“คาดว่าภายใน 3 เดือนจะเป็นรูปธรรมมากขึ้น” คือควาบคืบหน้าล่าสุดกรณีทำบัตรสมาร์ตการ์ดพระสงฆ์แทนใบสุทธิจาก ออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 13 ก.ค. ที่ผ่านมา ภายหลังการประชุมหารือกับมหาเถรสมาคม (มส.)
ขณะเดียวกันออมสินยืนยันว่า จะไม่มีการยกเลิกใบสุทธิ หรือบัตรประจำตัวพระเดิมแต่อย่างใด
ที่ผ่านมา หากไม่นับเรื่องบัตรสมาร์ตการ์ดพระ ก็ยังมีอภิมหาบัตรที่ผ่านหูผ่านตาคนที่ติดตามข่าวอย่าง บัตรคนจน หรือบัตรสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ กระทั่งมาถึงบัตรประจำตัวพระสงฆ์ ที่กำลังเป็นประเด็นในวงการพุทธศาสนาตอนนี้
หวังรวบพระสงฆ์ 298,580 รูปเข้าระบบ
4 กรกฎาคม 2560 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานผลการติดตามการดำเนินงานของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 49/2559 เรื่องมาตรการอุปถัมถ์และคุ้มครองศาสนาต่างๆ ในประเทศไทย ด้วยการให้ทำบัตรประจำตัวพระรูปแบบใหม่ หรือ ‘บัตรสมาร์ตการ์ดพระสงฆ์’ แทนใบสุทธิที่ใช้ในปัจจุบัน ซึ่งจะสามารถบันทึกข้อมูลประวัติของพระภิกษุสงฆ์ทั้งหมด เพื่อให้ง่ายต่อการตรวจสอบพระสงฆ์ที่อาจมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม เพราะที่ผ่านมามีข่าวในทำนองนี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และหนังสือสุทธิก็ถูกปลอมแปลงได้ง่าย
แนวทางหนึ่งที่รัฐบาลเตรียมนำมาใช้คือ การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้สำหรับการจัดทำข้อมูลและเก็บประวัติพระสงฆ์ด้วยการทำบัตรดังกล่าว ซึ่งแนวคิดเบื้องต้นหน้าตาจะคล้ายๆ กับบัตรประจำตัวประชาชนที่ฆราวาสใช้กันอยู่ทั่วไป และจะมี IC Chip หรือหน่วยความจำที่บันทึกข้อมูลสำคัญของพระสงฆ์แต่ละรูป
บัตรสมาร์ตการ์ดพระจะบันทึกข้อมูลสำคัญๆ ของพระสงฆ์แต่ละรูปคือ
– ประวัติส่วนตัว (สถานะเดิม)
– เริ่มบวชเมื่อใด (วันที่อุปสมบท)
– วัดที่จำพรรษา
– ข้อมูลการสอบเปรียญธรรม
– การเลื่อนสมณศักดิ์
– ประวัติอาชญากรรม
– เคยสึก หรือกลับมาบวชอีกหรือไม่
ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้สามารถตรวจสอบประวัติพระรูปนั้นๆ ได้ง่ายขึ้น เนื่องจากใบสุทธิที่ใช้ปัจจุบันนี้เป็นบัตรกระดาษ ไม่สามารถบันทึกข้อมูลเหล่านี้ได้อย่างครบถ้วน โดยเบื้องต้นจะนำมาใช้กับพระชั้นผู้ใหญ่และพระที่บวชมากกว่า 1 ปี
จากรายงานข้อมูลพื้นฐานทางพระพุทธศาสนา ประจําปี 2559 ของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ พบว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีพระสงฆ์ทั้งมหานิกายและธรรมยุต จำนวน 298,580 รูป ซึ่งทั้งหมดในอนาคตจะต้องเข้าสู่ระบบนี้ โดยสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และกระทรวงมหาดไทย เป็นแม่งานหลัก
การจะไปยกเลิกหนังสือสุทธินั้น ไม่เห็นด้วยเลยอย่างยิ่ง ต้องใช้ควบคู่กันไป แถมต้องไปปรับปรุงหนังสือสุทธิให้ดีกว่านี้ด้วย เพราะกระดาษบางมาก เสียหายได้ง่าย
แนะใช้สมาร์ตการ์ดคู่กับหนังสือสุทธิ
ในเรื่องดังกล่าว แม้ฝ่ายรัฐจะเข้ามาเป็นผู้จัดการ โดยผ่านการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งมหาเถรสมาคมแล้วก็ตาม ในส่วนของพระชั้นผู้ใหญ่ อย่าง พระเทพปฏิภาณวาที หรือเจ้าคุณพิพิธ วัดสุทัศนเทพวราราม แสดงความคิดเห็นเรื่องนี้ต่อ THE STANDARD ว่า การทำบัตรสมาร์ตการ์ดของพระนั้น รัฐคงมีเจตนาดีที่จะเข้ามาจัดการให้เกิดประโยชน์ต่อวงการพุทธศาสนา แต่ขณะเดียวกัน ความเข้าใจในเรื่องเหล่านี้ต้องได้รับการอธิบาย
“ปัญหาคือพระที่บวชในช่วงสั้นๆ จะจัดการอย่างไร ให้ใช้หนังสือสุทธิไปก่อนใช่ไหม แล้วรายละเอียดที่ว่าบวช 1 ปีแล้วค่อยมีสมาร์ตการ์ด แสดงว่าก่อนหน้านั้นต้องมีมาตรการเข้ามาดูแลพระด้วย แล้วจะทำอย่างไร”
นอกจากรายละเอียดการตรวจสอบพระที่เป็นข้อกังวลในอนาคตแล้ว เจ้าคุณพิพิธ ยังกังวลว่า บัตรสมาร์ตการ์ดนั้นจะถูกนำไปตรวจสอบอย่างไร ต้องเชิญพระไปยังสถานที่ที่หน่วยราชการมีเครื่องอ่านบัตรใช่หรือไม่ หรือว่าจะมีเครื่องอ่านบัตรให้กับพระในสายปกครอง
“แต่ที่อาตมาคิดว่าน่าจะไปด้วยกันได้คือ การใช้บัตรสมาร์ตการ์ดควบคู่ไปกับหนังสือสุทธิ หรืออาจจะขอแนะนำเพิ่มเติมเหมือนการใช้ระบบตรวจลงตราวีซ่า คือไปเพิ่มหน้าในหนังสือสุทธิที่มันมีหน้าน้อยมาก แล้วเวลาพระบวช หรือย้ายวัด ก็ใช้วิธีเปลี่ยนแปลงประทับตราเอา เหมือนระบบวีซ่า”
ส่วนความกังวลเรื่องคดีความว่าไปทำผิดร้ายแรง มีประวัติอาชญากรรม แล้วจะมาบวชนั้น เจ้าคุณพิพิธมองว่าก็เป็นเรื่องดีที่มีการตรวจสอบ แต่พุทธศาสนาก็พร้อมบวชให้ได้สำหรับผู้ที่กลับตัวกลับใจ
“บัตรประชาชนพระก็ทำได้อยู่แล้ว ทำไมไม่เอาไปเพิ่มรายละเอียดในบัตรประชาชนแทนที่จะมาทำใหม่ให้สิ้นเปลืองงบประมาณ ส่วนการจะไปยกเลิกหนังสือสุทธินั้น ไม่เห็นด้วยเลยอย่างยิ่ง ต้องใช้ควบคู่กันไป แถมต้องไปปรับปรุงหนังสือสุทธิให้ดีกว่านี้ด้วย เพราะกระดาษบางมาก เสียหายได้ง่าย”
รัฐก็เข้ามามอนิเตอร์ มาควบคุมนั่นแหละ แล้วปัญหาพระปลอมที่เข้ามาหาประโยชน์ก็มีเยอะมาก
พระต้องปรับตัวตามโลก รัฐหวังมอนิเตอร์ แต่ต้องน่าไว้ใจ
“ถ้าจะมองก็คือ รัฐก็เข้ามามอนิเตอร์ มาควบคุมนั่นแหละ แล้วปัญหาพระปลอมที่เข้ามาหาประโยชน์ก็มีเยอะมาก และหากสามารถพัฒนาไปถึงขั้นมีแอปฯ ได้ ใส่หมายเลขประจำตัวพระ แล้วข้อมูลขึ้นมาเลยก็จะดีมาก ขณะเดียวกันพระก็อยู่ในโลกสมัยใหม่ ก็ต้องปรับตัวตามโลกในบางเรื่องมากขึ้น”
คือความคิดเห็นจาก รศ. ดนัย ปรีชาเพิ่มประสิทธิ์ อาจารย์ประจำโครงการปริญญาโท สาขาวิชาพุทธศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อถูกถามเกี่ยวกับห้วงเวลาและบริบทสังคมไทยที่มักเกิดคำถามเรื่องความ ‘ไว้วางใจ’ ในเรื่องแบบนี้อยู่มาก
ขณะเดียวกันมีผู้สงสัยไม่น้อยไปกว่ากันว่า นอกเหนือจากความพยายามในการจัดระเบียบพระสงฆ์ด้วยวิธีการนี้ เพื่อให้มีความรอบคอบ รัดกุม หวังป้องกัน ‘มารศาสนา’ เข้ามาหาประโยชน์ในคราบผ้าเหลือง จะมีนัยยะอื่นด้วยหรือไม่
รศ. ดนัย มองเห็นข้อดีของเรื่องนี้เช่นกันว่า การทำบัตรสมาร์ตการ์ดจะช่วยให้ระบบการตรวจสอบคนที่เข้ามาบวชได้ดีมากขึ้น และเคยเสนอในงานวิจัยเมื่อหลายปีมาแล้ว
เมื่อถามถึงนัยยะการควบคุมหรือจัดระเบียบจากรัฐ รศ. ดนัย มองว่าเป็นเรื่องปกติมากในสังคมทั่วไป โดยเฉพาะสังคมบ้านเราที่จะต้องมีการเข้ามาควบคุม หากมองว่าพระคือประชาชนของรัฐ ก็เป็นเรื่องที่ฝ่ายรัฐจะต้องเข้ามาดำเนินการแบบนี้เป็นเรื่องปกติ เพราะลำพังใบสุทธิซึ่งเป็นบัตรกระดาษก็ไม่สามารถระบุข้อมูลหรือรายละเอียดได้มากเท่าบัตรสมาร์ตการ์ด
ด้าน พล.ท. ดร. พงศกร รอดชมภู อดีตนายทหารและอดีตรองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ มองในมิติความมั่นคงว่า เรื่องนี้จะไม่มีปัญหาต่อคำถามเรื่องความ ‘ไว้วางใจ’ หากโครงการลักษณะนี้เกิดขึ้นในบรรยากาศบ้านเมืองประชาธิปไตย พูดง่ายๆ ก็คือคนรู้สึกไว้ใจรัฐมากกว่า ขณะที่มองว่าตัวโครงการนี้โดยเนื้อหาถือว่าเป็นเรื่องดีมาก
ขณะที่ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เคยให้สัมภาษณ์ในเรื่องนี้ยืนยันว่า บัตรสมาร์ตการ์ดของพระจะสามารถรวบรวมข้อมูลต่างๆ ได้ดีกว่าใบสุทธิอย่างแน่นอน เช่น ข้อมูลการสอบเปรียญธรรม หรือกรณีสึกแล้วมาบวชใหม่ รวมถึงการหมดจากความเป็นพระในกรณีอื่นด้วย
จับตาช่องทางคอร์รัปชัน บทเรียนการจัดทำสมาร์ตการ์ดในอดีต
ข้อมูลจากหนังสือ เมนูคอร์รัปชันและการแสวงหาผลประโยชน์ เมื่อปี 2557 ที่เรียบเรียงจากโครงการ ‘คู่มือประชาชนรู้ทันคอร์รัปชันและการแสวงหาผลประโยชน์’ โดยมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ระบุว่า รัฐบาลดำเนินโครงการบัตรประชาชนสมาร์ตการ์ดโดยไม่มีการเตรียมความพร้อมเรื่องระบบข้อมูล จากเดิมที่มุ่งหวังจะใช้บัตรประชาชนสมาร์ตการ์ดเพื่อเก็บข้อมูลต่างๆ ทั้งข้อมูลระบบทะเบียนราษฎร์ ข้อมูลระบบประกันสุขภาพ ข้อมูลระบบประกันสังคม ฯลฯ แต่จากความไม่พร้อมดังกล่าว ทำให้ข้อมูลอื่นๆ นอกจากข้อมูลระบบทะเบียนราษฎร์ไม่ได้ถูกบรรจุลงในบัตร ส่งผลให้บัตรประชาชนสมาร์ตการ์ดไม่สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพตามที่ควรจะเป็น ซึ่งแทบไม่ต่างจากบัตรประชาชนแถบแม่เหล็กแบบเดิมที่มีราคาเพียงใบละประมาณ 15 บาท รวมถึงเรื่องการกำหนดเงื่อนไขการประมูลไว้สูง โดยมิใช่เงื่อนไขด้านเทคนิค ทำให้ผู้เข้าร่วมประมูลมีน้อยราย ขาดการแข่งขันอย่างทั่วถึง
ตัวอย่างเช่น ในช่วงเวลาที่ดำเนินโครงการบัตรประชาชนสมาร์ตการ์ดทั้ง 3 รุ่น ระหว่างปี 2547-2552 กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ต้องจัดซื้อบัตรแถบแม่เหล็กเพื่อใช้ทำบัตรประชาชนอย่างน้อย 21 ล้านใบ คิดเป็นงบประมาณกว่า 320 ล้านบาท
สำหรับโครงการอภิมหาบัตรต่างๆ น่าจะเป็นความท้าทายของรัฐบาลในการจัดการไม่ให้ซ้ำรอยเดิม นับต่อจากนี้อีก 3 เดือน คงจะได้เห็นหน้าตาที่รัฐมนตรีบอกว่าจะเป็นรูปธรรมมากขึ้น
จากนั้นคงต้องมาตรวจสอบ ตั้งคำถามกันอีกที ตามนโยบายการใช้นวัตกรรมของรัฐที่จะนำประเทศไปสู่ไทยแลนด์ 4.0
ตัวอย่างใบสุทธิ
อ้างอิง:
- ใบสุทธิ หมายถึงเอกสารที่แสดงความบริสุทธิ์ของภิกษุสามเณรว่าเป็นภิกษุสามเณรที่ถูกต้องตามพระวินัย เหมือนบัตรประจำตัวประชาชน หากมีลักษณะเล่มขนาดเล็กสำหรับพกติดตัวได้ ในภาษาหนังสือเรียกว่า หนังสือสุทธิ หรือสุทธิบัตร
- ใบสุทธิจะระบุรายละเอียด เช่น ชื่อ นามสกุล วันเดือนปีเกิด สถานที่เกิด นามบิดามารดา วันเดือนปีที่บวช สังกัดที่อยู่ การย้ายสังกัด การเปลี่ยนแปลงชื่อ
- พระอุปัชฌาย์เป็นผู้ออกหนังสือสุทธิให้ มีพระสังฆาธิการระดับเจ้าคณะอำเภอขึ้นไปลงลายมือชื่อและประทับตราประจำตำแหน่งรับรอง