×

Facebook เผยครึ่งปีแรก 2018 ไทยถูกปิดกั้นเนื้อหา 285 โพสต์ ส่วนใหญ่เป็นกรณีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

24.12.2018
  • LOADING...

เฟซบุ๊กเปิดเผยรายงานความโปร่งใส (Transparency) ในประเด็นคอนเทนต์ที่ถูกจำกัดการเข้าถึงตามกฎหมายท้องถิ่นของแต่ละประเทศ โดยพบว่าในช่วงครึ่งปีแรก 2018 ที่ผ่านมานี้ (มกราคม-มิถุนายน) มีโพสต์ของประเทศไทยที่ถูกปิดกั้นการแสดงเนื้อหามากถึง 285 โพสต์ มากที่สุดเป็นอันดับที่ 12 ของโลก และสูงที่สุดในรอบ 5 ปีที่ผ่านมาตามรายงานจากเฟซบุ๊ก

 

เฟซบุ๊กได้แจกแจงรายละเอียดและเหตุผลที่ทำให้ต้องปิดกั้นการแสดงเนื้อหาในแต่ละช่วง โดยพบว่า 6 เดือนแรกของปี 2018 โพสต์ส่วนใหญ่กว่า 283 โพสต์เป็นการกระทำความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามประมวลกฎหมายอาญา โดยเป็นไปตามคำร้องที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมได้ยื่นเข้ามาให้ดำเนินการตรวจสอบ ส่วนอีก 2 โพสต์เป็นกรณีการหมิ่นประมาทระหว่างบุคคล

 

หากย้อนกลับไปในช่วงครึ่งปีแรก 2017 (มกราคม-มิถุนายน) จะพบว่าประเทศไทยมีจำนวนโพสต์ที่ถูกปิดกั้นเนื้อหารวม 226 โพสต์ (เป็นสถิติที่สูงที่สุดในช่วงเวลาดังกล่าว) ส่วนใหญ่เป็นโพสต์ที่เข้าข่ายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามประมวลกฎหมายอาญาเช่นกัน ตามคำร้องของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.)

 

เช่นเดียวกับในช่วง 6 เดือนหลังสุดของปี 2017 ที่มีโพสต์จำนวนกว่า 139 โพสต์ถูกจำกัดการเข้าถึง ในจำนวนนี้มีแค่โพสต์เดียวเท่านั้นที่เป็นกรณีการหมิ่นประมาทระหว่างบุคคล ที่เหลือเป็นการกระทำความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามประมวลกฎหมายอาญาตามคำร้องของ ปอท. และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

 

ในเชิงมุมมองภาพรวมทั่วโลก ปากีสถานเป็นประเทศที่ถูกปิดกั้นเนื้อหามากที่สุดในช่วงครึ่งปีแรก 2018 มีจำนวนโพสต์ที่ถูกจำกัดการเข้าถึงรวม 2,203 โพสต์ตามคำร้องขององค์การโทรคมนาคมประเทศ ส่วนใหญ่เป็นประเด็นการดูหมิ่นศาสนา ประณามความเป็นอิสรเสรีของประเทศ รวมไปถึงการต่อต้านผู้พิพากษาและตุลาการ

 

ขณะที่อันดับ 2 และ 3 ตกเป็นของบราซิลและเยอรมนี มีจำนวนโพสต์ที่ถูกปิดกั้นเนื้อหาจากสาเหตุการละเมิดกฎหมายท้องถิ่น 1,855 และ 1,764 โพสต์ตามลำดับ แต่หากนับเฉพาะประเทศในแถบเอเชียที่ติดอยู่ใน 10 อันดับแรก อินเดีย (อันดับ 6) และเกาหลีใต้ (อันดับ 7) คือสองประเทศที่มีจำนวนการถูกปิดกั้นโพสต์มากที่สุดที่ 1,524 และ 823 โพสต์ตามลำดับ โดยในอินเดีย ส่วนใหญ่เป็นการกระทำความผิดฐานต่อต้านศาสนา ต่อต้านรัฐ และใช้ถ้อยคำแสดงความเกลียดชัง (เฮตสปีช) ด้านเกาหลีใต้เป็นกรณีละเมิดกฎหมายการเลือกตั้งของประเทศ

 

ทั้งนี้เฟซบุ๊กได้อธิบายเหตุผลของการปิดกั้นการเข้าถึงเนื้อหาในแต่ละประเทศเอาไว้ว่า ในกรณีที่มีผู้ใช้รายงานเนื้อหาบนเฟซบุ๊กหรืออินสตาแกรมที่เข้าข่ายการละเมิดกฎหมายท้องถิ่น แต่ไม่ขัดกับมาตรฐานชุมชนโดยเฟซบุ๊ก เฟซบุ๊กจะจำกัดการเข้าถึงเนื้อหานั้นๆ เฉพาะกับผู้ใช้ในประเทศท่ีระบุว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย โดยตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา เฟซบุ๊กได้รับรายงานจากรัฐบาล ศาล สมาชิกชุมชนเฟซบุ๊ก รวมไปถึงเอ็นจีโอ

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X