×

เมื่อกีฬาไม่กระชับมิตร คนรุ่นใหม่วงแตก บางส่วนไม่ร่วมกิจกรรม สะท้อนอะไรในการเมือง

22.11.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 MINS READ
  • นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์มองว่า ปรากฏการณ์ทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ผ่านกิจกรรมกระชับมิตร คือภาพสะท้อนจุดยืนทางการเมือง และการรับฟังเสียงจากมวลชนภายใต้เงื่อนไขการบ่มเพาะความขัดแย้งนับทศวรรษ
  • คนรุ่นใหม่พรรคประชาธิปัตย์ยังคงเดินหน้าทำกิจกรรมต่อไป เพราะมีอีกหลายพรรคที่ตอบรับเข้าร่วมงาน หวังสร้างบรรยากาศที่สร้างสรรค์ ยืนยันไม่มีวาระการเมืองแอบแฝง

เทียบเชิญกิจกรรม ‘ไม่ท้าชก แต่ท้าเตะบอล’ จาก New Dem องค์กรที่ก่อรูปโดยคนรุ่นใหม่พรรคประชาธิปัตย์ ถูกส่งไปยัง 7 พรรคการเมือง ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียของกลุ่ม โดยมีเป้าหมายเพื่อชวนทุกพรรคมาเล่นกีฬากระชับมิตรระหว่างพรรคการเมืองก่อนเลือกตั้งปีหน้า

 

หลังการประชุมนัดแรกเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ณ สถานีบีทีเอส ราชเทวี ที่มีตัวแทนคนรุ่นใหม่ 5 พรรคการเมืองเข้าร่วม ได้แก่ ไอติม-พริษฐ์ วัชรสินธุ, ปลื้ม-สุรบถ หลีกภัย, ณัฐภัทร เนียวกุล, พรพรหม วิกิตเศรษฐ์ จากพรรคประชาธิปัตย์, ช่อ-พรรณิการ์ วานิช จากพรรคอนาคตใหม่, เขตรัฐ เหล่าธรรมทัศน์ จากพรรครวมพลังประชาชาติไทย, ชัยนันท์ ขันทะชา จากพรรคชาติพัฒนา และ แบงก์-จิตรภณ ทิพย์โภคาสกุล พรรคภูมิใจไทย

 

 

บทสรุปในวันนั้นมีทั้งเห็นตรงและเห็นต่างในรายละเอียด แต่ที่แจ่มชัดคือ ทุกพรรคต้องการเป็นเจ้าภาพร่วมกัน แต่ทว่ายังไม่ทันข้ามวัน อนาคตใหม่ ประกาศถอนตัวไม่เข้าร่วมกิจกรรมพรรคแรก ตามมาด้วยพรรคอื่นๆ นับเนื่องจนถึงเวลานี้ มี 3 จาก 5 พรรค ได้แก่ อนาคตใหม่, ภูมิใจไทย และรวมพลังประชาชาติไทย ได้ถอนตัวไม่ร่วมกิจกรรมด้วยเหตุผลของตัวเองแล้ว แต่ก็ยังมีพรรคอื่นๆ ที่ตอบรับไม่มีปัญหา เช่น พรรคเกียน, พรรคกลาง และพรรคชาติพัฒนา เป็นต้น

 

ปรากฏการณ์ ‘วงแตก’ ของคนรุ่นใหม่ที่เริ่มต้นจาก New Dem ที่หวังใช้ ‘กีฬา’ เป็นสะพานเชื่อมทุกพรรคมาร่วมกันสร้างบรรยากาศดีๆ ก่อนการเลือกตั้ง กำลังสะท้อนให้เห็นอะไรผ่านกระแสคนรุ่นใหม่ ที่ทุกพรรคล้วนกำหนดชูธงเป็นหัวใจ เป็นจุดขายหลักไม่ต่างกัน

 

 

จุดยืนทางการเมือง เสียงมวลชน ปัจจัยที่ทำให้คนรุ่นใหม่ต้องเลือก

รศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านการเลือกตั้ง อธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นผ่านการติดตามข่าวสารและเหตุผลของทั้งคนร่วมและไม่ร่วมว่า

 

บรรยากาศทางการเมืองในปัจจุบันที่กำลังเดินไปสู่การเลือกตั้ง เป็นการเลือกตั้งที่อยู่บนประเด็นหลักที่ต่อสู้กันเรื่อง ‘จุดยืนทางการเมือง’ ที่เข้มข้น ดังนั้นจุดยืนทางการเมืองของแต่ละพรรคจึงกลายเป็นตัวแปรสำคัญบนเงื่อนไข 2 อย่างคือ

 

  1. ประเทศไทยไม่มีการเลือกตั้งเกือบจะ 8 ปีแล้ว
  2. ความขัดแย้งในสังคมไทยไม่ได้ลดลงเลย แม้ผ่านการรัฐประหารในรอบ 10 ปี มาแล้วถึง 2 ครั้ง

 

“ความขัดแย้งจึงเป็นเหมือนการสะสมอาวุธนิวเคลียร์ไว้ ขณะที่ต้องยอมรับว่าการเลือกตั้งครั้งนี้อยู่บนความจริงที่ว่า เป็นการเลือกว่าจะให้ คสช. อยู่ต่อหรือไม่ นโยบายของพรรคการเมืองไม่ได้เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ เมื่อบวกรวมกติกาที่ยังไม่เปิดโอกาสให้พรรคการเมืองทำเรื่องเหล่านี้ได้ จุดยืนทางการเมืองจึงกลายเป็นจุดที่นำไปสู่ความแตกหักในการตัดสินใจ”

 

รศ.ดร.สิริพรรณ ยังบอกอีกว่า จุดสำคัญที่มีผลต่อการตัดสินใจของแต่ละพรรคคือ ผู้สนับสนุนหรือมวลชนของแต่ละฝั่ง ซึ่งหากติดตามจะพบว่า มวลชนที่สนับสนุนแต่ละฝ่ายก็เรียกร้องให้พรรคที่ตนเองสนับสนุนแนวทางและอุดมการณ์ต้องแสดงจุดยืนต่อเรื่องนี้อย่างชัดเจน ซึ่งพรรคก็ต้องฟังเสียงสมาชิกมาประกอบการตัดสินใจ

 

 

พรรคการเมืองจัดองค์กรไม่ชัดเจน คนรุ่นใหม่ตัดสินใจได้แค่ไหน

อย่างไรก็ตาม กิจกรรมกระชับมิตรระหว่างองค์ทางการเมืองต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น พรรคการเมือง สถาบันทหาร หรือสื่อมวลชน ล้วนเคยดำเนินการผ่าน ‘กีฬา’ มาหลายห้วงบรรยากาศทางการเมือง แต่ภายใต้บรรยากาศปัจจุบันและความว่างเว้นของพรรคการเมืองที่ไม่สามารถทำกิจกรรมทางการเมืองได้

 

รศ.ดร.สิริพรรณ มองว่า นั่นเป็นปัจจัยที่ทำให้พรรคการเมืองไม่สามารถจัดการพรรคได้อย่างชัดเจน ทำให้พรรคการเมืองไม่มีความเข้มแข็ง เกิดการจัดองค์กรแบบ ‘หลวม’ ภาพสะท้อนสำคัญคือความไม่นิ่ง สมาชิกมีการย้ายเข้าย้ายออกอยู่ตลอดเวลา ไม่มีกลไกการตัดสินใจ เมื่อมีกระแสอะไรเกิดขึ้นมา ก็มีการออกมาพูดคนละทีสองที บางครั้งภายใต้ประเด็นเดียวกันก็ไม่มีความเห็นตรงกัน ยิ่งประเด็นที่มีความละเอียดอ่อนยิ่งต้องระมัดระวังในการสื่อสาร บางครั้งการตัดสินใจจึงมาจากแรงกดดัน มากกว่าจุดยืนและทิศทางของพรรค

 

“คำถามสำคัญก็คือ คนรุ่นใหม่เป็นตัวแทนของพรรคหรือไม่ พูดหรือสื่อสารได้มากแค่ไหน การที่คนรุ่นใหม่จัดการเองสามารถทำได้แค่ไหน และในระยะยาวการตัดสินใจจะต้องฟังเสียงจากมติพรรคหรือไม่ นี่ก็เป็นบทพิสูจน์ถึงการสร้างประชาธิปไตยในพรรคเช่นกัน”

 

สุดท้าย รศ.ดร.สิริพรรณ ตั้งข้อสังเกตถึงการจัดกิจกรรมลักษณะนี้ว่า พรรคการเมืองนั้นมีหน้าที่หนึ่งคือ ต้องแสวงหาแนวร่วมเพื่อที่จะดำรงอยู่ จะต้องหาวิธีสร้างพันธมิตรเพื่อแสวงหาความร่วมมือทางการเมืองด้วย การปิดประตูไปทั้งหมดโดยไม่คำนึงถึงกับดักที่ได้ล็อกการเมืองไว้ก็ไม่มีโอกาสที่จะปลดล็อกตัวเองออกมาได้เลย แม้กติกาจะวางไว้แยบยล ก็จะต้องร่วมกันหาทางอันแยบยลเพื่อเดินไปข้างหน้าด้วย

 

 

ประชาธิปัตย์เดินหน้าต่อ เคารพการตัดสินใจของทุกพรรค

แนน-ศิริภา อินทวิเชียร โฆษกกลุ่ม New Dem คนรุ่นใหม่ประชาธิปัตย์ เปิดเผยกับ THE STANDARD ถึงความคืบหน้าของการจัดกิจกรรมกระชับมิตรว่า จนถึงเวลานี้เรายังยืนยันที่จะเดินหน้าทำกิจกรรมต่อไป เพราะต้องให้เกียรติและเคารพการตัดสินใจของพรรคที่พร้อมร่วมกิจกรรมมาตั้งแต่ต้น ซึ่งพรรคที่ตอบรับทำกิจกรรมมีจำนวน 8 พรรค ได้แก่ พรรคประชาธิปัตย์, พรรคชาติพัฒนา, พรรคเสรีรวมไทย, พรรคเกียน, พรรคพลังท้องถิ่นไทย, พรรคกลาง, พรรคภราดรภาพ และพรรคประชาชาติ

 

แนนบอกว่า วันพรุ่งนี้จะมีการเคาะรายละเอียดต่างๆ อีกครั้งหนึ่ง เพราะยังต้องรออีก 2-3 พรรคที่จะคอนเฟิร์มการเข้าร่วมกิจกรรม โดยรูปแบบกิจกรรมอาจจะมีการปรับเปลี่ยน

 

“เราเคารพการตัดสินใจของทุกพรรค แต่ละคนแต่ละพรรคก็มีเหตุผลของตนเอง ขอยืนยันว่าเป็นเรื่องของกีฬา ไม่มีเรื่องการเมืองแต่อย่างใด และการจัดกิจกรรมแบบนี้ก็ทำเป็นปกติในพื้นที่การเมืองทั่วโลก ในต่างประเทศก็เป็นเรื่องการเมืองสร้างสรรค์ และเราก็อยากเห็นบรรยากาศแบบนั้นเกิดขึ้นที่ประเทศของเรา”

 

ขณะที่ สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด หัวหน้าพรรคเกียน เปิดเผยเช่นกันว่า พรรคจะเข้าร่วมกิจกรรมอย่างแน่นอน แต่การที่ต้องหาเงิน 1 หมื่นบาทนั้นอาจจะยากจึงขอใช้ระบบผ่อนจ่าย มองว่ากิจกรรมที่เกิดขึ้นเป็นกิจกรรมที่เหมาะกับพรรคเกียนมาก

 

 

ด้านพรรคเพื่อไทย โดย ตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส ได้ออกมาปฏิเสธการเข้าร่วมกิจกรรม โดยให้เหตุผลเดียวกับที่พรรคอนาคตใหม่ปฏิเสธก็คือ มีการเชิญพรรคที่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจของเผด็จการเข้ามาร่วมกิจกรรมด้วย ซึ่งขัดต่อเจตนารมณ์ในการร่วมกันจัดงาน

 

ส่วนพรรคภูมิใจไทย โดย จิตรภณ ทิพย์โภคาสกุล ก็ได้ออกมาปฏิเสธไม่เข้าร่วม พร้อมให้เหตุผลว่า การร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ถูกนำไปใช้เป็นประเด็นทางการเมือง ซึ่งผิดวัตถุประสงค์หลักจากที่พรรคและตนเองตั้งใจไว้

 

เขตรัฐ เหล่าธรรมทัศน์ จากพรรครวมพลังประชาชาติไทยก็ปฏิเสธเข้าร่วม เนื่องจากมีภารกิจที่ต้องทำตลอดเดือนธันวาคม จึงต้องการจัดลำดับความสำคัญของงานที่ทางพรรครวมพลังประชาชาติไทยกำลังดำเนินอยู่

 

และนี่คือภาพสะท้อนจากนักวิชาการถึงบรรยากาศการทำงานการเมืองของ ‘คนรุ่นใหม่’ ที่หนีไม่พ้นปัจจัยทางการเมือง ขณะที่เหตุผลของแต่ละพรรคล้วนบ่งบอกได้ถึง ‘จุดยืน’ ที่มีต่อมวลชนและอาจส่งผลต่ออนาคตของบรรยากาศการเมืองประเทศไทยในวันข้างหน้าด้วย

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X