×

เทคโนโลยีกับธุรกิจเพื่อสังคม การขับเคลื่อนที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้จาก AIS The StartUp: Future Maker

โดย THE STANDARD TEAM
22.12.2018
  • LOADING...

เทคโนโลยีคือสิ่งสำคัญที่กำลังขับเคลื่อนโลกในปัจจุปัน หลายภาคธุรกิจขยับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงและการเติบโต สำหรับผู้ให้บริการโทรคมนาคมอันดับหนึ่งของไทยอย่างเอไอเอสได้เดินหน้าผลักดันในหลายภาคส่วน และที่เป็นจุดแข็งคือกลุ่ม AIS The StartUp ที่ทางเอไอเอสให้การสนับสนุนอย่างจริงจังและต่อเนื่องมาตลอด ล่าสุดกับอีกหนึ่งโครงการ Future Makers Regional Program ที่ทาง Singtel Group ได้จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมกลุ่มสตาร์ทอัพที่มุ่งเน้นสร้างสรรค์สังคมกับการสร้างธุรกิจที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้สังคมดีขึ้น โดยนำแนวคิดเพื่อสังคมผนวกกับ Innovation และ Technology เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหา

 

 

ซึ่งสำหรับโครงการนี้ เหล่าตัวแทนสตาร์ทอัพของแต่ละประเทศที่อยู่ใน Singtel Group มารวมตัวเพื่อแชร์ความรู้ด้านเทคโนโลยีและประสบการณ์ รวมถึงการสร้างความร่วมมือในการขยายฐานลูกค้าไปยังตลาดต่างประเทศ

 

สำหรับตัวแทนจากประเทศไทยโดย AIS The StartUp ได้มีสองทีมตัวแทนเข้าร่วมในโครงการครั้งนี้คือ VT Thai (วิถีไทย) และ Local Alike สองทีมที่โดดเด่นในแง่แนวคิดของการทำธุรกิจเพื่อสร้างสรรค์สังคมและชุมชนท้องถิ่นของไทย  

 

 

แต่ก่อนจะไปทำความรู้จักกับทั้งสองทีม เราได้มีโอกาสพูดคุยกับ ดร.ศรีหทัย พราหมณี Head of AIS The StartUp หัวเรือใหญ่จากเอไอเอสที่ดูแลกลุ่มสตาร์ทอัพมาอย่างยาวนานถึงการขยับเข้ามาสนับสนุนกลุ่มสตาร์ทอัพในเชิงสร้างสรรค์สังคม

 

“เอไอเอสให้การสนับสนุนในส่วนของสตาร์ทอัพมาอย่างต่อเนื่องโดยตลอด รวมถึงการสนับสนุนโครงการ Future Makers Regional Program ที่ให้ความสำคัญกับการสนับสนุนธุรกิจสร้างสรรค์สังคมในเรื่องของ SDGs (The Sustainable Development Goals)

 

“AIS The StartUp ได้เป็นส่วนหนึ่งในการพาทีมเข้าร่วมงานนี้ เรามองเห็นความสำคัญที่จำเป็นต้องขับเคลื่อนสังคมด้วยธุรกิจที่สร้างสรรค์ และในฐานะที่เป็นบริษัทเทคโนโลยี เราก็เป็นเหมือนครอบครัว เป็นพี่เลี้ยงที่ดูแลให้คำแนะนำ ให้ทีมทั้ง VT Thai และ Local Alike สามารถพัฒนาต่อยอดได้ ซึ่งงานนี้เป็นงานระดับภูมิภาคที่เป็นการพิทชิง ทีมสตาร์ทอัพจากไทยจะได้ประสบการณ์และได้เข้าถึงนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งเราต้องยอมรับว่านักลงทุนในกลุ่มของ SDGs ในประเทศไทยยังมีไม่มากนัก การเข้าร่วมงานในครั้งนี้จึงเป็นโอกาสสำคัญ เพราะจะได้พบกับทีมสตาร์ทอัพจากหลายประเทศ ทั้งออสเตรเลีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และไทย เพื่อแลกเปลี่ยนแนวคิดและได้ประโยชน์กลับมาพัฒนาธุรกิจต่อ”

 

เมื่อเราได้เห็นมุมมองจากเอไอเอสแล้ว ทำให้เราอยากทำความรู้จักกับสองทีมอย่าง Local Alike และ VT Thai ที่เป็นตัวแทนให้มากขึ้นในเรื่องของแนวคิดการทำธุรกิจและประสบการณ์ที่ได้รับจากการได้มีโอกาสเข้าร่วมในครั้งนี้

 

ไผ-สมศักดิ์ บุญคำ ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ Local Alike

 

Local Alike การท่องเที่ยวแบบยั่งยืนที่เริ่มจากการพัฒนาคนไปพร้อมกับเทคโนโลยี

Local Alike คือองค์กรที่มุ่งมั่นในเรื่องการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนที่ต้องการพัฒนาคน พัฒนาระบบ พัฒนาเทคโนโลยี ให้ต่อยอดทางธุรกิจและสร้างรายได้ให้ชุมชน พัฒนาสังคมผ่านธุรกิจการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนนี้ได้

 

 

จุดเริ่มต้นคือการมองเห็นศักยภาพของชุมชนในไทย เรามีทรัพยากรที่ดีมาก แต่ที่ผ่านมาการท่องเที่ยวไปเน้นที่จุดหมายปลายทาง ทำให้แหล่งท่องเที่ยวกระจุกอยู่ที่หัวเมืองใหญ่ๆ ที่เป็นกระแสหลัก ในขณะที่ชุมชนเองเป็นตัวนำเสนอความเป็นประเทศไทยได้ดีมาก แต่ละชุมชนมีวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ ในอดีตการท่องเที่ยวชุมชนยังไม่ได้รับความสนใจมาก แต่ปัจจุบันเริ่มมีความสนใจมาจับการท่องเที่ยวเชิงนี้มากขึ้น และชุมชนเองก็มีศักยภาพในการสื่อสารความเป็นไทยมากขึ้น เราจึงหันมาสนใจเรื่องนี้ และเรามองว่าการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนสามารถสร้างการพัฒนาสังคมได้

 

 

ในรูปแบบการทำงานจะเริ่มจากการพัฒนาคนเป็นอันดับแรก เพราะเรื่องการท่องเที่ยวมันเกี่ยวข้องกับคน เมื่อคนในชุมชนเข้าใจเรื่องการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน มันก็จะพัฒนาได้ เมื่อมีความเข้าใจ คนในชุมชนจะสามารถลุกขึ้นมาบริหารจัดการให้เป็นระบบได้ สร้างเป็นธุรกิจได้โดยชุมชนเพื่อชุมชน ใส่องค์ความรู้เข้าไป เมื่อคนพร้อม เราก็จะเอาธุรกิจเข้าไป คือการจัดทัวร์ร่วมกับชุมชน ซึ่งเป็นทัวร์ที่ถูกออกแบบโดยคนในชุมชนจริงๆ โดยมีการซัพพอร์ตจากทีมของ Local Alike ยกตัวอย่าง หากมีการไปท่องเที่ยววัด เราจะสร้างทัวร์การไปเที่ยวชุมชนข้างวัด เพราะเรามองว่าจะมีวัดไม่ได้ถ้าขาดชุมชน เหมือนพาไปเที่ยวหัวใจสำคัญของสิ่งนั้นๆ

 

 

ที่ผ่านมาการทำงานของเราจะเป็นการทำงานที่ใกล้ชิดกับชุมชน เมื่อคนพร้อม มีความรู้และภูมิต้านทานเกี่ยวกับเทคโนโลยี เราก็จะเอาเทคโนโลยีเข้าไปทำให้ชุมชนเป็นที่รู้จักมากขึ้น

 

สำหรับเทคโนโลยีที่นำมาใช้ เช่น การทำเว็บไซต์ให้ชุมชน การสร้างมาร์เก็ตเพลสในช่องทางออนไลน์ การทำระบบจัดการหลังบ้านให้ชุมชนซึ่งมีระบบการทำงานเหมือนโรงแรม ยกตัวอย่าง หมู่บ้านนี้มีโฮมสเตย์ เราก็จะให้เขาเรียนรู้ระบบของเทคโนโลยีว่าการเก็บข้อมูลของลูกค้าที่มาพัก รวมถึงการจัดเก็บเรื่องระบบบัญชีของหมู่บ้านด้วย นี่คือสิ่งที่เราเอาไปพิทชิงในงานนี้แล้วได้รับเงินลงทุนมาพัฒนา

 

สำหรับการได้ไปร่วมงาน Future Makers Regional Program ในครั้งนี้ Local Alike รู้สึกดีใจมากสำหรับโอกาสจากเอไอเอส มันทำให้เราเห็นว่าการทำงานเพื่อชุมชนตลอด 6-7 ปีของเรามีคนมองเห็นและให้การสนับสนุนเพื่อให้การท่องเที่ยวชุมชนของบ้านเรามันดีขึ้น พัฒนาขึ้นทั้งคนและระบบ ในงานนี้ผมได้พบประสบการณ์มาก แม้จะมีโอกาสได้ผ่านเวลานานาชาติมาก่อนหน้านี้ แต่ครั้งนี้เราได้เจอนักลงทุนที่เป็นกลุ่ม Social Impact จริงๆ และมันต่อยอดกับกลุ่มสตาร์ทอัพอื่นที่ทำให้เราเชื่อมต่อและขยายโมเดลของ Local Alike ไปได้ไกลมากขึ้น

 

อย่างที่เรารู้ว่านักลงทุนในกลุ่มนี้มีไม่มาก แต่การมีโครงการแบบนี้มันถือเป็นโอกาสที่ธุรกิจเพื่อสังคมเติบโตและมีคนทำมากขึ้น มันเป็นพื้นที่และเวทีสำหรับกลุ่ม SDGs ยิ่งเอไอเอสเข้ามาสนับสนุนก็เหมือนเป็นการสร้างแรงกระเพื่อม เป็นการจุดประกายสำหรับธุรกิจเพื่อสังคม

 

ตอนนี้ Local Alike มีการทำงานร่วมกับร้อยกว่าชุมชนในไทย และกำลังต่อยอดไปที่เวียดนามและอินโดนีเซีย ​ซึ่งเรามองว่าปัญหาสำหรับชุมชนที่เจอมีเหมือนกันทั้งภูมิภาค หากได้รับการสนับสนุน เราจะสามารถแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้ สิ่งที่น่าดีใจจากโครงการนี้คือการได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 จากการพรีเซนต์พิทชิงครั้งนี้ แน่นอนว่า Local Alike เองไม่ใช่ธุรกิจที่เทคโนโลยีจ๋า แต่เราอยากนำเทคโนโลยีมาเป็นเครื่องมือพัฒนาชุมชน ซึ่งดีใจที่นักลงทุนมองเห็นใจความสำคัญนี้

 

วัธ-จิรโรจน์ พจนาวราพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท วีทีไทย กรุ๊ป จำกัด

 

VT Thai วิถีไทยที่ต้องการสร้างแรงกระเพื่อมให้สังคม

วิถีไทย คือกลุ่มที่นำเทคโลยีมาพัฒนาสร้างรายได้ให้กับงานหัตถกรรมของไทย โดยเริ่มต้นที่งานจักสาน วิถีไทยมองเห็นศักยภาพของงานฝีมือไทยที่สามารถไปยืนบนเวทีโลกได้ เพราะนี่คืองานออกแบบและงานแฮนด์เมดที่มีคุณค่า ถ้าเราไปเดินในตลาดยุโรป เราจะเห็นได้ว่าชิ้นงานหัตถกรรมเหล่านี้คือสิ่งที่ทรงคุณค่า เมื่อใส่เรื่องราวเข้าไป มันจะสร้างมูลค่าในตัวเองมากขึ้น

 

 

เราจึงนำจุดนี้มาใช้กับงานฝีมือของไทย คือการนำเรื่องราวมาใส่และใช้เทคโนโลยีเป็นตัวช่วย สิ่งที่วิถีไทยสามารถสร้าง Social Impact ให้ชุมชนคือเรานำเรื่องการออกแบบที่ดีและความรู้ด้านการตลาดเข้าไปใช้ ด้วยงานที่คราฟต์มากๆ เราเติมส่วนของการออกแบบในรูปแบบการนำเสนอหรือแพ็กเกจจิ้งเข้าไปก็จะสามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนและชาวบ้านได้อีกเท่าตัวจากงานชิ้นเดิม

 

 

สำหรับโอกาสจากเอไอเอสสำคัญมาก เพราะเราคือน้องใหม่ที่เกิดมาได้แค่ปีกว่าๆ แต่ได้มีโอกาสได้ไปร่วมงานระดับนานาชาติ ทำให้เราได้ความรู้และประสบการณ์ เราได้เจอทีมที่มีการใช้เทคโนโลยีอย่างจริงจัง มีเทคโนโลยีที่แอดวานซ์มากมายให้เราได้ตื่นตาตื่นใจ และมีการทำธุรกิจที่สร้างสรรค์ สร้างผลกระทบที่ดีให้สังคม ได้ความรู้ด้านการพิทชิงที่ดีที่จะสามารถชนะใจนักลงทุน

 

 

แผนอนาคตสำหรับวิถีไทย เราจะขยายไปจับสินค้าหัตถกรรมให้มากขึ้น ให้เติบโต และทำให้ชุมชนนั้นๆ สามารถมีรายได้และเติบโตได้ด้วยตัวเองอย่างยั่งยืน เราอยากให้แนวคิดที่ดีต่อยอดเป็นธุรกิจหล่อเลี้ยงคนในชุมชนได้จากงานฝีมือที่มีคุณภาพ

 

นี่คือส่วนหนึ่งของการสนับสนุนจาก AIS The StartUp ที่มุ่งหวังให้การพัฒนาเกิดขึ้นในทุกๆ ด้านเพื่อการสร้างพลังที่ยิ่งใหญ่ให้สังคม

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X