×

ประเทศกูมี…เพลงที่ยุคไหนก็มี

29.10.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

1 Mins. Read
  • เพลงลูกทุ่งในยุคเริ่มแรกเป็นเครื่องมือของคนทั่วไปไว้ใช้สะท้อนภาพความลำบากทุกข์ยากของสังคม
  • เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ทำให้เพลงเพื่อชีวิตกำเนิดขึ้นในสังคมไทย และกลายเป็นเพลงที่มีบทบาทนำในการวิพากษ์สังคม
  • เพลงเพื่อชีวิตถูกทำให้เป็นเพลงเพื่อธุรกิจ เราจึงได้เห็นบทบาทของศิลปินรุ่นใหม่ในการทำเพลงเสียดสีการเมือง

 

 

‘ประเทศกูมี’ คือบทเพลงแนวแรปจากกลุ่มศิลปินที่ใช้ชื่อว่า Rap Against Dictatorship ซึ่งมีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์การเมืองและเสียดสีสังคมกลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมา เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจสั่งตรวจสอบโดยอ้างว่าอาจสุ่มเสี่ยงผิดกฎหมาย

 

พระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ฐานยุยงปลุกปั่น คือฐานความผิดทางกฎหมายที่เจ้าหน้าที่ใช้ในการตรวจสอบเพลงแรปใต้ดินนี้

 

(29 ต.ค. 61) พล.ต.อ. ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้เรียกตำรวจ ปอท. ที่เกี่ยวข้อง ประชุมสอบสวนเพลงดังกล่าวที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

 

โดย พล.ต.อ. ศรีวราห์ กล่าวว่า จากการตรวจสอบเพลง ‘ประเทศกูมี’ ยังไม่พบหลักฐานที่จะเอาผิดได้ เพราะเนื้อหาของเพลงยังไม่มีการระบุวันเวลา สถานที่ อย่างชัดเจน หลังจากนี้ประชาชนยังสามารถฟัง ร้อง และแชร์เพลงนี้ได้

 

อย่างไรก็ตามการตรวจสอบยังคงดำเนินต่อไป รวมทั้งได้สั่งการให้ตำรวจไปตรวจสอบเนื้อหาของเพลงอื่นๆ ที่ทำเลียนแบบ หรือล้อเลียนเพลงนี้ด้วย หากเนื้อหาเกินเลยหรือเข้าข่ายผิดกฎหมายก็จะดำเนินคดี

 

ยืนยันว่า ขณะนี้ยังไม่มีการสั่งการให้เจ้าหน้าที่ออกหมายเรียกหรือเชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องกับเพลงนี้มาสอบสวน โดยหลังจากนี้ประชาชนยังสามารถฟัง ร้อง และแชร์เพลงนี้ได้

 

ทั้งนี้ กลุ่มศิลปิน Rap Against Dictatorship ยังต้องอยู่อย่างหวาดระแวงว่าจะถูกดำเนินคดีหรือไม่ต่อไป โดยล่าสุดทางกลุ่มได้ทำการปิดการแสดงความคิดเห็นในยูทูบของเพลงดังกล่าวตามคำแนะนำของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เนื่องจากคอมเมนต์ในยูทูบอาจเป็นช่องโหว่ให้ถูกโจมตีและดำเนินคดี

 

เพลงลูกทุ่ง จุดกำเนิดบทเพลงสะท้อนสังคม

‘บทเพลง’ เป็นช่องทางสื่อสารความคิด สะท้อนอุดมการณ์ กระทั่งเสียดสีสังคมและผู้มีอำนาจมาช้านานทุกยุคสมัย เฉพาะในสังคมไทยนับย้อนไปไกลถึงช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเพลงลูกทุ่งไทย ซึ่งพัฒนามาจากเพลงไทยสากล

 

หากเพลงไทยสากล หรือเพลงลูกกรุงในยุคนั้นเป็นเครื่องมือผลิตเพลงปลุกใจตอบสนองอำนาจรัฐ

 

เพลงลูกทุ่งในยุคเริ่มแรกก็เป็นเครื่องมือของคนทั่วไปไว้ใช้สะท้อนภาพความลำบากทุกข์ยากของสังคม โดยบทเพลงลูกทุ่งที่มีนัยระบายความทุกข์ยากของคนและพูดถึงชีวิตชนชั้นล่างเพลงแรกคือเพลงของ ‘แสงนภา บุญราศรี’ เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2483 ซึ่งสมัยนั้นถูกเรียกว่า ‘เพลงชีวิต หรือ เพลงตลาด’ ขณะที่ชื่อเรียกเพลงลูกทุ่ง เกิดขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2507

 

จากเพลงเพื่อชีวิต สู่ เพลงเพื่อธุรกิจ

เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ทำให้เพลงเพื่อชีวิตกำเนิดขึ้นในสังคมไทย และได้กลายเป็นเพลงที่มีบทบาทนำในการวิพากษ์สังคม ขณะที่หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เพลงเพื่อชีวิตได้กลายเป็นเพลงป่า หรือ เพลงปฏิวัติ

 

ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการและอดีตแกนนำนักศึกษายุค 6 ตุลาคม 2519 เคยกล่าวว่า แม้แต่เพลง ‘เดือนเพ็ญ’ ซึ่งแต่งโดยนายผี หรือ อัศนี พลจันทร ที่ปัจจุบันเราร้องกันได้อย่างรื่นรมย์ก็เคยเป็นเพลงต้องห้ามของรัฐไทยในยุคนั้น

 

ทั้งนี้เพลงเพื่อชีวิตถูกทำให้เป็นเพลงเพื่อธุรกิจ หลังปี พ.ศ. 2525 เมื่อศิลปินเพื่อชีวิตอย่างคาราวานออกจากป่าคืนสู่เมืองประกอบกับบริบทของสังคมการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้บทบาทการวิพากษ์การเมืองของเพลงเพื่อชีวิตค่อยๆ ลดความเข้มข้นลง

 

ปัจจุบันเราได้เห็นบทบาทของศิลปินรุ่นใหม่ในการทำเพลงเสียดสีการเมือง โดยก่อนปรากฏการณ์เพลง ประเทศกูมี เราได้เห็นศิลปินบนดินกระแสหลักวง Tattoo Colour กับผลงานมิวสิกวิดีโอเพลง ‘เผด็จเกิร์ล’ ที่จิกกัดผู้มีอำนาจปัจจุบันได้อย่างแสบคัน

 

 

บทเพลงวิพากษ์การเมือง วิจารณ์ผู้นำ และเสียดสีสังคม แม้จะแต่งเนื้อร้อง เรียบเรียงทำนองได้ไพเราะแค่ไหน แต่ก็คงไม่เป็นที่ถูกใจของผู้มีอำนาจในยุคนั้นๆ เป็นแน่

 

THE STANDARD รวบรวมบทเพลงเสียดสีผู้มีอำนาจในแต่ละยุค ซึ่งพบว่าศิลปินแต่ละคนล้วนเผชิญชะตากรรมในทำนองคล้ายกัน แต่ลดหลั่นหนักเบากันไปตามยุคสมัยและบริบทสังคมในแต่ละช่วง

 

 

  • ช่วง พ.ศ. 2490 ยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นผู้นำประเทศ ‘เสน่ห์ โกมารชุน’ ผู้แต่งเพลง ‘ผู้แทนควาย’ ถูกพลตำรวจโท เผ่า ศรียานนท์ (ยศในขณะนั้น) เชิญตัวให้ไปพบหลังจากร้องเพลงดังกล่าวที่เวทีละครเฉลิมศรี และถามว่าจะเลือกเสนอผลงานเพลงต่อไปหรือจะเลือกมีชีวิตต่อ ทำให้เสน่ห์ต้องเลิกเขียนเพลงการเมือง และหลังจากนั้นเขาถูกดึงตัวไปเป็นโฆษกพรรคเสรีมนังคศิลา ซึ่งมีจอมพล ป. เป็นหัวหน้าพรรค และพลตำรวจโท เผ่า เป็นเลขาธิการ
  • ช่วง พ.ศ. 2500 ยุคผู้นำ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ มีเพลงการเมืองที่ถูกแต่งโดย ‘ไพบูลย์ บุตรขัน’ และ ‘เสน่ห์ โกมารชุน’ จำนวนมาก อาทิ มนต์การเมือง, สามล้อแค้น, อสูรกินเมือง, ขวานทองของไทย, บ้านผม ผมรัก,ใครค้านท่านฆ่า แต่บทเพลงเหล่านี้ส่วนมากถูกขับร้องถ่ายทอดโดย ‘คำรณ สัมบุญณานนท์’ ซึ่งทำให้เขาถูกจับเข้าคุกหลายหน และถูกแจ้งข้อกล่าวหาว่าเป็นกบฏแผ่นดิน
  • ช่วงยุคผู้นำ พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ปี พ.ศ. 2526 วงคาราบาว ออกอัลบั้มชุด ‘ท.ทหารอดทน’ และบทเพลง ท.ทหารอดทน ถูกหน่วยงานชื่อว่า คณะกรรมการบริหารวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ (กบว.) แบนเพลงนี้ โดยท่อนหนึ่งของเพลงที่ว่า “ดาวเดือนลอยเกลื่อนท้องฟ้ายิงให้ตกลงมาติดบ่าได้สบาย” อาจทำให้ผู้มีอำนาจบางท่านไม่สบายใจ ทำให้ กบว. ประกาศแบนเพลงนี้
  • ช่วงปี พ.ศ. 2531 วงคาราบาว ออกเพลง ‘ชวนป๋วย’ ซึ่งอยู่ในอัลบั้ม ‘สัจจะ 10 ประการ’ โดยเพลงนี้มีเจตนาเสียดสี ชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น และถือเป็นเพลงสุดท้ายของวงคาราบาวที่ถูก ‘กบว.’ แบน เพราะหลังจากนั้น กบว. ก็ถูกยุบหน่วยงาน
  • ขณะที่ปัจจุบัน (พ.ศ. 2561) เจ้าหน้าที่ตำรวจทำการตรวจสอบเพลง ประเทศกูมี ของศิลปินใต้ดินกลุ่ม Rap Against Dictatorship

 

แม้ท่าทีล่าสุดเจ้าหน้าที่รัฐจะส่งสัญญาณถอย หลังถูกกระแสสังคมออนไลน์ส่วนใหญ่กดดันวิพากษ์วิจารณ์ แต่ความกดดันและความรู้สึกถูกคุกคามได้เกิดขึ้นแล้วกับศิลปินเจ้าของผลงาน

 

ภาพประกอบ: Thiencharas W. 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

  • วาทกรรมเพลงเพื่อชีวิตในบริบทการเมืองไทย (พ.ศ. 2525-2550) วิทยานิพนธ์ หลักสูตรปริญญารัฐศาสตรมหาบัณฑิต คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • สาทร ศรีเกตุ บทความภาพสะท้อนและพลังขัดแย้งของกระบวนการเป็นสากลของรัฐในเพลงลูกทุ่งไทยช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ถึงยุคเผด็จการทหาร
  • www.naewna.com/likesara/373271
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X