นับเป็นคดีโด่งดังที่ถูกพูดถึงเป็นอย่างมากในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา สำหรับกรณีที่มีผู้กล่าวหาว่า ผลิตภัณฑ์เลอแปงบานาน่า ของบริษัท ซีพีออลล์ จำกัด (มหาชน) ได้ลอกเลียนสูตรขนมของผู้ประกอบการรายย่อยรายหนึ่ง จนกลายเป็นข้อพิพาทระหว่างผู้เผยแพร่บทความ และบริษัทซีพีออลล์ นำมาซึ่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่ก่อความดราม่ามากมายบนโลกออนไลน์
‘ปลาใหญ่กินปลาเล็ก’ คือสำนวนที่หลายคนใช้ในการวิพากษ์วิจารณ์กรณีดังกล่าว ก่อนที่ต่อมาจะพบว่า ข้อเท็จจริงไม่เป็นไปอย่างที่คิดไว้ เพราะในโลกออนไลน์ที่ทุกคนมีเสียงดังเท่ากัน อาจเป็นไปได้ที่เสียงเล็กๆ ของคนหนึ่งคนจะกลายเป็นอาวุธทรงพลัง ที่ทำลายชื่อเสียงของแบรนด์ใหญ่ๆ ระดับซีพีออลล์ได้เช่นกัน
ในวันที่ข้อเท็จจริงทุกอย่างดูจะกระจ่างชัดมากขึ้น THE STANDARD ขอพาคุณย้อนไปทบทวนประเด็นความขัดแย้งดังกล่าว เพื่อใช้เป็นกรณีศึกษา เมื่อเสียงจากผู้บริโภคอาจไม่ถูกต้องเสมอไป และแบรนด์ใหญ่ไม่จำเป็นต้องตกเป็นจำเลยทุกครั้ง
ย้อนคดีโตเกียวบานาน่าเมืองไทย จุดจบของนักโพสต์ข่าวลวง
เรื่องราวครั้งนี้เกิดขึ้นในปี 2558 เมื่อมีผู้โพสต์บทความ ‘โตเกียวบานาน่าไทยแบบมีกล้วยอยู่จริงๆ ที่แลกมาด้วยน้ำตา’ ลงบนเว็บไซต์โอเคเนชั่น โดยกล่าวหาว่า บริษัท ซีพีออลล์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งถือเป็นบริษัทใหญ่ แต่ไปรังแกผู้ประกอบการรายย่อยอย่าง ‘สยามบานาน่า’ ที่เสนอสินค้าเข้ามาขายในร้านสะดวกซื้อเซเว่น อีเลฟเว่น ด้วยการลอกเลียนสูตรขนมสอดไส้ครีมคัสตาร์ดรสกล้วยของผู้ประกอบการรายนั้น ก่อนจะทำการค้าหาประโยชน์เอง
ทันทีที่บทความดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไป กระแสความคิดเห็นเชิงลบต่อบริษัทยักษ์ใหญ่ก็จุดประกายขึ้น และกลายเป็นหัวข้อวิพากษ์วิจารณ์ในโซเชียลมีเดียต่างๆ อย่างกว้างขวาง จนบริษัทต้องออกมาแถลงชี้แจงว่า บริษัทไม่ได้ลอกเลียนแบบใคร เพราะได้เริ่มพัฒนาผลิตภัณฑ์นี้มาตั้งแต่ปี 2557 ก่อนหน้าที่ผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการดังกล่าวจะวางขายด้วยซ้ำ
เรื่องราวสิ้นสุดลง เมื่อบริษัทได้แจ้งความดำเนินคดีกับผู้เขียนบทความดังกล่าว ซึ่งใช้ชื่อว่า assuming หรือชื่อจริงคือ นายชิน รติธรรมกุล ในข้อหาหมิ่นประมาท ก่อนที่ต่อมานายชินจะยอมรับว่า ได้รับข้อมูลและเนื้อหาบทความดังกล่าวมาจาก นางสาว พ. โดยที่ผู้โพสต์เองก็ไม่ทราบว่าเป็นความจริงหรือไม่ และได้จัดทำบทความไปโดยไม่เคยสอบถามความเป็นจริงจากบริษัท
ซึ่งบริษัทได้แสดงหลักฐานในการดำเนินคดีให้เห็นว่าบริษัทไม่มีการกระทำใดที่จะไปเอาเปรียบผู้ประกอบการรายย่อยตามที่กล่าวหาในบทความ
สุดท้าย คดีจึงจบลงด้วยการทำสัญญาประนีประนอมยอมความ โดยนายชินได้ตกลงทำหนังสือแสดงความรู้สึกเสียใจและขอโทษบริษัทต่อหน้าศาล และยินดีที่จะแก้ไขฟื้นฟูความเสียหายของบริษัท โดยเผยแพร่บันทึกประนีประนอมยอมความและเอกสารย่อคำฟ้องคดีอาญา ที่แสดงถึงเหตุการณ์นี้ในเว็บไซต์โอเคเนชั่นภายใน 7 วัน
ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนั้น ทางซีพีออลล์ได้แสดงน้ำใจโดยไม่ดำเนินคดีกับนายชิน โดยถอนคำร้องทุกข์และเรียกร้องค่าเสียหายคดีดังกล่าวจึงระงับไป กลายเป็นบทเรียนของนักโพสต์ข่าวลวงที่ต้องระมัดระวังกันมากขึ้น
คดีใหม่เพื่อทำให้ความจริงปรากฏ
หลังการทำบันทึกประนีประนอมยอมความเสร็จสิ้นลง แต่เรื่องไม่จบแค่นั้น เมื่อนายชินไม่ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความ บริษัทจึงฟ้องร้องนายชินอีกครั้งในข้อหาผิดสัญญา ก่อนที่ต่อมา ศาลแพ่งกรุงเทพใต้จะมีคำพิพากษาออกมาเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2561 สรุปว่า นายชินเป็นฝ่ายผิดสัญญา และให้นายชินลงประกาศบันทึกในเว็บไซต์โอเคเนชั่นภายใน 7 วัน และลงต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 8 เดือน รวมทั้งชดใช้ค่าเสียหายให้แก่บริษัทจำนวน 80,000 บาท
นอกจากนี้ ทางบริษัทยังได้แจ้งความต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลทุ่งมหาเมฆ เพื่อดำเนินคดีอาญาแก่บุคคลที่เป็นตัวการในการให้ข้อมูลในข้อหาหมิ่นประมาท ซึ่งปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการสอบสวนของพนักงานสอบสวน
พร้อมกันนั้น ซีพีออลล์ยังได้ออกหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงต่อประชาชนและคู่ค้าของบริษัท โดยเตือนให้สังคมตระหนักถึงการใช้วิจารณญาณตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนเผยแพร่หรือส่งต่อข้อมูลใดๆ ในสังคมออนไลน์ เพื่อป้องกันไม่ให้กรณีนี้เกิดขึ้นอีกในอนาคต
3 ปีผ่านไป กับบทพิสูจน์ตัวตนของแบรนด์ยักษ์ใหญ่ที่แลกมาด้วยชื่อเสียงที่หล่นหายไประหว่างทาง ถึงแม้วันนี้คดีจะยังไม่ดำเนินไปจนถึงบทสรุปสุดท้าย แต่ก็ทำให้รู้ว่า เสียงวิพากษ์วิจารณ์ใดๆ คงไม่อาจเอาชนะความจริงไปได้ ซึ่งความจริงในกรณีนี้จะเป็นอย่างไร คงต้องรอติดตามแบบที่ยังไม่ต้องตัดสินให้ใครตกเป็นจำเลยโดยไม่จำเป็น
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล