‘งานเยอะ กฎเคร่งครัด ต้องผ่านการเรียนไฟแนนซ์มาเท่านั้น’
สิ่งเหล่านี้น่าจะเป็นภาพจำซ้ำๆ ที่ปรากฏขึ้นมาในหัวใครหลายคนเมื่อนึกถึงการทำงานในธนาคารใหญ่ อาจเพราะความเคร่งขรึมและความน่าเชื่อถือขององค์กร ที่ผลิตภัณฑ์ข้องเกี่ยวเรื่องการเงิน หรือลุคสุดเนี้ยบของพนักงานหน้าเคาน์เตอร์ที่คนทั่วไปได้พบเห็นบ่อยกว่าฝ่ายอื่นๆ ทำให้นิยามของงานธนาคารถูกตีกรอบไว้อย่างหนาแน่นเช่นนั้น
และหากพูดถึงการฝึกงานในธนาคารทุกวันนี้ คุณคิดว่าเหล่านักศึกษาจะได้ทำอะไรบ้าง?
“มันไม่ใช่อย่างที่เคยคิดเลย ทั้งพื้นที่ ทั้งบรรยากาศ เราไม่ได้ทำงานในโต๊ะที่ถูกกั้นเป็นคอกๆ เวลาสงสัยอะไรพี่ๆ ก็ตั้งใจสอนมาก บางทีเรียกกันมาทั้งแผนกเพื่อช่วยอธิบายให้เราเข้าใจจนได้”
คือคำตอบจากหนึ่งในตัวแทนนักศึกษาฝึกงานของธนาคารไทยพาณิชย์ที่ THE STANDARD มีโอกาสได้สัมภาษณ์ และเมื่อคุยลึกลงไปถึงประสบการณ์กว่า 2 เดือนในโลกทำงานจริงที่พวกเขาได้พบเจอ เรายิ่งพบว่าชีวิตและแนวคิดของนักศึกษาฝึกงานที่นี่ต่างไปจากภาพจำก่อนหน้าของเราไม่น้อย
เพราะยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ธนาคารเองก็ต้องปรับตัวเฉกเช่นเดียวกับธุรกิจอื่น รูปแบบการทำงานในธนาคารถูกขยายขอบเขตออกไปกว้างกว่าที่เคย ท้าทายให้หนุ่มสาวนักศึกษายุคใหม่ก้าวเท้าเข้ามาหาโอกาสเรียนรู้จากโลกการทำงานในองค์กรขนาดใหญ่ที่กำลังปรับตัวสู่ยุคดิจิทัลอย่างแข็งขัน เพื่อพบว่าการทำงานในธนาคารทุกวันนี้ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว
Day 0: เรียนวิศวะ เศรษฐศาสตร์ ธุรกิจ หรือสาขาไหน ก็มาเป็นนักศึกษาฝึกงานธนาคารได้
สิ่งแรกที่ไทยพาณิชย์ต้องขอให้คุณทำความเข้าใจเสียใหม่คือ หากสนใจทำงานธนาคาร คุณไม่จำเป็นต้องจบไฟแนนซ์เท่านั้น! เพราะสายงานในธนาคารนั้นมียิบย่อยหลากหลาย พื้นฐานความรู้จากการเรียนในคณะวิศวกรรมศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ บริหารธุรกิจ หรือสาขาไหน ล้วนนำมาใช้เพื่อต่อยอดการทำงานในธนาคารยุคดิจิทัลได้หากคุณกล้ายื่นใบสมัคร
“เราเรียนวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ส่วนใหญ่เพื่อนๆ ก็จะไปฝึกงานด้าน Developer ฝึกเขียนโปรแกรม แต่เราเลือกมาลองทำ Business Analyst เพราะอยากได้ความรู้ด้านธุรกิจด้วย มันคือการเอาความรู้ที่เรียนมาแปลงสาย เพิ่มด้านธุรกิจและการจัดการเข้าไปผสมๆ กัน มันน่าสนุกกว่า นี่คือโอกาสที่เราจะได้ทดลอง” ไปป์-นภัส กนกานนท์ นักศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เล่าถึงที่มาของการเลือกฝึกงานที่ธนาคารไทยพาณิชย์
ไม่ใช่แค่นักศึกษาจากรั้วมหาวิทยาลัยในประเทศไทยเท่านั้นที่คุณจะได้พบ เพราะที่นี่ยังดึงดูดนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำในยุโรปและอเมริกาอย่าง หมู-ธนาธร งามผาติพงศ์ นักศึกษา Manufacturing Engineering จาก University of Nottingham และ นะ-ณณัฏฐ์ ชัยชนะวาณิชย์ นักศึกษา Economics จาก University of Chicago ที่เลือกเข้ามาเรียนรู้สายงาน Business Intelligence แผนก Transformation เพราะเชื่อมั่นว่าธนาคารสีม่วงแห่งนี้จะช่วยเปิดโอกาสในการสำรวจความเป็นไปได้ใหม่ๆ ของการทำงานธนาคารได้มากกว่า
Day 1: ก้าวแรกสู่สำนักงานใหญ่ของธนาคารอันดับต้นๆ ของประเทศไทย
วันแรกของชีวิตนักศึกษาฝึกงานในบริษัทใหญ่ย่านรัชโยธิน จะถูกต้อนรับด้วยการปฐมนิเทศอย่างพร้อมเพรียง มีพี่ๆ พาทัวร์ทำความรู้จักทุกอาคารของบริษัท ซึ่งไม่ได้มีแต่ส่วนของพื้นที่ทำงานกั้นเป็นคอกมิดชิด แต่ยังมีพื้นที่สนุกๆ อย่าง SCB Academy โคเวิร์กกิ้งสเปซขนาด 2 ชั้น สำหรับพนักงานทุกคนได้เปลี่ยนบรรยากาศการทำงาน พบปะพูดคุย จัดกิจกรรมภายใน และผ่อนคลายจากการทำงานอันเคร่งเครียดกันบ้าง รวมถึงโรงอาหารที่คุณจะได้ทดลองใช้ชีวิตแบบสังคมไร้เงินสด (Cashless Society) เพราะทุกร้านรับชำระเงินด้วยการสแกนผ่านแอปพลิเคชัน
“สิ่งที่เซอร์ไพรส์ที่สุดสำหรับเราคือตอนพักเที่ยงที่เห็นคนออกมาเยอะมากๆ จากที่เคยคิดแล้วไว้ว่าสาขาใหญ่คนต้องเยอะแหละ แต่พอมาเห็นตึก จำนวนคน จำนวนลิฟต์จริงๆ โอ้โห มันเยอะกว่าที่คิดไว้มาก” หมู ธนาธร เล่า เมื่อเราถามว่าอะไรคือสิ่งที่เกินความคาดหมายเมื่อได้เข้ามาสัมผัสบรรยากาศธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่
คล้ายกับที่ อัน-นพัตธร กวียานันท์ นักศึกษา Chemical Engineering จาก University College London มองว่า ตอนนี้ธนาคารกำลังรีโนเวตตัวเอง พื้นที่ทุกส่วนจะเปิดเชื่อมถึงกันมากขึ้น แผนก Transformation ที่เขาฝึกงานอยู่นั้นเต็มไปด้วยกระดานไวต์บอร์ดที่ใครๆ ก็สามารถจดโน้ตไอเดียต่างๆ จับกลุ่มคุยงานกันสบายๆ ได้ทุกที่ บรรยากาศในการทำงานจึงไม่อึมครึมอย่างที่คิด
“เราเคยไปดูงานบริษัทใหญ่ที่หนึ่ง เวลาเขาคุยกันจะเคร่งขรึมจริงจังมาก แต่พอมาที่นี่ เห็นพี่ๆ คุยกันกลับเหมือนคุยกับเพื่อน เป็นกันเองมาก เลยดูน่าทำงานมากกว่า” ภู-วริทธิ์ พานิชเกษม นักศึกษา Economics จาก Carleton College เสริม
Day 5: เข้าค่ายละลายพฤติกรรม ปูทางมุมมองแบบ Design Thinking
จากที่บอกไปก่อนหน้าว่านักศึกษาที่นี่ไม่ได้มีเฉพาะในประเทศ ด้วยช่วงเวลาการฝึกงานที่ทางธนาคารไทยพาณิชย์ออกแบบให้สอดคล้องกับภาคการศึกษาของมหาวิทยาลัยในยุโรปและอเมริกา แต่ละปีจึงมีนักศึกษาชาวไทยในต่างประเทศตบเท้าเข้าร่วมฝึกงานกันหลายสิบคน
กิจกรรมแรกๆ ที่ธนาคารไทยพาณิชย์ตั้งใจเปิดโอกาสให้เหล่าน้องใหม่ได้ใช้เวลาร่วมกันก็คือ ‘ค่ายตะวันรอน’ ระยะเวลา 2 วัน 1 คืน กิจกรรมรับน้องที่จัดขึ้นเพื่อละลายพฤติกรรม เชื่อมสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มนักศึกษาจากทั้งในและต่างประเทศกว่าร้อยคน รวมถึงเวิร์กช็อปปูทักษะการคิดการทำงานแบบ Design Thinking เพื่อต่อยอดในการทำงานจริง
“ตอนอยู่เมืองนอกไม่ค่อยมีกิจกรรมรับน้องอะไรแบบนี้นะ” นะ ณณัฏฐ์ นักศึกษาหนุ่มจากสหรัฐอเมริกาเล่าความประทับใจ “เราได้เจอเพื่อนใหม่ๆ ต้องคิดท่าเต้น ซ้อม แล้วออกไปแสดงด้วยกัน เป็นประสบการณ์ที่แปลกใหม่ดี”
หลังจากกิจกรรมสันทนาการในวันแรกจบไป วันถัดมาก็เข้าสู่โหมดสาระด้วยเวิร์กช็อปจากวิทยากรที่มาให้ความรู้เรื่อง Design Thinking ซึ่งเป็นแนวคิดที่บริษัทชั้นนำต่างเลือกใช้
“เขาสอนให้เราเปลี่ยนไปดูปัญหาจากมุมมองของผู้ใช้ แทนที่จะคิดจากมุมมองของผู้สร้าง” ไปป์ นภัส เล่าถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้จากค่าย “สมมติว่าเราต้องออกแบบกระเป๋าให้เพื่อนคนนี้ ถ้าเราคิดเอง เราไม่รู้จักเขาเลย ทำออกมาก็อาจจะไม่ตรงความต้องการของเขา แต่ถ้าเราใช้ Design Thinking เราต้องลองคุยกับเขาเพื่อศึกษาว่าลักษณะการใช้กระเป๋าของเขาเป็นอย่างไร คนนี้เก็บเหรียญเยอะ คนนี้อาจจะชอบเก็บการ์ด เราจะได้เอามาปรับปรุงกระเป๋าให้ตอบโจทย์การใช้งานของเขา กระบวนการคิดแบบนี้จะช่วยทำให้เรามองเห็นปัญหาชัดเจนขึ้น แล้วเราก็จะแก้ปัญหาได้ตรงจุดมากขึ้น”
Day 15: การแข่งขันที่มาควบคู่กับการเรียนรู้นอกหลักสูตร
หากคิดว่าการฝึกงานธนาคารเป็นเพียงแค่การทำงานตามที่ได้รับมอบหมายไปแต่ละวัน ก็ต้องบอกอีกครั้งว่าคุณคิดผิด!
ด้วยจำนวนหลักร้อยของนักศึกษาฝึกงานแต่ละรุ่น และความหลากหลายของสายงาน ธนาคารไทยพาณิชย์จึงเสริมโปรเจกต์พิเศษให้เหล่านักศึกษาได้แบ่งเป็น 12 ทีม ทีมละ 6-7 คน คละสายงาน แล้วจัดกรุ๊ปแยก 3 สาย ได้แก่ Digital Banking, Retail และ SME เพื่อให้แต่ละสายแข่งขันกันพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริการ หรือไอเดียใหม่ๆ ตามโจทย์ที่แตกต่างกันไป ก่อนจะนำผู้ชนะแต่ละสายมาเจอกันในรอบชิงชนะเลิศ เพื่อเฟ้นหาผู้พิชิตรางวัลใหญ่มูลค่ากว่า 20,000 บาท
“พอจบจากค่ายตะวันรอน แต่ละทีมจะรู้แล้วว่าตัวเองอยู่สายอะไร ได้โจทย์อะไรมา ระยะเวลาโปรเจกต์นี้ประมาณ 4 สัปดาห์ เราก็เริ่มตีโจทย์ด้วย Design Thinking ที่เพิ่งได้เรียนรู้มา ทำความเข้าใจกลุ่มเป้าหมาย มองปัญหาให้แคบลง พอถึงวันศุกร์ของแต่ละสัปดาห์ก็จะมีการนัดเจอกับพี่ๆ ที่ปรึกษา เพื่อคอมเมนต์และปรับสิ่งที่เราคิดไปให้เข้าที่เข้าทางมากขึ้น” อัน นพัตธร เริ่มเล่าถึงกระบวนการแข่งขันไอเดียธุรกิจที่เขาเพิ่งคว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 มาครอง
“ช่วงว่างๆ หรือตอนที่หมดเวลาทำงานปกติ เราก็จะนัดเพื่อนในทีมมาอัปเดตงานกัน สมาชิกในกลุ่มจะถูกแรนดอมมาจากหลายๆ ภาคส่วนของแบงก์ ทั้งไฟแนนซ์, Digital Banking, Transformation, Retail หรือสื่อสารองค์กรก็มี ทำให้เราได้แลกเปลี่ยนมุมมองที่หลากหลายด้วย” วิมมี่-วิมินตา อภิมั่นจินดากุล เพื่อนร่วมทีมของอัน จากคณะ International Business จาก Boston University ที่เข้ามาฝึกงานในทีม Retail Payment เสริมถึงความแตกต่างที่ส่งให้ผลผลิตจากโปรเจกต์ของพวกเขาไม่เหมือนใคร
Day 30: พบรุ่นพี่ที่ให้มากกว่าความรู้
จากโจทย์กว้างๆ ในตอนแรก พวกเขาต้องคลำทิศทางกันอยู่นานกว่าจะค่อยๆ ค้นพบว่าอะไรคือสิ่งที่กลุ่มเป้าหมายต้องการมากที่สุด ผ่านการค้นคว้าข้อมูล ลงพื้นที่จริง สัมภาษณ์เชิงลึกกับกลุ่มเป้าหมาย และคำแนะนำจากรุ่นพี่ผู้เชี่ยวชาญของธนาคารไทยพาณิชย์เองที่พร้อมจะให้ความรู้แบบไม่มีกั๊ก
“สิ่งที่พี่ๆ ที่ปรึกษาเน้นย้ำบ่อยๆ คือ อยากให้เราคิดไอเดียที่แปลกใหม่ สร้างสรรค์ ออกนอกกรอบ และต้องสร้างความพึงพอใจให้ลูกค้าได้ด้วย” ปริม-รมิดา หาญรัตนกูล นักศึกษา Economics จาก University College London ที่เข้ามาฝึกงานด้าน Digital Banking เล่าในฐานะผู้คว้ารางวัลรองชนะเลิศจากโปรเจกต์นี้
“รอบไฟนอลเราต้องเข้าไปพรีเซนต์ต่อหน้ากรรมการ นอกจากส่วนของไอเดียพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ ก่อนหน้านั้นเราก็ต้องให้พี่ๆ ช่วยดูว่าเนื้อหาในพรีเซนต์มันโอเคหรือยัง ดึงดูดพอไหม ตรงไหนมากหรือน้อยไป แล้วก็ปรับให้มันดูน่าสนใจมากขึ้น เพราะเกณฑ์การตัดสินไม่ใช่แค่การวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมายหรือผลิตภัณฑ์ได้ แต่มันมีหลายปัจจัย” ไปป์เสริม
ด้วยส่วนผสมที่ลงตัวของสมาชิกในทีม ทั้งสายงานธนาคารที่เข้ามาฝึกและพื้นเพสาขาที่เรียน มหาวิทยาลัยที่แตกต่างกัน ประกอบกับความมุ่งมั่นของวัยหนุ่มสาว และความใส่ใจจากรุ่นพี่ จึงทำให้ทีมของปริมและไปป์ชิงรางวัลรองชนะเลิศพร้อมรางวัล 10,000 บาทไปครองได้สำเร็จ
“ส่วนตัวเราเคยคิดว่ามาฝึกงานธนาคารมันจะน่าเบื่อ ทุกอย่างต้องเป็นทางการมาก แต่พอมาฝึกจริงแล้วพี่ๆ เป็นกันเองมาก เรารู้สึกได้ว่าเขาอยากสอนมาก อย่างในแผนกเราจะแบ่งส่วนยิบย่อย ซึ่งแต่ละคนทำงานไม่เหมือนกัน นั่งแยกกันเลย แต่พอน้องฝึกงานสงสัยอะไรนิดหนึ่ง พี่ๆ ก็พร้อมเรียกเพื่อนมาช่วยอธิบายให้ฟังอย่างละเอียดมาก เหมือนจัดเลกเชอร์เลย หรือมีเทรนนิ่งที่น่าสนใจก็ชวนน้องไปฟัง เลิกงานก็ชวนไปกินข้าว ไปตีแบดกัน
“บอกได้เลยว่า ถ้าใครคิดว่าธนาคารจะเป็นที่ที่ซีเรียสมากๆ มันไม่ใช่เลย”
Day 50: ประสบการณ์ที่หาจากที่ไหนไม่ได้ ทำให้รู้จักตัวเองมากขึ้น
วันที่เราได้คุยกับนักศึกษาฝึกงานทั้ง 8 คนคือช่วงท้ายๆ ของการฝึกงาน (ยกเว้นไปป์ที่ต้องอยู่ต่อให้ครบ 6 เดือน) สิ่งที่แต่ละคนได้เรียนรู้จากการทำงานจริงในสำนักงานใหญ่ของธนาคารไทยพาณิชย์ไม่ใช่คำตอบตายตัวว่างานธนาคารจะเป็นตัวเลือกแรกหลังก้าวเท้าออกจากรั้วมหาวิทยาลัย แต่ประสบการณ์ล้ำค่าที่ทำให้รู้จักตัวเองมากขึ้นต่างหากคือสิ่งสำคัญที่จะอยู่ติดตัวพวกเขาจากนี้ไป
“พอได้ลองทำงาน ได้ออกไปประชุมกับลูกค้าจริงๆ เราก็พอจะรู้แล้วว่าชอบอะไร ตอนไปคุยงานบางครั้งไม่สนุกเลย แต่บางครั้งเราก็สนใจมาก ตั้งใจฟัง ตั้งใจจด เราชอบเวลาได้ออกไปหาแม่ค้าจริงๆ ไปฟังว่าเขาต้องการอะไร แล้วโปรดักต์ของเราช่วยได้อย่างไร” วิมมี่ วิมินตา เล่าถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการฝึกงานในองค์กรยักษ์ใหญ่ “มันทำให้เราเห็นภาพตัวเองชัดขึ้น เปิดโลกการทำงานเราไปอีกขั้น”
ด้าน ภู วริทธิ์ นักศึกษาเศรษฐศาสตร์ที่สนใจด้านนี้อยู่แล้ว พอได้เข้ามาฝึกงานจริง เขาได้ทำอะไรที่ไม่เคยทำ อย่างสอน AI ให้เข้าใจภาษาไทย ก็ยิ่งทำให้รู้สึกว่าการทำงานด้านนี้เป็นเรื่องสนุกและน่าจะตอบโจทย์สิ่งที่เขาต้องการ “มันทำให้เรามีไฟในการเรียนต่อมากขึ้น คิดว่าเรียนด็อกเตอร์ก็ทำได้นะ มีพี่ๆ ที่คอยสอนงานเราเป็นตัวอย่าง”
“ที่นี่เป็นที่แรกที่เราได้เข้ามาฝึกงาน แค่เดือนกว่าๆ ที่ผ่านมาเรารู้สึกว่าได้เรียนรู้เยอะกว่าที่นั่งเรียนมาทั้งชีวิตอีก” คำตอบจาก บีม-พิชามญช์ กฤติยรังสิต นักศึกษา Machanical Engineering จาก Imperial College London เรียกเสียงหัวเราะจากคนทั้งวง “พอได้ลองทำงานจริง ยิ่งเราฝึกด้าน Business Intelligence ก็ต้องศึกษา Big Data ซึ่งเป็นสิ่งใหม่มาก เราอยากทำความเข้าใจมันมากขึ้นเรื่อยๆ
“เรายังไม่มั่นใจหรอกว่าจบไปแล้วจะทำงานธนาคารแน่ๆ แต่ถ้าถามว่าเด็กมหาวิทยาลัยควรมาฝึกงานที่นี่ไหม เราอยากให้ลองมา เพราะการมาที่นี่ทำให้ได้เจอกับพี่ๆ ที่เรารู้สึกว่าเขาอยากสอน อยากให้ความรู้พวกเรา มากกว่าอยากได้งานจากเราเฉยๆ มันเป็นบรรยากาศการทำงานที่ดี”
ตัวแทนนักศึกษาฝึกงานธนาคารไทยพาณิชย์จากทั้งในและต่างประเทศที่มาร่วมพูดคุยกันในครั้งนี้ ได้แก่
- นพัตธร กวียานันท์ (อัน) นักศึกษา Chemical Engineering จาก University College London
- วิมินตา อภิมั่นจินดากุล (วิมมี่) นักศึกษา International Business จาก Boston University
- รมิดา หาญรัตนกูล (ปริม) นักศึกษา Economics จาก University College London
- นภัส กนกานนท์ (ไปป์) นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
- ธนาธร งามผาติพงศ์ (หมู) นักศึกษา Manufacturing Engineering จาก University of Nottingham
- พิชามญช์ กฤติยรังสิต (บีม) นักศึกษา Machanical Engineering จาก Imperial College London
- วริทธิ์ พานิชเกษม (ภู) นักศึกษา Economics จาก Carleton College
- ณณัฏฐ์ ชัยชนะวาณิชย์ (นะ) นักศึกษา Economics จาก University of Chicago
ส่วนน้องๆ ที่สนใจฝึกงานกับธนาคารไทยพาณิชย์ ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://careers.scb.co.th/th/university-collaboration-program