#เบื่อโลก #เบื่อพ่อ #เบื่อแม่ #เบื่อครอบครัว #เบื่อบ้าน #บ้านแตก #บ้านไม่น่าอยู่ #ครอบครัวมีปัญหา #อยากหนีออกจากบ้าน #อยากอยู่หอ #พ่อแม่ไม่เข้าใจ #พ่อแม่รังแกฉัน #เพราะเป็นวัยรุ่นจึงเจ็บปวด #อยากใช้ชีวิตของตัวเอง #ไม่เคยเข้าใจ #ช่องว่างระหว่างวัย #กว่าจะรู้ก็สายเสียแล้ว
เพียงแค่อ่านก็รู้สึกน่าเศร้า แต่นี่เป็นแฮชแท็กที่เกิดขึ้นจริงในโลกทวิตเตอร์ (Twitter) โลกโซเชียลที่มีประชากรวัยรุ่นยึดครองอยู่เต็มจักรวาลสีฟ้า แฮชแท็กทั้งหลายที่เรียงร้อยกันเหล่านั้นสะท้อนเป็นฉากปัญหาสังคมที่มีเรื่องของเทคโนโลยีและ ‘ช่องว่างระหว่างวัย’ เข้ามาพัวพัน ส่งผลกระทบให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวคนไทยเริ่มถ่างกว้างออกไปเรื่อยๆ จนน่าเป็นห่วง
ตัวเลขที่น่าสนใจจากการสำรวจพฤติกรรมคนท่องโลกออนไลน์ทั่วโลกบอกว่า คนไทยในยุค 4.0 มีชีวิตผูกติดอยู่ในโลกอินเทอร์เน็ตกว่า 9-10 ชั่วโมง และใช้สมาร์ทโฟนทัวร์โลกโซเชียลนานกว่า 4 ชั่วโมง ซึ่งทั้ง 2 สถิตินี้คนไทยครองแชมป์!
และถ้าจะตอกย้ำการรุกคืบของอินเทอร์เน็ตให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ก็คงต้องยอมรับความจริงว่า 24 ชั่วโมงของเราทุกวันนี้หมดเปลืองในโลกเครือข่ายมากกว่า หรืออาจพอๆ กับโลกแห่งการทำงานไปแล้ว นอกเหนือจากนั้นก็เป็นเวลาของการดูทีวี ที่หมายรวมถึงการดูทีวีรูปแบบเก่าๆ คือกดรีโมตเปลี่ยนช่องไปเรื่อยๆ การดูรายการย้อนหลัง และการดูสตรีมมิง อีกประมาณไม่ต่ำกว่า 4 ชั่วโมง แล้วก็นอนหลับ ซึ่งโดยมากจะอยู่ในราว 6-8 ชั่วโมง เหลืออีกประมาณ 4 ชั่วโมงใช้ไปกับท้องถนนบ้าง ช้อปปิ้งบ้าง กินอาหารบ้าง หากแต่เวลาที่จะให้ความรักความอบอุ่นกับคนใกล้ตัวนั้นกลับค่อยๆ ถูกลดทอนลงไปจนเหมือนจะกลายเป็นความเคยชิน
นี่ไม่ควรเป็นเรื่องปกติ
Like: เพราะโลกออนไลน์เป็นทุกอย่างให้เรา
เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตทำให้ชีวิตของเราดีขึ้น นี่คือความจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้ โดยมีความดีความชอบอยู่มากมาย ทั้งช่วยละลายพรมแดนของโลกในยุคนี้ให้เป็นหนึ่งเดียวด้วยการติดต่อสื่อสารรูปแบบต่างๆ ที่สะดวกรวดเร็ว ทันเวลาทุกสถานการณ์ เป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ ช่วยเหลือ แก้ปัญหาหลายๆ อย่างในชีวิต ทำให้ต่างคนต่างเข้าใจโลกและเข้าใจคนอื่นได้มากขึ้น ที่โดดเด่นคือ โลกโซเชียลช่วยต่อยอดความสามารถของคนรุ่นใหม่ให้เป็นที่ประจักษ์ในวงกว้าง เห็นได้จากอาชีพสายพันธุ์ดิจิทัลอย่าง บล็อกเกอร์, อินฟลูเอนเซอร์, เน็ตไอดอล, Vlog ฯลฯ ซึ่งเป็นอาชีพยอดนิยมของคนยุคใหม่ ล้วนบ่มเพาะมาจากโลกออนไลน์แทบทั้งสิ้น
อะไรๆ ก็ดูเหมือนจะดีไปหมด ทว่าผลลัพธ์ของความทันสมัยดันทำให้เกิดกำแพงแห่งความเหินห่างทางความสัมพันธ์ นำมาสู่ปัญหา ‘ช่องว่างระหว่างวัย’ ปัญหาใหญ่ของสังคมไทยอย่างไม่อาจเลี่ยงได้
Comment: ออนไลน์ จนลืม ออฟไลน์ ไปหรือเปล่า
จากผลสำรวจหลายสำนักมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า กลุ่มคนรุ่นใหม่อย่าง Gen Y และ Gen Z คือประชากรส่วนใหญ่ในโลกดิจิทัล สำหรับเหล่าวัยรุ่น พวกเขาเติบโตมากับโซเชียลเน็ตเวิร์กที่ขัดเกลาให้มี ‘ความเป็นตัวของตัวเองสูง’ โดยนิยมใช้พื้นที่ดังกล่าวในการแสดงออกทางทัศนคติและตัวตน โดยมีผลสำรวจออกมาว่า ชาว Netizen เหล่านี้มักเผาเวลาในโลกออนไลน์ไปกับเรื่องบันเทิงมากที่สุด เมื่อเสพติดความบันเทิงในโลกไซเบอร์ ก็ไม่แปลกที่จะเข้าใจว่าสิ่งนั้นเพลิดเพลิน สนุก มีความน่าตื่นเต้นเร้าใจให้ค้นพบ จนไม่อยากปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ขณะเดียวกันคนรุ่นโตๆ ก็ไม่อาจต้านทานอิทธิพลของโซเชียลเน็ตเวิร์กได้ แล้วก็ยังไม่มีคู่มือเล่มใดที่จะช่วยชี้แนะทักษะการบริหารสมดุลในการรักษาระยะห่างระหว่างโลกออนไลน์และความสัมพันธ์กับคนใกล้ตัว นอกจากแต่ละคนจะเรียนรู้ด้วยตัวเองด้วยความเท่าทัน
แต่ถ้าความรู้เท่าทันนั้นได้ประสิทธิผลจริงในระดับสังคม คงจะไม่มีภาพที่ฟ้องถึงการติดแฮชแท็ก #เบื่อพ่อแม่ กว่า 18,000 ครั้งบนทวิตเตอร์ ซึ่งน่าหดหู่ และเมื่อมองไปยังช่องว่าง ภาพที่เคยเห็นบ่อยครั้ง (แต่ไม่อยากชินตา) จึงย้อนกลับมาฉายชัด ย้ำรอยแผลแห่งระยะห่างระหว่างวัยซ้ำแล้วซ้ำเล่า
สิ่งที่เห็นก็คือ การพูดคุยกันผ่านตัวอักษรมากกว่าการนั่งมองตาพูดคุยกัน ทั้งที่อยู่ในสถานที่เดียวกัน เวลาเดียวกัน แต่กลับไม่ได้สนทนาวิสาสะอย่างที่ควรจะเป็น ภาพเหล่านี้กระตุ้นเตือนอยู่เสมอว่า เราละเลยความรู้สึกและความสัมพันธ์ที่ดีที่สุดในโลกจริงกับคนที่รักอย่าง พ่อแม่ พี่น้อง คนรัก มากเกินไปแล้ว ทำให้ต้องมาถกเถียงกันอีกครั้งว่า แท้จริงโซเชียลเน็ตเวิร์กทำให้ได้ใกล้ชิดหรือมิตรหายไป-ห่างไกลกันมากขึ้นกันแน่ ฟังก์ชันบันทึกความทรงจำด้วยรูปภาพ ภาพเคลื่อนไหว หรือข้อความต่างๆ ที่อยู่ในโลกโซเชียลจะสามารถสานสัมพันธ์คนใกล้ชิด สื่อสารความรู้สึกยามอยู่ห่างไกลชั่วครั้งชั่วคราว หรือทดแทนความรู้สึกยามที่ต้องจากกันตลอดไปได้จริงหรือ …คำตอบนั้นอยู่ในความรู้สึกนึกคิดของคุณ
Share: เงยหน้ามาแชร์ภาษารัก ดูแลซึ่งกันและกัน
แต่การจะกล่าวโทษเทคโนโลยีที่ทำให้เกิดปัญหาดังกล่าวแต่ฝ่ายเดียวก็คงจะบอกได้ไม่เต็มปากนัก เพราะถ้าจะว่ากันตามตรง เทคโนโลยีก็ไม่ได้มีอำนาจเหนือจิตใจมนุษย์ขนาดนั้น นอกเสียจากคนเราจะตามใจตัวเอง ขนาดบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อย่าง Google ยังสังเกตได้ว่า มนุษยชาติยุคนี้ยอมให้มือถือมารบกวนชีวิตมากจนเกินไป และถ้าสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ ก็ไม่รู้จะมีเทคโนโลยีไปทำไม ในเมื่อไม่ได้ช่วยให้ชีวิตผู้คนดีขึ้น จึงป่าวร้องให้ผู้คนในยุคออนไลน์บอกลาจากเทรนด์ FOMO (Fear of missing out) หรือความกลัวเมื่อต้องพลาดบางสิ่งบางอย่าง มาสู่เทรนด์ JOMO (Joy of missing out) หรือความสุขที่ได้พลาดบางสิ่งบางอย่างไป คือไม่ต้องเอาใจไปผูกพันกับเทคโนโลยีมาก แล้วเอาช่วงเวลาที่คลาดสายตาจากหน้าจอมาแสดงความรักความห่วงใยแบบที่สัมผัสกันได้จริง ความรักอันเรียบง่ายนี่ล่ะที่จะก่อตัวเป็นมวลพลังพิเศษเชื่อมระยะห่าง ประสานรอยต่อของช่วงวัยที่เกิดขึ้นให้เนียนสนิท
เทคโนโลยีเป็นดาบสองคม การอุบัติขึ้นของโซเชียลเน็ตเวิร์กสร้างการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีหลายต่อหลายอย่างให้โลกใบนี้ แต่อีกด้าน โซเชียลเน็ตเวิร์กได้เปลี่ยนแปลงวิธีปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ไปโดยสิ้นเชิง ซึ่งคมที่บาดหมางทางจิตใจและน่าเศร้าที่สุดก็คือ คมของรอยต่อระหว่างวัยที่กำลังจะแยกห่างออกไปเพราะใครบางคนติดโลกออนไลน์เกินขนาด
การแก้ไขปัญหาช่องว่างระหว่างวัยอันเกิดจากการเสพติดเทคโนโลยี ไม่ได้จบที่การตัดขาดจากเน็ตเวิร์ก เพียงแค่ลองหาจุดที่พอดี เชื่อมทุกช่องว่างระหว่างวัยเข้าไว้ด้วยความเข้าใจ แสดงความรักความห่วงใยกับคนรอบๆ ตัวในโลกแห่งความเป็นจริง แล้วเพิ่มมูลค่าทางความรู้สึกด้วยการใส่ใจดูแลกัน ถนอมน้ำใจกัน กอดกันบ้าง จับมือกันบ้าง ส่งผ่านความเอื้ออาทรให้กันบ้าง
อย่างน้อยการบอกรักคนที่เรารัก การกอดคนที่เราเป็นห่วง หรือการได้สัมผัสกันในห้วงยามนี้ ก็ยังดีกว่าเวลาที่คิดถึงแต่ไม่มีคนข้างเคียงให้ดูแลกันอีกต่อไป…ได้แต่ตั้งสเตตัสไปวันๆ
ภาพประกอบ: Nisakorn R.
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง:
- etda.or.th
- brandinside.asia/jomo-google-research-tech
- brandbuffet.in.th/2018/02/global-and-thailand-digital-report-2018
- บทความ Family Networks คอลัมน์ Story from China จากนิตยสาร Mother & Care โดย วริษฐ์ ลิ้มทองกุล