×

แฟชั่นที่ดีต้องยืนยาวและไม่เอาเปรียบโลก – ปรัชญาแฟชั่น ‘ยั่งยืน’ แบบ Eileen Fisher

05.10.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • ไอลีน ฟิชเชอร์ (Eileen Fisher) เป็นอดีตกราฟิกดีไซเนอร์ที่เกลียดการช้อปปิ้ง เธอก่อตั้งแบรนด์เสื้อผ้าของตัวเองด้วยแรงจูงใจที่ห่างไกลความ ‘เก๋’ ของโลกแฟชั่น
  • ไอเดียของแบรนด์ Eileen Fisher มาจากตอนที่ไอลีนเห็นผู้หญิงญี่ปุ่นสวมชุดกิโมโน จนเกิดเป็นคำถามในใจว่า ‘ทำไมเสื้อผ้าที่ถูกออกแบบมาเมื่อพันปีที่แล้วยังมีคนเลือกสวมใส่จนถึงทุกวันนี้’ นำมาสู่ความเชื่อว่าเสื้อผ้าที่ดีควรใช้งานได้นานๆ และสร้างความสบายตัวให้แก่ผู้สวมใส่
  • นอกจากแบรนด์ Eileen Fisher จะขายเสื้อผ้ามือหนึ่งแล้ว หากลูกค้าไม่ใช้เสื้อผ้าที่ซื้อไปแล้วสามารถนำกลับมาคืนได้ บริษัทจะนำเสื้อผ้าที่อยู่ในสภาพดีมาขายเป็นเสื้อผ้ามือสอง หรือนำเสื้อผ้าที่ใช้ไม่ได้แล้วไปแปรสภาพเป็นสินค้าอื่นๆ ผ่านแบรนด์ที่ชื่อ Eileen Fisher Renew

แบรนด์เสื้อผ้าผู้หญิงจากสหรัฐอเมริกาอย่าง Eileen Fisher อาจไม่เป็นที่รู้จักของคนไทยมากนัก แต่ในโลกของธุรกิจเสื้อผ้าชั้นนำที่ทำงานหนักด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม Eileen Fisher ถือได้ว่าเป็นผู้บุกเบิกสำคัญในการลดผลกระทบ ตลอดซัพพลายเชน นับตั้งแต่การปลูกฝ้ายไปถึงขยะจากเสื้อผ้าที่ไม่ได้ใช้งานแล้วจำนวนมหาศาล

 

 

Eileen Fisher เป็นแบรนด์ผู้นำการใช้ฝ้ายและลินินออร์แกนิก และใช้กระบวนการผลิตเสื้อผ้าที่ไม่ทำร้ายสิ่งแวดล้อม รวมถึงเป็นผู้บุกเบิกการรับคืนเสื้อผ้าเพื่อขายเป็นเสื้อผ้ามือสองคุณภาพดีหรือคืนชีวิตใหม่ให้เสื้อผ้าในรูปแบบอื่น เช่น กลายเป็นปลอกหมอนและผ้าม่าน

 

ไอลีน ฟิชเชอร์ (Eileen Fisher) เป็นอดีตกราฟิกดีไซเนอร์ที่เกลียดการช้อปปิ้ง เธอก่อตั้งแบรนด์เสื้อผ้าของตัวเองด้วยแรงจูงใจที่ห่างไกลความ ‘เก๋’ ของโลกแฟชั่น เธอมีปัญหาในการหาซื้อเสื้อผ้าที่ถูกใจ และเมื่อหาสิ่งที่ตัวเองชอบไม่ได้ ไอลีนจึงเรียนรู้วิธีทำเสื้อผ้าเพื่อใส่เอง

 

เมื่อมีโอกาสไปญี่ปุ่นและเห็นผู้หญิงที่นั่นสวมชุดกิโมโน ไอลีนตั้งคำถามว่าทำไมเสื้อผ้าที่ถูกออกแบบมาเมื่อพันปีที่แล้วยังมีคนเลือกสวมใส่จนถึงทุกวันนี้ เธอเชื่อว่าเสื้อผ้าที่ดีควรใช้งานได้นานๆ และสร้างความสบายตัวให้แก่ผู้สวมใส่ แต่ในปัจจุบันเสื้อผ้ามักมีอายุสั้นเพราะการออกแบบที่ไปตามเทรนด์ ทำให้ผู้คนรู้สึกว่าต้องซื้อใหม่ไปเรื่อยๆ และคุณภาพของเสื้อผ้าก็ไม่ดีพอที่จะใส่ไปนานๆ

 

 

ไอลีนจึงเริ่มออกแบบเสื้อผ้าและตั้งธุรกิจเล็กๆ แบบไม่ตั้งใจด้วยเงินเก็บจำนวน 350 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 10,850 บาท) ใน ค.ศ. 1984 เมื่ออายุใกล้ 40 ปี ก่อนจะกลายเป็นกิจการ Eileen Fisher ที่ในปัจจุบันมีสาขากว่า 60 แห่งในสหรัฐอเมริกา แคนาดา และสหราชอาณาจักร ในปี 2015 บริษัทมียอดขายกว่า 444 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 13,700 ล้านบาท) และมีพนักงานมากกว่า 1,200 คน

 

ตอนเริ่มต้นธุรกิจไอลีนไม่ได้ตั้งใจจะสร้างแบรนด์ให้เป็นเสื้อผ้าที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม แต่การใส่ใจความยั่งยืนของเธอมาจากประสบการณ์การทำงานที่พบว่าเสื้อผ้าสร้างปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและแรงงานมากมาย

 

แฟชั่นเป็นอุตสาหกรรมผู้สร้างมลพิษเป็นอันดับที่สองของโลกจะเป็นรองก็เพียงอุตสาหกรรมน้ำมัน ผลกระทบเหล่านี้มาจากทั้งการใช้ที่ดิน การใช้สารเคมี การสร้างก๊าซเรือนกระจกและสร้างขยะ และการใช้แรงงานถึง ⅙ ของโลก แต่ผู้ผลิตและผู้บริโภคมักมองไม่เห็นปัญหาดังกล่าว เพราะซัพพลายเชนที่ยาวและซับซ้อน

 

นอกจากนี้กระบวนการผลิตเสื้อผ้าก็มักจะไกลตัวและกระจายอยู่ในประเทศอื่นๆ งานวิจัยในออสเตรเลียพบว่าแบรนด์เสื้อผ้าถึง 91% ไม่ทราบว่าฝ้ายที่ตนเองใช้ผลิตเสื้อผ้ามาจากที่ไหน ในขณะที่เสื้อผ้าถึง 85% ในสหรัฐอเมริกาเมื่อผู้บริโภคไม่ใช้งานแล้วก็ไปจบลงที่กองขยะ

 

 

การหันมาใส่ใจเรื่องความยั่งยืนของไอลีนและทีมงานเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างช้าๆ ก่อนพัฒนาเป็นการเรียนรู้ ตั้งแต่ไปเยี่ยมโรงงานซัพพลายเออร์ผลิตผ้าที่จีน และพบว่ากระบวนการผลิตสร้างมลพิษทางน้ำ เธอชักชวนผู้บริหารและพนักงานในบริษัทช่วยกันตั้งคำถามว่า “ทำอย่างไรให้ดีกว่านี้”  

 

งานลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมไม่ใช่เรื่องง่าย แม้ว่าบริษัทเริ่มหันมาใช้ฝ้ายและลินินออร์แกนิกตั้งแต่ยี่สิบปีก่อน แต่กลับพบว่ากระบวนการย้อมผ้าออร์แกนิกก็ยังต้องอาศัยสารเคมีที่เป็นอันตรายอยู่ ซึ่งทำให้บริษัทต้องเรียนรู้หาวิธีจัดการให้ดีขึ้นอยู่ตลอดเวลา

 

 

เช่น ในปี 2014 บริษัทพบว่าผ้าวิสโคสที่ได้มาจากเซลลูโลสของพืชซึ่งน่าจะดีกับสิ่งแวดล้อมแต่ต้องใช้สารเคมีที่เป็นพิษในส่วนผสมหลักในการผลิต ถึงแม้ว่าผ้าวิสโคสเป็นผ้าที่บริษัทใช้มากที่สุดและเป็นที่นิยมของลูกค้า แต่บริษัทก็ตัดสินใจลดสัดส่วนการใช้ผ้าชนิดนี้ลงและตั้งเป้าที่จะไม่ใช้อีกเลยภายในปี 2020

 

สไตล์การทำงานของบริษัท Eileen Fisher คือ เน้นการตั้งคำถามในทีม เรียนรู้ร่วมกัน และตั้งเป้าหมายด้านความยั่งยืนที่ชัดเจน ซึ่งหลายครั้งผู้บริหารยอมรับว่ายังไม่รู้ว่าจะไปถึงเป้าอย่างไร เช่น การเลิกใช้ผ้าวิสคอส แต่เชื่อว่าการมีเป้าหมายที่ทะเยอทะยานจะพาให้ทุกคนไปถึงที่หมายร่วมกัน และเมื่อทำสำเร็จ คนที่นี่จะไม่เคยมองว่าผลงาน ‘สมบูรณ์แบบ’ เพราะยังมีโอกาสและความท้าทายอีกมากที่จะพัฒนาธุรกิจให้ลดผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

 

 

อย่างโฆษณาชิ้นหนึ่งของบริษัทที่พาดหัวบนภาพนางแบบที่ใส่เสื้อผ้าสวยงามว่า “นี่ไม่ใช่ภาพที่สมบูรณ์แบบ เพราะแค่ 52% ของผ้าลินินที่ใช้ในเสื้อผ้าชุดนี้เป็นออร์แกนิก นี่คือสิ่งที่จะต้องเปลี่ยนแปลง”

 

 

นอกจากแบรนด์ Eileen Fisher ที่ขายเสื้อผ้ามือหนึ่งแล้ว หากลูกค้าไม่ใช้เสื้อผ้าที่ซื้อไปแล้วสามารถนำกลับมาคืนได้ บริษัทจะนำเสื้อผ้าที่อยู่ในสภาพดีมาขายเป็นเสื้อผ้ามือสอง หรือนำเสื้อผ้าที่ใช้ไม่ได้แล้วไปแปรสภาพเป็นสินค้าอื่นๆ ผ่านแบรนด์ที่ชื่อ Eileen Fisher Renew กำไรสุทธิจากการขายจะถูกส่งต่อให้องค์กรที่ทำงานด้านเด็ก ผู้หญิงและสิ่งแวดล้อม

 

ที่ผ่านมาบริษัทชุบชีวิตใหม่แก่เสื้อผ้าไปแล้วกว่า 800,000 ชิ้นตั้งแต่ปี 1992 ด้วยปรัชญาการออกแบบสไตล์ Eileen Fisher ที่เน้นเสื้อผ้าในแบบที่ใส่ได้ระยะยาวและคงทน เสื้อผ้าเหล่านี้จึงใช้งานได้อีกนานและไม่เชย แม้จะเป็นเสื้อผ้ามือสองไปแล้ว

 

 

ในปัจจุบัน 95% ของผ้าฝ้ายและ 94% ของผ้าลินินที่ Eileen Fisher ใช้มาจากเส้นใยออร์แกนิก โดยบริษัทตั้งเป้าว่าจะใช้เส้นใยออร์แกนิกให้ได้ทั้งหมดตามวิสัยทัศน์ของบริษัทปี 2020 ซึ่งรวมไปถึงเป้าหมายลดการใช้น้ำ ใช้สารเคมีที่ไม่เป็นพิษ เพิ่มพลังงานทางเลือกและลดก๊าซเรือนกระจก

 

ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่ลดลงไม่ใช่เป้าหมายเดียวของบริษัท แต่ยังรวมไปถึงการลดปัญหาด้านแรงงานในซัพพลายเชน

 

 

บริษัทมีโปรแกรมเข้มข้นในการตรวจสอบซัพพลายเออร์ในด้านการจ่ายค่าแรงที่เป็นธรรมที่ต้องอยู่ในระดับมาตรฐานแฟร์เทรด การยกระดับความสามารถของแรงงานหญิงไปจนถึงการตั้งโรงงานต้นแบบของตนเองในสหรัฐอเมริกา เพื่อผลิตเสื้อผ้าที่เป็นระบบปิด (closed-loop) ที่บริษัทจะจัดการผลกระทบของตนเองได้ทั้งหมด

 

แม้จะเป็นบริษัทที่มีพนักงานถึง 84% รวมทั้งบอร์ดบริหาร 2 ใน 3 เป็นผู้หญิงและขายแต่เสื้อผ้าผู้หญิง แต่ Eileen Fisher ก็มีปรัชญาในการผลิตเสื้อผ้าและการลดผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมที่หนักแน่น สม่ำเสมอ และพิสูจน์ได้ ควบคู่ไปกับการเป็นธุรกิจที่มีกำไรและเติบโตอย่างต่อเนื่อง

 

ในฐานะเจ้าของบริษัท ไอลีนเชื่อว่าธุรกิจเป็นตัวสร้างการเปลี่ยนแปลงและการเคลื่อนไหวให้โลกดีกว่านี้ได้ เสื้อผ้าที่ดีคือเสื้อผ้าที่ใส่ได้เรื่อยๆ คุณภาพดี และรบกวนโลกให้น้อยที่สุด

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising