ฌอง ปอล โกลติเยร์
‘Passion’ คำที่ช่างมีความหมายยิ่งใหญ่ เพราะแพสชันเหมือนเป็นแรงผลักดันให้เราก้าวเข้าไปสู่ ‘จุดพอใจในชีวิต’ ได้ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ซึ่งผมตั้งใจที่จะใช้คำว่าจุดพอใจในชีวิต แทนที่จะใช้คำว่า ‘ประสบความสำเร็จ’ เพราะผมเชื่อว่าสำหรับหลายๆ คน (รวมทั้งตัวผมเองด้วยนั้น) ประเมินค่าคำว่าประสบความสำเร็จที่แตกต่างกัน แต่การที่ได้ก้าวไปสู่จุดพอใจดังที่หวังไว้และเป็นอยู่ ก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว คงเหมือนกับการที่ผมหลงใหลในเรื่องราวของโลกของแฟชั่นมาตั้งแต่เป็นเด็กจนโต และการที่ได้มานั่งเขียนบทความเกี่ยวกับแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ให้คุณผู้อ่าน THE STANDARD ในขณะนี้ ก็ถือเป็นอีกหนึ่งความสุขบนจุดพอใจในชีวิตเช่นกัน ผมมีความสุขที่ค้นพบว่าตัวเองชอบอะไร และได้ถ่ายทอดสิ่งเหล่านี้ผ่านทางตัวหนังสือไปยังคุณผู้อ่านที่มีแพสชันเดียวกัน ซึ่งถ้าหากต้องขอบคุณใครสักคนที่ทำให้ผมได้ค้นพบแพสชันของตัวเอง คงเป็น ‘นักสร้างสรรค์’ ที่โลกรู้จักกันเป็นอย่างดี ‘Jean Paul Gaultier’
ฌอง ปอล โกลติเยร์ คือหนึ่งในบุคคลสำคัญของวงการออกแบบที่ไม่ใช่เพียงเรื่องของแฟชั่น แต่ยังครอบคลุมไปยังงานออกแบบเชิงพาณิชย์ศิลป์แทบทั้งหมด เพราะคุณสมบัติชั้นยอดของนักคิดที่ดีอาจไม่ได้หยุดอยู่เพียงแค่เรื่องของเครื่องแต่งกาย แต่ยังสามารถเนรมิตรสิ่งยั่วกิเลสที่อยู่รายรอบตัวเราให้ออกมางดงามได้เช่นกัน ดังนั้นตลอดระยะเวลา 40 ปีที่โลดแล่นอยู่ในโลกของงานออกแบบ ที่แม้จะมีเรื่องของแฟชั่นเป็นอาชีพหลัก แต่เรายังได้เห็นงานดีไซน์ในชื่อของ Jean Paul Gaultier อีกหลากหลาย ตั้งแต่สินค้าแฟชั่น เครื่องสำอาง เครื่องหอม เฟอร์นิเจอร์ ต้นคริสต์มาส ไปจนถึงคอสตูมสำหรับบัลเลต์ ละครบรอดเวย์ ทัวร์คอนเสิร์ตของศิลปิน และภาพยนตร์ขึ้นหิ้งอีกหลายเรื่องที่คน Gen-Y ยันยุคมิลเลนเนียลรู้จักกันเป็นอย่างดี เช่น Kika, The Fifth Element และ The Skin I Live In
ฌอง ปอล มีความรักในสิ่งที่ทำอย่างแท้จริง และมีความสุขในการทำงานตลอดช่วงเวลา 4 ทศวรรษที่ผ่านมา ถ้าหากเราเอาตามหลักทฤษฎีที่ว่า ความสุขสามารถถ่ายทอดให้แก่กันได้ ผลงานของ ฌอง ปอล โกลติเยร์ คงเป็นตัวนำสารแห่งความสุขชั้นดี ที่ทำให้ตัวผมและเพื่อนๆ ที่ชอบงานดีไซน์หลายคนมีความสุขทุกครั้งที่ได้เห็น
ภาพยนตร์เรื่อง The Fifth Element คอสตูมโดย ฌอง ปอล โกลติเยร์
คอสตูมสำหรับ มาดอนนา ใน Blond Ambition Tour (ซ้าย), MDNA Tour (ขวา)
เรื่องราวเกี่ยวกับความหลงใหลในโลกแฟชั่นของ ฌอง ปอล โกลติเยร์ น่าสนใจชนิดที่ว่าเมื่อได้ฟังหรืออ่านการให้สัมภาษณ์แล้ว ก็ทำให้อดย้อนถามตัวเองไม่ได้ว่า “ค้นพบแพสชันตั้งแต่เมื่อไร”
ย้อนกลับไปในสมัยที่ยังเป็นเด็กชายฌอง ปอล หนูน้อยคนนี้คือหนึ่งในเด็กที่ค้นพบความหลงใหลต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งตั้งแต่เยาว์วัย ในขณะที่เด็กคนอื่นนิยมทำกิจกรรมหรือเล่นกีฬาตามประสาเด็กผู้ชาย แต่ฌอง ปอลมีความปรารถนาที่จะตัดเย็บชุดให้ ‘NaNa’ ตุ๊กตาหมีเท็ดดี้ได้สวมใส่ไปอวดเพื่อนๆ หนึ่งในชุดเด่นของ NaNa ที่ติดตาคนทั่วไปคือ ‘บราทรงกรวยแหลม’ ที่ตัดเย็บจากกระดาษ ซึ่งเจ้าหมีเท็ดดี้ตัวนี้โชคดีที่ได้ใส่ Cone Bra หนึ่งในไอคอนิกของ ฌอง ปอล โกลติเยร์ ก่อนที่เขาจะนำเสนอเป็นคอสตูมชิ้นเด่นสำหรับราชินีเพลงป๊อป มาดอนนา ใช้ทัวร์คอนเสิร์ต Blond Ambition ของเธอเสียอีก
ไม่เพียงชื่นชอบการตัดชุดให้ตุ๊กตาสวมใส่เท่านั้น เขายังหลงใหลการแสดงคาบาเรต์ในโรงละครชื่อดังของฝรั่งเศสอย่างFolies Bergère และ Moulin Rouge ตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้ไปชม จากความประทับใจในความงดงามของคอสตูมสำหรับการแสดง ทำให้เกิดการตัดเย็บชุดสำหรับใส่ได้จริงชุดแรกโดยฝีมือของฌอง ปอล ในขณะที่มีอายุเพียง 9 ขวบเท่านั้น! สำหรับผมแล้วคิดว่านี่คือเรื่องมหัศจรรย์ที่เกิดจากแรงผลักดันภายใน มันคือความหลงใหลที่แท้จริง เพราะหากให้คุณผู้อ่านลองนึกย้อนกลับไปในขณะที่มีอายุเพียง 9 ขวบ หรือใกล้เคียงกับช่วงเวลาที่กำลังเรียนอยู่ชั้น ป.3 ผมขอกระซิบถามเบาๆ ว่าขณะนั้น “เราค้นพบแพสชันในตัวเองแล้วหรือยัง”
NaNa ตุ๊กตาหมีเท็ดดี้ นางแบบคนแรกของ ฌอง ปอล โกลติเยร์
Moulin Rouge หนึ่งในสถานที่ที่สร้างแรงบันดาลใจให้ ฌอง ปอล โกลติเยร์
เพียงแค่หลงใหลในเรื่องที่ทำนั้นคงไม่อาจทำให้ผมประทับใจนักออกแบบปารีเซียงรุ่นใหญ่คนนี้มากไปกว่าคนอื่นๆ แต่ที่ผมถึงขั้นตกหลุมรักผลงานของฌอง ปอล เพราะรวมกับการตกผลึกทางความคิด เขาจึงมักออกแบบผลงานจากการสังเกตสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัว แรงบันดาลใจที่ได้มาจากวัฒนธรรมของทุกพื้นที่ที่ได้ไปเยือน การตั้งคำถามกับบรรทัดฐานที่สังคมเป็นผู้กำหนด และเหนือสิ่งอื่นใดคือการสะท้อนตัวตนข้างใน ซึ่งไม่ต่างจากการที่ศิลปินชื่อดังละเลงผืนผ้าใบ เสกให้จินตนาการกลายเป็นรูปขึ้นมา
นั่นจึงทำให้เขาได้รับฉายา ‘Enfant Terrible’ หรือเจ้าเด็กแสบแห่งวงการแฟชั่น เพราะผลงานสร้างชื่อของเขาล้วนเกิดจากการเสียดสี เป็นตลกร้ายที่ดูเก๋และสดใหม่ในช่วงทศวรรษที่ 80s-90s ซึ่งถือเป็นยุคทองของเสื้อสำเร็จรูปภายใต้แบรนด์ Jean Paul Gaultier (และอีกหลายไลน์ที่แยกย่อยตามมาเช่น Gaultier Jean’s, JPG) การสวมคอร์เสตรัดจนเอวคอดกิ่ว พร้อมบราทรงกรวยแหลม เพื่อแปลงร่างให้สาวๆ กลายเป็นวัตถุทางเพศสำหรับหนุ่มๆ เหมือนที่เคยเป็นมาในอดีต ทั้งยังเป็นการตั้งคำถามว่าทำไมเราจะอวดชุดชั้นในแสนสวยให้คนเห็นไม่ได้
เบื้องหลังการสร้างสรรค์คอลเล็กชัน Haute Couture ฤดูหนาวปี 2018
การนำกลิ่นอายของโลกตะวันออกมาผสมผสานกับตะวันตกอย่างลงตัว การนำเสนอกระโปรงสำหรับผู้ชาย เพื่อสื่อถึงการก้าวข้ามเส้นแบ่งเรื่องของเพศที่ถูกกำหนดโดยเครื่องแต่งกาย การนำกางเกงยีนส์ซึ่งในอดีตถือว่าเป็นเสื้อผ้าสำหรับชนชั้นแรงงานมารื้อและประกอบขึ้นใหม่ เพื่อใช้ในคอลเล็กชันชั้นสูงแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน และอีกมากมายที่จะไม่ทำให้แปลกใจว่าทำไมนักออกแบบตัวพ่อสาย Anti-Fashion อย่าง มาร์ติน มาร์กีลา ถึงชื่นชมอดีตเจ้านายคนนี้ หรือการที่ตัวพ่อสาย Street Couture อย่าง ริคาร์โด ทิสกี ก็ชื่นชมกูตูริเยร์รายใหญ่คนนี้เป็นอย่างมากด้วยเช่นกัน
กระแสความนิยมในแบรนด์ Jean Paul Gaultier ที่เรียกได้ว่าพีกถึงขีดสุด คงอยู่ในช่วงปลายทศวรรษที่ 80s – ต้น 2000s ซึ่งความนิยมที่ว่านั้นรวมถึงในประเทศไทยที่มีร้านของ ฌอง ปอล โกลติเยร์ เปิดในศูนย์การค้าเกษรพลาซ่า (ชื่อเดิมในเวลานั้น) ช่วงปลายทศวรรษที่ 90s – ต้น 2000s มีศิลปินดังมากหน้าหลายตาสวมใส่เสื้อยืดซีทรูและเชิ้ตพิมพ์ลายสัก พร้อมถือกระเป๋าตกแต่งแผ่นป้ายโลหะจากแบรนด์นี้ แม้แต่ละครโทรทัศน์ที่ได้รับความนิยมในช่วงเวลานั้นเรื่อง ชายไม่จริงหญิงแท้ เวอร์ชัน พ.ศ. 2541 ก็แสดงออกถึงความนิยมในแบรนด์ ทั้งการเอ่ยชื่อและใช้สินค้าของ ฌอง ปอล โกลติเยร์ ให้เห็นกัน ดังนั้นในเมื่อกระแสแฟชั่นที่ร้อนแรงในช่วงเวลาปัจจุบัน คือการกลับไปหาความสนุกของโลกแฟชั่นในยุค 90s ผลงานหลายชิ้นของเขาจึงถูกหยิบยกมาใช้เป็น ‘แรงบันดาลใจ’
เสื้อคลุมตัวสั้น (Bolero) ปักขนนกไล่สีจาก Haute Couture แรกในปี 1997
ลวดลายแทตทูบนบอดี้สูทที่เกิดจากสารพัดเทคนิค เช่น งานพิมพ์ การปัก เป็นต้น
เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ ผมเชื่อว่าคุณผู้อ่านคงทราบแล้วว่าผู้ชายคนนี้ทำทุกอย่างโดยมีแพสชันเป็นแรงผลักดัน ความหลงใหลเหล่านั้นทำหน้าที่เป็นน้ำมันหล่อลื่นที่ช่วยให้ฟันเฟืองทุกส่วนตื่นตัวและขยับไปพร้อมกัน ผมจึงไม่แปลกใจที่ในปี 2015 เขาตัดสินใจหยุดการออกแบบและผลิตไลน์เสื้อสำเร็จรูป (Ready-To-Wear) เหลือไว้เพียงแค่ไลน์ชั้นสูง (Haute Couture) ที่ชื่อ ‘Gaultier Paris’ ซึ่งเปิดมาตั้งแต่ปี 1997 น้ำหอมที่เปิดตัวมาตั้งแต่ปี 1993 เครื่องหนัง และเครื่องประดับ ฯลฯ ด้วยเหตุจากการแข่งขันในธุรกิจแฟชั่นที่สูงสุดๆ ทุกอย่างมีเรื่องการตลาดมาบีบบังคับให้นักสร้างสรรค์ตัวจริงไม่สามารถหยุดพักในช่วงขั้นฤดูกาล เพราะต้องทำงานรีบเร่งเพื่อผลิตไอเทมใหม่ๆ มาป้อนตลาด ไม่สามารถทำอะไรได้ตามที่ใจต้องการอีกต่อไป
การบาลานซ์ระหว่างจินตนาการและผลกำไรไม่สมดุล มีเพียงนายทุนของกลุ่มแฟชั่นยักษ์ใหญ่เท่านั้นที่เป็นคนกำหนดทิศทางของแฟชั่นโลก ดังนั้นการก้าวออกมาจากวัฏจักรของความวุ่นวาย เพื่อหามุมสบายๆ นั่งพักผ่อน แล้วค่อยนำเสนอผลงานที่เกิดจากความรัก ความหลงใหล ความศรัทธาจริงๆ จึงเป็นสิ่งที่เขาเลือก และอาจเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องในการรักษาแพสชันในตัวเอาไว้ก่อนที่จะมอดดับไป ซึ่งหากคุณมองเรื่องการปิดส่วนเสื้อผ้าสำเร็จรูปคือการพ่ายแพ้ต่อธุรกิจ หรือไม่ประสบความสำเร็จก็คงไม่ผิดนัก แต่ถ้าลองมองในอีกมุม นักออกแบบแฟชั่นคนนี้เคยก้าวขึ้นสู่จุดสูงสุด จนเห็นความเป็นจริงและพบคำตอบแล้วว่า จุดไหนคือจุดที่น่าพอใจในชีวิต
น้ำหอม Classique (ซ้าย) และ Le Male (ขวา) ที่ติดอันดับ 1 ของน้ำหอมขายดีในยุโรปในปี 2012
กระเป๋าถุงมือจากไลน์ Gaultier Paris ฤดูหนาวปี 1998 หนึ่งในไอเทมที่บรรดาสื่อแฟชั่นต่างชื่นชม
เมื่อ 3 ปีก่อน ผมรู้สึกเสียดายที่จะไม่ได้เห็นหรืออุดหนุนผลงานในส่วนเสื้อสำเร็จรูปของแบรนด์ Jean Paul Gaultier อีกต่อไป แต่ในวันนี้ ทุกครั้งที่ผมส่องดูโลกของเขาผ่านโซเชียลมีเดียทั้งทางเฟซบุ๊กและอินสตาแกรมก็พบว่า เขายังคงดูมีความสุขกับการสร้างสรรค์คอลเล็กชัน Haute Couture ที่เปรียบเหมือนต้นน้ำของโลกแฟชั่น (ล่าสุดกับงาน Couture ที่สร้างสรรค์ขึ้น เพื่อสะท้อนการเลือกปฏิบัติต่อหญิงสาวที่มีสิทธิ์เลือกว่า เธอเหล่านั้นอยากสวมชั้นในหรือไม่) อีกทั้งยังได้ทำในสิ่งที่รักอย่างแท้จริง รวมถึงโปรเจกต์ต่างๆ ที่มีต่อเนื่องทุกปี มันทำให้ผมดีใจที่เขายังคงมีไฟ และมีความสุขที่ได้เห็นนักออกแบบแฟชั่นสายเลือดใหม่ชื่นชมในผลงานของเขา นำเสนอผลงานที่เหมือนเป็นการทริบิวต์ให้อยู่เรื่อยๆ (ล่าสุดกับเสื้อบอดี้สูทพิมพ์ลายแทตทู และรองเท้าส้นสูงหอไอเฟลของ Vetements) หรืออย่างโปรเจกต์การร่วมออกแบบกับแบรนด์ดังต่างๆ และการจัด Fashion Freak Show ในปี 2018 นี้
ทั้งหมดคงจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าผู้ชายในวัย 66 ปี ที่ชื่อ ฌอง ปอล โกลติเยร์ ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าแพสชัน เป็นตัวคอยกระตุ้นและย้ำเตือนว่าคุณชอบหรือควรทำอะไรต่อไปในชีวิต
รองเท้าส้นสูงรูปหอไอเฟลกลับหัว จากคอลเล็กชัน Gaultier Paris ปี 2000
ผลงานของนักออกแบบรุ่นใหม่ในทศวรรษนี้ที่มีกลิ่นอายแฟชั่นในแบบ Jean Paul Gaultier Riccardo Tisci for Givenchy Spring/Summer 2017 / Stella McCartney Fall/Winter 2017 / Jeremy Scott for Moschino Fall/Winter 2018 / Vetements Spring/Summer 2019