เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคมที่ผ่านมา ชาวตุรกีหลายหมื่นคนออกมาเดินขบวนครบรอบ 1 ปีที่กลุ่มต่อต้านรัฐบาลของนายไตยิป แอร์โดกัน (Tayyip Erdogan) ไม่สามารถทำรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลสำเร็จ
ขณะที่เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม หัวหน้าพรรคฝ่ายค้านและประชาชนหลักแสนออกมาเดินขบวนต่อต้านรัฐบาล โดยกล่าวหาว่ารัฐบาลใช้โอกาสในการป้องกันการรัฐประหารเพื่อกวาดล้างคนฝ่ายตรงข้ามจำนวนมาก และแก้ไขรัฐธรรมนูญให้รวมโครงสร้างอำนาจมาไว้ที่ประธานาธิบดี
การเดินขบวนของทั้งสองฝ่ายจึงสะท้อนการเมืองที่แบ่งแยกในตุรกีอย่างเห็นได้ชัด
การกวาดจับคนเห็นต่างของรัฐบาลตุรกี หลังจากพยายามทำรัฐประหาร
ประธานาธิบดีไตยิป แอร์โดกัน กล่าวต่อหน้าชาวตุรกีหลายหมื่นคนที่ออกมาเดินขบวนครบรอบ 1 ปีการทำรัฐประหารไม่สำเร็จว่า
“อย่างแรกเลย เราจะตัดหัวบรรดาผู้ทรยศ”
และยืนยันอีกครั้งว่า เขาจะผ่านร่างกฎหมายฉบับใดก็ตามที่อนุญาตให้มีการ ‘ประหารชีวิต’ คนที่พยายามจะทำรัฐประหารหรือโค่นล้มอำนาจรัฐบาล ซึ่งถ้าหากรัฐบาลตุรกีผ่านกฎหมายฉบับนี้ จะส่งผลให้ตุรกีหมดโอกาสเข้าร่วมเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป
หลังมีการพยายามทำรัฐประหารโค่นล้มอำนาจประธานาธิบดีไตยิป แอร์โดกัน ที่อยู่ในอำนาจมากว่า 15 ปี เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2016 รัฐบาลตุรกีได้บังคับใช้สถานการณ์ฉุกเฉิน และจับกุมประชาชนถึงกว่า 50,000 คน ล่าสุดได้สั่งถอดถอนข้าราชการ ตำรวจ และทหาร ที่รัฐบาลมองว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐบาลอีกมากกว่า 7,000 คน ที่รัฐบาลตั้งข้อสงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับฝ่ายที่ต้องการพยายามจะทำรัฐประหาร
ที่ผ่านมามีประชาชนประมาณ 150,000 คนจากทั้งภาครัฐและเอกชนถูกไล่ออกหรือถูกพักงาน
ประธานาธิบดีไตยิป แอร์โดกัน ถูกชาติตะวันตกและกลุ่มสิทธิมนุษยชนวิพากษ์วิจารณ์ว่า เขาบังคับใช้สถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อกวาดล้างฝ่ายตรงข้าม
หัวหน้าพรรค People’s Democratic Party พรรคการเมืองที่สนับสนุนชาวเคิร์ดของตุรกีถูกรัฐบาลสั่งจำคุก เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานรณรงค์สิทธิมนุษยชนอย่าง Amnesty ถูกรัฐบาลจับกุม เช่นเดียวกับนักข่าวอีกเกือบ 160 คน
สังคมแบ่งแยกของตุรกีที่มีทั้งปัจจัยศาสนาและการเมืองมาเกี่ยวข้อง
รัฐบาลตุรกีประกาศให้วันที่ 15 กรกฎาคมของทุกปีที่การทำรัฐประหารล้มเหลว เป็นวันแห่ง ‘ประชาธิปไตยและเอกภาพของตุรกี’ แต่แท้จริงแล้วการเมืองตุรกีกลับสะท้อนรอยร้าวและความแบ่งแยกชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ
ขณะที่ประชาชนหลายหมื่นคนที่สนับสนุนรัฐบาลออกมาเดินขบวนและเปล่งเสียงพร้อมกันว่า ‘พวกเราเป็นทหารของนายไตยิป’ ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2017 ชาวตุรกีกว่าแสนคนออกมาประท้วงต่อต้านรัฐบาลตุรกีร่วมกับหัวหน้าพรรค Republican People’s Party พรรคฝ่ายค้านของตุรกี หลังจากรัฐบาลตุรกีดำเนินการกวาดล้างและจับกุมประชาชนจำนวนมาก
เคมัล คิลิกดาโรกลู (Kemal Kilicdaroglu) หัวหน้าพรรค Republican People’s Party เดินขบวนจากกรุงอังการาถึงเมืองอิสตันบูลเป็นเวลา 25 วัน เพื่อประท้วงต่อต้านที่รัฐบาลจับกุมนักกฎหมายและเจ้าหน้าที่ต่างๆ ก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตาม สื่อของรัฐบาลตุรกีหลีกเลี่ยงที่จะรายงานการเดินขบวนครั้งนี้ที่มีประชาชนจำนวนมากเข้าร่วมไม่ต่างจากการเดินขบวนของฝ่ายสนับสนุนรัฐบาล
ตั้งแต่ประธานาธิบดีไตยิป แอร์โดกัน อยู่ในอำนาจผ่านตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตั้งแต่ปี 2003 เขาถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าพยายามจะให้ศาสนาอิสลามเข้ามามีบทบาทในการปกครอง โดยในปี 2016 เขาได้กล่าวต่อครอบครัวมุสลิมในประเทศว่าไม่ควรคุมกำเนิดเพื่อเพิ่มทายาทชาวมุสลิม นอกจากนี้เขายังเคยแสดงความเห็นว่า เขาไม่เชื่อว่าผู้หญิงและผู้ชายควรได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม อย่างไรก็ตาม เขายืนยันว่าเขายังสนับสนุนแนวคิดแยกรัฐออกจากศาสนา (Secularism) ที่ตุรกีเริ่มใช้แนวคิดนี้ตั้งแต่ปี 1924 หลังมีการแก้ไขบทรัฐธรรมนูญ ด้วยการยกเลิกการประกาศให้ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาประจำชาติ โดยในรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุดของตุรกีไม่มีการระบุศาสนาใดเป็นศาสนาประจำชาติเช่นกัน ซึ่งกว่า 99% ของชาวตุรกีทั้งหมดนับถือศาสนาอิสลาม
ในปี 2013 ชาวตุรกีจำนวนมากออกมาประท้วงรัฐบาล โดยมีชนวนจากการรื้อถอนสวนเกซี (Gezi Park) ในจัตุรัสทักซิม ที่เป็นสัญลักษณ์ของชาวอิสตันบูลและชาวตุรกีที่มีแนวคิดแยกศาสนาออกจากรัฐ จนนำไปสู่การประท้วงรัฐบาลครั้งใหญ่ที่สุดที่มีประชาชนบาดเจ็บกว่า 5,000 คน และเสียชีวิต 4 คน
ประธานาธิบดีไตยิป แอร์โดกัน กล่าวว่า เขาจำเป็นต้องเปลี่ยนโครงสร้างอำนาจเพื่อป้องกันการรัฐประหาร ขณะที่ฝ่ายค้านมองว่าเขาใช้โอกาสจากการพยายามทำรัฐประหารปีที่แล้วในการเพิ่มขอบเขตอำนาจให้กับตัวเอง
การอยู่ในอำนาจของไตยิป แอร์โดกัน เกินทศวรรษ กับรัฐธรรมนูญที่เพิ่มอำนาจประธานาธิบดี
นอกจากการกวาดล้างประชาชนจำนวนมากหลังจากการพยายามทำรัฐประหารแล้ว รัฐบาลตุรกีได้แก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้อำนาจเต็มที่กับประธานาธิบดี และยกเลิกสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งนับเป็นการเปลี่ยนระบอบการเมืองของตุรกีครั้งใหญ่ที่สุด
โดยรัฐบาลตุรกีได้จัดทำประชามติเพื่อให้ประชาชนลงคะแนนยอมรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2017 โดยผลการลงประชามติออกมาว่า ประชาชน 51.5 เปอร์เซ็นต์ ยอมรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ผลประชามติที่ทิ้งห่างกันเพียงนิดเดียวสะท้อนการเมืองที่แบ่งแยกชัดของตุรกี
ขณะที่ฝ่ายค้านวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการจัดทำประชามติที่ไม่เป็นธรรม และสภายุโรปแสดงความกังวลว่า การเปลี่ยนรัฐธรรมนูญครั้งนี้เป็น ‘ก้าวถอยหลังจากประชาธิปไตยที่อันตราย’
การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้จะเปิดทางให้ประธานาธิบดีมีอำนาจในการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี รองประธานาธิบดี และมีอำนาจทั้งแต่งตั้งและถอดถอนข้าราชการโดยไม่จำเป็นต้องผ่านมติเห็นชอบจากสภา โดยประธานาธิบดีไตยิป แอร์โดกัน กล่าวว่า เขาจำเป็นต้องเปลี่ยนโครงสร้างอำนาจเพื่อป้องกันการรัฐประหาร ขณะที่ฝ่ายค้านมองว่าเขาใช้โอกาสจากการพยายามทำรัฐประหารปีที่แล้วในการเพิ่มขอบเขตอำนาจให้กับตัวเอง
โดยร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้หลังการเลือกตั้งในปี 2019
ประธานาธิบดีไตยิป แอร์โดกัน ก่อตั้งพรรค Justice and Development หรือ AKP ในปี 2001 พรรค AKP คือพรรคแนวอนุรักษ์นิยมที่พัฒนาแนวคิดมาจากอิสลามสายกลาง โดยพรรค AKP ชนะการเลือกตั้งได้ในปี 2002, 2007 และ 2011 ทำให้ประธานาธิบดีไตยิป แอร์โดกันดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตั้งแต่ปี 2003 ถึง 2014 และในปี 2014 ตุรกีได้จัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรงเป็นครั้งแรก ซึ่งเขาลงสมัครและได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี และดำรงตำแหน่งนี้มาจนถึงปัจจุบัน นับเป็นผู้นำที่อยู่ในอำนาจมากกว่าทศวรรษ
การแก้ไขรัฐธรรมนูญและแนวคิดการกลับมาใช้โทษประหารต่อฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลจึงไม่ได้เพียงส่งผลให้การเมืองของตุรกีแตกร้าวมากขึ้น แต่ยังส่งผลต่อการเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปของตุรกี ที่สภาชิกสหภาพยุโรปมองว่ารัฐบาลตุรกีละเมิดหลักสากลเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
อ้างอิง:
- Reuters
- AFP