×

ตูน บอดี้สแลม และ ไก่ ณฐพล กับเรื่องเล่าระหว่างการก้าวที่เจ็บแค่ไหนก็หยุดไม่ได้

06.09.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

10 MINS READ
  • 2,215 เชื่อ บ้า กล้า ก้าว คือภาพยนตร์คลุกวงในที่ตามติดชีวิตตูน บอดี้สแลม ตลอด 55 วันของการออกวิ่งในโครงการก้าวคนละก้าวเพื่อ 11 โรงพยาบาลทั่วประเทศ หนังพาคนดูไปสำรวจหลายๆ พื้นที่ที่ไม่เคยมีใครเห็นมาก่อน โดยได้ ไก่-ณฐพล บุญประกอบ มารับหน้าที่เป็นผู้กำกับ
  • ตูนและไก่รู้จักกันครั้งแรกเมื่อตอนที่ไก่เรียนต่อด้านการผลิตภาพยนตร์สารคดีที่นิวยอร์ก ส่วนตูนเดินทางไปเล่นคอนเสิร์ตที่นั่นพอดี ซึ่งไก่ขอเข้ามาถ่ายภาพเบื้องหลังคอนเสิร์ตให้วงบอดี้สแลม และทำให้ตูนได้เห็นมุมมองหลังกล้องที่เต็มไปด้วยอารมณ์จากภาพถ่ายของไก่เป็นครั้งแรก
  • ในขณะที่ตูนคิดว่าตัวเองค่อนข้างเอาแต่ใจและตึงเกินไปตลอดการวิ่ง 55 วัน  ซึ่งเขามีเรื่องที่อยากขอโทษผู้คนมากมาย แต่สำหรับไก่ผู้คอยติดตามชีวิตอยู่หลังกล้องกลับมองว่าตูนเป็นเหมือนนักบวชที่ควบคุมอารมณ์และความรู้สึกของตัวเองได้เป็นอย่างดี ถ้าเป็นเขาคงทนไม่ได้ตั้งแต่ 2 วันแรกแล้ว
  • 2,215 เชื่อ บ้า กล้า ก้าว เปิดฉายให้ชมฟรีทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 6-16 กันยายน คนดูสามารถร่วมบริจาคให้กับภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ โดยเงินบริจาคทั้งหมดจะไปร่วมสมทบทุนให้กับโครงการสร้างตึกนวมินทรบพิตร 84 พรรษา ของโรงพยาบาลศิริราช

ก่อนที่ 2,215 เชื่อ บ้า กล้า ก้าว ภาพยนตร์คลุกวงในตลอด 55 วันของโครงการก้าวคนละก้าวเพื่อ 11 โรงพยาบาลทั่วประเทศ จะเข้าฉายให้ชมฟรีพร้อมกันทั่วประเทศ THE STANDARD POP มีโอกาสนั่งคุยกับเจ้าของโปรเจกต์อย่าง ตูน-อาทิวราห์ คงมาลัย และ ไก่-ณฐพล บุญประกอบ ที่ยอมทิ้งโอกาสการทำงานที่นิวยอร์ก บินตรงกลับประเทศไทยเพื่อมารับหน้าที่ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องนี้โดยเฉพาะ

 

เรื่องเล่าระหว่างทางวิ่ง การยอมรับในตัวซึ่งกันและกัน ความเจ็บปวด ความเอาแต่ใจ ฯลฯ ที่แม้แต่กล้องถ่ายทอดสดตลอดระยะทางการวิ่งไปจนถึงกล้องของทีมงานภาพยนตร์ก็ไม่สามารถบันทึกไว้ได้หมด แต่ขณะเดียวกัน อีกหลายโมเมนต์ หลายอารมณ์ความรู้สึก กลับถูกบันทึกเอาไว้ในเมโมรีของหัวใจ ตลอดเส้นทางการวิ่ง 55 วันที่ถือเป็นประสบการณ์ชีวิตครั้งสำคัญที่ทั้งคู่จะไม่มีวันลืม

 

 

ตัวอย่างภาพยนตร์ 2,215 เชื่อ บ้า กล้า ก้าว

 

รู้สึกอย่างไรบ้างตอนที่ไก่และตูนเจอกันครั้งแรก

ตูน: ประมาณ 2-3 ปีที่แล้วผมไปทัวร์ที่นิวยอร์ก แล้วมีเพื่อนบอกว่ามีรุ่นน้องอยากขอมาถ่ายรูปบรรยากาศเบื้องหลังเวที

 

ไก่: อยากจะมาดูฟรี

 

ตูน: ความหมายของเราก็คือประมาณนั้นแหละ (หัวเราะ) เราก็บอกว่ามาเลย สบายๆ แล้วก็ได้เจอไก่ครั้งแรก วันนั้นไก่ก็อยู่ไปเรื่อยๆ เนอะ ตอนนั้นก็ไม่มีคนรู้นะว่าไก่เป็นทีมงานของวง

 

ไก่: พี่ตูนให้บัตรห้อยคอ All Area มา แล้วก็ไปปีนจอ LED แล้วโดนเขาดุมาด้วย

 

ตูน: แต่วันนั้นก็ผ่านไป ไม่ค่อยได้คุยอะไรกันมาก แล้วไก่ก็ส่งรูปมาในเมล เป็นรูปที่ผมชอบ แล้วผมก็เอาลงอินสตาแกรม คนที่เจอกันครั้งแรกหรือมาถ่ายรูปเบื้องหลังคอนเสิร์ตครั้งแรกๆ ส่วนใหญ่จะไม่เลือกสื่อสาร เลือกถ่ายในความเป็นเบื้องหลังที่อิโมชันนัลมากๆ รูปนั้นมีผมอยู่คนเดียวในห้อง มันมีอารมณ์อยู่ในนั้น แล้วผมรู้สึกพิเศษกับรูปนี้

 

พอได้กลับมาร่วมงานกันอีกครั้งในโปรเจกต์ 2,215 เชื่อ บ้า กล้า ก้าว พวกคุณได้เห็นมุมอื่นๆ ของกันและกันเพิ่มขึ้นอีกบ้างไหม

ตูน: ตั้งแต่คุยกันตอนประชุม นัดแนะงาน ไปถ่ายตอนซ้อมวิ่งบ้าง ก็ได้รู้จักในมุมของการทำงานมากขึ้น ได้สังเกตว่าเขามีวิธีการคิดแบบไหน เลือกตัดสินใจที่จะทำหรือไม่ทำอย่างไร บางครั้งก็สามารถมีข้อคิดเห็นอะไรที่ชวนเราคิดงานให้เกิดภาพมิติที่กว้างขึ้น รู้สึกว่าเขามีมุมคิดที่มีตรรกะที่คล้ายๆ กัน ทำให้ผมคลิกกับเขาได้ง่าย

 

ไก่: คำตอบของผมวัดยากว่ารู้จักมากขึ้นไหม เพราะเราโตมากับเพลงพี่ตูน รู้จักพี่ตูนมาก่อนในฐานะศิลปิน เล่นเพลงของบอดี้สแลม ติดตามเขามาตลอดตั้งแต่มัธยม พอได้มารู้จักพี่ตูนจริงๆ เขาไม่ต่างจากสิ่งที่เราสัมผัสได้จากเนื้อเพลง ผ่านสิ่งที่เขาทำ ผ่านสิ่งที่เขาให้สัมภาษณ์หรืออะไรก็ตาม ไม่ได้รู้สึกว่างานคอนเสิร์ตต้องเก๊กๆ ให้ดูเท่ๆ นะ หรืองานวิ่งต้องเป็นอีกคนที่ต้องเปิดรับคนนู้นคนนี้ เขาเป็นของเขาแบบนี้ในทุกๆ สภาพอยู่แล้ว

 

ถ้าพูดถึงเรื่องความเชื่อ ตูนมองเห็นสิ่งนี้จากไก่ในฐานะผู้กำกับภาพยนตร์อย่างไรบ้าง

ตูน: เขาจบนิเทศศาสตร์ แล้วเลือกเรียนต่อในสายสารคดีที่เขาชอบที่นิวยอร์ก มันจะมีสักกี่คนที่จบนิเทศฯ แล้วมาทำแบบนี้ บางคนคงอยากทำหนังปกติที่บันเทิง ทำเงิน ที่ต่อยอดให้เกิดอาชีพ เกิดอะไรที่ยั่งยืน ผมไม่รู้หรอกว่าสารคดีจะยั่งยืนหรือเปล่า แต่แน่นอนว่ามันไม่ใช่หนังแบบฮอลลีวูด หรือกระทั่งกระแสหนังในเมืองไทยก็ตาม ไม่ใช่หนังที่ทำรายได้ให้กับตัวค่ายหรือตัวผู้กำกับได้มาก ก็รู้สึกว่า เออ น่าสนใจเนอะ คนที่เลือกไปต่อในสายที่มันไม่…

 

ไก่: ไม่ทำเงิน

 

ตูน: ไม่ธรรมดา (หัวเราะ) คนคนนี้คงมีเชื้ออะไรบางอย่างที่น่าสนใจ ถ้าได้รู้จักมักคุ้นกัน มันเตะตาเตะใจมาตั้งแต่ตอนนั้นนะ คนแบบนี้มันดีเว้ย จนสุดท้ายได้มาขลุกกันจริงๆ เรารู้สึกว่า เออ เขาเหมาะสม เหมาะสมที่ไปเรียนทางด้านนี้แล้วได้มาทำในเรื่องที่เราออกไปวิ่ง

 

ไม่มากก็น้อยคือเขาอยู่ถูกที่ถูกเวลา รวมทั้งทีมของเขาอีก 3 คนด้วยนะ อยู่ทุกที่ทุกเวลาจริงๆ บางทีตื่นมาผมเจอกล้องแล้วยังไม่ได้แปรงฟันเลย เปิดม่านมาก็สแตนด์บายแล้ว โอเค ได้ เดี๋ยวกูไปขี้ก่อนนะ (หัวเราะ)

 

เรื่องความเชื่อของตูนคงไม่ต้องพูดถึงกันอยู่แล้ว แต่ในเรื่องความบ้า ไก่มองเห็นความบ้าซ่อนอยู่ในตัวผู้ชายคนนี้มากขนาดไหน

ไก่: ไม่ใช่แค่พี่ตูน ทุกคนในโปรเจกต์นี้มีคำว่าบ้าอยู่แล้ว ไม่ว่าจะมาในตำแหน่งใดๆ ก็ตาม ยกตัวอย่างพี่เอก ที่ถ่ายกล้องไลฟ์ขบวนวิ่ง ถ้าพี่ตูนคือคนที่วิ่งจากเบตงไปถึงแม่สายคนแรกๆ พี่เอกก็คือคนที่นั่งหันหลังจากเบตงถึงแม่สายคนแรกเหมือนกัน ทุกตำแหน่งบ้าหมดครับ เป็นโครงการที่เอื้อให้ทุกคนได้ทำอะไรที่เป็นที่สุดของชีวิต ทุกหน้าที่ที่เคยทำในชีวิตปกติ พอมาอยู่ตรงนี้ทุกอย่างมันทวีคูณหมดเลย

 

ตูน: อีกคนหนึ่งที่ผมอยากพูดถึงคือพี่โอ๊ต (ธีรทัต สังขทัต ณ อยุธยา) ที่เป็นเมเนเจอร์คอยจัดการเรื่องต่างๆ ในโครงการ กับทีมงานของเขาประมาณ 20-30 คน ที่ต้องคอยตื่นก่อนเลิกทีหลังตลอดเวลา ไปตั้งจุดสตาร์ทจุดนี้ ไปดักจุดนั้น ต้องทำแบบนี้ซ้ำๆ ตลอด 55 วัน ผมรู้ว่ามันเหนื่อยมาก เหนื่อยจนหลายคนก็ป่วย หลายคนต้องออกจากขบวนไปกลางคัน

 

พี่โอ๊ตเองก็เจอกับหลายๆ เรื่อง หลายๆ คนที่เข้ามาหลายๆ รูปแบบ ซึ่งเขารับมือกับมันได้ โอเค มันไม่สามารถทำให้ทุกคนพอใจได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ผมคิดว่าเขาสอบผ่านและทำได้ดี จนโครงการนี้สำเร็จลงได้ ต้องขอบคุณพี่โอ๊ตและทีมงานทั้งหมดที่ทำงานปิดทองหลังพระ ผมแค่วิ่งอย่างเดียว ผมโอเคแล้ว แต่ยังมีอีกเป็นร้อยคนที่เหนื่อยกว่าผมอยู่เบื้องหลัง สังเกตจากหน้าตาของแต่ละคนที่เปลี่ยนไปในแต่ละครั้งที่ตื่นมาเจอกัน รู้สึกว่าเขาทุ่มเทมาก ในขณะที่พลังชีวิตเริ่มน้อยลงทุกที

 

 

นอกจากอยากขอบคุณแล้วมีอยากขอโทษใครบ้างไหม เพราะเท่าที่ติดตามโครงการนี้มา ตูนถือว่าเป็นคนที่ดื้อและเอาแต่ใจตัวเองพอสมควรเหมือนกันนะ

ตูน: ถ้าขอโทษได้ผมขอโทษทุกคนเลยนะ ผมเกรงใจทุกคนมากจริงๆ นะ ผมเป็นอย่างที่ทุกคนรู้ ถ้าอยากทำอะไรชิ้นหนึ่ง ผมก็อยากทำให้ปลายทางมันสำเร็จ แต่ระหว่างทางก็ต้องรบกวน ขอความช่วยเหลือคนเยอะมากเลย พอโครงการจบ เรารู้สึกว่าในระหว่างทางเราร้อนเกินไป บางครั้งเราเห็นแก่ตัวมากเกินไป เพราะเราเป็นคนแถวๆ ที่เรียกว่าเล็งผลเลิศ เลือกตัดสินใจโดยยึดเป้าหมายเป็นหลัก แต่ไม่ค่อยเอาใจคนเป็นหลักเท่าไร

 

ถ้าเป็นเวลาปกติผมจะใช้ชีวิตแบบผ่อนหนักผ่อนเบา แต่เมื่อไรก็ตามที่กระโจนเข้าไปทำงานร่วมกัน มีเป้าหมายร่วมกัน บางทีเส้นของผมมันจะตึง แล้วรู้เลยว่าไอ้เส้นที่ตึงมาก มันอาจไปดึงเส้นของใครให้ตึงจนขาดได้ ผมรู้ตัวนะครับ แต่มันไม่สามารถประนีประนอมได้ จริงๆ แล้วผมรู้สึกขอโทษทุกคนจริงๆ

 

ความขัดแย้งที่คนขี้เกรงใจอย่างตูน ต้องไปอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องตึงและเอาแต่ใจอยู่ตลอดเวลา น่าจะเป็นคอนเทนต์ชั้นดีสำหรับการเอามาเล่าเรื่องในหนังเลยหรือเปล่า

ไก่: คือตึงของพี่ตูนกับตึงของเราไม่เหมือนกัน หย่อนของพี่ตูนกับหย่อนของเราก็ไม่เหมือนกัน ในฐานะที่ผมสังเกตเหตุการณ์นี้มาตลอด ถ้าเทียบตัวเองมาอยู่ในสถานะพี่ตูน ผมคงขาดไปตั้งแต่หนึ่งหรือสองวันแรกแล้ว สภาวะแรงกดดันต่างๆ ไม่ว่าจะความลำบากในร่างกาย ระยะทางที่ค่อนข้างหนัก แล้วพี่ตูนเป็นเหมือนตาของพายุที่ทุกอย่างต้องหมุนรอบเขา ไม่รู้พูดเกินไปหรือเปล่า แต่สำหรับผมพี่ตูนเหมือนนักบวช

 

ภาษาอังกฤษจะมีคำว่า devil advocate ที่จะมีตัวร้ายในหัวบอกเราว่า เฮ้ย ความฉิบหายต้องเกิดสิ เราจะได้คอนเทนต์หรืออะไรบางอย่าง ไม่ได้หมายถึงว่าเชียร์ให้เกิดอุบัติเหตุนะ แต่สถานการณ์วิ่ง 55 วันที่มีคนมากมายมาเกี่ยวข้อง มันเอื้อให้เกิดคอนฟลิกซ์ได้เยอะมาก แต่พี่ตูนควบคุมจิตใจและร่างกายของตัวเองได้ดีมาก จนบางทีเสียงปีศาจในหัวจะบอกว่า เฮ้ย ทำไมพี่ถึงควบคุมตัวเองได้ดีขนาดนี้วะ (หัวเราะ) แต่จิตปกติของเราก็จะรู้สึกว่า มันต้องสำเร็จอยู่แล้ว เพราะมันคือสิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศนี้ ในโลกใบนี้

 

ถ้าคนที่วิ่งไม่ใช่ตูน หรือเป็นตูนที่ควบคุมตัวเองได้ไม่ดีขนาดนี้ หนังเรื่องนี้จะสนุกกว่านี้ไหม

ไก่: เป็นไปได้ มันคงมีความหวือหวาในแง่ความขัดแย้งหรืออะไรก็ตามที่เกิดขึ้น แต่สุดท้ายสิ่งนั้นไม่ใช่ประเด็นสำหรับผมนะ เพราะเราไม่ได้มองงานนี้แบบหนังทั่วๆ ไป เราร่วมงานเพื่อสร้างสิ่งดีๆ ให้มันเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นดราม่าบางอย่างที่คาดหวังเลยไม่ใช่ปัจจัยที่เราจะเอามาเป็นน้ำหนัก

 

เคยรู้สึกไม่อยากยกกล้องขึ้นมาเก็บภาพอีกต่อไปแล้วบ้างไหม เวลาเห็นช่วงเวลาที่ยากลำบากมากๆ หรือเห็นตูนต้องเจ็บอยู่บ่อยๆ

ไก่: อย่างซีนฉีดยาที่เห็นในตัวอย่างหนัง อยู่ๆ น้องเอ็มตากล้องถ่ายภาพก็น้ำตาไหลออกมา แต่พอเรารู้จักพี่ตูน รู้ว่าเขาเป็นคนแบบไหน เราจะรู้เลยว่ามันหยุดไม่ได้จริงๆ เมื่อสร้างเป้าหมายแบบนี้มาแล้วเขาต้องไปให้สุด เราก็ต้องไปให้สุดเหมือนกัน

 

 

ตูนได้ยินคนบอกให้หยุดโครงการนี้บ่อยขนาดไหน

ตูน: จริงๆ ระหว่างวิ่งผมไม่ค่อยได้อ่านคอมเมนต์อยู่แล้ว เราใช้ชีวิตแบบมีสติ มีเป้าหมาย มีวิธีการของเรา คิดแค่ว่าถ้าเราออกไปทำแล้วไม่ทำให้เดือดร้อน และมันจะสร้างอะไรขึ้นมาได้สักนิดหน่อย ช่วยชีวิตคนได้บ้าง เราเลือกที่จะทำ

 

ระหว่างทางก็ได้ยินตลอดจริงๆ ครับ จากคนใกล้ตัว แต่ไม่ถึงกับให้หยุดเลย แต่อยากให้พักเพิ่มสักหน่อยไหม อย่างหมอเมย์ (พญ.สมิตดา สังขะโพธิ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาเวชศาสตร์ฟื้นฟูที่คอยดูแลตูนตลอดการวิ่ง) บอกว่า ถ้าเจ็บขนาดนี้แล้วมาหาหมอ หมอให้พักเป็นเดือนเลยนะ แต่เราคิดว่าไม่ได้ เพราะเราตั้งโจทย์มาแบบนี้แล้ว ถ้าไม่ทำจะตั้งขึ้นมาทำไม เราพูดแค่ว่าจะวิ่ง 2,000 กิโลเมตรในเวลาเท่าไรก็ได้สิ แต่มันเป็นความท้าทายส่วนตัวว่า ครั้งที่แล้วตอนบางสะพานเราทำได้วันละ 40 กิโลเมตร ติดกัน 10 วัน ครั้งนี้เพิ่มอีกสักหน่อยเป็น 50 กิโลเมตร ก็เอาไปหาร 2,000 กว่าๆ ได้ 40 วันนิดๆ รวมวันพักเป็น 55 วัน ผมคำนวณแบบเถรตรงมาก คณิตศาสตร์ซื่อๆ ไม่ต้องถอดรูท ถอดอะไร (หัวเราะ) ทำได้ไม่ได้ไม่รู้หรอก แต่เราขอทำให้เต็มที่กับโจทย์ที่ตั้งเอาไว้ก่อนแค่นั้นเอง

 

เคยคิดเอาไว้หรือเปล่าว่าร่างกายต้องทนไปถึงจุดไหนแล้วถึงจะยอมหยุดจริงๆ

ตูน: มีวันวิ่งเข้ากรุงเทพฯ ที่รู้ตอนตรวจเลือดว่าไอ้ค่าเลือดที่บ่งชี้ถึงอาการไตวายเฉียบพลันมันขึ้นไปสูงขนาดว่าเกือบไปแล้ว ใช้คำว่ากลัวได้ไหมไม่แน่ใจ แต่มันขนลุกวูบขึ้นมาเหมือนกันนะว่า เออ เกือบไปแล้วเนอะ มิน่าล่ะ ทำไมถึงหน้ามืดตรงนี้ กลับมาคิดคนเดียว เพราะบางทีผมไม่ค่อยบอกหมอ  

 

มีโกหกอะไรคุณหมออีกบ้าง

ตูน: พวกอาการหน้ามืดนี่แหละครับ ผมชอบก้มลงไปเวลาเจอเด็กหรือคนแก่ พอลุกขึ้นมาบางทีก็จะวูบๆ ไป แต่หยุดไม่ได้ ต้องทำเวลาแล้วเรารู้สึกว่ายังไปต่อได้ คิดในใจว่ามันคงเป็นอาการปกติของคนที่พักผ่อนน้อยแล้วมาออกกำลังมั้ง ฝากขอโทษคุณหมออีกคนหนึ่งด้วยแล้วกันครับ (หัวเราะ)

 

 

ได้ยินมาว่าหลังจากดูหนังจบแล้วตูนนั่งเงียบๆ คนเดียวอยู่ 5 นาที ตอนนั้นคิดอะไรอยู่

ตูน: เราไม่อยากให้คนมาโฟกัสที่เราเยอะ ตั้งแต่โครงการกรุงเทพฯ-บางสะพานแล้ว อยากให้โฟกัสที่ข้อความที่เราสื่อสารมากกว่า แต่ก็เป็นเพราะคำแนะนำของพี่ปิงปอง (นิติพัฒน์ สุขสวย Managing Director สำนักข่าว THE STANDARD) ที่บอกว่า ถ้าจะทำแล้วทำไมไม่ทำให้คนรู้เยอะที่สุด ผมก็เลยเลือกไปทีวี ไปสัมภาษณ์ให้คนได้รับรู้ข้อความที่เราจะสื่อสารมากที่สุด เพื่อให้ผลตอบรับคุ้มค่ากับสิ่งที่เราลงมือทำ

 

แต่ธรรมดาผมจะเป็นคนขี้กลัวไปหมดเลย กลัวคนมาหาว่าเราทำสิ่งนี้เพื่อผลอันนี้ และผมรู้ว่าถ้าเจอแบบนั้นแล้วใจผมจะรู้สึกแบบไหน แต่สุดท้ายถ้ามีหนังสักเรื่องแล้วมาโฟกัสที่เราอีกก็จะแบบ โอ๊ย กูบอกแล้วไงว่าอย่าทำเรื่องกู ให้ไปโฟกัสที่อื่น รูปโปสเตอร์ที่ผมเลือกยังเป็นรูปที่ปิดหน้าครึ่งหนึ่งเลย (หัวเราะ) กลัวคนเบื่อ และเดี๋ยวเขาหาว่าทำหนังโปรโมตตัวเองอะไรแบบนี้ ในใจเราอยากเห็นมวลความสวยงามข้างทางที่เกิดขึ้นมากกว่า

 

 

ถ้าอย่างนั้นทำไมถึงไม่บอกให้แก้ เพราะในฐานะเจ้าของโปรเจกต์ตูนน่าจะมีสิทธิ์ขาดตรงนี้อยู่

ตูน: เพราะมันไม่ใช่หนังของผม เป็นหนังที่ทำด้วยกัน จริงๆ ทำแบบนั้นก็คงได้มั้ง แต่ผมจะเป็นคนอีกแบบเลย แล้วผมไม่อยากทำแบบนั้นในงานชิ้นนี้ที่ทุกคนร่วมแรงร่วมใจกัน และคิดว่ามันน่าจะเกิดประโยชน์กับใครได้จากเรื่องราวของเรา จากสิ่งที่เราเป็น หรือจากอะไรก็ตามที่เราทำ ผมขอบคุณทุกคนนะครับที่ทุ่มเทแรงกาย แรงใจ สมอง มาช่วยในโปรเจกต์นี้ ทั้งๆ ที่ทุกคนไม่ได้อะไร เป็นงานการกุศลแต่ทุกคนก็ทำออกมาอย่างเต็มที่

 

ถ้าเอาภาพของตัวเองออกไป แล้วดูเหมือนหนังปกติทั่วไปเรื่องหนึ่ง 2,215 เชื่อ บ้า กล้า ก้าว คือหนังแบบไหน

ตูน: ผมนั่งอึนอยู่แป๊บหนึ่ง แต่บอกได้เลยว่าผมเอ็นจอยกับมันมาก ผมได้รับพลังงานดีๆ นะครับ เป็นหนังที่ดีมาก เป็นแค่พาร์ตความกลัวส่วนตัวอย่างเดียวเลยที่ตีกันระหว่างพลังงานดีๆ ที่ได้รับกับการต้องเห็นภาพโฟกัสมาที่ตัวเองทำให้อึน เป็นพาร์ตที่คนอื่นไม่มีหรอกครับ สุดท้ายก็ให้หนังออกมาในแบบที่ทุกคนคิดว่ามันควรจะเป็น

 

เพราะหนังเรื่องนี้ผมไม่ได้ทำเพื่อตัวผม แต่อยากให้หนังเป็นตัวแทนคำขอบคุณของพวกเราตลอดโปรเจกต์ก้าวคนละก้าวตั้งแต่ครั้งแรกจนถึงครั้งที่สอง ที่ทุกคนออกมาร่วมด้วยช่วยกันด้วยใจ ออกมาฟรีๆ ให้ข้าว ให้น้ำ ให้ใจ ให้เงินบริจาคต่างๆ เลยคิดว่าถ้าจะมีหนังสักเรื่องหนึ่งจากพวกเรา ก็อยากให้ทุกคนได้ดูกันแบบฟรีๆ เช่นเดียวกัน สุดท้ายเราก็มีผู้ใหญ่ใจดีเป็นสปอนเซอร์ จนสามารถทำให้ทุกคนได้รับชมกันแบบฟรีๆ ได้ทั่วประเทศ

 

 

ทำไมถึงระดมทุนจากเงินบริจาคของหนังเรื่องนี้ให้กับโรงพยาบาลศิริราช

ตูน: ตอนนี้โรงพยาบาลศิริราชกำลังสร้างตึกใหม่ชื่อว่า นวมินทรบพิตร 84 พรรษา ความสำคัญของตึกนี้คือ หนึ่งเป็นตึกที่ดูแลผู้ป่วยยากไร้ สองคือเป็นตึกที่สร้างบุคลากรทางการแพทย์หรือนักเรียนแพทย์เพื่อกลายมาเป็นแพทย์ที่มีคุณภาพต่อไป เพราะนอกจากเครื่องไม้เครื่องมือที่ขาดแคลน แพทย์ที่ชำนาญการเก่งๆ ก็สำคัญ และตึกนี้ก็จะเป็นส่วนกลางที่ผลิตบุคลากรเหล่านั้นออกมาเติมเต็มส่วนที่ขาดของโรงพยาบาลต่างจังหวัดต่อไป

 

รวมถึงความหมายอีกนัยสำคัญที่ผมรู้สึกกับมันมากคือ ตึกนี้จะเป็นตึกสุดท้ายที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ของเราพระราชทานชื่อไว้ให้ เพราะเราเกิดมาในยุคของพระองค์ ส่วนตัวของผมก็อยากทำให้ตึกนี้เป็นของขวัญจากพวกเราคนไทยที่ช่วยกันทำให้เสร็จสมบูรณ์ใช้การได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยเร็วที่สุด

 

อีกเหตุผลคือ เมื่อปีสองปีที่แล้ว หลังจากวิ่งกรุงเทพฯ-บางสะพานเสร็จ ก็มีคุณหมอกีรติ (ศ.นพ.กีรติ เจริญชลวานิช กรรมการประจำคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล) อยากพานักเรียนแพทย์ที่ทำโครงการวิ่งผลัดจากเชียงรายลงมากรุงเทพฯ เพื่อบอกเล่าเรื่องราวและระดมทุนจากประชาชนเพื่อสร้างตึกนวมินทรบพิตร 84 พรรษา มาเจอเรา เผื่อว่าเราให้กำลังใจหรือคำแนะนำอะไรได้บ้าง

 

พอได้เจอกันก็ได้รู้ว่าคุณหมอและทีมแพทย์สมัยก่อนเมื่อ 30 ปีที่แล้วเคยทำโครงการในลักษณะนี้ ออกวิ่ง ชวนมาออกกำลังกาย ในขณะเดียวกันก็รับเงินบริจาคเพื่อสร้างอาคารสยามินทร์ พอรู้เรื่องนี้ยิ่งทำให้รู้สึกว่าคุณหมอก็เหนื่อยกับการรักษาคนอยู่แล้ว นักเรียนแพทย์ก็ต้องเหนื่อยกับการเรียน แล้วยังต้องมาคิดกิจกรรม คิดงานเพื่อระดมทุนสร้างตึกใหม่เพื่อให้มีเครื่องไม้เครื่องมือดีๆ เพื่อมารักษาพวกเราอีก สุดท้ายแล้วเขาต้องทำทุกมิติเลยเหรอ

 

เราอยากกระจายข้อความเหล่านี้ไปให้ทุกคนได้รู้ว่า เขาต้องทำทุกอย่างเลยนะ แล้วทำไมเราจะไม่ช่วยกัน ในฐานะผู้กำกับคนหนึ่ง ในฐานะสื่อ พ่อค้า นักศึกษา คนขับแท็กซี่ ฯลฯ ใครทำอะไรได้ช่วยเขาไหม นิดหน่อยก็ได้ เราไม่ได้ถามหาเงินล้านจากคนที่มีร้อย เราถามหาแค่ความช่วยเหลืออะไรก็ได้ ช่วยให้กำลังใจก็ได้

 

หรืออย่างน้อยช่วยเข้าใจเรื่องนี้ แล้วช่วยบริจาคตัวเองออกมาจากระบบก็ได้ ออกกำลังกาย ดูแลตัวเองให้ดี ป้องกันโรคบางโรคที่เกิดจากพฤติกรรมการกิน การใช้ชีวิต เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง ไม่ต้องเข้าไปค้างอยู่ในระบบการรักษา แล้วให้ตรงนั้นเป็นที่ของคนป่วยที่จำเป็นจริงๆ แค่นี้ก็ช่วยได้แล้ว ไม่จำเป็นต้องลงเงินก็ได้ แต่สำหรับคนที่มีความสุขกับการได้เห็นตึกนี้สร้างสำเร็จ ภูมิใจที่ได้บริจาคเราก็ยินดี นี่คือสิ่งที่ผมอยากบอกทุกคนว่า อย่าให้คุณหมอ นักเรียนแพทย์ หรือพยาบาลต้องทำทุกมิติด้วยตัวเองขนาดนั้นเลย เรามาช่วยกันเติมเต็มในสิ่งที่เราทำได้กันเถอะ

 

ภาพ: ศศิพิมพ์ อนันตกรณีวัฒน์ และ GDH 559

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

FYI
  • ก่อนมารับหน้าที่ผู้กำกับเรื่อง 2,215 เชื่อ บ้า กล้า ก้าว ไก่เคยทำงานในฐานะคนเขียนบทภาพยนตร์มาแล้ว 2 เรื่อง คือ SuckSeed ห่วยขั้นเทพ และ เมย์ไหน..ไฟแรงเฟร่อ และตัดสินใจเดินทางไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโทที่ School of Visual Arts, New York สาขา Social Documentary Film (ผลิตภาพยนตร์สารคดี)
  • ภาพยนตร์เรื่อง 2,215 เชื่อ บ้า กล้า ก้าว จะเข้าฉายให้ชมฟรี! ในโรงภาพยนตร์ทั้งเครือเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์และเอส เอฟ ซีเนม่าทั่วประเทศ จำนวน 720,000 ที่นั่ง ตั้งแต่วันที่ 6-16 กันยายนนี้
  • สำหรับผู้ที่สนใจรับชมภาพยนตร์เรื่อง 2,215 เชื่อ บ้า กล้า ก้าว สามารถติดตามรอบฉายและเงื่อนไขการชมภาพยนตร์ รวมทั้งรายละเอียดในการร่วมบริจาคเงินได้ที่เฟซบุ๊กเพจ ก้าว @kaokonlakao และเฟซบุ๊กเพจ GDH @gdh559
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X