จากอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ในอดีตกาลจนถึงรัฐชาติมหาอำนาจในยุคสมัยใหม่ ล้วนหนีไม่พ้นการมีกองทัพเรืออันเกรียงไกร แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลังจากที่มนุษย์คิดค้นสิ่งประดิษฐ์ที่เรียกว่าเครื่องบินขึ้นมา เครื่องบินก็ได้กลายมาเป็นอาวุธเชิงยุทธศาสตร์ที่ขาดไม่ได้ และเป็นตัวกำหนดความได้เปรียบเหนือข้าศึกในทุกสมรภูมินับแต่นั้นมา
จากสงครามโลกทั้งสองครั้ง สงครามตัวแทนในยุคสงครามเย็น สู่สงครามต่อต้านกลุ่มก่อการร้ายในปัจจุบัน ไม่ว่ายุทธการไหนๆ เครื่องบินรบมีบทบาทสำคัญในการโจมตีทางอากาศเพื่อบั่นทอนกำลังข้าศึก ทั้งการกรุยทางด้วยระเบิดปูพรมก่อนส่งทหารราบเข้ายึดครองพื้นที่ และบทบาทในปฏิบัติการสนับสนุนทางอากาศอย่างใกล้ชิด (Close Air Support) ให้กับกองกำลังภาคพื้นในภารกิจต่างๆ
นั่นจึงเป็นเหตุผลที่สหรัฐฯ ยังคงให้ความสำคัญกับการครองน่านฟ้า ไม่ต่างจากการรักษาบทบาทและอิทธิพลเหนือน่านน้ำต่างๆ ของกองทัพเรือ โดยเฉพาะในยามที่จีนกำลังพัฒนากองทัพอากาศอย่างกระวีกระวาด ขณะที่รัสเซียก็เดินหน้าเสริมเขี้ยวเล็บอย่างต่อเนื่องเพื่อทวงบัลลังก์มหาอำนาจทางทหารของโลก
ในการประชุมประจำปีว่าด้วยแผนยุทธศาสตร์ทางอากาศ อวกาศ และไซเบอร์ (Air, Space & Cyber Conference) ของสมาคมกองทัพอากาศสหรัฐฯ ในรัฐแมรีแลนด์เมื่อกลางเดือนที่ผ่านมา ฮีเธอร์ วิลสัน รัฐมนตรีฝ่ายกองทัพอากาศสหรัฐฯ (หน่วยงานในสังกัดกระทรวงกลาโหม) ได้เผยโรดแมปขยายฝูงบินรบของกองทัพอากาศครั้งใหญ่ราว 25% ซึ่งเป็นแผนขยายขนาดกองทัพครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ยุคสงครามเย็น โดยในยุคนั้นสหรัฐฯ แข่งขันสะสมอาวุธเพื่อขับเคี่ยวกับสหภาพโซเวียตอย่างดุเดือด
เป้าหมายใหม่ของทัพฟ้าสหรัฐฯ คือการจัดตั้งกองบินปฏิบัติการเพิ่ม 74 กองบิน จากปัจจุบันที่มีอยู่ 312 กองบิน เป็น 386 กองบินในช่วงระหว่างปี 2025-2030 ซึ่งรวมถึงการเพิ่มหน่วยรบแนวหน้าเพื่อเพิ่มศักยภาพในการสู้รบ หากความขัดแย้งกับจีนหรือรัสเซียบานปลายจนปะทุเป็นสงครามประจันหน้าเต็มรูปแบบ
ในแผนยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติ (National Security Strategy) ยุทธศาสตร์การป้องกันแห่งชาติ (National Defense Strategy) และแผนทบทวนท่าทีต่ออาวุธนิวเคลียร์ (Nuclear Posture Review) ฉบับใหม่ของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ นั้น คณะบริหารของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ได้ให้คำจำกัดความ ‘ศัตรู’ ตัวฉกาจที่สำคัญที่สุดของสหรัฐฯ ว่า หมายถึงประเทศจีนและรัสเซีย ไม่ใช่กลุ่มก่อการร้ายที่เป็นปรปักษ์อย่างกลุ่มรัฐอิสลาม (IS) หรืออัลกออิดะห์อีกต่อไป
ดังนั้นการขยับขยายครั้งนี้จึงสอดรับกับแผนยุทธศาสตร์ใหม่ที่ เจมส์ แมตทิส รัฐมนตรีกลาโหมของสหรัฐฯ ประกาศไว้เมื่อตอนต้นปีที่ผ่านมาว่า สหรัฐฯ จะปรับจุดโฟกัสจากเดิมที่ให้ความสำคัญกับการต่อสู้กับกลุ่มก่อการร้ายในตะวันออกกลาง ไปมุ่งเน้นการรับมือจีนและรัสเซีย ซึ่งต่างก็เป็น ‘มหาอำนาจลัทธิแก้’ (Revisionist Power) ที่กำลังท้าทายการจัดระเบียบโลกของสหรัฐฯ อย่างมีนัยสำคัญ
พล.อ. เดวิด โกลด์เฟน เสนาธิการกองทัพอากาศสหรัฐฯ ระบุว่า จีนและรัสเซียใช้เวลาหลายสิบปีในการศึกษายุทธศาสตร์ของกองทัพสหรัฐฯ และจัดสรรงบประมาณพัฒนาเทคโนโลยีด้านต่างๆ เพื่อลดช่องว่างความได้เปรียบของสหรัฐฯ ขณะที่โครงสร้างกองกำลังทางอากาศที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่ล้วนออกแบบมาเพื่อรับมือกับการพัฒนาขีดความสามารถทั้งเชิงรุกและเชิงรับของรัสเซียและจีน เช่น เครื่องบินที่มีพิสัยบินไกล และอาวุธนิวเคลียร์ เป็นต้น
“การขยับครั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อทิ้งระยะห่างจากพวกเขา โดยเราได้ประเมินข้อมูลที่กองเสนาธิการและหน่วยงานข่าวกรองได้รับ และดูว่าคู่แข่งกำลังมุ่งไปในทิศทางไหน” พล.อ. โกลด์เฟน กล่าว
ภายใต้โรดแมปนี้ กองทัพอากาศจะเพิ่มจำนวนทหารอากาศราว 40,000 นาย จากปัจจุบันที่มีทหารประจำการกว่า 700,000 นาย รวมทั้งนำเครื่องบินใหม่เข้าประจำการในกองบินใหม่ ประกอบด้วยอากาศยานทั้งเครื่องบินขับไล่, เครื่องบินทิ้งระเบิด, เครื่องบินเติมเชื้อเพลิงทางอากาศ, โดรน, เครื่องบินลำเลียง, เครื่องบินตรวจการณ์, เครื่องบินสอดแนม และเครื่องบินสนับสนุนปฏิบัติการพิเศษ โดยแต่ละกองบินอาจมีเครื่องบิน 8-24 ลำ
นอกจากฮาร์ดแวร์แล้ว กองทัพอากาศยังมีแผนเพิ่มกองบินสู้รบที่รับภารกิจรักษาความมั่นคงในห้วงอวกาศและโลกไซเบอร์เป็นหลักด้วย
สำหรับฝูงบินทิ้งระเบิดจะเป็นส่วนที่กองทัพอากาศต้องการขยับขยายมากที่สุด โดยเพิ่มจาก 9 เป็น 14 กองบิน และเน้นเพิ่มเครื่องบินทิ้งระเบิดที่ติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์ได้แบบ B-52 Stratofortress ของ Boeing และ B-2 Spirit ของ Northrop Grumman รวมทั้งเครื่องบินทิ้งระเบิดที่กำลังอยู่ในระหว่างพัฒนาอย่าง B-21 Raider ซึ่งมีเทคโนโลยีสเตลธ์ หรือสามารถหลบเลี่ยงการตรวจจับของระบบเรดาร์ได้
การเพิ่มเครื่องบินทิ้งระเบิดตอกย้ำนโยบายปักหมุดอิทธิพลและบทบาทของสหรัฐฯ ในแปซิฟิกได้เป็นอย่างดี ในขณะที่จีนกำลังแผ่ขยายอิทธิพลทางทหารในน่านน้ำทะเลจีนใต้และหมู่เกาะสแปรตลีย์
วิลสันระบุว่า จีนกำลังสร้างฐานทัพบนเกาะเทียมหลายแห่งในน่านน้ำที่เป็นข้อพิพาทกับประเทศเพื่อนบ้าน และที่ผ่านมาจีนมีการฝึกซ้อมนำเครื่องบินทิ้งระเบิดพิสัยไกลขึ้นบินในระยะทางที่สามารถโจมตีเป้าหมายในสหรัฐฯ ได้ นอกจากนี้กองทัพจีนยังเพิ่มจำนวนเครื่องบินทิ้งระเบิดและเครื่องบินเติมเชื้อเพลิงทางอากาศอย่างต่อเนื่อง
ส่วนเครื่องบินขับไล่ หรือ Fighter นั้น ทัพฟ้าสหรัฐฯ มีแผนขยายฝูงบินจาก 55 กองบิน เป็น 62 กองบิน โดยเน้นเพิ่มเครื่องบินขับไล่แบบ F-35 ขณะเดียวกันทางกองทัพอาจตัดสินใจไม่จัดซื้อ F-15 ของ Boeing หรือ F-16 ของ Lockheed Martin เพิ่มเติม แม้ว่าเครื่องบินทั้งสองแบบจะมีประสบการณ์รบอย่างโชกโชนหลังเข้าประจำการครั้งแรกตั้งแต่ทศวรรษ 1970 ซึ่งเหตุผลก็คือ ทั้ง F-15 และ F-16 ไม่มีเทคโนโลยีสเตลธ์ ดังนั้นจึงเสี่ยงตกเป็นเป้าโจมตีของระบบป้องกันภัยทางอากาศที่มีความล้ำหน้าและซับซ้อนของรัสเซียและจีน
เมื่อเดือนที่แล้ว รัฐบาลสหรัฐฯ นำโดยกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงการคลังได้ประกาศคว่ำบาตรกองทัพจีน โดยให้เหตุผลว่า จีนจัดซื้อยุทโธปกรณ์จากหน่วยงานหรือบุคลากรรัสเซียที่อยู่ในบัญชีคว่ำบาตรของสหรัฐฯ โดยอาวุธที่จีนซื้อจากรัสเซียนั้นเป็นเครื่องบินขับไล่สมรรถนะสูงอย่าง Su-35 และระบบขีปนาวุธต่อต้านอากาศยาน S-400 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าสหรัฐฯ มีความกังวลต่อยุทโธปกรณ์ใหม่ที่จีนครอบครอง
Su-35 พัฒนาโดยบริษัท Sukhoi เป็นเครื่องบินขับไล่ที่มีพิษสงรอบตัวและใช้ครองอากาศโดยเฉพาะ
ส่วน S-400 Triumf ทุกคนทราบกิตติศัพท์ของมันดี เพราะเป็นระบบขีปนาวุธต่อสู้อากาศยานที่มีความล้ำหน้ากว่าระบบ S-300 ซึ่งเป็นระบบป้องกันภัยทางอากาศที่ขายดิบขายดีของรัสเซีย
และการที่จีนมีอาวุธเด็ดสองอย่างนี้ก็อาจเป็นอุปสรรคที่ขัดขวางยุทธศาสตร์การครองอากาศของสหรัฐฯ
แต่สิ่งที่กองทัพอากาศสหรัฐฯ ต้องกังวลมากขึ้นนอกเหนือจาก Su-35 และ S-400 แล้ว ยังต้องจับตาคู่ปรับตัวฉกาจของ F-22 และ F-35 ในอนาคต ซึ่งก็คือ Su-57 ของรัสเซีย และ J-20 ของจีน ซึ่งเป็นเครื่องบินขับไล่อเนกประสงค์ที่ใช้ครองอากาศและมีเทคโนโลยีสเตลธ์ทั้งคู่
ส่วนกองบินอื่นๆ ที่กองทัพอากาศต้องการขยับขยายก็คือ กองบินปฏิบัติการพิเศษ ซึ่งขอเพิ่มจาก 20 กองบิน เป็น 27 กองบิน
ขณะที่เครื่องบินเติมเชื้อเพลิงทางอากาศจะเพิ่มจาก 40 กองบิน เป็น 54 กองบิน เพื่อสนับสนุนภารกิจของฝูงบินขับไล่และฝูงบินทิ้งระเบิด หากเกิดสงครามในแปซิฟิก
สำหรับกองบินปฏิบัติการด้านอวกาศของกองทัพอากาศมีแผนขยายจาก 16 กองบิน เป็น 23 กองบิน โดยไม่เกี่ยวข้องกับแผนการของกระทรวงกลาโหมที่ต้องการจัดตั้งกองบัญชาการสู้รบด้านอวกาศและกองกำลังอวกาศใหม่ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์
ทว่าการผลักดันแผนยุทธศาสตร์ใหม่นี้นำไปสู่คำถามว่า รัฐบาลจะเอางบประมาณมหาศาลมาจากไหน ซึ่งทำให้เกิดความกังวลตามมาว่า เงินภาษีจากชาวอเมริกันจะถูกจัดสรรไปที่กระทรวงกลาโหมเพิ่มขึ้น
ทอดด์ แฮร์ริสัน ผู้เชี่ยวชาญด้านงบประมาณแห่งศูนย์ยุทธศาสตร์และการต่างประเทศศึกษาประมาณการว่า การขยายกำลังพลในกองทัพอากาศจะเพิ่มค่าใช้จ่ายราว 13,000 ล้านเหรียญ จากปัจจุบันที่ใช้งบประมาณราว 53,000 ล้านเหรียญต่อปีในด้านปฏิบัติการ ฝึกสอน และการบรรจุทหารเข้าประจำการ
ขณะที่ล่าสุดมีรายงานว่า กองทัพอากาศสหรัฐฯ จะยื่นของบประมาณจำนวน 156,000 ล้านเหรียญสำหรับปีงบประมาณหน้า เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณปัจจุบัน 6%
แต่ถึงแม้แผนขยายกองทัพอากาศจะผ่านความเห็นชอบจากสภาคองเกรส ก็ยังอาจมีอุปสรรคในเรื่องความล่าช้าในการเบิกจ่ายงบประมาณและกระบวนการพัฒนาเครื่องบินก่อนนำเข้าประจำการ โดยในอดีตกองทัพอากาศร่วมกับบริษัท Lockheed Martin ผู้ผลิตยุทโธปกรณ์รายใหญ่ของสหรัฐฯ ได้เริ่มพัฒนาเครื่องบินขับไล่แบบ F-22 Raptor ในปี 1981 แต่กว่าที่จะได้ประเดิมบินครั้งแรกต้องรอไปถึงปี 1997 และใช้สู้รบจริงครั้งแรกในปี 2014
ส่วนกรณีของ F-35 Lightning II ซึ่งเป็นโครงการอาวุธที่แพงที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ ก็เริ่มพัฒนามาตั้งแต่ปี 2001 และกว่าที่จะได้สัมผัสกับสมรภูมิจริงก็ต้องรอจนถึงปีที่แล้วกับปฏิบัติการโจมตีทางอากาศของอิสราเอล ซึ่งเป็นประเทศพันธมิตรที่ใกล้ชิดของสหรัฐฯ และถูกห้อมล้อมโดยศัตรูในภูมิภาคตะวันออกกลาง
นอกจากความล่าช้าอย่างที่กล่าวมาแล้ว ในความเป็นจริง งบประมาณที่กองทัพอากาศได้รับการจัดสรรนั้นก็อาจไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยตามที่ขอ
แหล่งข่าวหนึ่งในกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ หรือเพนตากอน เปิดเผยว่า ในอดีตกองทัพเรือก็เคยพูดว่า ต้องการเรือ 355 ลำ แต่พวกเขาก็ไม่ได้รับงบฯ ตามนั้น ซึ่งก็แสดงให้เห็นถึงช่องว่างระหว่างเป้าหมายของการจัดซื้อเพื่อความมั่นคงกับการจัดสรรงบประมาณในความเป็นจริง
และดูเหมือนวิลสันเองก็ยอมรับว่า การจ่ายเงินมหาศาลเพื่อซื้อเครื่องบินเพิ่มอาจเป็นเรื่องยาก แต่เธอระบุว่า สหรัฐฯ ติดค้างทหารอเมริกันในการให้คำตอบที่ชัดเจนเกี่ยวกับสิ่งที่ต้องการเพื่อปกป้องผลประโยชน์แห่งชาติภายใต้ยุทธศาสตร์ใหม่ของสหรัฐฯ เธอเชื่อว่าหากพวกเขาไม่ได้รับคำตอบที่สมบูรณ์แบบ ก็ต้องเป็นคำตอบที่ซื่อตรงต่อคำถามที่ว่า กองทัพอากาศแบบไหนที่ชาวอเมริกันต้องการ
คำตอบจะเป็นอย่างไรคงต้องติดตามกันต่อไป ขณะที่สภาคองเกรสมีกำหนดพิจารณารายงานฉบับสุดท้ายของกองทัพอากาศในเดือนมีนาคมปีหน้า โดยจะมีการประเมินและวิเคราะห์ร่วมกับศูนย์วิจัยและพัฒนาด้านงบประมาณกลาง
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง:
- foreignpolicy.com/2018/09/17/u-s-air-force-seeks-largest-expansion-since-cold-war/
- www.businessinsider.com/us-air-force-massive-expansion-386-squadrons-russia-and-china-2018-9
- edition.cnn.com/2018/09/17/politics/us-air-force-squadron-growth-china-russia/index.html?utm_term=link&utm_source=fbCNNi&utm_medium=social&utm_content=2018-09-23T07%3A30%3A05