บนถนนสายธุรกิจที่ทอดยาวมานานกว่า 55 ปีของโตโยต้าในประเทศไทย นอกจากจะมุ่งมั่นสร้างการเติบโตให้กับองค์กรอย่างต่อเนื่องแล้ว สิ่งหนึ่งที่โตโยต้าไม่เคยลืม คือการสร้างการเติบโตให้กับสังคมไทย ภายใต้ปรัชญาการดำเนินธุรกิจของโตโยต้าทั่วโลกที่เชื่อว่า ‘จะต้องส่งเสริมพัฒนาการและสวัสดิการของประเทศ ควบคู่ไปกับการเจริญเติบโตของชุมชนในประเทศที่โตโยต้าเข้าไปดำเนินธุรกิจ’
นั่นจึงเป็นที่มาของแนวคิด ‘โตโยต้า ขับเคลื่อนความสุข’ ที่เริ่มจากการตั้งคำถามง่ายๆ ว่า ความสุขของสังคมเริ่มต้นตรงไหน และสังคมของเราจะมีความสุขที่ยั่งยืนได้อย่างไร
การแบ่งปันที่ดีที่สุดคือการ ‘แบ่งปัญญ์’
หากให้นิยาม ‘ความสุข’ ในความหมายของแต่ละคนคงได้คำตอบที่แตกต่างกันออกไป แต่ในมุมมองของโตโยต้า วุฒิกร สุริยะฉันทนานนท์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด มองว่าความสุขของคนไทยคือการเห็นผู้อื่นมีความสุข
“ความสุขนั้นเกิดได้จากหลายรูปแบบ แต่รูปแบบความสุขที่โตโยต้าเล็งเห็นนั้น คือความสุขที่ยั่งยืน อันเกิดจากการที่เราได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือ หรือสร้างความสุขให้ผู้อื่น และคนเหล่านั้นสามารถส่งต่อความสุขให้กับคนอื่นๆ ต่อไปได้อย่างไม่สิ้นสุด หรือเรียกอีกอย่างว่าเป็นความสุขที่เกิดจาก ‘การแบ่งปัน’
“ในมุมของโตโยต้าเอง เราก็เห็นคุณค่าของการแบ่งปัน แต่เราเชื่อว่าการแบ่งปันที่ดีที่สุดคือการ ‘แบ่งปัญญ์’ หรือการแบ่งปันภูมิปัญญา เราจึงดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมโดยยึดมั่นในแนวทางดังกล่าวมาตลอด เพราะเชื่อว่าจะนำไปสู่ความสุขของสังคมไทยอย่างแท้จริง”
ดังนั้นในรอบหลายปีที่ผ่านมาเราจึงได้เห็นโครงการดีๆ มากมายจากโตโยต้า ที่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนสังคมไทยสู่ ‘ยุคแห่งการพัฒนาอย่างยั่งยืน’ ผ่านการดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมใน 3 ด้าน ได้แก่
- ด้านสังคม: ภายใต้ ‘มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย’ เพื่อส่งเสริมสังคมในด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต ส่งเสริมการดำเนินการขององค์กรสาธารณกุศล และการแบ่งปันโอกาสทางการศึกษาแก่เด็กและเยาวชน
- ด้านสิ่งแวดล้อม: ผ่านโครงการ ‘โตโยต้าเมืองสีเขียว’ ที่มุ่งเน้นในการดำเนินงานภายในองค์กรอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการแบ่งปันองค์ความรู้ด้านสิ่งแวดล้อม ร่วมกับชุมชนเพื่อส่งต่อองค์ความรู้แก่สังคมไทย ผ่านกิจกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่อง
- ด้านเศรษฐกิจ: ผ่านโครงการ ‘โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์’ ที่ว่าด้วยการนำปัจจัยแห่งความสำเร็จ และประสบการณ์ในการทำธุรกิจขององค์กร มาแบ่งปันแก่ธุรกิจชุมชนของไทย เพื่อพัฒนาศักยภาพให้กลายเป็นผู้ประกอบการมืออาชีพ
ซึ่งทั้ง 3 ด้านนี้ ล้วนเป็นการแบ่งปันภูมิปัญญาผ่านการให้โอกาสทางการศึกษา ส่งต่อความรู้ด้านสิ่งแวดล้อม และถ่ายทอดประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งโตโยต้ามองว่าการแบ่งปันทั้งหมดนี้จะนำไปสู่ ‘การแบ่งปันที่ไม่สิ้นสุด’
“เราคาดหวังว่าผู้ที่ได้รับโอกาสทางการศึกษา ความรู้ด้านสิ่งแวดล้อม และประสบการณ์ในการทำธุรกิจ จะนำภูมิปัญญาไปส่งต่อเพื่อสร้างคุณประโยชน์และความสุขแก่ผู้อื่นต่อไป อันจะนำไปสู่ ‘การแบ่งปันที่ไม่สิ้นสุด’” วุฒิกรกล่าว
13,641 ทุนการศึกษา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน
นับตั้งแต่ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2535 ผ่านมา 26 ปีแล้วที่มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทยพยายามสร้างชุมชนและสังคมที่เข้มแข็งบนรากฐานของการศึกษาและการมีชีวิตที่ดี ด้วยการดำเนินงานผ่าน 3 ส่วนคือ การพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็ก เยาวชน และคนพิการ การส่งเสริมการดำเนินงานขององค์กรสาธารณกุศลต่างๆ เพื่อสาธารณประโยชน์ และการส่งเสริมการศึกษาแก่เด็กและเยาวชน
ที่ผ่านมามูลนิธิโตโยต้าฯ มอบทุนสนับสนุนเพื่อส่งเสริมสังคมไทย โดยแบ่งออกเป็น โครงการเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิต จำนวน 9 โครงการ และส่งเสริมการดำเนินการขององค์กรสาธารณกุศลที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของมูลนิธิฯ จำนวน 57 โครงการ
แต่อีกด้านที่มูลนิธิโตโยต้าฯ ให้ความสำคัญเสมอมา คือการส่งเสริมสังคมด้านการศึกษา ที่ตลอด 26 ปีที่ผ่านมาได้สนับสนุนทุนการศึกษาไปแล้วทั้งสิ้น 13,641 ทุน โดยเชื่อว่าท้ายที่สุดโอกาสที่มอบให้จะกลายเป็น ‘การแบ่งปันที่ไม่สิ้นสุด’
“ยกตัวอย่าง ในช่วงปี พ.ศ. 2547 มูลนิธิฯ เล็งเห็นปัญหาด้านคุณภาพชีวิตในบริเวณโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทั้งในด้านสุขอนามัย และด้านโอกาสในการศึกษาของนักเรียนในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ที่ไม่สามารถเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาได้ ด้วยสาเหตุปัจจัยด้านทุนทรัพย์
และโอกาสทางการศึกษา จึงได้ร่วมกับคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในการจัดโครงการทุนการศึกษาเพื่อนักศึกษาพยาบาลศาสตรบัณฑิตจากพื้นที่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์
“เนื่องจากเห็นว่าการแบ่งปันโอกาสแก่เด็กและเยาวชนเหล่านี้ จะเป็นการสร้างบุคลากรด้านการพยาบาล เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตบริเวณโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนได้ในอนาคต จึงดำเนินโครงการ โดยมีเงื่อนไขกับนักเรียนผู้ได้รับทุนว่า ‘หลังจากคุณเรียนจบ คุณต้องนำองค์ความรู้กลับไปพัฒนาพื้นที่ของคุณ’ ซึ่งเป็นแนวคิดที่เราเชื่อว่าจะทำให้เกิดการแบ่งปันที่ไม่สิ้นสุด” ประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานมูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย ฉายภาพของโอกาสที่มูลนิธิโตโยต้าฯ ได้มอบให้กับสังคม
นอกจากนี้ในยุคที่สังคมไทยกำลังจะเปลี่ยนผ่านสู่สังคมผู้สูงอายุในอนาคตอันใกล้ มูลนิธิโตโยต้าฯ ยังเล็งเห็นถึงปัญหาการขาดแคลนบุคลากรด้านการดูแลผู้สูงอายุ และปัญหาเยาวชนที่ถูกละเลยจากพ่อแม่ผู้ปกครองด้วยความจำเป็นทางเศรษฐกิจ เนื่องจากบิดามารดาต้องไปทำงานในเมืองหลวง
จึงเป็นที่มาของนโยบายใหม่เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับปัญหาสังคมสูงวัยและปัญหาเยาวชน โดยร่วมมือกับ ‘สภาการพยาบาล’ เพื่อสนับสนุนทุนการศึกษาพยาบาลสาขาผู้สูงวัย รองรับสังคมสูงวัย และสนับสนุนทุนวิจัยโครงการศูนย์พยาบาลต้นแบบในชุมชน เพื่อลดปัญหาขาดแคลนบุคลากรในการดูแลผู้สูงอายุ และ มูลนิธิหมอเสม พริ้งพวงแก้ว สำหรับทุนพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชน โดยจัดค่ายเยาวชน ให้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ช่วยลดปัญหาความรุนแรงในสังคม
“มูลนิธิฯ หวังว่าทุนดำเนินกิจกรรมนี้ จะเป็นการแบ่งปันโอกาสและภูมิปัญญา ในการสร้างบุคลากรเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการตอบโจทย์ปัญหาสังคม ตลอดจนพัฒนาเยาวชนซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในอนาคต ทั้งนี้ เพื่อเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย และขับเคลื่อนความสุขที่ยั่งยืนแก่สังคมไทยสืบไป” ประธานมูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย กล่าว
จากวิถีโตโยต้า สู่โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์ ยกระดับธุรกิจชุมชนไทยให้ไปได้ไกลกว่า
อีกหนึ่งการ ‘แบ่งปัญญ์’ ที่โตโยต้าให้ความสำคัญ คือการแบ่งปันองค์ความรู้ในการทำธุรกิจของโตโยต้า ได้แก่ วิถีโตโยต้า ระบบการผลิตแบบโตโยต้า และปรัชญาลูกค้าเป็นที่หนึ่ง ซึ่งเป็นแนวคิดที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล มาถ่ายทอดสู่ธุรกิจชุมชนไทยภายใต้โครงการ ‘โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์’ ที่ริเริ่มมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556
แนวคิดของโครงการนี้มีที่มาจากวิสัยทัศน์ของโตโยต้า ที่มองว่าธุรกิจชุมชนเป็นภาคเศรษฐกิจที่มีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ แต่จากสถิติกลับพบว่ามีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่สามารถอยู่ได้ด้วยตัวเองอย่างยั่งยืน เนื่องจากประสบปัญหาในการบริหารจัดการธุรกิจ
ดังนั้นเพื่อสร้างความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจประเทศไทยผ่านการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก โตโยต้าจึงมุ่งถ่ายทอดประสบการณ์ ‘ไคเซ็น’ หรือการปรับปรุงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ที่โตโยต้ายึดถือมาตลอด เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินงานอย่างมืออาชีพ และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง เปรียบเสมือนคำกล่าวที่ว่า ‘ถ้าท่านให้ปลาแก่คนจน เขาจะมีปลากินเพียงแค่วันเดียว แต่ถ้าท่านสอนวิธีจับปลาให้เขา เขาจะมีกินตลอดชีวิต’ โดยแบ่งการดำเนินงานออกเป็น
การแบ่งปันขั้นแรก – โตโยต้าได้ส่งพนักงานเกษียณอายุผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตแบบโตโยต้า โดยร่วมมือกับผู้แทนจำหน่าย ในการดำเนินงานศึกษาปัญหาและปรับปรุงธุรกิจชุมชนต่างๆ รวมถึงถ่ายทอดประสบการณ์ในการทำธุรกิจแก่เจ้าของกิจการและพนักงานทั้งหมด ซึ่งผลลัพธ์ที่จะได้หลังจากการปรับปรุงธุรกิจตามแนวทางโตโยต้า คือต้นทุนที่ลดลง และกำไรที่เพิ่มขึ้น ซึ่งนำไปสู่ การแบ่งปันในขั้นที่สอง – คือความสุขและรายได้ที่เพิ่มขึ้นของพนักงานและคนในชุมชน
การแบ่งปันในขั้นสุดท้าย – เกิดขึ้นเมื่อธุรกิจชุมชมสามารถพัฒนาการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ปรับปรุงธุรกิจได้ด้วยตัวเอง โตโยต้าจะตกลงกับผู้ประกอบการในการยกระดับให้กลายเป็นศูนย์การเรียนรู้ ‘โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์’ เพื่อถ่ายทอดประสบการณ์สู่ธุรกิจชุมชนอื่นๆ ต่อไป
ปัจจุบัน โตโยต้าได้ถ่ายทอดองค์ความรู้แก่ธุรกิจชุมชนแล้วทั้งหมด 12 แห่ง ใน 12 จังหวัด และได้ยกระดับธุรกิจตัดเย็บเสื้อโปโล ฮาร์ทโอทอป จ.กาญจนบุรี และวิสาหกิจชุมชนข้าวแตนสมุนไพรสายทิพย์ จ.ขอนแก่น เป็นศูนย์การเรียนรู้โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์ ลำดับที่ 1 และ 2 ตามลำดับ
ในระยะต่อไปโตโยต้ายังจะขยายโครงการสู่ธุรกิจชุมชนเพิ่มเติมในอีก 10 จังหวัด ควบคู่ไปกับการนำองค์ความรู้และประสบการณ์จากการดำเนินโครงการฯ มาร่วมแบ่งปันเพื่อพัฒนาศักยภาพธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในโครงการประชารัฐ โดยความร่วมมือกับหอการค้าไทย และกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
อีกทั้งยังเตรียมขยายโครงการให้ครอบคลุมทั่วประเทศ และขยายศูนย์การเรียนรู้ให้ครอบคลุมทุกภูมิภาค โดยร่วมมือกับภาครัฐ ชุมชน และผู้แทนจำหน่ายโตโยต้าทั่วประเทศ เพื่อให้เกิดการแบ่งปันที่ไม่สิ้นสุดอย่างแท้จริง
โตโยต้าเมืองสีเขียว เพื่อโลกในอนาคตที่ยั่งยืน
นอกจากจะให้ความสำคัญกับการพัฒนาคนและธุรกิจแล้ว อีกการแบ่งปันที่โตโยต้ามุ่งเน้นคือการแบ่งปันองค์ความรู้ด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้แก่สังคมไทย
กลายเป็นที่มาของ ‘โตโยต้าเมืองสีเขียว’ นโยบายการดำเนินธุรกิจ ด้วยการบริหารจัดการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในทุกกระบวนการทำงาน ตั้งแต่กระบวนการต้นน้ำ ซึ่งหมายถึง การจัดซื้อ การขนส่ง ต่อเนื่องมาถึงกระบวนการกลางน้ำ คือการผลิตในโรงงาน จนถึงปลายน้ำ นั่นคือผู้แทนจำหน่ายโตโยต้า จำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการนำผลิตภัณฑ์มารีไซเคิลหรือกำจัดซากอย่างถูกวิธี
สอดคล้องกับพันธสัญญา ‘Toyota Environmental Challenge 2050’ ที่เป็นความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมของบริษัทโตโยต้าทั่วโลก ในการลดผลกระทบเชิงลบด้านสิ่งแวดล้อมให้เป็นศูนย์ และเพิ่มผลกระทบเชิงบวกเพื่อมุ่งไปสู่การพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน
“กิจกรรมเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของเรา เกิดจากความมุ่งมั่นที่จะผลักดันประเทศไทยสู่การเป็นเมืองสีเขียว เพื่อธรรมชาติ เพื่อทุกชีวิต อย่างแท้จริง เราจึงมุ่งเน้นในการสร้างสรรค์กิจกรรมต่างๆ ที่จะก่อให้เกิดการเรียนรู้ ความเข้าใจ พัฒนาคุณภาพชีวิตด้านสิ่งแวดล้อม ให้คนสามารถอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างยั่งยืน” วุฒิกร สุริยะฉันทนานนท์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ กล่าวถึงนโยบาย ‘โตโยต้า เมืองสีเขียว’ ก่อนจะเสริมว่า
“ตลอดเวลาที่ผ่านมา เราได้แบ่งปันองค์ความรู้ผ่านกิจกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่องเป็นเวลามากกว่า 10 ปี เช่น กิจกรรมปลูกป่าชายเลน เพื่ออนุรักษ์ผืนป่าชายเลนบริเวณสถานตากอากาศบางปู กิจกรรมปลูกป่านิเวศ โดยใช้ ‘หลักการปลูกป่านิเวศอย่างยั่งยืน’ ตามแนวคิดของ ศ.ดร.อาคิระ มิยาวากิ ที่ทำให้ป่าเติบโตเร็วขึ้น 10 เท่าตามวิวัฒนาการธรรมชาติ หรือกิจกรรมลดเมืองร้อนด้วยมือเรา ร่วมกับชุมชนและโรงเรียนทั่วประเทศ ในการดำเนินกิจกรรมเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในพื้นที่ของตน”
นอกจากนี้โตโยต้ายังขยายผลป่านิเวศในโรงงานโตโยต้าบ้านโพธิ์ โดยการเปิด ‘ศูนย์การเรียนรู้ความหลากหลายทางชีวภาพและความยั่งยืน ชีวพนาเวศ’ เมื่อปี พ.ศ. 2559 เพื่อแบ่งปันองค์ความรู้ในเรื่องความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพแก่นักเรียนและผู้สนใจ และในเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้ โตโยต้าจะเปิดตัว ‘โตโยต้าเมืองสีเขียว อยุธยา’ ศูนย์การเรียนรู้แห่งแรกนอกโรงงาน เพื่อขยายองค์ความรู้ด้านสิ่งแวดล้อมสู่สาธารณชนให้มากขึ้นอีกด้วย
โตโยต้าเมืองสีเขียว อยุธยา คือการร่วมมือกับจังหวัดอยุธยา ในการบูรณะเรือนจำเก่า จุดสกัดหัวรอ จังหวัดอยุธยา ให้กลายเป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านสิ่งแวดล้อม ผ่านการนำเสนอองค์ความรู้ด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมของโตโยต้าใน 5 ด้าน ได้แก่ การเพิ่มพื้นที่สีเขียว การอนุรักษ์น้ำ การใช้พลังงานทดแทน การเดินทางอย่างยั่งยืน และการจัดการขยะ นอกจากจะเป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมแล้ว โตโยต้ายังคาดหวังว่า สถานที่แห่งนี้จะเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ที่เชื่อมโยงกับสถานที่ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ของอยุธยา ด้วยรถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก (HA:mo) ในรูปแบบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือ Eco Tourism ซึ่งจะเป็นการพัฒนาคุณภาพการใช้ชีวิตในเมืองร่วมกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน และเป็นการแบ่งปันที่ไม่สิ้นสุด ในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ เมืองสีเขียว…เพื่อธรรมชาติ เพื่อทุกชีวิต ต่อไป
ทั้งหมดนี้คือความพยายามของโตโยต้าในการสร้างสังคมแห่งการแบ่งปัญญ์ไม่สิ้นสุด ด้วยความเชื่อที่ว่า วันหนึ่งผู้ที่เคยได้รับโอกาสจากสิ่งที่โตโยต้ามอบให้ จะกลายเป็นผู้แบ่งปันสิ่งดีๆ สู่สังคมในที่สุด
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์