×

กรณ์ จาติกวณิช: คาเฟ่อเมซอน เมื่อรัฐทำธุรกิจแข่งกับประชาชน ปตท. บริษัทชั้นนำที่ทำได้แค่ขายกาแฟ

11.09.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • ปัจจุบันคาเฟ่อเมซอนมีสาขาในประเทศกว่า 2,260 สาขา ในจำนวนนี้ขยายออกไปนอกปั๊มน้ำมันกว่า 682 สาขา
  • อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเผย ภาษีนำเข้าเมล็ดกาแฟไทยสูงสุดอันดับ 2 ของโลก และ ปตท. ได้โควตาจำนวนมาก
  • อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเห็นว่า เราไม่ควรให้รัฐมา (ทำธุรกิจ) แข่งกับประชาชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกาแฟหรือเรื่องใด

คุณ (ปตท.) เป็นบริษัทชั้นนำของประเทศ มีคนเก่งที่สุด เพราะใครๆ ก็อยากทำงานกับ ปตท. แต่สุดท้ายคุณทำได้แค่ขายกาแฟแข่งกับชาวบ้านเหรอ

 

 

เมื่อ 2 สัปดาห์ที่แล้ว กรณ์ จาติกวณิช อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้รับเชิญไปแชร์ความคิดในหัวข้อ ‘การพัฒนาในยุค Digital Age’ กับกลุ่มผู้บริหารรุ่นใหม่ของบริษัทในเครือ ปตท.

 

กรณ์ตัดสินใจเปิดประเด็นกลางเวทีถึงการขยายสาขาของร้านกาแฟคาเฟ่อเมซอน รวมถึงการซื้อบริษัทผลิตไฟฟ้า GLOW ของ ปตท. เขาแสดงจุดยืนชัดเจนว่าไม่เห็นด้วย และกำลังจะยื่นเรื่องร้องเรียนในประเด็นนี้

 

 

วงแตกไหมครับ เราถาม

“ถามว่าเสียมารยาทไหม ผมมองว่าการที่เราไม่พูดแล้วไปพูดลับหลังต่างหากที่เสียมารยาท

 

“ผมไม่ได้มองว่าเขาเป็นศัตรู เพียงแต่อยากแลกเปลี่ยนกัน แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าพอถึงวันนี้ผมคงไม่ได้รับเชิญไปพูดที่ ปตท. อีก เพราะหลายๆ คนเขาก็เลือกที่จะมองผมเป็นศัตรู ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย แม้แต่การเมือง ความเห็นที่ต่างไม่ได้แปลว่าเราต้องเป็นศัตรูกัน

 

“อย่างไรก็ตามเราเองได้รับข้อความจากคนรุ่นใหม่ใน ปตท. ว่าเขาก็เห็นด้วย

 

“คุณเป็นบริษัทชั้นนำของประเทศ มีคนเก่งที่สุด เพราะใครๆ ก็อยากทำงานกับ ปตท. แต่สุดท้ายคุณทำได้แค่ขายกาแฟแข่งกับชาวบ้านเหรอ

 

“หัวใจของเรื่องที่ผมคาดหวังกับ ปตท. ในฐานะบริษัทชั้นนำของประเทศ คือผมอยากให้คุณออกไปแบบ ‘ซัมซุง’ (Samsung) ไปยึดครองตลาดต่างประเทศ มีนวัตกรรม มีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่มีผลในเชิงยุทธศาสตร์ต่อประเทศ ไม่ใช่มาทำในเรื่องที่ใครๆ ก็ทำได้”

 

ภาพ: Cafe Amazon/Facebook

 

ร้านกาแฟคาเฟ่อเมซอนถือกำเนิดขึ้นครั้งแรกในปี 2545 โดยผู้บริหาร ปตท. เห็นถึงโอกาสในการเพิ่มศักยภาพทางการตลาดของสถานีบริการน้ำมัน ปตท.

 

จึงได้วางแนวคิดให้เป็นธุรกิจหนึ่งในสถานีบริการน้ำมัน ปตท. ที่สร้างรายได้ให้กับสถานีฯ และตอบสนองต่อไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคและคนเดินทางได้มากขึ้น

 

ปัจจุบันคาเฟ่อเมซอนดำเนินกิจการภายใต้ ‘บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน)’ หรือ PTTOR โดยมี ปตท. ถือหุ้นใหญ่อยู่ และ PTTOR มีแผนจะเข้าตลาดหลักทรัพย์เร็วๆ นี้ คาดว่าจะเป็นช่วงปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า (2562)

 

ปัจจุบันคาเฟ่อเมซอนมีสาขาในประเทศกว่า 2,260 สาขา แบ่งเป็นสาขาในสถานีบริการ (ปั๊มน้ำมัน) 1,579 สาขา ร้านนอกปั๊มน้ำมัน ทั้งที่อยู่ในศูนย์การค้าและสแตนด์อโลน 682 สาขา นอกจากนี้ยังมีสาขาต่างประเทศอยู่อีกกว่า 140 สาขา

 

อย่างไรก็ตาม คาเฟ่อเมซอนเป็นของ ปตท. เพียง 10% ที่เหลืออีก 90% อยู่ในรูปแบบของแฟรนไชส์

 

 

เราไม่ควรให้รัฐมา (ทำธุรกิจ) แข่งกับประชาชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกาแฟหรือเรื่องใด

THE STANDARD นั่งคุยกับ กรณ์ จาติกวณิช ในร้านกาแฟภายในศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล หลังเขาเดินทางมายื่นร้องเรียนในประเด็นที่บอร์ด ปตท. มีมติให้บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบริษัท ปตท. เข้าซื้อหุ้นบริษัท โกลว์ พลังงาน จำกัด (มหาชน) หรือ GLOW

 

 

หลังพนักงานรับออร์เดอร์กาแฟ กรณ์ถามว่า “ถ้าสมมติคาเฟ่อเมซอนมาเปิดตรงนี้ จะมีผลอย่างไรกับร้านนี้ ไม่มีทางสู้ได้ ต้องยอมรับว่าร้านกาแฟเป็นช่องทางทำมาหากินของประชาชนมากขึ้นเรื่อยๆ เราไม่ควรให้รัฐมา (ทำธุรกิจ) แข่งกับประชาชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกาแฟหรือเรื่องใดก็แล้วแต่

 

“ผมฟังคำอธิบายของ ปตท. ก็โอเคในระดับหนึ่ง คือเขามีหน้าที่ดูแลราคาน้ำมัน แต่เขาจะดูแลได้ก็ต้องมีขึ้น ซื้อน้ำมันเขาเยอะๆ การที่จะทำได้ก็คือดึงคนเข้าปั๊มให้มากที่สุด ก็เลยทำกาแฟขายในปั๊มน้ำมัน

 

“แต่สำหรับผม ปัญหามันเริ่มเกิดเมื่อ ปตท. ขยับขยายร้านออกไปนอกปั๊ม และตอนนี้ก็ไปทั่ว โดยเฉพาะตามหน่วยงานของรัฐ ซึ่งไม่เว้นแม้แต่ที่นี่ เชื่อว่าอีกไม่นานก็โดน เพราะหน่วยงานของรัฐ ปตท. มีความได้เปรียบในการประสานขอใช้พื้นที่

 

“ถ้าเขาไปที่ไหน ประชาชนที่ค้ากาแฟอยู่ก็จะแข่งขันยาก ในอนาคตร้านกาแฟที่กำลังสร้างแบรนด์อยู่ก็จะแข่งขันยากยิ่งขึ้น โดยผู้ที่ทำให้การแข่งขันมันยากขึ้นก็คือรัฐเสียเอง ผมว่ามันไม่แฟร์!”

 

 

ปตท. ไม่ได้เป็นเจ้าของเองทั้งหมด เขาเปิดให้ประชาชนทั่วไปซื้อแฟรนไชส์ได้?

“ผมตั้งคำถามก่อนว่า ประชาชนคนธรรมดาทั่วๆ ไปขอแฟรนไชส์ ปตท. ได้จริงหรือ มันก็เป็นที่รู้กันว่าไม่ใช่ ถ้าคุณไม่มีเส้นสาย ไม่มีทุน เพราะคุณต้องใช้ทุนที่อย่างน้อยก็มากกว่าชาวบ้านทั่วไปที่เขามีความฝันอยากจะมีร้านกาแฟ เพราะฉะนั้นไม่ได้เป็นโอกาสสำหรับทุกคน

 

เอกสารการเป็นแฟรนไชส์คาเฟ่อเมซอน

 

“มองอีกมุมหนึ่ง ลองดูร้านกาแฟร้านที่เรานั่งอยู่ สมมติมีคาเฟ่อเมซอนมาเปิดข้างๆ คิดว่ามันต่างกันไหมว่าร้านคาเฟ่อเมซอนนั้นเป็นแฟรนไชส์หรือเป็นของ ปตท. เอง

 

“คำตอบคือไม่ต่าง ตายอยู่ดี ประโยชน์ก็ยังเป็นของ ปตท. อย่างปฏิเสธไม่ได้ และความได้เปรียบของแฟรนไชส์ก็มาจากการที่เขาอยู่ในเครือข่ายของ ปตท. ซึ่งเป็นความได้เปรียบที่ไม่เป็นธรรม”

 

 

กรณ์เผย ปตท. คว้าโควตานำเข้าเมล็ดกาแฟมากที่สุด

กรณ์บอกกับเราต่อว่า สิทธิการซื้อเมล็ดกาแฟซึ่งเสียภาษีสูงมาก แต่มีโควตาเว้นภาษีหรือเสียภาษีน้อยลง ซึ่ง ปตท. ได้โควตาจำนวนมาก

 

“คุณรู้หรือเปล่าว่าเราผลิตเมล็ดกาแฟน้อยกว่าความต้องการ ประเด็นปัญหาไม่ได้อยู่ที่ชาวไร่กาแฟไทย เพราะผลิตมาเท่าไรก็ขายได้ ความต้องการเราสูงกว่ากำลังผลิตเยอะ เพราะฉะนั้นเราต้องนำเข้ากาแฟจากต่างประเทศ

 

“ประเทศไทยมีอัตราภาษีนำเข้ากาแฟสูงที่สุดอันดับ 2 ของโลก ประมาณ 90% มันก็เลยมีการลักลอบเยอะและก็ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้

 

“ในส่วนที่ไม่ได้เป็นการลักลอบก็เป็นระบบโควตา เพราะฉะนั้นใครไม่มีโควตาต้องไปนำเข้าในอัตราภาษีกว่า 90% ส่วนใครที่มีโควตาก็ได้ต้นทุนที่ต่ำกว่า มันเป็นความลักลั่นที่ปรากฏอยู่ในภาวะความเป็นจริง”

 

 

เสนอทางออก ปตท. ขายคาเฟ่อเมซอนให้กลายเป็นเอกชนเต็มตัว

กรณ์บอกว่า ไม่ได้อยากจะยุบคาเฟ่อเมซอน “เขาสร้างมาได้ก็ถือว่าสุดยอด และก็มีแฟรนไชส์ที่เขาได้ประโยชน์จากการทำธุรกิจ

 

“แต่วิธีที่เขาจะต้องทำคือตัดความเป็นรัฐออกไป เพื่อให้การแข่งขันมันเป็นระหว่างเอกชนกับเอกชน ความหมายก็คือ ปตท. ควรจะขายธุรกิจคาเฟ่อเมซอนออกมาเลย

 

“ถามว่าขายให้ใคร ขายให้ผู้บริหารที่ตอนนี้ทำอยู่ ขายให้เจ้าของแฟรนไชส์ ขายให้ประชาชนที่เป็นลูกค้า คืนความเป็นเอกชน ซึ่งความได้เปรียบมหาศาลอยู่แล้ว เพราะตอนนี้สาขาก็เต็มไปหมด และ ปตท. ก็ต้องเปิดพื้นที่ปั๊มน้ำมันของตัวเองให้กับผู้ประกอบการรายอื่นอย่างเป็นธรรมด้วย

 

“หลายคนอาจท้วงว่า ร้านกาแฟอื่นๆ เช่น Black Canyon ก็มีอยู่ใน ปตท. แต่ถ้าเราดูในข้อเท็จจริง การบริหารทำให้เขาแข่งขันยากขึ้น ประชาสัมพันธ์ก็ไม่ได้

 

“มีบางเจ้าบอกผมว่า แม้แต่ประเภทขนมที่จะขาย ปตท. ยังจำกัดเพื่อไม่ให้ไปแข่งกับขนมที่ขายอยู่ในคาเฟ่อเมซอน เพราะฉะนั้นมันมีเรื่องที่เขาจะทำได้เพื่อรักษาแบรนด์คาเฟ่อเมซอนไว้ เพียงแต่เขาต้องตัดความเป็นรัฐออกไปเท่านั้นเอง”

 

 

ปตท. ที่ควรจะเป็นต้องขายน้ำมันอย่างเดียว

“ไม่” กรณ์ตอบทันที

 

“แต่ขอถอยกลับมาก้าวหนึ่งว่าเรามีรัฐวิสาหกิจไว้ทำไม เรามีไว้ให้บริการที่สำคัญต่อประชาชนในสิ่งที่ภาคเอกชนทำไม่ได้หรือไม่ทำ หรือมีไว้รักษาความมั่นคง เช่น ไฟฟ้า ซึ่งเป็นเรื่องที่เสี่ยงไม่ได้

 

“ผมก็ยังอยากที่จะรักษาเหตุผลที่มาของรัฐวิสาหกิจไว้เหมือนเดิม ไม่ใช่พอรัฐวิสาหกิจเข้าตลาดหลักทรัพย์ก็จะอ้างว่าสามารถทำอะไรเหมือนภาคเอกชนได้ทุกอย่าง เพราะยังไงคุณก็ยังต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมอยู่ เพียงแต่เราให้คุณไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่น เพิ่มแหล่งทุนให้กับคุณ

 

“ถามว่ากาแฟมันเป็นพันธกิจของรัฐวิสาหกิจไหม หรือแม้แต่ ปตท. ไปซื้อธุรกิจโรงไฟฟ้า ก็เหมือนไปทำธุรกิจกับลูกค้าของตัวเอง เพราะทุกคนต้องซื้อก๊าซจาก ปตท.

 

“ผมเปรียบเทียบ สมมติการท่าอากาศยานไปเปิดสายการบินของเขาเอง เราจะรู้สึกว่ามันไม่ใช่เรื่อง เพราะคุณเป็นคนกำหนดค่าใช้บริการ กำหนดว่าใครจะได้ใช้ประตูไหน

 

“แล้วจะมีใครเชื่อว่าคุณจะไม่เอื้อประโยชน์ให้สายการบินของคุณเอง อันนี้มันก็เรื่องเดียวกัน สังคมเรามีความเคยชินและด้านชากับอิทธิพลของรัฐและทุนใหญ่ จนเรื่องที่เราควรจะทักท้วงกลับกลายเป็นเรื่องปกติ”

 

กรณ์สะกิดเลขาฯ ส่วนตัว ขอให้โชว์ข้อมูลที่ทีมงานทำไว้

 

 

เป็นรายชื่อ 5 อันดับบริษัทใหญ่ที่สุดในตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐอเมริกา เทียบกับประเทศไทย

 

ที่อเมริกา 10 กว่าปีผ่านไป บริษัทยักษ์ใหญ่ในตลาดเปลี่ยนเกือบหมด แต่หันกลับมาดูประเทศไทย 10 กว่าปีผ่านไป บริษัทยักษ์ใหญ่ยังวนเวียนอยู่กับชื่อเดิมๆ หรือธุรกิจเดิมๆ ที่รัฐปกป้อง เช่น กลุ่มธนาคาร เพราะรัฐไม่อนุญาตให้ตั้งธนาคารใหม่ขึ้นมาทำธุรกิจได้

 

กรณ์บอกว่า ข้อมูลนี้สะท้อนชัดเจนถึงปัญหาการผูกขาดของกลุ่มทุนและภาครัฐในสังคมไทย เราไม่มีนวัตกรรม เพราะเราไม่มีพื้นที่ให้มันเกิด

 

“สำหรับผมมองว่า การแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรมในภาคธุรกิจเป็นเสมือนอีกด้านของเหรียญเดียวกันในเรื่องของสิทธิประชาชนในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งมันควรจะต้องมีอันหนึ่งเพื่อจะรักษาอีกอันหนึ่ง”

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X