่ 25 มิถุนายน และเริ่มปฏิบัติการทันทีตั้งแต่เวลาตี 4 ลุยดำนำ้เข้าไปในถ้ำจนถึงบริเวณสามแยก ซึ่งหน่วยกู้ภัยเดิมไม่สามารถเข้าไปได้ ภารกิจดูเหมือนจะราบรื่น ไม่เกินศักยภาพของหน่วยซีล แต่แล้วฝนที่ตกลงมาหนักมากตลอดคืน ประกอบกับสภาพถ้ำที่มืดมาก ซีลต้องถอยออกมาจากสามแยก และถอยหนีน้ำมาเรื่อยๆ จนถึงบริเวณโถง 3
ผู้บัญชาการหน่วยซีลซึ่งทำงานร่วมกับทีมนักดำน้ำต่างชาติ พยายามต่อสู้กับกระแสน้ำ ในระหว่างนั้นทุกหน่วยงานทั้งรัฐและเอกชนที่อยู่นอกถ้ำพยายามทำทุกอย่างเพื่อให้ระดับน้ำในถ้ำลดลง หรืออย่างน้อยก็ไม่ให้มันเพิ่มขึ้นโดยการติดตั้งตั้งเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ เจาะบาดาล ทำฝายกั้นน้ำ รวมถึงปิดตาน้ำไม่ให้ไหลเข้าไปเติมในถ้ำ แม้จะทำทุกอย่างแต่น้ำยังลดลงแค่วันละ 1-2 เซนติเมตร ขณะที่เวลาก็ล่วงผ่านไปเลยสัปดาห์ก็ยังไม่ทราบชะตากรรมของทั้ง 13 ชีวิต
นักดำน้ำจากหลายประเทศที่มาช่วย ทั้งสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย จีน อังกฤษ เยอรมนี ฟินแลนด์ เดนมาร์ก วางแผนประเมินว่าเมื่อทั้ง 13 ชีวิตไปถึงสามแยกแล้วน่าจะต้องเลี้ยวซ้าย เพราะพบรอยเท้าแล้วในบริเวณนั้น
แผนคือวางแนวเชือกไปเรื่อยๆ ทีละ 200 เมตร เวียนกันทีละประเทศ เมื่อแต่ละประเทศช่วยต่อระยะเข้าไป สุดท้ายนักดำน้ำจากอังกฤษรับระยะในช่วงนั้นและไปเจอทั้ง 13 ชีวิต ที่เนินนมสาว นักดำน้ำอังกฤษบอกว่าเมื่อไปถึงน้องๆ พวกเขาวิ่งลงมาหาเลย
ปฏิบัติการค้นหาทีมหมูป่าฯ ทั้ง 13 ชีวิต ใช้เวลา 10 วัน เมื่อพบทุกคนรอด ต่อไปคือต้องนำออกมาอย่างปลอดภัย ซึ่งในเวลานั้นสาธารณชนทราบภายหลังว่านี่คือขั้นตอนที่ยากที่สุด
ภารกิจลำเลียงทีมหมูป่าฯ 13 ชีวิตทำต่อเนื่อง 3 วันติดต่อกันตั้งแต่วันที่ 8-10 กรกฎาคม สองชุดแรกออกมาครั้งละ 4 คน ส่วนชุดสุดท้ายออกมา 5 คน
ศูนย์อำนวยการร่วมค้นหาผู้สูญหายในวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน (ศอร.) ต้องคัดสรรอุปกรณ์จากทั่วโลก ระดมนักดำน้ำที่เก่งที่สุดจากทั่วทุกมุมโลก คิดเป็น 1 ใน 4 ของทีมดำนำ้ทั้งหมด ร่วมกับหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ หรือหน่วยซีล พร้อมทีมงานหมุนเวียนรวมประมาณ 7,000 ชีวิตต่อสู้กับกระแสและระดับน้ำในถ้ำ
ตลอดภารกิจ 17 วัน แบ่งเป็นการค้นหาซึ่งต้องแข่งกับนาทีชีวิตที่ติดอยู่ในถ้ำ 10 วัน และการกู้ภัยซึ่งถูกบีบด้วยอากาศที่เบาบางข้างใน และกระแสน้ำที่มาพร้อมพายุฝนอีก 7 วัน ระหว่างนั้นเราได้สูญเสีย จ่าเอก สมาน กุนัน หรือจ่าแซม เจ้าหน้าที่หน่วยซีลนอกราชการผู้อาสาช่วยเหลือในภารกิจที่ถ้ำหลวง ซึ่งทุกคนพร้อมใจยกย่องเขาเป็น ‘วีรบุรุษถ้ำหลวง’
วิเชียร ชิณวงษ์ ผู้พิทักษ์แห่งป่าทุ่งใหญ่นเรศวร
จุดเริ่มต้นของข่าวมาจากเฟซบุ๊กเพจ ‘คนอนุรักษ์’ ได้รายงานว่า เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2561 เวลา 14.00 น. เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก รับแจ้งว่าพบนักท่องเที่ยวกลุ่มหนึ่งจำนวน 4 ราย ทั้งชายและหญิง ตั้งแคมป์พักในบริเวณจุดห้ามตั้ง
ตรวจสอบพบว่านักท่องเที่ยวหนึ่งในกลุ่มนี้คือ นายเปรมชัย กรรณสูตร ประธานบริหารและกรรมการ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ตรวจสอบบริเวณเต็นท์พัก พบซากสัตว์ป่าคุ้มครองคือ ไก่ฟ้าหลังเทา ซากเนื้อเก้ง พร้อมอุปกรณ์ทำครัว อาวุธปืนและเครื่องกระสุน
นายวิเชียร ชิณวงษ์ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร คือหัวหน้าชุดที่นำกำลังเจ้าหน้าที่เข้าจับกุมนักธุรกิจใหญ่ของประเทศไทย
นายวิเชียร เล่าย้อนเหตุการณ์ขณะจับกุมว่า นายเปรมชัยและพวกได้แสดงตัวตั้งแต่ครั้งแรกที่เจ้าหน้าที่เข้าไปตักเตือนให้ออกจากพื้นที่ดังกล่าว แต่ก็ไม่มีการย้ายออก โดยอ้างว่าเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัยในการเดินป่าช่วงกลางคืน จึงทำให้เชื่อว่ามีความผิดปกติ และเมื่อมีเสียงปืนดังขึ้น เจ้าหน้าที่จึงเข้าจับกุมนายเปรมชัย
ยอมรับว่านายเปรมชัยและพวกพวกมีความพยายามเจรจาต่อรอง ซึ่งตนเองได้ปฏิเสธ และยืนยันว่าไม่มีใครต้องการได้เงินจากนายเปรมชัยแม้แต่บาทเดียว
“ไม่กลัวการถูกย้าย ผมทำงานเพื่อปกป้องป่า ผมแค่ทำตามหน้าที่รับผิดชอบตรงไปตรงมา โดยชอบธรรม ก็มองว่าไม่มีอะไรต้องกังวล วันข้างหน้าจะมีอะไรไหมก็ไม่มีใครตอบได้ เพราะการรักษาทรัพยากรป่าไม้ เป็นเรื่องที่ต้องกระทบผลประโยชน์ของใครบางคน ถ้าเจ้าหน้าที่ท้อถอย ถอดใจ ทรัพยากรป่าไม้คงจะเหลืออยู่ไม่เท่าไร ในส่วนของผมและเจ้าหน้าที่ทุกนายก็พร้อมเสมอที่จะทำหน้าที่นี้อย่างเต็มความสามารถ” นายวิเชียร กล่าว
สำหรับนายวิเชียร หรือหัวหน้าวิเชียร ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติความกล้าหาญ และความมีจริยธรรม จากโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) จากการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่เกรงกลัวอิทธิพล
คดีเปรมชัย คืบหน้าไปถึงไหน?
ความคืบหน้าคดีนายเปรมชัย และพวก อัยการจังหวัดทองผาภูมิ สั่งฟ้อง 6 ข้อหา คือ
- ฐานร่วมกันพกพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต
- ฐานร่วมกันล่าสัตว์ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโดยไม่ได้รับอนุญาต
- ฐานร่วมกันล่าสัตว์ป่าคุ้มครองโดยไม่ได้รับอนุญาต
- ฐานร่วมกันมีไว้ครอบครองซึ่งซากสัตว์ป่าคุ้มครองโดยที่ไม่ได้รับอนุญาต
- ฐานร่วมกันช่วยซ่อนเร้นช่วยพาเอาไปเสียหรือรับไว้ซึ่งซากสัตว์ป่าอันได้มาโดยกระทำความผิดกฎหมาย
และ 6. ฐานร่วมกันเก็บหาของป่าในเขตป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาต
โดยศาลจังหวัดทองผาภูมิ ได้นัดสืบพยานโจทก์ จำนวน 32 ปาก รวม 10 นัด คือวันที่ 27-30 พฤศจิกายน วันที่ 6-7 ธันวาคม วันที่ 11-13 ธันวาคม และวันที่ 18 ธันวาคม 2561
จากนั้นนัดสืบพยานจำเลย จำนวน 17 ปาก รวม 6 นัด คือวันที่ 19-21 และ 25-27 ธันวาคม 2561 ซึ่งตามกระบวนการทางกฎหมาย ในปี 2562 สังคมจะทราบผลการพิจารณาคดี
น้องแบม นักศึกษาฝึกงานเปิดโปงโกงเงินคนจน
นางสาวปณิดา ยศปัญญา นิสิตชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาการพัฒนาชุมชน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ผู้ร้องเรียนการทุจริตเงินสงเคราะห์ผู้ยากไร้และผู้ป่วยโรคเอดส์ ของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดขอนแก่น กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ระหว่างไปฝึกงานที่ศูนย์ดังกล่าวจนกลายเป็นข่าวใหญ่ระดับประเทศ
นำไปสู่การตรวจสอบโดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) จนพบพฤติการณ์ทุจริตของศูนย์กว่าค่อนประเทศ รวม 67 ศูนย์ และมีเพียง 9 จังหวัดที่ไม่พบการทุจริต คือ สิงห์บุรี ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี นครศรีธรรมราช นนทบุรี แพร่ นครสวรรค์ สุโขทัย และอุตรดิตถ์ มีเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องมากกว่า 300 คน ถูกดำเนินการสอบสวน
การเปิดโปงของนักศึกษาฝึกงาน ได้สร้างแรงสั่นสะเทือนในวงราชการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยนายพุฒิพัฒน์ เลิศเชาวสิทธิ์ ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ในเวลานั้น ตกเป็นหนึ่งในผู้ที่ถูกกล่าวหา โดยวันที่ 10 เมษายน 2561 ที่ประชุม ครม. มีมติให้นายพุฒิพัฒน์ ออกจากราชการไว้ก่อน พร้อมการตั้งคณะกรรมการสอบวินัยร้ายแรง
ขณะเดียวกัน เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2561 คณะกรรมการธุรกรรม สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน มีมติให้อายัดทรัพย์สินของนายพุฒิพัฒน์ กับพวกที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตยักยอกเงินสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่งและผู้มีรายได้น้อย รวม 12 ราย จำนวน 41 รายการ มูลค่าประมาณ 88 ล้านบาท พร้อมดำเนินคดีอาญาความผิดฐานฟอกเงิน
โดยต่อมา นายพุฒิพัฒน์ พร้อมสาวคนสนิทกินยาพิษผสมไวน์ฆ่าตัวตาย แต่แพทย์สามารถรักษาชีวิตของสาวคนสนิทได้เพียงรายเดียว โดยญาติของอดีตปลัดท่านนี้เปิดเผยว่า ไม่ได้เป็นการฆ่าตัวตายหนีความผิด เพราะยังไม่มีหน่วยงานไหนชี้มูลว่าผิด โดยญาติคาดว่าสาเหตุมาจากน้อยใจเรื่องติดต่อบุคคลหนึ่งเพื่อชี้แจงขอคำปรึกษา แต่ไม่ใช่การติดต่อเพื่อหาช่องทางหนีคดี หลายครั้งไม่มีเสียงตอบรับเลย จนอาจทำให้เกิดความเครียดและกดดัน
ขณะที่น้องแบม หรือนางสาวปณิดา ได้เข้ารับราชการตำแหน่ง นักวิชาการยุติธรรมปฏิบัติการ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เขต 4 จังหวัดขอนแก่น เริ่มปฏิบัติงานตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา
พระครูใบฎีกา จุดเริ่มต้นคดีเงินทอนวัด
คดีเงินทอนวัด เป็นคดีเขย่าวงการสงฆ์ไทยจนสะเทือนเลื่อนลั่น แต่น้อยคนจะรู้ว่าจุดเริ่มต้นของคดีนี้มาจากการร้องเรียนเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2560 ของ พระครูใบฎีกา อนันต์ เขมานนฺโท เจ้าอาวาสวัดห้อยตะแกละ จ.เพชรบูรณ์ ร้องเรียนกองบังคับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (ปปป.) และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) หลังพบพิรุธข้าราชการสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติทอนเงินสร้างพระอุโบสถ
สำหรับ ‘เงินทอนวัด’ คือเงินอุดหนุนให้กับวัดต่างๆ ผ่านโครงการบำรุงศาสนาและเพื่อการศึกษาพระปริยัติธรรม วัดต้องเขียนโครงการเพื่อเสนอของบฯ เมื่อสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติอนุมัติ ทางวัดต้องเบิกเงินจำนวนหนึ่งคืนเจ้าหน้าที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเพื่อเป็นสินบน
จุดเริ่มต้นจากการทอนเงินวัดในต่างจังหวัด แต่เมื่อขยายผลพบว่าเกี่ยวข้องถึงระดับพระผู้ใหญ่ในวัดดังของประเทศ โดยคดีเงินทอนวัดแบ่งออกเป็นล็อตๆ ล่าสุดอยู่ที่ล็อตที่ 4
สำหรับคดีเงินทอนวัน 3 ล็อตแรก มูลค่าความเสียหายรวมกว่า 340 ล้านบาท และเป็นการตรวจสอบทุจริตงบใน 3 งบประมาณ คือ งบบูรณะปฏิสังขรณ์และพัฒนาวัด งบอุดหนุนส่งเสริมการเผยแผ่พระพุทธศาสนา และเงินอุดหนุนการศึกษาพระปริยัติธรรม โดยวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ที่ถูกดำเนินคดีในล็อตที่ 3 นี้ ถือเป็นการทุจริตงบสูงที่สุดกว่า 150 ล้านบาท
ส่วนล็อตที่ 4 ช่วง พ.ศ. 2554 -2559 พบเข้าข่ายทุจริต 30 วัด และกำลังดำเนินการตรวจสอบวัดเป้าหมายที่เหลือ ซึ่งมีวัดที่มีชื่อเสียงในภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคกลาง ซึ่งเป็นวัดที่ไม่เคยปรากฏในรายชื่อจากการดำเนินคดีทุจริตเงินทอนวัด ล็อต 1-3 มาก่อน และผู้เกี่ยวข้องเป็นพระสงฆ์ระดับเจ้าคณะอำเภอ เจ้าอาวาส รวมถึงข้าราชการสำนักพระพุทธฯ
ป้าทุบรถ ผู้ชี้ประเด็นความล้มเหลวการบริหารงาน กทม.
https://www.youtube.com/watch?v=BFLaUvp3-q4&feature=youtu.be
ย้อนช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ คลิปหญิงสูงวัยสองรายใช้ขวานจามใส่รถที่จอดขวางหน้าบ้าน ภายในหมู่บ้านเสรีวิลล่า ซอยศรีนครินทร์ 55 เขตประเวศ กรุงเทพฯ จากประเด็นป้าหัวร้อนในตอนต้นกลายเป็นภาพสะท้อนความล้มเหลวของการบริหารงาน และบังคับใช้กฎหมายของ กทม.
คุณป้าสองท่านนั้นคือ น.ส.รัตนฉัตร แสงหยกตระการ วัย 57 ปี และ น.ส.มณีรัตน์ แสงภัทรโชติ วัย 61 ปี แม้จะถูกดำเนินคดีฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ แต่ทั้งสองก็ใช้โอกาสที่เป็นข่าวดังต่อสู้กับปัญหาก่อสร้างตลาด 5 แห่งรอบบ้านโดยผิดกฎหมายมาเป็นเวลานับ 10 ปี
แม้ในปี 2556 ศาลปกครองได้มีคำสั่งคุ้มครองแล้ว แต่เขตประเวศ และ กทม. กลับปล่อยปละละเลย ไม่ดำเนินการตามกฎหมาย จนต้องติดคำพิพากษา และคำสาปแช่งไว้ที่ประตูรั้ว
การต่อสู้ของสองป้าทุบรถเรียกความเห็นใจแก่คนในสังคมได้ โดยช่วงกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาชี้ว่า ตลาดทั้ง 5 แห่งรอบบ้านคุณป้าไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยให้ กทม. รื้อภายใน 60 วัน พร้อมให้จ่ายเงินเยียวยาตั้งแต่ปี 2553 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2561 รายละกว่า 360,000 บาท นอกจากนี้ กทม. ยังได้พิจารณาความผิดทางวินัยข้าราชการที่ปล่อยปละละเลยอีกจำนวน 7 ราย
ต่อมาวันที่ 26 พฤศจิกายน ที่ศาลจังหวัดพระโขนง ได้ตัดสินปรับ น.ส.รชนีกร เลิศวาสนา อายุ 37 เป็นจำเลย ในความผิดฐานจอดรถกีดขวางทางเข้า-ออกอาคาร และก่อความเดือดร้อนรำคาญ เป็นเงิน 5,000 บาท และจำคุก 15 วัน แต่ให้รอลงอาญา 1 ปี
อย่างไรก็ตาม เวลาต่อมาศาลปกครองได้ยกฟ้องคดีที่ป้าทุบรถ ขอให้เพิกถอนข้อบัญญัติ กทม. สร้างอาคารสูง-อาคารพาณิชย์ รอบสวนหลวง ร.9 ได้
แม้ศาลจะยกฟ้อง แต่ในเนื้อหาของคำพิพากษาก็ระบุให้ดัดแปลงการใช้พื้นที่ต้องยึดรายละเอียด แผนผังโครงการ สัญญาแนบท้ายการจัดสรรที่ดิน โฉนดของผู้ถือครองที่ดินเป็นหลัก ซึ่งก็ถือว่าเป็นการคุ้มครองประชาชนผู้อยู่อาศัยได้ส่วนหนึ่ง แต่สองป้าทุบรถระบุว่า ก็ไม่สามารถวางใจได้ เพราะที่ผ่านมาปัญหาที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านเสรีวิลล่า ก็เกิดจากคนที่ไม่รักษากฎหมาย อาศัยใช้ช่องโหว่ของกฎหมาย
พร้อมเรียกร้องให้ผู้อยู่อาศัยโดยรอบสวนหลวง ร.9 คอยตรวจสอบการปฏิบัติงานของกรุงเทพมหานคร หากว่ามีการดำเนินการที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย และกระทบสิทธิของตนเองก็ต้องออกมาต่อสู้ อย่าละเลย ต้องออกมาเรียกร้องปกป้องสิทธิของตนเอง
กราฟฟิตี้-แรปประเทศกูมี ศิลปินใต้ดินสะท้อนความอัดอั้นของสังคม
พ.ศ. 2561 มีคดีใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับผู้มีอำนาจและมากด้วยเงินทุน ซึ่งสังคมจับตาและวิพากษ์วิจารณ์ใหญ่ๆ 2 คดี หนึ่งคือ คดีนาฬิกาหรูของพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรัฐมนตรีกลาโหมในรัฐบาล คสช.
สองคือคดีล่าเสือดำของนายเปรมชัย กรรณสูตร ประธานบริหารและกรรมการ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน)
คดีเหล่านี้ถูกดำเนินการผ่านขั้นตอนทางกฎหมาย ซึ่งบางครั้งก็เร็วไม่ทันใจคนในสังคม แต่ก็มีบางครั้งที่ล่าช้าจนคนชินชาที่จะฟังข้ออ้าง-ข้อแก้ตัว
สำหรับคดีนาฬิกาพลเอก ประวิตร ถูกกระตุ้นเตือนด้วยผลงานกราฟฟิตี้ล้อเลียนของ Headache Stencil ซึ่งพ่นไว้บริเวณสะพานลอยคนข้ามระหว่างซอยสุขุมวิท 56 กับ 58 ต่อมาภายหลังถูกลบไปแล้วโดยเจ้าหน้าที่เทศกิจ ขณะที่ตำรวจไล่ดูกล้องวงจรปิดเพื่อหาตัวผู้พ่นภาพดังกล่าว
“คนหลายคนคิดว่าผมพ่นรูปลุง แปะสติกเกอร์ลุง เพราะเกาะกระแสความดังของลุง…ไม่ใช่เลยครับ สิ่งที่ผมทำนั้น เพื่อจะให้ทุกคนจดจำหน้าลุงไว้ ให้เวลาและสังคมมันตัดสินว่าสิ่งที่ลุงทำมันถูกหรือผิด ดีหรือเลว ผมอยากให้คนได้จดจำหน้าของลุงไว้จนวันตาย เผื่อจะสามารถทำให้คนเข็ดขยาดกับสิ่งที่เรียกว่า ‘ปฏิวัติรัฐประหาร’”
Headache Stencil 1/2/2018
อาจกล่าวได้ว่าผลงานกราฟฟิตี้ล้อเลียนของ Headache Stencil เป็นตัวกระตุ้นให้ศิลปินกราฟฟิตี้กลุ่มอื่นๆ ทำตาม ในกรณีคดีล่าเสือดำของนายเปรมชัย ซึ่งถูกสังคมจับตาและวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักอยู่ในเวลานั้น
ไม่เพียงแค่กราฟฟิตี้เท่านั้น เพลงแรปใต้ดิน ‘ประเทศกูมี’ จากกลุ่มศิลปินที่ใช้ชื่อว่า Rap Against Dictatorship ซึ่งมีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์การเมืองและเสียดสีสังคมกลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมา เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจสั่งตรวจสอบโดยอ้างว่าอาจสุ่มเสี่ยงผิดกฎหมาย
แม้ต่อมาจะไม่มีการดำเนินคดีเอาผิด หรือออกหมายเรียกบุคคลที่เกี่ยวข้องกับเพลงนี้มาสอบสวน แต่ปรากฏการณ์นี้ก็เรียกเสียงวิจารณ์จากสังคมได้ไม่น้อยถึงความขึงขังเอาจริงเอาจังกับเพลงเพลงเดียวที่เสียดสีผู้มีอำนาจและวิจารณ์สังคม
ปรากฏการณ์ข่าวสารใหญ่ๆ ที่ได้รับความสนใจในปี 2018 มีทั้งข่าวใหญ่แต่คนทั่วไปไม่ได้สังเกตว่ามันเริ่มจากคนตัวเล็กๆ หรือในบางข่าวที่ดังขึ้นมาได้ก็เพราะว่าคนตัวเล็กๆ มุ่งมั่นกล้าหาญทำในสิ่งที่ยิ่งใหญ่
อย่างไรก็ดียังมีอีกหลายเรื่อง-หลายคดีที่ถูกเริ่มขึ้นจากพวกเขา แต่เรายังต้องติดตามต่อไป เราอาจมีส่วนช่วยส่งเสียง-กดดัน-ทวงถาม เพื่อผลักดันให้สิ่งที่พวกเขาเริ่มไว้สำเร็จได้ไม่สูญเปล่า
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์