รัฐสภาสหราชอาณาจักรเผยเอกสารภายในของเฟซบุ๊กที่เป็นข้อความสื่อสารระหว่างบุคลากรระดับสูงในองค์กรรวมถึงมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก พบให้บริษัทดังอย่าง Netflix, Airbnb และ Lyft เข้าถึงข้อมูลผู้ใช้ ตัดช่องทางการเข้าถึงข้อมูลของบริการ Vine โดยทวิตเตอร์บนเฟซบุ๊ก ด้านมาร์กโต้ไม่เคยขายข้อมูล
กลายเป็นประเด็นฉาวส่งท้ายปีอีกแล้วสำหรับเฟซบุ๊ก เมื่อรัฐสภาสหราชอาณาจักรได้นำเอกสารลับจากถ้อยสนทนาของคนในองค์กรระดับสูง มาเปิดเผยแบบหมดเปลือก โดยเลือกสรุปเป็นประเด็นสำคัญต่างๆ ความยาวรวมกว่า 250 หน้า ใจความหลักๆ อยู่ที่ประเด็นการถูกกล่าวหาว่าให้บริษัทอื่นๆ เข้าถึงข้อมูลผู้ใช้ รวมถึงการตัดช่องน้อยไม่ให้ผู้ใช้แพลตฟอร์มวิดีโอ Vine ของทวิตเตอร์สามารถเชื่อมต่อข้อมูลบนเฟซบุ๊ก
ในเอกสารฉบับนี้ที่จัดทำโดยบริษัท Six4Three ผู้พัฒนาบริการเสิร์ชภาพบิกินีบนเฟซบุ๊กที่เคยมีกรณีฟ้องร้องกับโซเชียลมีเดียรายนี้เมื่อปี 2014 ระบุว่า เฟซบุ๊กได้ทำข้อตกลง ‘White Lists’ ขึ้นมาในช่วงระหว่างปี 2014-2015 เพื่อให้ผู้บริการอย่าง Netflix, Airbnb และ Lyft สามารถเข้าถึงข้อมูลเพื่อนของผู้ใช้ได้เป็นกรณีพิเศษ
เอกสารดังกล่าวได้เปิดเผยข้อความการสื่อสารระหว่างคอนแสตนตินอส พาพาพมิลทิดาส (Konstantinos Papamiltidas) ผู้อำนวยการฝ่ายพันธมิตรแพลตฟอร์มของเฟซบุ๊ก และผู้ให้บริการแอปพลิเคชันรายอื่นๆ โดยลักษณะข้อความส่อเค้าไปในเชิงการยินยอมเปิด API ให้ Netflix, Airbnb และ Lyft เข้าถึงข้อมูลผู้ใช้ได้ผ่านข้อตกลงแบบ White Lists
นอกจากนี้ยังมีเอกสารที่อ้างว่าเป็นอีเมลของมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของเฟซบุ๊กที่เขียนไว้ตั้งแต่เดือนตุลาคมปี 2012 โดยเล็งหาโมเดลธุรกิจที่จะช่วยทำเงินให้บริษัทผ่านการคิดเงินนักพัฒนาต่างๆ ที่ต้องการเข้าถึงข้อมูลผู้ใช้ และเพื่อนของผู้ใช้บนเฟซบุ๊กเป็นจำนวนเงิน 10 เซนต์ต่อปี ส่วนประเด็นการตัดช่องทางเชื่อมต่อข้อมูลเพื่อผู้ใช้จากแพลตฟอร์มวิดีโอ Vine โดยทวิตเตอร์พบว่าเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ในการสกัดกั้นความนิยมของคู่แข่ง
ด้านผู้ถูกกล่าวหาอย่างเฟซบุ๊กออกมาแถลงตอบโต้ในทุกข้อกล่าวหา โดยระบุว่าแพลตฟอร์มของตนไม่เคยขายข้อมูลของผู้ใช้ และเปลี่ยนนโยบายการเข้าถึงข้อมูล API เมื่อปี 2014/2015 ก็เพื่อไม่ให้นักพัฒนาและบริษัทอื่นๆ เข้าถึงข้อมูลส่วนตัวผู้ใช้ได้ ทั้งนี้ข้อตกลง White Lists เป็นแค่การทดสอบฟีเจอร์ใหม่ๆ กับพาร์ตเนอร์บางรายเท่านั้น เพื่อช่วยให้พาร์ตเนอร์สามารถเปลี่ยนผ่านแอปพลิเคชันระหว่างการเปลี่ยนแปลงแพลตฟอร์มจากคอมพิวเตอร์ไปสู่สมาร์ทโฟนแบบไร้รอยต่อ เพื่อป้องกันกรณีแอปฯ เกิดข้อผิดพลาด
สำหรับกรณีที่ถูกกล่าวหาว่าใช้กลยุทธ์เตะตัดขาคู่แข่งเจ้าอื่นๆ พวกเขาเปิดเผยว่าในช่วงเวลาดังกล่าวได้ตัดสินใจจำกัดการสร้างแอปฯ บนเฟซบุ๊กเพื่อให้มั่นใจว่าจะสามารถปกป้องข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ รวมถึงเปิดช่องทางให้บริการที่มีประโยชน์สำหรับชุมชนผู้ใช้เฟซบุ๊กสามารถดำเนินต่อไปได้เท่านั้น ทั้งนี้เฟซบุ๊กได้ยกเลิกนโยบายดังกล่าวไปแล้วเพื่อให้แพลตฟอร์มยังเปิดกว้างสำหรับการพัฒนาของเทคโนโลยีต่างๆ
ขณะที่มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ก็ออกโรงโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กของตน เมื่อช่วงบ่ายของวันพุธที่ 5 เดือนธันวาคมตามเวลาท้องถิ่นเช่นกัน โดยย้อนเล่าไปถึงช่วงเวลาการเปลี่ยนนโยบายการเข้าถึงข้อมูลผู้ใช้ที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2014 เพื่อป้องกันไม่ให้กรณีแอปฯ ทายใจของ Cambridge Analytica เกิดขึ้นซ้ำสอง
ส่วนประเด็นที่ถูกจับตาว่าขายข้อมูลผู้ใช้ให้กับผู้พัฒนาแอปฯ หรือผู้ให้บริการเจ้าอื่นๆ นั้น มาร์กโต้ว่าไม่เป็นความจริง แต่ยอมรับว่ามีการหารือถึงไอเดียโมเดลธุรกิจภายในองค์กรเป็นปกติธรรมดา ซึ่งที่สุดแล้วช่องทางการหาเงินของเฟซบุ๊กก็ยังคงเป็นการขายโฆษณาเหมือนเช่นทุกวันนี้ พร้อมย้ำหนักแน่นว่าเฟซบุ๊กไม่เคยขายข้อมูลผู้ใช้นำเงินเข้ากระเป๋าสตางค์แน่นอน
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง:
- www.theguardian.com/technology/2018/dec/05/facebook-documents-uk-parliament-key-facts
- www.parliament.uk/documents/commons-committees/culture-media-and-sport/Note-by-Chair-and-selected-documents-ordered-from-Six4Three.pdf
- newsroom.fb.com/news/2018/12/response-to-six4three-documents/amp/
- www.facebook.com/zuck/posts/10105559172610321