×

First Man หลุมดำทางจิตวิญญาณ

18.10.2018
  • LOADING...
oscasrs2019

HIGHLIGHTS

4 MINS READ
  • ช่วงที่หนักหนาสาหัสและเคี่ยวกรำความรู้สึกสุดๆ สำหรับ นีล อาร์มสตรอง ตามที่หนังนำเสนอไม่ใช่การรับมือกับความเป็นความตายในห้องนักบิน เพราะว่ากันตามจริง นี่เป็นสิ่งที่เขาเลือกเรียนรู้และฝึกฝนโดยตรงอยู่แล้ว สถานการณ์อันไม่พึงประสงค์จริงๆ ได้แก่ การต้องเผชิญหน้ากับลูกชายทั้ง 2 คนในช่วงก่อนการเดินทางครั้งสำคัญ และบอกความจริงกับพวกเขาว่า นี่เป็นภารกิจที่เสี่ยงอันตราย และบางที ‘พ่ออาจจะไม่ได้กลับมา’
  • นี่เป็นหนังที่บอกเล่าเรื่องราวการเดินทางส่วนบุคคล หรือ Personal Journey ของ นีล อาร์มสตรอง และแทนที่คนทำหนังจะเลือกเฝ้ามองสิ่งที่เกิดขึ้นแบบมีระยะห่างหรือในฐานะบุคคลที่สาม หลายครั้ง คนดูถูกดึงเข้าไปคลุกคลีตีโมงกับตัวละครในระยะประชิด ร่วมรับรู้ความรู้สึกของตัวละคร

หากใครลองตรวจสอบตัวละครเอกในหนังของ เดเมียน ชาเซล สามเรื่องซึ่งเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย อันได้แก่ Whiplash (2014), La La Land (2016) และล่าสุด First Man (2018) ก็คงบอกได้เหมือนๆ กันว่า คนเหล่านี้มีบุคลิกอย่างน้อยประการหนึ่งที่ละม้ายคล้ายคลึง นั่นคือความอุทิศทุ่มเทให้กับอะไรบางอย่างจนไม่อาจถอนตัว หรือบางทีอาจจะเรียกว่าเป็นความหมกมุ่นลุ่มหลงในระดับ ‘ยอมตายถวายชีวิต’ ก็คงไม่ผิดข้อเท็จจริงนัก (การเป็นมือกลองระดับโลก, นักแสดงที่หวังจะได้แจ้งเกิดเต็มตัว, มนุษย์อวกาศที่ขึ้นไปสำรวจดวงจันทร์) และในการวิ่งไล่ไขว่คว้าหาความฝันของคนเหล่านั้น หรือการดิ้นรนเพื่อทำให้เป้าหมายสัมฤทธิ์ผล พวกเขาก็ดูเหมือนยินยอมแลกด้วยราคาค่างวดที่แพงลิบลิ่ว ความรัก ความสัมพันธ์ หรือแม้กระทั่งครอบครัว

 

แน่นอนว่าชื่อของหนังเรื่อง First Man ก็บอกทนโท่ว่าเกี่ยวข้องกับอะไร นักบินอวกาศคนแรกที่ถูกส่งขึ้นไปประทับรอยเท้าบนดวงจันทร์ โดยอัตโนมัติ นี่เป็นเรื่องของใครไม่ได้นอกจาก นีล อาร์มสตรอง กระนั้นก็ตาม การระบุว่า First Man เป็นหนังแนวชีวประวัติ หรือ Biopic ก็คลับคล้ายว่าจะเป็นการลดทอนความซับซ้อน หรือแม้กระทั่งยัดเยียดลักษณะสำเร็จรูปให้กับหนังเกินไป จริงๆ แล้ว ส่วนของความเป็นหนังชีวประวัติ​ อันได้แก่ การบอกเล่าเหตุการณ์สำคัญๆ ในชีวิตของนีล (ช่วงเป็นนักบินทดสอบ, การเข้าร่วมกับโครงการของนาซา, ชีวิตครอบครัวที่ไม่ค่อยราบรื่น, อุปสรรคขวากหนามของปฏิบัติการแต่ละครั้ง ฯลฯ) ก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่คนทำหนังก็เลือกที่จะพาคนดูออกไปจากพื้นที่ที่สุดแสนจำเจและซ้ำซาก

 

หรือพูดง่ายๆ ตามเนื้อผ้าของหนังเรื่อง First Man อาจจะบอกเล่าเรื่องของ นีล อาร์มสตรอง (ไรอัน กอสลิง) และความพยายามของมนุษย์ในการเดินทางไปในห้วงอวกาศที่สุดแสนห่างไกล (ฉากที่หัวหน้าสำนักงานนักบินอวกาศใช้ชอล์กขีดเส้นแสดงระยะห่างระหว่างโลกกับดวงจันทร์บนกระดานดำสองอันต่อกัน บอกอย่างเป็นรูปธรรมถึงความทะเยอทะยานที่น่าตื่นตะลึง) แต่โดยเนื้อแท้จริงๆ หนังของเดเมียน ชาเซล เกี่ยวข้องกับการเดินทางเหมือนกัน แต่เป็นการสัญจรย้อนกลับเข้าไปในห้วงคำนึงของตัวละครที่กล่าวได้ว่า นอกจากการต้องรับมือกับความกดดันที่ถาโถมเข้ามา (ความยากและเสี่ยงอันตรายของแต่ละปฏิบัติการ, แรงกดทับทางการเมือง, การประท้วงเรื่องงบประมาณ, ความขัดแย้งเรื่องสีผิว ฯลฯ) สภาวะข้างในของเขาก็ยังอยู่ในสภาพ ‘ปรักหักพัง’ อันเป็นผลพวงจากการที่ลูกสาวตัวน้อยต้องจบชีวิตด้วยโรคร้ายตั้งแต่ตอนเริ่มต้น และเห็นได้ชัดว่าชายหนุ่มไม่สามารถพาตัวเองก้าวผ่านข้ามพ้นบาดแผลที่อักเสบกลัดหนองนี้ไปได้

 

 

หากจะจำกัดความหนังเรื่อง First Man จริงๆ ก็คงต้องเรียกว่าเป็นหนังแนวศึกษาบุคลิกตัวละคร หรือ Character Study และความท้าทายสำหรับพวกเราคนดู เมื่อประมวลจากสิ่งที่คนทำหนังพยายามถ่ายทอดก็คือ นีล อาร์มสตรอง เป็นคนประเภทยากแท้หยั่งถึง เราอาจจะได้อยู่ในโมเมนต์ที่เขาร้องไห้ตามลำพังในตอนที่คิดถึงลูกสาวผู้วายชนม์ แต่สิ่งที่สรุปได้ก็คือ เขาเป็นคนเก็บงำความรู้สึก ไม่แสดงออกว่าดีใจหรือเสียใจ โกรธหรือเบิกบาน มีความสุขหรือเศร้าอย่างโจ่งแจ้ง ซึ่งว่าไปแล้ว บุคลิกของการเป็นคนที่ครุ่นคิดและสงบนิ่งก็เป็นประโยชน์มากๆ ในตอนที่เจ้าตัวต้องรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินซึ่งเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า และพูดได้ว่ามันมีส่วนช่วยให้เขาและลูกเรือคนอื่นๆ ผ่านช่วงเวลาที่แสนยากลำบากไปได้

 

กลายเป็นว่าช่วงที่หนักหนาสาหัสและเคี่ยวกรำความรู้สึกสุดๆ สำหรับนีล อาร์มสตรอง ตามที่หนังนำเสนอไม่ใช่การรับมือกับความเป็นความตายในห้องนักบิน เพราะว่ากันตามจริง นี่เป็นสิ่งที่เขาเลือก เรียนรู้ และฝึกฝนโดยตรงอยู่แล้ว สถานการณ์อันไม่พึงประสงค์จริงๆ ได้แก่การต้องเผชิญหน้ากับลูกชายทั้งสองคนในช่วงก่อนการเดินทางครั้งสำคัญ และบอกความจริงกับพวกเขาว่านี่เป็นภารกิจที่เสี่ยงอันตราย และบางที ‘พ่ออาจจะไม่ได้กลับมา’  

 

หนังให้เห็นว่า เจเน็ต (แคลร์ ฟอย) ภรรยาของเขาผู้ซึ่งไม่อาจทนกับความนิ่งเฉยและการแสดงออกอย่างห่างเหินของนีลได้อีกต่อไป ต้องเคี่ยวเข็ญให้เกิดบทสนทนาดังกล่าวขึ้นมา และคาดเดาได้ไม่ยากว่านี่เป็นช่วงเวลาที่เปราะบางอ่อนไหว น่าอึดอัดและชวนให้กระอักกระอ่วนสำหรับนีล ผู้ซึ่งในก้นบึ้งของความรู้สึกของเขาเหมือนโดนตัดขาดจากโลกภายนอกมาเนิ่นนาน

 

 

ข้อน่าสังเกตก็คือ หนังของชาเซลไม่ได้นำเสนอตัวละครเจเน็ตในฐานะที่เป็นเพียงแค่เมียนักบินอวกาศผู้ซึ่งต้องกล้ำกลืนฝืนทนและตกอยู่ในภาวะจำยอม บุคลิกอันฉูดฉาดของเธอนอกจากเป็นคู่สีตรงกันข้ามกับนีล เธอยังคงเป็นคนเอาเรื่องเอาราว (และ แคลร์ ฟอย ถ่ายทอดบทบาทที่สมควรแก่ได้ชิงออสการ์สมทบหญิงปีหน้าทุกประการ) อีกทั้งการเดินเรื่องคู่ขนานระหว่างนีลกับเจเน็ตในหลายๆ ช่วงก็ทำให้ First Man เป็น ‘เรื่องของเจเน็ต’ ด้วยเช่นกัน และในขณะที่ช่วงหนึ่งของหนัง เธอเอ่ยกับเมียนักบินอวกาศด้วยกันทำนองว่า เธอปรารถนาที่จะมีชีวิตครอบครัวที่เหมือนคนปกติธรรมดา สิ่งที่พบเจอกลับเป็นทุกสิ่งทุกอย่างที่ตรงกันข้าม และหนังของชาเซลก็พาผู้ชมไปซึมซับความรู้สึกของเจเน็ตที่ต้องอยู่กับความไม่แน่นอน อยู่กับการที่สามีของเธอต้องปฏิบัติภารกิจที่หยอกล้อกับความตาย (วันดีคืนดีเขาก็กลับบ้านในสภาพฟกช้ำดำเขียว) อยู่กับความนึกคิดที่ว่าเธอสามารถจะกลายเป็นม่ายและลูกๆ จะต้องกำพร้าพ่อตลอดเวลา และช่วยไม่ได้ที่ใครจะรู้สึกว่านี่เป็นสถานการณ์ที่เสียสติโดยแท้

 

ฉากที่เธอปึงปังกับ เดค สเลตัน (ไคล์ แชนด์เลอร์) หัวหน้านักบินอวกาศที่สั่งยุติการกระจายเสียงการพูดคุยระหว่างนักบินกับหอบังคับการเนื่องจากปฏิบัติการมีปัญหา ไม่ได้บอกเพียงแค่ความเหลืออดเหลือทนของตัวละคร แต่น่าสงสัยว่าถ้อยคำของเธอที่ตั้งข้อกล่าวหาทุกคนในหอบังคับการทำนองว่า นอกจากพวกเขาควบคุมอะไรไม่ได้เลย ยังอ่อนหัด และทำตัวเป็นเหมือน ‘เด็กเล่นขายของ’ น่าจะเจือปนข้อเท็จจริง

 

หรืออย่างน้อย จากที่หนังของชาเซลให้เงื่อนงำ มันดูประหนึ่งว่าเทคโนโลยีสำหรับการพามนุษย์ไปเดินเล่นบนดวงจันทร์ ณ ห้วงเวลานั้น ยังอยู่ในขั้นที่เรียกว่าลูกผีมากกว่าลูกคน และทุกครั้งที่หนังพาผู้ชมไปอยู่ในห้องนักบิน ณ ห้วงเวลาที่ตัวยานกำลังพุ่งฝ่าแนวต้านของชั้นบรรยากาศออกไปนอกโลก พวกเรารับรู้ได้ถึงเสียงอันอื้ออึงและอาการทุรนทุรายของเครื่องยนต์ และอดรู้สึกไม่ได้ว่าตัวยานสามารถจะแตกออกเป็นเสี่ยงๆ เมื่อไรก็ได้ ฉากดังกล่าวยังสำทับด้วยการใช้ภาพระยะใกล้มากๆ และหลายครั้งเต็มไปด้วยความสั่นไหว ซึ่งก่อให้เกิดภาวะสุดแสนจะทานทนทั้งกับตัวละครและผู้ชม จนน่าสงสัยว่า นี่เรียกว่าความพร้อมหรือความดันทุรังกันแน่

 

ไหนๆ ก็ไหนๆ เบาะแสความไม่เชื่อมั่นศรัทธายังถูกบอกเล่าผ่านฉากที่ผู้อำนวยการศูนย์อวกาศแห่งองค์การนาซา (เซียราน ไฮด์ส) ร่างคำไว้อาลัยแด่การจากไปของนีล อาร์มสตรองและเพื่อนนักบินอีกสองคนล่วงหน้า นั่นยิ่งทำให้ประโยคเกรี้ยวกราดของเจเน็ตเพิ่มดีกรีของความเอคโค

 

 

แต่ก็อีกนั่นแหละ นี่เป็นหนังที่ผู้ชมรู้ตอนจบอยู่ก่อนแล้ว และพูดได้ว่าเงื่อนไขดังกล่าวกำหนดแท็กติกและกลวิธีในการนำเสนอโดยปริยาย หรืออย่างที่ระบุข้างต้น นี่เป็นหนังที่บอกเล่าเรื่องราวการเดินทางส่วนบุคคล หรือ Personal Journey ของนีล อาร์มสตรอง และแทนที่คนทำหนังจะเลือกเฝ้ามองสิ่งที่เกิดขึ้นแบบมีระยะห่างหรือในฐานะบุคคลที่สาม หลายครั้ง คนดูถูกดึงเข้าไปคลุกคลีตีโมงกับตัวละครในระยะประชิด ร่วมรับรู้ความรู้สึกของตัวละคร อีกทั้งการเคลื่อนกล้องแบบแฮนด์เฮลด์ที่ส่ายไปมาตลอดเวลาโดยเฉพาะฉากครอบครัว ก็ให้ความรู้สึกเหมือนภาพจากหนังบ้านหรือ Home Movie และกลายเป็นโมเมนต์ส่วนตัวของตัวละคร (แต่น่าเชื่อว่า ผู้ชมจำนวนไม่น้อยจะรู้สึกว่า วิธีการของชาเซลหนักข้อเกินไป) ยังไงก็ตาม ช็อตหนึ่งที่โดดเด่นมากๆ และชักชวนคนดูไปเกี่ยวข้องกับตัวละครอย่างถึงที่สุด ได้แก่ ตอนที่นีลตัดสินใจดีดตัวออกจากยานซิมมูเลเตอร์ก่อนที่มันจะโหม่งโลกจนกระทั่งไฟลุกโชติช่วง และคนทำหนังเลือกที่จะถ่ายทอดฉากดังกล่าวผ่านมุมมองแทนสายตาตัวละคร ซึ่งนั่นแปลว่า เราได้เห็นเฉพาะขาสองข้างของนีลลอยเท้งเต้งกลางอากาศนั่นเอง

 

หากจะต้องสรุปคุณค่าของหนังเรื่อง First Man ในสองสามบรรทัด ก็คงต้องบอกว่า นี่เป็นผลงานที่ประณีต พิถีพิถัน ทรงคุณค่า น่าจดจำ ให้ความรู้สึกเป็นส่วนตัว สามารถจำลองช่วงเวลาแห่งความวุ่นวายยุ่งเหยิงได้เต็มเปี่ยมไปด้วยชีวิตชีวา และเป็นไปได้ว่าหนึ่งในความหมายสำคัญที่หนังของชาเซลละทิ้งไว้ในห้วงคำนึงของคนดูก็คือ ครั้งต่อไปที่ใครก็ตามแหงนหน้ามองดวงจันทร์ซึ่งอยู่ห่างไกลออกไปสองแสนห้าหมื่นไมล์ สิ่งที่เราควรค้นหาให้เจอก็คือตัวเอง

 

First Man (2018)

กำกับ: เดเมียน ชาเซล

ผู้แสดง: ไรอัน กอสลิง, แคลร์ ฟอย, เซียราน ไฮด์ส, เจสัน คลาร์ก ฯลฯ

ตัวอย่างภาพยนตร์ 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising