×

ป้อน ‘ยาขม’ ให้รัฐบาลเพื่อก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 กับณภัทร จาตุศรีพิทักษ์

05.06.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

15 Mins. Read
  • ประเทศไทยประสบปัญหาเชิงโครงสร้างที่บั่นทอนผลิตภาพของทุกภาคเศรษฐกิจมาโดยตลอด อาทิ ปัญหาคอร์รัปชัน ปัญหาการลงทุนในระบบการศึกษาที่ไร้ประสิทธิภาพ ปัญหาคุณภาพแรงงานไทย ซึ่งทำให้ไทยชวดจากการเป็น ‘เสือเศรษฐกิจ’
  • หมดยุคของการใช้ ‘สัญชาตญาณ’ นำหน้านโยบาย การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจในยุคใหม่ควรตั้งอยู่บนหลักฐานที่ชัดเจน วัดผลได้ ทำให้ภาครัฐลงทุนอย่างมีคุณภาพและไม่สิ้นเปลืองงบประมาณจากภาษีประชาชน
  • การพัฒนาคุณภาพของคนจะเป็นตัวช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในระบบเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นการสร้างมูลค่าและยกระดับทักษะของแรงงานไทยในอนาคต ซึ่งระบบอัตโนมัติจะมาทดแทนหลายอาชีพ

     นโยบายไทยแลนด์ 4.0 ยังคงเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันกว้างขวางตั้งแต่แรกคลอดนโยบายมาจนถึงวันนี้ แม้จะยังไม่มีใครเห็น ‘การลงมือ’ หรือ ‘ผลลัพธ์’ ที่เป็นรูปธรรมก็ตาม กลุ่มนักวิชาการชี้ว่ารัฐบาลควรเริ่มแก้ที่อุปสรรคสำคัญเสียก่อน ซึ่งก็คือตัว ‘ระบบข้าราชการ’ มิฉะนั้นแล้วก็ยากที่โมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจนี้จะช่วยพาประเทศให้หลุดพ้นจาก 3 กับดักสำคัญที่ฉุดรั้งการก้าวสู่ ‘ประเทศพัฒนา’ อันได้แก่ กับดักรายได้ปานกลาง กับดักความเหลื่อมล้ำทางสังคม และกับดักความไม่สมดุลในการพัฒนา

     ไทยแลนด์ 4.0 คือโมเดลในการพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาลคสช. ภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่หมายมั่นจะขับเคลื่อนประเทศไปสู่ ‘ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน’ โดยมีดร. สุวิทย์ เมษินทรีย์ เป็นกุนซือนำทัพปรับระบบเศรษฐกิจไทยมามุ่งเน้นการสร้างมูลค่าและขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมให้ก้าวทันโลก

     THE STANDARD ชวน ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ มาร่วมแลกเปลี่ยนทัศนะเกี่ยวกับภาพรวมของนโยบายดังกล่าว ไม่ใช่เพราะว่าเขาเป็นลูกชายคนโตของสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีผู้กุมบังเหียนฝ่ายเศรษฐกิจ แต่ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่ที่สนใจทิศทางการเปลี่ยนแปลงของโลก และกำลังทำงานวิจัยที่ใช้ Big Data พัฒนานโยบายสาธารณะ

     ณภัทรชี้ว่านโยบายนี้มาถูกทางในเชิง ‘คอนเซปต์’ แต่ปัญหาใหญ่ที่รอการแก้ไขยังคงเป็นเรื่องปัญหาเชิงโครงสร้างที่บิดเบือน ขาดการผลักดันพัฒนา ‘คุณภาพของคน’ อย่างจริงจัง ทั้งที่เป็นการลงทุนระยะยาวที่คุ้มค่า

     นี่คือบทสัมภาษณ์ที่แฝงด้วย ‘ยาขม’ ซึ่งแม้แต่ตัวเขาเองก็มองว่าคงไม่มีรัฐบาลไหนโปรดปราน แต่ก็เปรียบเสมือนยาปฏิชีวนะที่จะเสริมภูมิต้านทานก่อนก้าวสู่ภูมิทัศน์ใหม่ทางเศรษฐกิจโลก

ตอนนี้เรายังไม่ได้ขับเคลื่อนเต็มที่ภายใต้ขอบเขตเก่าๆ แบบ 3.0 ด้วยซ้ำ เหมือนกับเสือที่ถูกโซ่ตรวนมาหลายสิบปี คนอื่นเขาเป็น ‘เสือเศรษฐกิจ’ กันไปหมด แต่เราก็ยังไม่ถูก ‘unleash’ สักที

คุณคิดอย่างไรเมื่อได้ยินเรื่องเกี่ยวกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 เป็นครั้งแรก

     นโยบายนี้ชวนให้คิดต่อว่าประเทศไทยที่หลายคนยังรู้สึกว่าเป็น 2.0 หรือ 3.0 อยู่ในหลายๆ ด้านจะสามารถกลายเป็นอะไรได้บ้าง เราจะอัพเกรดไปเป็นเวอร์ชัน 4.0 ได้จริงไหมและด้วยวิธีใด มันไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ในเชิงปฏิบัติ หลายประเทศก็ยังคงลองผิดลองถูกอยู่ แต่ผมก็รู้สึกตื่นเต้นและอยากเห็นประเทศเราเปลี่ยนสถานะไปเป็น ‘ประเทศพัฒนาแล้ว’ สักที

 

คิดว่า ‘ไทยแลนด์ 4.0’ หมายถึงอะไร มีประเด็นไหนบ้างที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

     แม้ว่าจะถูกวิจารณ์ค่อนข้างมาก แต่ผมมองว่านโยบายนี้มาถูกทางแล้ว อย่างน้อยก็ในเชิงคอนเซปต์แบบ high level นะครับ ไม่อย่างนั้นเราจะย่ำอยู่กับที่ไปเรื่อยๆ ผมรู้สึกว่าไทยแลนด์ 4.0 เป็นนโยบายที่พยายามจะขยายขอบเขตในการผลิตที่เป็นไปได้ของระบบเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรทำ แต่ตอนนี้เรายังไม่ได้ขับเคลื่อนเต็มที่ภายใต้ขอบเขตเก่าๆ แบบ 3.0 ด้วยซ้ำ ทั้งที่ประเทศไทยมีศักยภาพไม่น้อยหน้าเพื่อนบ้าน เพียงแต่ระบบหรือการบริหารจัดการมักไม่ค่อยอำนวยให้เราผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดเท่าที่ควร เหมือนกับเสือที่ถูกโซ่ตรวนมาหลายสิบปี คนอื่นเขาเป็น ‘เสือเศรษฐกิจ’ กันไปหมดจนทุกวันนี้ไม่มีใครใช้คำนี้แล้ว แต่เราก็ยังไม่ถูก ‘unleash’ สักที

     เราต้องหาบาลานซ์ว่าจะเอาทรัพยากรรัฐทั้งเงินและเวลาไปอุดหนุนกิจกรรมใหม่ๆ หรือจะเอาไปแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างคาราคาซังที่บั่นทอนผลิตภาพของทุกภาคเศรษฐกิจมายาวนาน เช่น ลุยปรับโครงสร้างที่บิดเบือนในหลายตลาด แก้ปัญหาระบบการศึกษาที่ไม่ค่อยเชื่อมต่อกับตลาดแรงงาน พัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานให้ได้มาตรฐาน หรือปรับระบบแรงจูงใจเพื่อจัดสรรทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งหมดนี้ฟังดูน่าเบื่อ ทำยาก แต่ถ้าทำได้จริง เราจะเพิ่มผลิตภาพได้จากหลายภาคของเศรษฐกิจทั้งเก่าและใหม่โดยที่ไม่ต้องผลิตอะไรใหม่ๆ ด้วยซ้ำไป

 

ประเทศไทยมีความพร้อมมากน้อยแค่ไหนสำหรับไทยแลนด์ 4.0 แล้วอะไรคืออุปสรรคที่แท้จริง

     ที่ได้ยินกันบ่อยๆ คือข้าราชการจำนวนมากยังไม่พร้อมกับการเปลี่ยนแปลง​ แต่ผมมองว่าถึงไม่พร้อมก็ต้องช่วยกันผลักดันและกดดันกันให้พร้อมครับ เพราะมันเป็นก้าวต่อไปที่ควรจะเริ่ม​ทำเมื่อหลายปีมาแล้วด้วยซ้ำ​ ทุกวันนี้สิ่งที่จะเป็นอุปสรรคที่สุดคือคุณภาพของทุนมนุษย์​ในประเทศไทย หรือคุณภาพของคน เพราะมันเป็นส่วนผสมสำคัญในการเพิ่มผลิตภาพในระบบเศรษฐกิจ​ โดยเฉพาะสำหรับ​ value-based economy ที่​เป็นเป้าหมายต่อไปของประเทศไทย การนำเข้านวัตกรรมหรือการนำเทคโนโลยีมาใช้โดยตรง เช่น การติดตั้งระบบคิวออนไลน์ในโรงพยาบาล หรือการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ ไปช่วยเกษตรกรถือเป็นก้าวแรกที่ดีนะครับ ดีกว่าไม่ทำหรือทนกับระบบเดิมๆ มาก แต่​ผมอยากเห็นการผลักดันเพื่อพัฒนาทุนมนุษ​ย์​อย่างจริงจัง​ และทำอย่างมีหลักฐานว่าได้ผลหรือไม่ ไม่ว่าจะผ่านนโยบายการศึกษา​สำหรับเด็กเล็ก การส่งเสริม R&D ในระดับอุดมศึกษา โครงการอบรมเสริมทักษะสำหรับคนวัยทำงานที่อยู่นอกรั้วโรงเรียนแล้ว หรือนโยบายสาธารณสุขสำหรับทุกคน เพราะ​ถ้าทำได้ดี ​การลงทุน​ระยะยาวในจุดนี้มันคุ้มเสียยิ่งกว่าคุ้มครับ

สิ่งที่จะเป็นอุปสรรคที่สุดคือคุณภาพของทุนมนุษย์​ในประเทศไทย หรือคุณภาพของคน เพราะเป็นส่วนผสมสำคัญในการเพิ่มผลิตภาพในระบบเศรษฐกิจ

คุ้มค่าในแง่ไหนบ้าง

     ตอนนี้เมืองไทยกำลังขาดแรงงานที่มีทักษะจำพวก data science โปรแกรมเมอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้าน machine learning หรือ artificial intelligence กระทั่งคนที่เข้าใจการใช้และวิเคราะห์ข้อมูลได้ถูกต้องตามหลักสถิติ ทักษะเหล่านี้จะเป็นตัวเพิ่มมูลค่าของสินค้าและบริการแบบก้าวกระโดด ถ้าเราไม่มีทุนมนุษย์ในสาขาเหล่านี้เพียงพอ ธุรกิจก็จะผลิตของด้วยคุณภาพคนระดับเดิม ไม่ค่อยมีอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาด กลายเป็นว่าใครๆ ก็ผลิตเองได้จนของล้นตลาด จริงๆ ขอแค่เพิ่มคุณภาพคนในมิติหลักๆ เช่น critical thinking ตรรกะพื้นฐาน ความใฝ่รู้ หรือมีความเป็นมืออาชีพ แค่นี้ผลิตภาพของแรงงานไทยก็น่าจะดีขึ้นแล้ว​ การ​ต่อยอดเทคโนโลยีก็จะมีประสิทธิภาพมากขึ้น และน่าจะเป็นตัวช่วยเพิ่มการลงทุนจากภาคเอกชนได้ด้วยโดยไม่เปลืองแรงอุดหนุนจากรัฐ เนื่องจากเขาก็น่าจะได้ผลตอบแทนจากการจ้างแรงงานของเรามากขึ้น

     จริงอยู่ที่การพัฒนาทุนมนุษย์หลายด้านต้องเริ่มตั้งแต่ยังไม่ปฏิสนธิในครรภ์ หรือก่อน 5 ขวบเลยด้วยซ้ำ​ แต่เราก็ต้องเริ่มทำแบบจริงจัง มีหลักฐาน ไม่อย่างนั้นจะต้องรออีกกี่เจเนอเรชั่น จริงไหมครับ แถมประเทศเราก็ไม่ค่อยเปิดใจรับแรงงานต่างชาติด้วย มันไม่มีทางเลือกเท่าไร

 

แต่ท่าทีและการดำเนินงานของรัฐบาลปัจจุบันดูจะสวนทางกันกับนโยบายไทยอยู่ไม่น้อย

     ผมอยากเห็นการริเริ่มในการดำเนินนโยบายแบบ evidence-based และการวัดผลงานการลงทุนของภาครัฐให้ลึกและละเอียดมากกว่า จะได้ไม่สิ้นเปลืองภาษีประชาชน และเป็นการวางรากฐานที่ดีสำหรับอนาคต เพราะว่าหนึ่ง ตั้งแต่ไหนแต่ไรเราดำเนินนโยบายกันแบบใช้สัญชาตญาณนำมากเกินไป ตามสไตล์ ‘ถ้าคิดว่าถูก คิดว่าดี ก็ทำเลย’ ซึ่งถ้าบังเอิญว่าสิ่งที่ผู้นำหรือผู้เชี่ยวชาญคิดมันถูกและดีจริงๆ ก็โชคดีไป แบบนี้พบเห็นได้ในหลายประเทศกำลังพัฒนาในช่วง 20 ปีก่อน แต่ตอนนี้หลายประเทศอย่างอินเดีย อินโดนีเซีย จีน เม็กซิโก โคลอมเบีย กำลังตื่นตัวเรื่องนี้แล้ว เพราะโลกมันซับซ้อนกว่าที่เราเคยคิด โดยเฉพาะเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจหรือการแก้ปัญหาที่​ดูเหมือนง่าย เช่น ปัญหาในระบบการศึกษา เพราะมันเต็มไปด้วยหลุมพรางและบทเรียนที่ว่า ‘สัญชาตญาณบวก ความหวังดี’ ไม่เท่ากับ ‘นโยบายที่ดีที่สุด’ เสมอไป และถึงแม้สัญชาตญาณจะถูก การดำเนินนโยบายในชีวิตจริงจะต้องผ่านอะไรมากมายจนกว่าจะเกิดผลที่ปลายทาง ต่อให้เป็นผู้เชี่ยวชาญระดับโนเบลก็ยากจะการันตีได้ว่านโยบายที่มีหลักการดีจะได้ผลจริงอย่างที่คิด

     สอง ยุค 4.0 ควรจะเป็นยุคที่เศรษฐกิจและสังคมสามารถถูก ‘วัดได้’ มากกว่าเดิม มันไม่มีเหตุผลที่เราจะไม่วัดประสิทธิภาพของนโยบาย เราควรมองการพัฒนาบ้านเมืองจากมุมมองวิทยาศาสตร์ให้มากกว่านี้ ไม่เช่นนั้นมันจะไม่มี accountability อะไรเลย มองไม่เห็นว่าปัญหาอยู่ที่ไหน เมื่อไร กับใคร และจะไม่มีหลักฐานให้เรามองว่าเราจะไปข้างหน้าต่ออย่างไร แล้วก็ไม่มีแรงจูงใจให้รัฐบาลนี้พยายามกันมากขึ้น แต่การเริ่มต้นแนวทางนี้มักจะไม่เห็นผลทันใจ หรือขัดกับอุดมการณ์และนโยบายที่วางไว้ แต่ก็ยังดีกว่าทำไปทั่วประเทศแล้วสิ้นเปลืองงบประมาณ

     สิ่งที่ผมเสนอมันเป็นเหมือน ‘ยาขม’ ที่ไม่ว่ารัฐบาลไหนก็ไม่อยากกินก่อน แต่ถ้ากินแล้วในระยะยาวมันจะช่วยทำให้การลงทุนภาครัฐมีคุณภาพดีขึ้น ถ้าไม่เริ่มวันนี้ผมเกรงว่าจะไม่ได้เริ่มอีกนานเลย

 

คุณพูดถึง Big Data อยู่บ่อยๆ จริงๆ แล้วมันเกี่ยวข้องกับไทยแลนด์ 4.0 ไหม ภาคอุตสาหกรรมใดควรนำมาต่อยอดมากที่สุด

     Big Data ไม่ใช่พระเอกสำหรับไทยแลนด์ 4.0 แต่จะมาเล่นบทพระรองมากกว่า มันเป็นตัวเสริมที่จะเข้ามาช่วยให้หลายๆ อย่างในฉากหลังของนโยบายไทยแลนด์ 4.0 นี้เป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นครับ โดยเฉพาะการเสริมสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน (competitive advantage) แก่ธุรกิจหลากประเภท แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับความสามารถของผู้ประกอบการในการนำคลังข้อมูลเหล่านี้ไปวิเคราะห์ ทดลอง แล้วดึงข้อมูลเชิงลึกที่ถูกต้องออกมา อย่างน้อยที่สุด ธุรกิจยุค 4.0 ควรจะใช้ในเชิงการตลาดได้ ส่วนอุตสาหกรรมที่ได้ประโยชน์มากที่สุดน่าจะเป็นกลุ่มที่มีคลังข้อมูลอยู่แล้วหรือเก็บเพิ่มได้ไม่ยากนัก เช่น ประกันภัย (ข้อมูลพฤติกรรมเสี่ยง) การแพทย์ (genomics) และรีเทล (scanner data) เรียกได้ว่าถ้าจะอยู่รอดในอุตสาหกรรมเหล่านี้ได้ในยุคหน้า แค่ใช้ Big Data เพื่อทำการตลาดคงไม่พอด้วยซ้ำ

โลกมันซับซ้อนกว่าที่เราเคยคิด โดยเฉพาะเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจหรือการแก้ปัญหาที่​ดูเหมือนง่าย เช่น ปัญหาในระบบการศึกษา เพราะมันเต็มไปด้วยหลุมพรางและบทเรียนที่ว่า ‘สัญชาตญาณบวก ความหวังดี’ ไม่เท่ากับ ‘นโยบายที่ดีที่สุด’ เสมอไป

แต่การเปิดเผยข้อมูลของภาครัฐก็สำคัญไม่แพ้กันใช่ไหม

     สำคัญมากครับ การเข้าถึงข้อมูลภาครัฐได้ง่ายและเร็วเป็นสิทธิของประชาชนที่จะทราบว่ากำลังมีอะไรเกิดขึ้นรอบๆ ตัวเขา เช่น สถิติอุบัติเหตุ อาชญากรรมแต่ละประเภท คุณภาพของโรงเรียนแถวบ้าน มลภาวะอากาศ เป็นต้น และรัฐบาลทำงานได้มีประสิทธิภาพแค่ไหน เช่น ความเร็วของการแก้ปัญหาสาธารณะในละแวกบ้านคุณ

     การเปิดข้อมูลให้เห็นกันจะจะ มันเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นและลึกขึ้นระหว่างรัฐบาลกับประชาชน ปฏิสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับประชาชนจะได้เป็นไปอย่างมีหลักฐาน มีที่มาที่ไป เป็นถนนสองทาง ความคิดเห็นของแต่ละฝั่งจะได้ไม่อยู่แค่ความเชื่อหรืออคติเกี่ยวกับอีกฝ่าย เรียกง่ายๆ ก็คือทะเลาะและบ่นกันได้ แต่ต้องมีเหตุผล มีข้อมูล มีหลักฐาน ประชาชนได้ประโยชน์จากข้อมูลและความโปร่งใส ส่วนรัฐบาล (ที่มีความตั้งใจจริง) ก็ได้ประโยชน์จากการมีหลักฐานพิสูจน์ประสิทธิภาพของตนเอง

 

คุณคิดว่าอะไรคือรากฐานสำคัญของการขับเคลื่อนประเทศไทยไปข้างโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งเป็นเป้าหมายของรัฐบาลปัจจุบัน ประเทศไทยมีสิ่งนั้นแล้วหรือยัง

     รากฐานสำคัญของ Inclusive Development คือการมีส่วนร่วมในการพัฒนาโดยคนทุกกลุ่มนะครับ โดยเฉพาะกลุ่มคนชายขอบ นั่นแปลว่าแค่หวังดีไม่พอ ต้องเอาเขามาเป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจด้วย เพราะถ้าไม่รวมพวกเขา นโยบายที่ออกมามันอาจจะไม่สะท้อนความต้องการของเขา แต่เป็นความต้องการของผู้ที่ออกนโยบาย มิหนำซ้ำอาจจะไม่ช่วยให้ความเป็นอยู่เขาดีขึ้นด้วย เพราะคนคิดนโยบายไม่เข้าใจความเป็นอยู่ที่ไม่คุ้นเคย ในเมืองไทยผมคิดว่ายังไม่ค่อยมีรากฐานนี้นะครับ ผมอยู่สหรัฐฯ มาสิบกว่าปี ได้ลิ้มรสชาติของการพัฒนาแบบ ‘ตัวใครตัวมัน’ แบบ made in USA จนเอียน มันเป็นสังคมที่ประหลาดอย่างบอกไม่ถูก ในบางมุมของสังคม ทุกอย่างดีเลิศ ผู้คนยิ้มแย้ม ไร้อาชญากรรม ธุรกิจก็ดี ถ้าเราไปเที่ยวแต่ชุมชนพวกนี้ เราจะมองว่าการพัฒนาของสหรัฐฯ มันดีจริงๆ แต่ถ้าอยู่ต่ออีกหน่อยและไปให้ทั่วจะพบว่าบางชุมชนมันมีปัญหาที่ซีเรียสมากจนไม่แน่ใจว่าเขาอยู่ในประเทศหรือเมืองเดียวกันได้ยังไง เช่น ปัญหายาเสพติด อาชญากรรม และปัญหาความยากจน   

     แต่ที่สำคัญคือมันไม่ได้แค่ทำให้สังคมไม่น่าอยู่ มันเป็นเสี้ยนหนามในการพัฒนาเศรษฐกิจและอาจจะรวมถึงการเมืองด้วย สมัยก่อนนักเศรษฐศาสตร์เชื่อว่าประสิทธิภาพกับความเหลื่อมล้ำมันไปกันคนละทางเสมอ แต่หลังๆ เริ่มมีงานวิจัยออกมาโต้แย้งแล้วว่าไม่จริงเสมอไป เผลอๆ ความเหลื่อมล้ำนี่แหละที่เป็นก้างขวางคอในการพัฒนา

 

จะเกิดอะไรขึ้นถ้าไทยไม่พร้อมเข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ซึ่งเป็นประเด็นสากลโลกในตอนนี้

     ถ้าระบบอัตโนมัติมาเร็วกว่าที่เราพร้อม แรงงานไร้ทักษะ หรือแม้กระทั่งแรงงานที่เราคิดว่าทักษะสูงตอนนี้จะตกที่นั่งลำบาก เพราะจะถูกทดแทนหรือไม่ก็จะถูกแรงกดดันทางค่าจ้างจากแรงงานหุ่นยนต์ที่ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ไม่ขอขึ้นเงินเดือน ไม่ต้องพัก และไม่บ่น ในโลกอนาคตเราต้องการแรงงานที่ยืดหยุ่น ปรับตัวได้ตามเทคโนโลยีที่ปรับเปลี่ยนเร็ว เราไม่ต้องการแรงงานที่ ‘ทำได้อย่างเดียว’ หรือยืนยันจะทำอย่างเดียว ซึ่งเป็นสิ่งที่หุ่นยนต์ถนัด

     บางคนอาจคิดว่าใครจะเป็นยังไงก็ช่าง เราจะผลิตของเราอย่างเดิมต่อไป อันนั้นไม่มีใครว่าครับ แต่ผมคิดว่าในประวัติศาสตร์ แทบจะไม่มีสักครั้งเลยที่จะห้ามมนุษย์ไม่ให้ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ได้ ถ้าเราไม่ใช้มัน คู่แข่งเราก็จะใช้มัน แล้วเราก็จะลำบาก ผมอยากให้ตื่นตัวในเรื่องนี้กันมากขึ้น และเริ่มหาวิธีอยู่กับหุ่นยนต์หรือเริ่มลงทุนกับการพลิกแพลงอาชีพตัวเอง แค่นี้โอกาสรอดคุณก็มากขึ้นแล้วครับ

 

คุณเคยพูดคุยหรือให้คำปรึกษากับคุณพ่อ (สมคิด จาตุศรีพิทักษ์) เกี่ยวกับนโยบายนี้บ้างไหม

     ผมกับคุณพ่อได้คุยกันอยู่เรื่อยๆ ครับ​ ​ได้ยินอะไรใหม่ๆ ก็จะนำมาเล่าให้คุณพ่อฟัง รวมถึงสิ่งที่ชาวบ้านเขาบ่นกันในโลกโซเชียลก็นำมาแชร์ให้ท่านทราบ บางทีมันก็เครียดเหมือนกัน เพราะประเทศเรามีความต้องการที่เหลื่อมล้ำและแตกต่างมากๆ ในแต่ละท้องที่ แต่ละชุมชน บวกกับมีความคาดหวังสูงมากในตัวเลขระยะสั้น 3-4 ตัว การตัดสินใจทำอะไรจึงไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

     ผมกับคุณพ่อไม่ได้เห็นตรงกันทุกเรื่องนะครับ ซึ่งผมมองว่าเป็นเรื่องดี คุณพ่อ​คิดแบบนัก​กลยุทธ์ ​ส่วนผมคิดแบบนักเศรษฐศาสตร์ จึงเป็นธรรมดาที่จะเห็นไม่ตรงกันบ้าง คุณพ่อมีประสบการณ์มากกว่าผม ผ่านอะไรในสังคมไทยมามากกว่า และมองออกว่าอะไรมันต้องทำวันนี้ อะไรมันยังทำไม่ได้​ ส่วนผมมองจากมุมโลกสวยและอยู่ใกล้กับขอบเขตของงานวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์มากกว่า เวลาคุยกันก็เลยได้มุมมองใหม่ๆ ด้วยกันทั้งคู่​ครับ

ความหวังแรกคือผมอยากเห็นคนรุ่นใหม่มีสิทธิมีเสียงมากขึ้นในการขับเคลื่อนประเทศไทย

ในฐานะคนรุ่นใหม่ คุณมองหรือคาดหวังกับอนาคตของประเทศไทยอย่างไรบ้าง

     อนาคตประเทศไทยจะราบรื่นหรือวกวนอยู่กับที่ขึ้นอยู่กับว่าปัญหาการเมืองที่เรื้อรังมายาวนานจะถูกคลี่คลายหรือไม่ ปัจจัยอื่นที่จะมากระทบอนาคตประเทศ ผมคิดว่าเป็นรองมากครับ เพราะผมเชื่อและเห็นงานวิจัยมาพอสมควรว่าประเทศที่เจริญจำเป็นต้องมีรัฐบาลที่มีคุณภาพ ไม่ใช่ว่าปล่อยให้ภาคเอกชนแยกกันทำตามประสา เพราะมนุษย์เป็นสัตว์ที่จัดการกับทรัพยากรส่วนรวมได้แย่มากๆ โดยเฉพาะเรื่องเวลา เพราะมีแต่ผลประโยชน์ส่วนตัวเป็นที่ตั้ง

     ส่วนเรื่องความคาดหวังกับอนาคตของชาติในฐานะคนรุ่นใหม่ ผมมี 3 ความหวังครับ ความหวังแรกคือผมอยากเห็นคนรุ่นใหม่มีสิทธิมีเสียงมากขึ้นในการขับเคลื่อนประเทศไทย ผมไม่อยากให้โซเชียลมีเดียเป็นแค่ ‘ที่ระบาย’ ของคนรุ่นใหม่ มันน่าเสียดาย เพราะคนรุ่นผมหลายคนอยากให้ประเทศเราดีขึ้น และบางคนก็มีข้อเสนอดีๆ ด้วย แต่ไม่เห็นช่องทางว่าไอเดียของเขาจะถูกผู้ใหญ่มองว่าเข้าท่าหรือมีค่า ในมุมกลับกัน อาจเพราะคนรุ่นผมเบื่อหน่ายกับการเมืองจนไม่ต้องการเข้าไปยุ่งด้วย มลทินของคำว่า ‘นักการเมือง’ มันรุนแรงมาก คนรุ่นผมมีอคติมากกับคำนี้ มันทำให้คุณค่าของการรับใช้สังคมน้อยลงไปเยอะเลย จนตอนนี้ผมไม่ค่อยเห็นใครอายุน้อยๆ ใฝ่ฝันอยากจะเข้ารับราชการหรือมีส่วนในภาครัฐแล้ว

     ความหวังที่สองคืออยากให้สังคมเราเห็นคุณค่าของการสร้างและบำรุงสินค้าสาธารณะมากขึ้น เช่น สวนสาธารณะดีๆ ถนนหนทางที่สะอาดตาและปลอดภัย ไม่เป็นหลุมเป็นบ่อ ห้องสมุดดีๆ โรงเรียนรัฐบาลคุณภาพ อากาศสดชื่น และระบบสาธารณสุขที่แฟร์ต่อทั้งผู้ให้บริการและผู้รับบริการ ในโลกข้างหน้า ประเทศหรือเมืองที่มองการณ์ไกลจะต้องแข่งกันด้วย ‘การบำรุงคุณภาพชีวิต’ เพื่อที่จะดึงดูดพลเมืองคุณภาพผู้ที่มีผลิตภาพสูง มีทักษะโดดเด่น และเป็นพลเมืองที่ดี อีกทั้งเพื่อไม่ให้พลเมืองคุณภาพที่มีอยู่แล้วหนีออกไปอยู่ที่อื่น

     ความหวังสุดท้ายคืออยากให้เราเถียงกันด้วยเหตุผลและข้อมูลโดยไร้อคติกันมากกว่านี้ครับ การผลักดันนโยบายระดับประเทศ ไม่ว่าจะเป็นนโยบายการศึกษา นโยบายพลังงาน หรือนโยบายสังคมอื่นๆ นั้นสร้างผลกระทบต่อคนจำนวนมาก แน่นอน มันไม่มีทางทำให้ทุกคนพอใจทั้งหมด แต่การเถียงกันด้วยอารมณ์หรือความเชื่อส่วนตัวมันทำให้ทุกอย่างหยุดชะงัก ซ้ำร้ายบางคนมีอคติมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเหยียดเพศ เหยียดฐานะ เหยียดระดับการศึกษา หรือเหยียดเชื้อชาติ เวลามีอคติแบบนี้ คุยกันยังไงก็ไม่ได้ความครับ

     ผมคงหวังมากไปหน่อย แต่ถ้า 3 อย่างนี้เป็นจริงขึ้นมา อนาคตประเทศไทยจะแข็งแรงและน่าอยู่ขึ้นเยอะครับ

 

อ้างอิง

     – reports.weforum.org/human-capital-report-2016/

FYI
  • ณภัทรอธิบายว่า หลักการของการดำเนินนโยบายแบบมีหลักฐาน (evidence-based policymaking) คือดำเนินนโยบายที่มีหลักฐานว่าเวิร์ก ยกเลิกนโยบายที่มีหลักฐานว่าไม่เวิร์กหรือสิ้นเปลือง โดยหาหลักฐานจากการทดลองจริง หรืออย่างน้อยที่สุดคือจำลองการทดลอง
  • ข้อมูลจาก Human Capital Report 2016 โดย World Economic Forum ระบุว่า ประเทศไทยมีสัดส่วนของแรงงานฝีมือระดับสูงเพียงร้อยละ 14.4 ของกำลังแรงงานทั้งหมด 48,845,000 คน เมื่อเทียบกับสิงคโปร์ที่มีสัดส่วนของแรงงานฝีมือระดับสูงมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลกคือร้อยละ 55
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X