นายชาตรี วัฒนเขจร รองผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร ตรวจการเก็บและบดทำลายกระทงที่ท่าเรือสะพานพระพุทธยอดฟ้า เขตพระนคร
โดยนายชาตรีคาดการณ์ว่าปีนี้ปริมาณกระทงน่าจะเยอะกว่าปีก่อน ซึ่งการจัดเก็บของกรุงเทพมหานครโดยสำนักสิ่งแวดล้อมได้จัดเก็บกระทงบนผิวน้ำตั้งแต่บริเวณสะพานพระราม 7 ไปจนถึงวัดโยธินประดิษฐ์ เขตบางนา รวมระยะทาง 34 กิโลเมตร
แบ่งพื้นที่การจัดเก็บออกเป็น 3 โซน ได้แก่ สะพานพระราม 7 ถึงสะพานพุทธฯ, สะพานพุทธฯ ถึงสะพานกรุงเทพ และสะพานกรุงเทพถึงสุดเขตบางนา โดยใช้กำลังเจ้าหน้าที่ 213 คน พร้อมใช้เรือในการจัดเก็บกระทงและเรือตรวจการจำนวน 40 ลำ
โดยการจัดเก็บกระทงเริ่มตั้งแต่เวลา 20.00 น. ของวันที่ 22 พฤศจิกายน และจะเร่งจัดเก็บให้แล้วเสร็จในทุกพื้นที่ภายในเวลา 06.00 น. ของวันที่ 23 พฤศจิกายน
ส่วนอุปสรรคในการจัดเก็บกระทงยังคงเป็นวัชพืชและขยะตามแม่น้ำ ซึ่งวิธีการจัดเก็บกระทงในแม่น้ำเจ้าพระยา เจ้าหน้าที่ยังคงใช้เรือตรวจการขนาดเล็กในการตักกระทงขึ้นจากผิวน้ำ ก่อนจะลำเลียงมายังเรือบดแยกดังกล่าวเพื่อทำลาย
สำหรับกระทงที่จัดเก็บ เจ้าหน้าที่จะแยกประเภทและนับจำนวนเพื่อเก็บสถิติ ก่อนที่กระทงจากวัสดุธรรมชาติจะถูกนำมาบดทำลายด้วยเรือบดย่อย และส่งต่อเข้าโรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์ (หนองแขม) ส่วนกระทงโฟมจะถูกนำไปฝังกลบเพื่อรอการย่อยสลายต่อไป
ทั้งนี้ จากสถิติในปี 2560 กรุงเทพมหานครจัดเก็บกระทงได้จำนวน 811,915 ใบ เป็นกระทงจากวัสดุธรรมชาติ 760,019 ใบ คิดเป็นร้อยละ 93.6 กระทงโฟม 51,926 ใบ คิดเป็นร้อยละ 6.4 ซึ่งเมื่อเทียบกับปี 2559 พบว่าปริมาณกระทงเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.7 และแนวโน้มปริมาณกระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 ในขณะที่การใช้กระทงโฟมมีปริมาณลดลง เนื่องจากได้มีการประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องให้ประชาชนหันมาใช้กระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติที่ย่อยสลายได้ง่าย