หลังจากต้นปี 2560 สำนักวิเคราะห์เศรษฐกิจหลายแห่งต่างคาดการณ์ไปในทางเดียวกันว่าปีนี้เศรษฐกิจไทยน่าจะฟื้นตัวเพียงเล็กน้อย อาจเติบโตแค่ร้อยละ 3.3 ทว่าครึ่งปีหลัง ทางอีไอซี (Economic Intelligence Center: EIC) ชี้แจงว่าภาคการส่งออกฟื้นตัวดี เพิ่มขึ้นจาก 1.5 YOY เป็นร้อยละ 3.5 YOY จึงปรับประมาณการเติบโตเศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 3.4 YOY จากเดิม ร้อยละ 3.3 YOY
แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลังจะเป็นอย่างไร อะไรคือประเด็นที่น่าเป็นห่วงและต้องจับตามอง THE STANDARD ได้สรุปประเด็นสำคัญที่ต้องรู้ พร้อมสัมภาษณ์คำต่อคำ กับ ดร. พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้อำนวยการเศรษฐกิจมหภาค อีไอซี ว่ารัฐบาลไทยควรรับมือและป้องกันเศรษฐกิจไทยจากภาวะแห่งความผันผวนไม่แน่นอนอย่างไรบ้าง
GDP ไทยโตตามเศรษฐกิจโลก การส่งออกยังคงเป็นพระเอก
ดร. พชรพจน์ ชี้ว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังค่อนข้างดี ก่อนหน้านี้มองว่านโยบายการค้าสุดโต่งของโดนัลด์ ทรัมป์ อาจฉุดเศรษฐกิจตกต่ำลงทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นการตั้งกำแพงภาษีการค้ากับประเทศจีนหรือเม็กซิโก แต่กลับกลายเป็นว่านโยบายดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นแต่อย่างใด ประกอบกับสภาพเศรษฐกิจของคู่ค้าสำคัญ อันได้แก่ สหรัฐอเมริกา ยุโรป และกลุ่มประเทศ CLMV มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง แม้กระทั่งเศรษฐกิจจีนที่ส่อแววชะลอตัว แต่ล่าสุดก็ยังออกมาประกาศว่า GDP ของจีนโตขึ้นถึงร้อยละ 6.9 ในไตรมาสที่ 2
ทางอีไอซีจึงคาดว่าภาคการส่งออกโดยรวมน่าจะโตขึ้น ส่งผลให้การส่งออกไทยมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 3.5 YOY จากเดิมเพียงร้อยละ 1.5 YOY ทำให้เศรษฐกิจไทยส่อแววสดใสมากขึ้น หลังผ่านพ้นมรสุมในครึ่งปีแรก
อย่างไรก็ดี ดร. พชรพจน์ ชี้แนะว่า ภาครัฐควรมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชัดเจนมากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง เพื่อให้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยดีขึ้นกว่านี้
3 ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตา
อย่างไรก็ดี ดร. พชรพจน์ ชี้ว่าสถานการณ์โดยรวมยังน่าเป็นห่วง เพราะเศรษฐกิจไทยเติบโตไม่ดีเท่าที่ควร แม้ภาคการส่งออกจะฟื้นตัว อีกทั้งมีแนวโน้มเติบโตน้อยลงเรื่อยๆ ที่สำคัญ ตลาดแรงงานยังคงซบเซา พร้อมกับย้ำว่าควรจับตามอง 3 ปัจจัยเสี่ยงในครึ่งปีหลัง ดังนี้
1) การลงทุนภาคเอกชนยังคงหดตัว
เดิมทีเศรษฐกิจไทยเคยพึ่งพาการลงทุนของภาคเอกชน แต่ปัจจุบันการลงทุนของเอกชนกลับไม่โต เพราะยังคงพึ่งพากำลังการผลิตเดิม ธุรกิจส่วนใหญ่ยังไม่จ้างงานเพิ่ม แต่หันไปลงทุนกับการควบรวมซื้อกิจการในประเทศและต่างประเทศมากขึ้น (เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 11 มาเป็นร้อยละ 42 ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา) แทนการลงทุนซื้อเครื่องจักร หรือเปิดโรงงานแห่งใหม่เหมือนในอดีต
ขณะเดียวกัน กำลังซื้อระดับครัวเรือนไทยยังคงชะลอตัว ทั้งจากรายได้คนทั่วไปที่ไม่ได้ปรับตัวขึ้น และรายได้ของเกษตรกรไทยที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในไตรมาสแรกของปี แต่กลับลดลงในไตรมาสที่ 2 ตามทิศทางราคาสินค้าเกษตร และผลกระทบจากตลาดแรงงานที่ยังไม่ฟื้นตัว
2) เงินบาทแข็งค่า เมื่อเทียบกับคู่ค้าบางราย
ค่าเงินบาทไทยปรับตัวลดลงเหลือ 35-35.5 สืบเนื่องจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของทรัมป์ไม่ได้เป็นไปอย่างที่คิด อย่างไรก็ตาม น่ากังวลว่าหากค่าเงินบาทไทยยังแข็งค่าในลักษณะนี้ต่อไป อาจทำให้ไทยเสี่ยงเสียเปรียบในด้านราคา เมื่อเทียบกับประเทศที่ส่งออกสินค้าประเภทเดียวกัน คือ กลุ่มอุปกรณ์สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ยางพารา และข้าว
3) ตลาดการเงินโลกผันผวน เสี่ยงเปราะบาง
แม้ว่าครึ่งปีแรกสถานการณ์เศรษฐกิจโลกจะผ่านพ้นมรสุมมาได้ และเติบโตได้ดีในทุกภูมิภาค แต่ก็ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวัง ธุรกิจไทยจึงจำเป็นที่จะต้องเตรียมตัวรับมือกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นตามมาจากแนวโน้มนโยบายการเงินสหรัฐฯ ที่ตึงตัวมากขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งความไม่แน่นอนในการบริหารและความขัดแย้งในคาบสมุทรเกาหลี ตลอดจนสถานการณ์ความไม่สงบในภูมิภาคตะวันออกกลาง
ทั้งนี้ ธุรกิจไทยควรจับตาเฝ้าระวังผลกระทบจากการส่งออกสินค้าเฉพาะบางกลุ่ม เพราะสหรัฐฯ อาจมีนโยบายตอบโต้หรือมาตรการควบคุมการนำเข้าสินค้าบางกลุ่มที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม และเสียสิทธิประโยชน์ด้านภาษี เช่น กลุ่มสินค้าประเภทกล้องโทรทรรศน์ที่เกินกำหนดโควตา สินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ทางปัญญา และสินค้าที่ลงทุนผิดกฎหมาย เป็นต้น
ทั้งนี้ ดร. พชรพจน์ ได้ร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นความท้าทายใหม่ VUCA (Volatility, Uncertainty, Complexity, and Ambiguity) และอุตสาหกรรมใหม่ที่จะชี้ชะตาอนาคตของเศรษฐกิจไทยดังนี้
คุณคิดว่ารัฐบาลไทยควรจะเตรียมตัวรับมือกับความท้าทายในโลกแห่ง VUCA ได้อย่างไร
เห็นได้ชัดว่าการส่งออกขึ้นอยู่กับวัฏจักรของเศรษฐกิจโลก ตอนนี้ประเทศขนาดใหญ่กำลังฟื้นตัวดีขึ้นพร้อมกัน แน่นอนว่าทุกคนก็ได้รับอานิสงส์จากตรงนี้ เมื่อพื้นฐานทางเศรษฐกิจดำเนินไปในทิศทางบวก แม้ว่าจะมีประเด็นมากวนใจบ้าง อย่างเช่น ประเด็นความขัดแย้งในเกาหลีหรือตะวันออกกลาง แต่มันไม่ได้ทำให้ทุกอย่างหยุดชะงัก ถ้าพื้นฐานเศรษฐกิจยังดีอยู่ ความผันผวน (Volatility) หรือความไม่แน่นอน (Uncertainty) จะถูกกดไว้ไม่ให้กระทบต่อภาพรวมของเศรษฐกิจ เพราะฉะนั้น คำว่า VUCA นี่มันจะมีความสำคัญเพิ่มขึ้นก็ต่อเมื่อภาพรวมเศรษฐกิจมันเปราะบาง ผมว่าสิ่งที่รัฐบาลทำได้ก็คือ สร้างความมั่นใจว่าเศรษฐกิจของเรามีความเปราะบางต่างๆ น้อย ซึ่งนโยบายการคลังของเราก็ดีมาโดยตลอด เรามีหนี้สาธารณะ นโยบายการเงินก็ไม่มีปัญหา แต่สิ่งที่ทำได้เพิ่มเติมคือ ทำอย่างไรให้ภาคเอกชนมีภูมิคุ้มกันที่ดี อย่างเช่น เรื่องของอัตราแลกเปลี่ยนทำอย่างไรให้ธุรกิจไทยมีมาตรการป้องกันความเสี่ยงเป็นกิจลักษณะมากขึ้น
ผมว่ามันอยู่ที่ mindset ของคำว่า VUCA คือรู้ว่ามันมีตลอดเวลา รู้ว่าถ้าเราจะไม่เสี่ยง แล้วเราจะลดความเสี่ยงของตัวเองอย่างไร
จะเกิดอะไรขึ้นถ้าภาคการส่งออกไทยไม่อาจเติบโตไปได้ไกลกว่านี้ เราจะพึ่งพาอะไรได้บ้าง
เราต้องหาการส่งออกใหม่ๆ คืออะไร ซึ่งมันสอดคล้องกับสิ่งที่รัฐบาลกำลังทำ ไม่ว่าจะเป็นโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) หรือว่า New S-Curve หรือธุรกิจใหม่ที่เขาเชิญมา ซึ่งเราก็รอดูกันอยู่ว่ามันจะเกิดขึ้นได้หรือเปล่า และเรียกว่าเป็นทางเลือกเดียวแล้วล่ะครับ เพราะทุกประเทศเขาก็ทำอย่างนั้นหมด ปีนี้บังเอิญโชคดีว่าอุปสงค์ไปโตตรงกลุ่มสินค้าเดิม แต่ถ้าในอนาคตเราก็คงโตลำบาก ทั้งนี้ ผมมองว่าขึ้นอยู่กับความสามารถในการเจรจา เพราะดูจากสถานการณ์ในตอนนี้ แทบทุกประเทศในอาเซียนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าต้องการธุรกิจอุตสาหกรรมสมัยใหม่เข้ามาในประเทศ ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย ประเทศไทยมีเขตเศรษฐกิจอีอีซี เวียดนามก็ประกาศจะสร้างท่าเรือใหม่เช่นเดียวกับพม่า ทุกคนทำเหมือนกันหมด ฉะนั้น ขึ้นอยู่กับว่าแพ็กเกจของใครน่าดึงดูดกว่า และใครเจรจาเก่งกว่า ตรงนี้ผมว่าเป็นเกมที่ไม่มีใครเคยเจอมาก่อนนะครับ เมื่อก่อนคนมักจะพูดแต่ว่าสิงคโปร์แพง (ค่าครองชีพ ค่าจ้างแรงงาน) อินโดนีเซียไม่พร้อม ไทยพร้อมอยู่คนเดียว แต่ตอนนี้ทุกคนก็พร้อมเหมือนกัน
คุณคิดว่าจุดเด่นหรือจุดแข็งของเศรษฐกิจไทยคืออะไร
บ้านเรามีประสบการณ์ทำธุรกิจมา 30 กว่าปี มีเทรนนิง มีระบบพอสมควร อุตสาหกรรมต่อเนื่องก็มีหลายอย่าง ตรงนี้คือจุดขายสำคัญสำหรับประเทศเรา แต่ที่เราต้องเพิ่มจริงๆ คือประเทศไทยมีแรงงานที่ตรงกับความต้องการของตลาดไหม ผมว่ามันไม่ชัด เพราะ 3-4 ปีที่ผ่านมาเรากำลังพูดเรื่องอาชีวศึกษา แต่ปัจจุบันมันใช่หรือเปล่า ยังไม่รู้เลย เพราะถ้าเป็นอุตสาหกรรมสมัยใหม่จริง ก็ไม่แน่ใจว่าอาชีวศึกษาจะตอบโจทย์ไหม เขามีทักษะที่ใช่หรือเปล่า มันไม่เคลียร์ ตรงนี้ก็เป็นโจทย์สำคัญเหมือนกัน อย่างน้อยถ้าเราพอเข้าใจความต้องการของตลาดว่าอยากได้ทักษะแรงงานประมาณไหน และยังสอดคล้องกับที่เราวางนโยบาย มันก็ยังมีโอกาส