×

เฟซบุ๊กปล่อย Messenger Kids แอปฯ ใหม่เอาใจครอบครัว วางไทยเป็นที่แรกในเอเชีย

29.08.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • เฟซบุ๊กเปิดตัว Messenger Kids ในประเทศไทย โดยเป็นแอปพลิเคชันที่ออกแบบเพื่อให้เด็กติดต่อสื่อสารกับครอบครัวและเพื่อนรอบข้างได้อย่างปลอดภัย ผ่านระบบการควบคุมของผู้ปกครอง

เฟซบุ๊ก ประเทศไทย เปิดตัวแอปพลิเคชัน Messenger Kids อย่างเป็นทางการ พร้อมภาษาไทย โดยวางไทยเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชีย

 

Messenger Kids เป็นแอปพลิเคชันล่าสุดของเฟซบุ๊กที่เปิดตัวครั้งแรกในสหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนธันวาคม 2560 โดยออกแบบเพื่อให้เด็กติดต่อสื่อสารกับครอบครัวและเพื่อนรอบข้างได้อย่างปลอดภัย แตกต่างจากแอปพลิเคชันในท้องตลาดที่มักออกแบบมาเพื่อผู้ปกครองเท่านั้น โดยคำนึงถึง 3 ปัจจัย ที่มาจากการสำรวจ ซึ่งครอบครัวไทยและรอบโลกให้ความสำคัญมากที่สุด อันได้แก่ ความเหมาะสมของสารที่สื่อระหว่างกัน บุคคลที่เด็กติดต่อสื่อสารด้วย และระยะเวลาที่ลูกๆ ใช้บนโลกออนไลน์

พ่อแม่ยุคดิจิทัลของไทย

ปัจจุบันพ่อแม่อนุญาตให้ลูกๆ ใช้สมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตกันมากขึ้น แม้จะมีความกังวลถึงวิธีการใช้ของบรรดาลูกๆ ก็ตาม บวกกับจำนวนผู้ใช้งานเฟซบุ๊กในประเทศไทยที่พุ่งสูงถึง 51 ล้านคนในแต่ละเดือน ทำให้อินเทอร์เน็ตมีอิทธิพลอย่างมากในกลุ่มเยาวชนเข้ามาแทนที่สื่อโทรทัศน์ โดยในรายงานเรื่อง ‘ข้อมูลเชิงลึกด้านดิจิทัลเกี่ยวกับเด็ก’ ของอีมาร์เก็ตเตอร์ พบว่า ในประเทศไทย 98% ของเด็กอายุ 6-14 ปี เลือกใช้อินเทอร์เน็ตมากกว่าโทรทัศน์ และองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) ระบุใน ‘เยาวชนในโลกที่เชื่อมต่อกัน (Children in a Connected World)’ ว่าเกือบ 50% ของเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ใช้งานผ่านอินเทอร์เน็ต นอกเหนือจากนั้น การสำรวจออนไลน์จัดทำโดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ปี 2560 เกี่ยวกับพฤติกรรมของเยาวชนไทยที่มีอายุระหว่าง 8-12 ปี พบว่า 73% ของเด็กไทยเข้าถึงเว็บไซต์ต่างๆ ผ่านทางสมาร์ทโฟน

 

ลอเรน เช็ง ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารจัดการผลิตภัณฑ์ของเฟซบุ๊ก เผยว่า ผู้ปกครองไม่น้อยสนับสนุนการเรียนรู้ของลูกในโลกออฟไลน์ กระนั้นก็มีความต้องการวิ่งตามเทคโนโลยีให้ทัน เพื่อการเรียนรู้ของเด็กๆ เช่นกัน “ก่อนที่เราจะเปิดตัวแอปพลิเคชันนี้ในประเทศไทย เราได้พูดคุยกับกลุ่มพ่อแม่ สมาคมที่เกี่ยวข้องต่างๆ และผู้เชี่ยวชาญทั่วโลก เพื่อรับฟังและรวบรวมความคิดเห็นของพวกเขา โดยสิ่งหนึ่งที่พ่อแม่ยุคดิจิทัลมีเหมือนกันคือ ต้องการแอปพลิเคชันที่ช่วยให้เด็กๆ สามารถติดต่อกับพ่อแม่และเพื่อนของพวกเขา แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีระดับการควบคุมการใช้งานได้ตามที่ผู้ปกครองต้องการ”

 

 

 

เด็กไม่จำเป็นต้องมีเฟซบุ๊ก

ผู้ปกครองสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชันนี้ลงบนแท็บเล็ตหรือสมาร์ทโฟนของเด็กๆ โดยต้องใช้บัญชีเฟซบุ๊กของผู้ปกครองเพื่ออนุมัติการติดตั้ง จากนั้นจึงเลือกชื่อของเด็ก และจัดการรายชื่อเพื่อนๆ ที่เด็กสามารถติดต่อได้ โดยการรับเป็นเพื่อนของเด็กๆ ต้องผ่านการอนุมัติจากผู้ปกครองของทั้ง 2 ฝ่าย ผ่านแอปฯ เฟซบุ๊ก ปกติ จึงจะติดต่อสื่อสารกันได้ (โดยผู้ปกครองไม่จำเป็นต้องเป็นเพื่อนกัน) Messenger Kids ยังเป็นแอปพลิเคชันที่แยกออกจากเฟซบุ๊ก ทำให้เด็กๆ ไม่จำเป็นต้องมีบัญชีเฟซบุ๊กเพื่อใช้งาน

 

เด็กๆ สามารถกรองข้อมูลได้ด้วยตนเอง

นอกจากนี้ยังเป็นแอปพลิเคชันที่เป็นมิตรกับเด็ก ซึ่งสนับสนุนให้เด็กๆ ผู้ใช้รู้จักกรองข้อมูลด้วยตัวเอง ผ่านปุ่มรายงานที่ใช้ภาษาในแบบของเด็ก เช่น “ฉันไม่ชอบรูปภาพนี้ มันทำให้ฉันรู้สึกแย่” เป็นต้น โดยเมื่อเกิดการรายงานดังกล่าว ก็จะแจ้งเตือนไปที่เฟซบุ๊กของผู้ปกครอง เพื่อช่วยสอดส่อง ทั้งความไม่เหมาะสมต่างๆ และการกลั่นแกล้ง (Bully) ในขณะที่หากผู้ปกครองคิดหาหนทางในการอธิบายหรือเข้าหาเด็กเพื่อการใช้ที่ปลอดภัย แอปพลิเคชันนี้ก็มีข้อเสนอแนะและโยงเข้ากับลิงก์ที่อาจเป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครองเช่นกัน

 

 

สนับสนุนการเรียนรู้

ลอเรน เช็ง เผยถึงวัยที่จะใช้งานแอปพลิเคชันได้อย่างเหมาะสมที่สุดคือ 7-11 ปี และเผยว่า นี่เป็นแอปพลิเคชันฟรีที่ไม่มีการโฆษณาหรือเสนอแนะให้จับจ่ายฟีเจอร์อื่นๆ เพิ่มเติม ทั้งยังสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้ผ่านระบบ AR ธีมต่างๆ (เนื่องจากเด็กๆ มักมีปฏิกิริยาตอบสนองกับกล้อง) เช่น ธีมหญิงเก่งในประวัติศาสตร์ที่มีฟีเจอร์สวมหมวกคลีโอพัตราผ่านกล้อง โดยเมื่อแพนกล้องไปรอบๆ จะพบตัวหนังสือโฮโลกราฟิกที่บอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ของยุคอียิปต์โบราณ เป็นต้น และเมื่อแชตคุยกับเพื่อนผ่านวิดีโอ ระบบจะสวมหมวกคลีโอพัตราให้ฝ่ายตรงข้าม สร้างความสนุกสนานและเกิดการสื่อสารแก่กันและกัน นอกเหนือจากนั้นยังเป็นแอปพลิเคชันที่สร้างมาเพื่อเด็กในวัยที่คลังศัพท์ยังมีจำกัด สามารถเข้าใจได้ผ่านเกมและสติกเกอร์ที่ระบุคำต่างๆ เพื่อให้แสดงออกได้ตามต้องการ โดยทั้งสติกเกอร์และรูปภาพ GIF จะถูกคัดกรองมาแล้วว่าเหมาะสมกับเด็กและเยาวชน และมีการอัปเดตตลอดเวลา เพื่อให้เข้ากับสถานการณ์

 

 

ควบคุมเวลาการใช้ได้

ผู้ปกครองสามารถควบคุมระยะการใช้แอปพลิเคชันของเด็กๆ ได้ด้วยการตั้งเวลาเปิด-ปิด โดยจะมีการแจ้งเตือนก่อนจะปิด 5-10 นาที เพื่อให้เด็กๆ มีเวลาเตรียมพร้อมก่อนจะออกไปข้างนอก หรือเตรียมเข้านอน เป็นต้น THE STANDARD ถามลอเรนถึงสิทธิ์ส่วนตัวของเด็กและพ่อแม่ โดยเขากล่าวว่า “ข้อความที่ส่งระหว่างกันจะไม่หายไปและไม่สามารถลบได้ และผู้ปกครองไม่สามารถเข้าไปดูการแชตแบบเรียลไทม์ได้ เว้นแต่จะดูผ่านแท็บเล็ตของลูกๆ ในภายหลัง” นอกเหนือจากนั้น Messenger Kids ยังไม่รองรับการส่งลิงก์ต่างๆ หากันอีกด้วย

 

เฟซบุ๊กยังแนะนำให้ผู้ปกครองตั้งกฎ เพื่อตกลงกับเด็กๆ ก่อนใช้งานแอปพลิเคชัน โดยให้ ‘รู้จักเห็นอกเห็นใจ ให้เกียรติ ระมัดระวังความปลอดภัย และสนุกกับการใช้งาน’

 

แอปพลิเคชันดังกล่าวเปิดตัวไปก่อนหน้านี้ในสหรัฐอเมริกา แคนาดา เปรู เม็กซิโก และล่าสุดคือ ประเทศไทย โดยเฟซบุ๊กยังเชื่อว่า ฟิลเตอร์ที่ดีที่สุดสำหรับเด็กก็คือผู้ปกครองนั่นเอง

 

Messenger Kids เปิดตัวอย่างเป็นทางการในภาษาไทยแล้ววันที่ 29 สิงหาคม 2561 โดยสามารถดาวน์โหลดได้ทั้งในระบบ iOS, Android และ Amazon Fire OS

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

FYI
  • เฟซบุ๊กยังคงพัฒนาการคัดกรองคำที่ไม่เหมาะสมในแต่ละภาษาของแต่ละท้องถิ่นอยู่เรื่อยๆ โดยในประเทศไทยมีผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาไทยโดยเฉพาะ ที่ร่วมพัฒนาแอปพลิเคชันนี้กับทีมเฟซบุ๊กประเทศไทย
  • ‘Be kind, be respectful, be safe, and be fun’ คือกฎปฏิบัติสำหรับเด็กๆ ที่เฟซบุ๊กทำงานร่วมกับนักจิตวิทยาเด็ก แนะนำให้ผู้ปกครองทำความเข้าใจกับพวกเขาก่อนใช้งาน
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising