“หรืออาลีบาบาจะครองโลกใบนี้จริงๆ”
ไม่ใช่คำถามที่นึกขึ้นมาเล่นๆ แต่เป็นสิ่งที่อยู่ในใจของภาคธุรกิจตอนนี้ ในวันที่ชนชั้นกลางจีนนับร้อยล้านคนที่ขยายตัวคือตลาดที่ทุกคนปรารถนา และพลังอีคอมเมิร์ซแห่งแดนพญามังกรก็ทรงอิทธิพลมากขึ้นเรื่อยๆ ส่งพลังทะลุทะลวงประตูบ้านจนเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคของผู้คน
สำนักข่าว THE STANDARD ออกเดินทางเพื่อค้นหาความจริงที่เมืองหางโจว ประเทศจีน สำนักงานใหญ่ของ Alibaba ทำไมธุรกิจนี้จึงเป็นเครื่องมืออันทรงพลังในการสร้างชาติของจีน คำตอบอยู่ในบทความนี้แล้ว
ชนชั้นกลางจีนขยายตัว พลังการบริโภคสะเทือนแผ่นดิน
ประเทศจีนขึ้นแท่นเป็นตลาดค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุดของโลกในปี 2016 ด้วยมูลค่า 4.88 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 161 ล้านล้านบาท (เกือบ 12 เท่าของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของไทยในปีเดียวกัน) ซึ่งคนจีนนิยมซื้อของออนไลน์กันมากขึ้นเรื่อยๆ จนคาดการณ์ว่าจะสูงแตะ 33% ของภาคการค้าปลีกทั้งหมดของจีนในปี 2020 อันใกล้นี้
Photo: AFP
อีคอมเมิร์ซของประเทศจีนจึงไม่ใช่แค่มิติของคนจีนเท่านั้น แต่กลายเป็นอุปสงค์ของโลกไปโดยปริยาย เมื่อพิจารณาจากยอดสั่งซื้อสินค้าออนไลน์พบว่า 40% ของผู้บริโภคจีนนิยมซื้อสินค้านำเข้า โดยเฉพาะจากสหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น ขณะที่จำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตของจีนสูงถึง 731 ล้านคน ซึ่งเกือบเท่ากับจำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตของทั้งทวีปยุโรปที่มี 739 ล้านคน และแนวโน้มยังเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ
Photo: AFP
ชนชั้นกลางถือเป็นกลจักรสำคัญสำหรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก Alibaba คาดว่าในปี 2020 จำนวนชนชั้นกลางของจีนจะเพิ่มขึ้นอีกถึง 300 ล้านคน ซึ่งถือเป็นโอกาสทางการตลาดขนาดมหึมาของสินค้าและบริการทั้งหลาย ตัวชี้วัดที่ชัดเจนคือยอดการซื้อสินค้าในวัน ‘Double 11’ หรือวันที่ 11 พฤศจิกายน 2017 ที่ผ่านมา ยอดขายของ Alibaba สูงแตะ 2.53 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 8.3 แสนล้านบาท เติบโตกว่าวัน Double 11 ของปีก่อนถึง 39% ซึ่งมีบรรดาแบรนด์และร้านค้ากว่า 1.4 แสนรายอ้าแขนรับออร์เดอร์บนแพลตฟอร์มของ Alibaba อย่างหน้าชื่นตาบาน
และ 90% ของการสั่งซื้อสินค้าในวันอภิมหาช้อปปิ้งนี้มาจากโทรศัพท์มือถือ ซึ่งตัวเลขนี้สะท้อนบทบาทของอีคอมเมิร์ซและเทคโนโลยีใหม่ที่เข้ามาตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคมือเติบชาวจีนได้เป็นอย่างดี
ด้วยศักยภาพขนาดนี้ ดูเหมือน Alibaba จะคิดมากกว่าเรื่องของ ‘คนจีน’ เสียแล้ว
คำถามที่สำคัญกว่าคือแล้วยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซแห่งนี้จะทำอะไรกับโลกอีก
Alibaba เป็นใครกันแน่ เปิดแผนธุรกิจจีนครองโลกและมุมมองต่อประเทศไทย
ก้าวแรกเมื่อสำนักข่าว THE STANDARD มาถึงสำนักงานใหญ่ของ Alibaba Group คือความรู้สึกทึ่ง ไม่เพียงทึ่งที่เมืองหางโจวจะใหญ่โตเหมือนมหานครทั่วไปเท่านั้น ยังทึ่งที่บริษัทสัญชาติจีนแห่งนี้อยู่บนพื้นที่ขนาดใหญ่ ทั้งยังออกแบบและจัดการพื้นที่เช่นเดียวกับองค์กรระดับโลกอื่นๆ ที่ไม่น้อยหน้าชาติตะวันตก ไม่เพียงแต่เป็นพื้นที่สำหรับธุรกิจเท่านั้น ยังมี Alibaba Campus ซึ่งมีแต่คนรุ่นใหม่มาเล่าเรียน และแทบทุกคนสื่อสารภาษาอังกฤษได้คล่องแคล่ว
เจมส์ สู ผู้บริหารซึ่งดูแลกิจการ Alibaba ในประเทศไทย เล่าเรื่องโครงสร้างธุรกิจขององค์กร ได้แก่
1. ส่วนการค้า (Core Commerce) เป็นส่วนหลักของ Alibaba ประกอบด้วย Alibaba.com สำหรับธุรกิจระหว่างองค์กร (B2B) ส่วนตลาดผู้บริโภค (B2C) นั้นมี Taobao สำหรับธุรกิจสินค้าจีนเพื่อขายคนจีน และ Tmall สำหรับธุรกิจสินค้าต่างชาติเพื่อขายคนจีน นอกจากนี้ยังมีแบรนด์ Lazada และ AliExpress เพื่อการขายสินค้าสำหรับผู้บริโภคนอกประเทศจีนด้วย
2. สื่อดิจิทัลและธุรกิจบันเทิง (Digital Media & Entertainment) เนื่องจากประเทศจีนมี The Great Firewall ซึ่งเป็นที่ทราบดีว่าการใช้งานโซเชียลมีเดียจากชาติตะวันตกไม่สามารถทำได้เหมือนกับประเทศอื่นๆ แต่ดูเหมือนคนจีนจะไม่สะทกสะท้านมากนัก ซึ่ง Alibaba มีทั้ง UC ซึ่งใช้เป็นเว็บเบราว์เซอร์ Youku บริการวิดีโอสตรีมมิงที่ทดแทน YouTube หรือ Weibo แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียขนาดใหญ่ที่ทำหน้าที่แทน Facebook นอกจากนี้ยังมีสำนักข่าวออนไลน์และสื่ออื่นๆ อีกด้วย
3. บริการสำหรับผู้บริโภคชาวจีน (Local Service) มีแอปพลิเคชันและบริการที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตทุกรูปแบบสำหรับลูกค้า รวมถึงแอปพลิเคชันเพื่อการท่องเที่ยวอย่าง Fliggy ซึ่งย่อมาจาก Flying Piggy ที่ให้ข้อมูลการท่องเที่ยวและยังแนะนำโปรโมชันต่างๆ ที่เฉพาะคน เฉพาะพื้นที่ จากฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่มีได้ด้วย
Alibaba ขับเคลื่อน 3 ธุรกิจนี้ด้วยโครงสร้างพื้นฐานที่มีทั้งระบบการชำระเงินและบริการทางการเงินที่มี Ant Financial (Alipay) ดูแลระบบโลจิสติกส์, Cai Niao (ไช่เหนี่ยว) ที่บริหารเครือข่ายของบริษัทขนส่งทั่วโลก, Alimama บริการด้านการตลาดและข้อมูล สุดท้ายคือ Alibaba Cloud ซึ่งให้บริการเทคโนโลยี Cloud Computing
เชื่อว่าผู้บริโภคชาวไทยคุ้นเคยกับทั้งชื่อของ Alibaba.com, Taobao และ Tmall กันมาบ้างแล้ว และวาดฝันจะพาสินค้าและบริการของตนไปขายที่ประเทศจีน ตลาดขนาดใหญ่ที่ไม่สามารถทำการตลาดแบบคิดเองเออเองได้เลย
สำหรับ Alibaba.com เป็นแพลตฟอร์มการซื้อขายระหว่างองค์กรกับองค์กร (B2B) ที่ใช้กันทั่วโลก มีทั้งวัตถุดิบ สินค้าขั้นกลาง หรือสินค้าผลิตเสร็จ ซึ่งจะนำไปผลิต แปรรูป หรือจัดจำหน่ายในลำดับถัดไป ธุรกิจที่ค้าขายกันในพื้นที่นี้จะเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ มีกำลังการผลิตสูง รวมทั้งระบบโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพ ถือว่าเป็นเวทีของคนตัวใหญ่ๆ คุยกัน
ขณะที่ Taobao นั้นเป็นอีคอมเมิร์ซที่ใหญ่ที่สุดสำหรับการซื้อสินค้าของคนจีน จากสถิติ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2561 พบว่าแต่ละเดือนมีผู้เข้าใช้งานประจำถึง 617 ล้านรายต่อเดือน ถือเป็นพื้นที่สำหรับผู้ประกอบการขนาดเล็กและผู้ที่ค้าขายอิสระให้มีหน้าร้านของตนเอง จัดเป็นลักษณะ C2C (Consumer to Consumer)
นอกจากนี้ยังมี Taobao เพื่อพื้นที่ห่างไกล (Rural Taobao) เป็นส่วนหนึ่งของแพลตฟอร์ม Taobao เพื่อช่วยผู้คนที่อยู่ในชนบทซึ่งห่างไกลจากตัวเมืองและเข้าถึงสินค้าและบริการลำบาก เนื่องจากประเทศจีนมีขนาดใหญ่ ผู้ประกอบการรวมทั้งโลจิสติกส์หลายรายแบกรับต้นทุนสินค้าในการจัดส่งในที่ไกลๆ ไม่ไหว
Alibaba จัดตั้งศูนย์ให้บริการทั้งในระดับเขตและระดับหมู่บ้านทั่วประเทศเพื่ออบรม ให้ความรู้ และเป็นตัวแทนในการรับคำสั่งซื้อสินค้าจากชาวบ้าน รวมถึงรวบรวมส่งโดยจ่ายค่าตอบแทนให้กับตัวแทนเหล่านี้ ชาวบ้านสามารถรับสินค้าได้ใน 3 วันนับจากสั่งสินค้า จากปกติที่ไม่มีแบรนด์ไหนยอมมาส่ง ซึ่ง Alibaba ใช้พลังเครือข่ายโลจิสติกส์ของ Cai Niao ในการบริหารจัดการบริษัทขนส่งในพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งไม่เพียงแต่สั่งซื้อสินค้ามากระจายส่งในพื้นที่เท่านั้น ยังนำสินค้าท้องถิ่นไปขายบนแพลตฟอร์มได้อีกด้วย
ส่วนที่เกี่ยวข้องกับคนไทยโดยตรงและมักจะได้ยินข่าวคราวกันบ่อยๆ ก็คือ Tmall ซึ่งเป็นอีกแพลตฟอร์มที่นำสินค้านำเข้าจากต่างประเทศมาจำหน่าย โดยคัดเลือกเฉพาะแบรนด์หรือผู้ประกอบการที่น่าเชื่อถือและสินค้าที่เป็นที่ยอมรับมาจำหน่ายเท่านั้น หากเป็นแบรนด์ที่เข้ามาทำธุรกิจเองและมีหน้าร้านภายในจีนแล้วจะอยู่บน Tmall
ส่วนกรณีที่ยังไม่เข้ามาทำตลาดในประเทศจีน ซึ่งจะต้องผ่านกระบวนการมากมายกว่าที่จะจัดตั้งบริษัทและหากระบวนการจัดจำหน่าย จึงเปิด Tmall Global ขึ้นมาสำหรับผู้ที่ต้องการจะขยายตลาดไปในประเทศจีน แต่ยังไม่มีกำลังพอที่จะเข้ามาลงทุนเอง Tmall Global จึงเป็นพื้นที่ของสินค้านำเข้าจากต่างประเทศล้วนๆ ที่มีหน้าร้านของตัวเอง ขณะเดียวกันยังมีกลุ่มสินค้าที่ Alibaba ไปเฟ้นหาสินค้าจากต่างประเทศและนำมาจำหน่ายเอง ซึ่งจะอยู่บน Tmall Global Direct แยกอีกส่วน
จากข่าวเรื่องออร์เดอร์ทุเรียนไทยเกือบแสนลูกในระยะเวลาข้ามคืนนั้น พื้นที่ที่จะนำทุเรียนเหล่านี้รวมถึงสินค้าอาหารสดทั้งหลายมาจำหน่ายจะแยกออกมาเป็น Tmall Fresh ซึ่งเป็นของสดที่ต้องควบคุมอุณหภูมิในการจัดเก็บตลอดกระบวนการ ขณะนี้ Alibaba ตั้งเป้าหมายใหญ่ในการจัดส่งของสดจากทั่วทุกมุมโลกให้ถึงมือผู้บริโภคภายใน 72 ชั่วโมงนับจากที่กดสั่งซื้อสินค้า ไม่ว่าจะเป็นเนื้อแกะจากนิวซีแลนด์ เชอร์รีจากยุโรป หรืออาหารจากอะแลสกาก็ตามที ผ่านพลังของ Cai Niao ที่โยงใยไปทั่วทุกมุมโลก โดยสินค้าจากประเทศออสเตรเลียครองอันดับ 1 บน Tmall Fresh และสินค้าจากไทยติดอันดับที่ 2 ซึ่งถือเป็นเกมที่ไทยมีศักยภาพในการแข่งขันพอสมควร
ด้วยรูปแบบการทำธุรกิจขนาดนี้ จึงไม่แปลกที่บรรดาสินค้าและบริการต่างๆ จะอยากเข้ามาอยู่ในพื้นที่ของ Alibaba แหล่งขุมทรัพย์ที่จะสร้างยอดขายถล่มทลายให้กับองค์กร
สำหรับประเทศไทยแล้ว เราอยู่ในส่วนใดของหมุดหมายที่ Alibaba วางเอาไว้
เปิดกลยุทธ์ธุรกิจ Alibaba ในประเทศไทยและสิ่งที่คนไทยควรจะรู้
เจมส์ สู ประกาศว่าการดำเนินธุรกิจของ Alibaba ในไทยจะสอดคล้องไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลสู่ประเทศไทย 4.0 ดังนี้
1. Go China, Go Global ผลักดันผู้ประกอบการไทยให้เข้าไปในแพลตฟอร์มของ Alibaba.com และ Tmall Global มากขึ้น ขณะเดียวกันก็จะใช้ Lazada เป็นประตูสำคัญของสินค้าจีนสู่ผู้บริโภคในอาเซียนด้วย
2. Go Thailand สนับสนุนให้นักท่องเที่ยวชาวจีนมาเที่ยวประเทศไทยมากขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลสนับสนุนผ่าน Fliggy และทุกธุรกรรมจะเกิดขึ้นบน Alipay ซึ่งขณะนี้ร้านค้าและพื้นที่สำคัญหลายจุดในไทยก็รับชำระเงินด้วย Alipay แล้ว
3. Talent Development ให้ความรู้กับผู้ประกอบการและภาคการศึกษาในการทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซผ่าน Alibaba Business School
แนวทางดังกล่าวสอดคล้องกับข้อตกลงที่ Alibaba ลงนามใน MOU 4 ฉบับร่วมกับรัฐบาลไทยในช่วงที่ผ่านมา ท่ามกลางเสียงยินดีที่ผู้ประกอบการไทยจะมีโอกาสในตลาดจีนมากขึ้น ขณะเดียวกันก็เกิดความกังวลเรื่องสินค้าและผู้ให้บริการแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซในประเทศด้วย
ตัวอย่างแบรนด์ไทยที่มีพื้นที่บน Tmall ได้แก่ มิสทีน, คิง เพาเวอร์, บิวตี้ บุฟเฟ่ต์, เถ้าแก่น้อย, สเนลไวท์, ดอกบัวคู่ ฯลฯ ซึ่งล้วนแต่เป็นยักษ์ใหญ่ทางธุรกิจในประเทศไทยทั้งสิ้น แต่เมื่ออยู่บนพื้นที่ของ Alibaba แบรนด์ไทยยังถือเป็นเพียงเสี้ยวขององค์ประกอบหนึ่งเท่านั้น จึงพอประเมินได้ว่าการจะนำสินค้าเข้ามาขายบน Tmall นั้น แบรนด์จะต้องใหญ่พอสมควรเช่นเดียวกับสายป่านขององค์กรที่จะต้องเข้มแข็งพอสมควรจึงพอจะมีตัวตนได้ในสนามนี้
กระทั่ง Tmall Global Direct ที่ Alibaba เป็นผู้ซื้อสินค้าจากต่างประเทศโดยตรงและนำเข้ามาจำหน่ายบนแพลตฟอร์มของตนก็ยังไม่ใช่พื้นที่ของกลุ่มผู้ผลิตขนาดเล็กในชุมชน เนื่องจากความสามารถด้านกำลังการผลิตที่จำกัด รวมทั้งความน่าเชื่อถือขององค์กรและแบรนด์ด้วย ซึ่งอาจจะต้องรวมตัวกันเป็นกลุ่มที่ใหญ่มากพอสำหรับการเจรจาธุรกิจกับทาง Alibaba
หนทางยังยาวไกล แต่ใช่จะไร้โอกาส
สิ่งที่น่าสนใจจากการไปเยี่ยมชมบ้านของ Alibaba ในครั้งนี้คือกระบวนการทางธุรกิจหลายอย่างที่ทางการจีนค่อนข้างจะให้ ‘ไฟเขียว’ กับยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซพอสมควร ตัวอย่างที่ชัดเจนคือแอปพลิเคชัน Fliggy ที่มีจำนวนผู้ใช้งานส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาว (เจนวาย) นักท่องเที่ยวสามารถสมัครวีซ่าออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชันได้โดยไม่ต้องไปติดต่อสำนักงานราชการแต่อย่างใด เพียงใช้สมาร์ทโฟนถ่ายภาพหลักฐานที่จำเป็นและอัปโหลดผ่านแอปฯ เท่านั้นก็สามารถอนุมัติวีซ่าได้ในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งขณะนี้ยังรองรับวีซ่าของ 15 จุดหมายปลายทางเท่านั้น ได้แก่ ไทย, สิงคโปร์, ญี่ปุ่น, ตุรกี, มาเลเซีย, ลักเซมเบิร์ก ฯลฯ
และ Fliggy ภายใต้ชายคา Alibaba เป็นเพียงแอปฯ เดียวใน The Great Firewall เท่านั้นที่ให้บริการวีซ่าออนไลน์ได้
แนวโน้มนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางไปทั่วโลกและยินดีที่จะจ่ายเงินให้กับสินค้าและบริการที่ตนเองพอใจจะซื้อนั้นยังค่อนข้างสดใส สิ่งที่สำคัญคือคนจีนยุคนี้อาจจะไม่ ‘ควักเงิน’ กันแล้ว หากแต่จะใช้ Alipay หรือ WeChat Pay (โดย Tencent) ในการชำระเงินแทน อาจฟังดูเกินไปสักนิดถ้าจะบอกว่าคนจีนสมัยนี้ไม่พกกระเป๋าสตางค์ออกจากบ้านแล้ว แต่สิ่งที่สำนักข่าว THE STANDARD สังเกตพฤติกรรมของผู้คนในหางโจวที่ถือเป็นสังคมไร้เงินสด (Cashless Society) ที่ใหญ่ที่สุดในโลกแล้ว แทบทุกการใช้จ่ายเกิดขึ้นบนโทรศัพท์ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะภายในห้างสรรพสินค้า ตลาดสด หรือร้านชำในตรอกที่ลึกที่สุดก็ตามที
ในทางกลับกัน ในยุคเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม (Platform Economy) อย่างทุกวันนี้ บรรดาเจ้าของแพลตฟอร์มต่างก็ต้องการใช้ประโยชน์จากมันให้เต็มที่ Alibaba ซึ่งมี Ant Financial เป็นแม่ทัพสำคัญ ผลักดันการปล่อยกู้สินเชื่อขนาดเล็กหรือไมโครไฟแนนซ์ผ่าน Alipay โดยตรง แม้จะไม่ใช่วงเงินขนาดใหญ่แบบที่ธนาคารให้สินเชื่อกัน แต่ก็ถือเป็นช่องทางรายได้ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว และยังนำเสนอประกันภัยให้ลูกค้าได้โดยตรง
Alipay คือตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จจากการมีฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่บริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพจนสามารถสร้างระดับคะแนนการพิจารณาสินเชื่อจากพฤติกรรมการใช้จ่าย (Alternative Credit Scoring) ที่น่าเชื่อถือ เมื่อมองในมุมกลับของระบบปิดที่ทางการจีนสร้างกำแพงเทคโนโลยีขึ้นมา พบว่าภายใต้ระบอบที่ยังสั่งซ้ายหันขวาหันได้แบบนี้กลับเป็นประโยชน์ต่อการจัดการด้านข้อมูลจนสามารถนำมาพัฒนาเทคโนโลยีใหม่และนำมาปรับใช้ได้อย่างรวดเร็ว เรื่องระบบการชำระเงินและประสบการณ์ด้านค้าปลีกของจีนคือตัวอย่างหนึ่งที่อาจจะล้ำหน้าโลกตะวันตกไปเสียแล้ว
ไม่เพียงแต่โลกออนไลน์เท่านั้น Alibaba ยังกระโดดเข้ามาในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และค้าปลีกด้วยการเปิด Ali Mall ขึ้นเพื่อเชื่อมโยงประสบการณ์ทั้งออนไลน์และออฟไลน์เข้าด้วยกัน ลูกค้าสามารถเข้ามาดูสินค้าของจริงที่สนใจได้ที่ร้านและสั่งซื้อสินค้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อให้นำไปส่งที่บ้าน และกรณีสั่งสินค้าสดจะสามารถส่งสินค้าถึงประตูบ้านได้ในเวลา 30 นาทีเท่านั้น โดยให้บริการพื้นที่ในรัศมี 3 กิโลเมตรรอบ Ali Mall
ทุกครั้งที่มาเยี่ยมเยือนประเทศจีนจะพบกับสิ่งใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเสมอ รวมถึงการเดินทางมาที่สำนักงานใหญ่ของ Alibaba ในครั้งนี้ด้วย
ไม่มีใครรู้ว่าตอนนี้ในใจของแจ็ค หม่า คิดอะไร มองโลกใบนี้อย่างไร และได้พูดคุยกับพี่ใหญ่ ‘สีจิ้นผิง’ ผู้นำจีนอย่างไรบ้าง ผู้บริหารของ Alibaba เล่าให้ฟังว่าหลายธุรกิจใหม่ที่เกิดขึ้น บางครั้งแจ็ค หม่า ก็ยังไม่ทราบว่ามีด้วยซ้ำไป เพราะองค์กรขยายตัวรวดเร็วมาก และระบบที่มีก็เดินหน้าไปได้อย่างเข้มแข็ง ก้าวข้ามจุดที่ต้องพึ่งพาแต่การตัดสินใจของผู้บริหารเพียงอย่างเดียวไปแล้ว
จากแจ็คผู้ฆ่ายักษ์ ตอนนี้กลายเป็นยักษ์ที่ยากจะล้มไปเสียแล้ว
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์