×

เปิดปม! พ.ร.ก. ต่างด้าว ทำแรงงานแห่กลับบ้าน-กระทบเศรษฐกิจ เตรียมใช้ ม.44 ต่อเวลา

03.07.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 Mins. Read
  • สาระสำคัญของ พ.ร.ก. การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ที่ทำให้หลายฝ่ายเป็นกังวลอยู่ที่การเพิ่มโทษที่สูงขึ้น โดยเฉพาะโทษปรับในส่วนของนายจ้างที่เพิ่มขึ้นเป็น 400,000-800,000 บาทต่อคนต่างด้าวที่จ้าง 1 คน ขณะที่กฎหมายเดิมมีการกำหนดโทษไม่เกิน 100,000 บาทเท่านั้น
  • อนุสรณ์ ธรรมใจ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต คาดว่าผลจากการที่แรงงานต่างด้าวหลั่งไหลออกนอกประเทศอาจทำให้เศรษฐกิจในไตรมาส 3 ขยายตัวไม่ถึง 3 เปอร์เซ็นต์ และอาจทำให้ผู้ประกอบการจำนวนมากขาดแคลนแรงงานจนต้องปิดกิจการชั่วคราว
  • พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เผยว่า รัฐบาลรับทราบถึงปัญหาข้อกังวลใจของภาคเอกชน และเข้าใจถึงความเดือดร้อนของผู้ประกอบการที่จำเป็นต้องใช้แรงงานต่างด้าว โดยเตรียมใช้มาตรา 44 ชะลอหรือเลื่อนการบังคับใช้บางมาตราที่มีบทลงโทษรุนแรงไปก่อนอย่างน้อย 120 วัน

     เป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดสำหรับสถานการณ์แรงงานต่างด้าวที่ทยอยกลับประเทศนับตั้งแต่รัฐบาลใช้ ‘ยาแรง’ แก้ปัญหานี้ด้วยการออก พ.ร.ก. การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ที่มีผลบังคับใช้ไปแล้วเมื่อวันที่ 23 มิถุนายนที่ผ่านมา ท่ามกลางความกังวลใจของหลายฝ่าย โดยเฉพาะผู้ประกอบการต่างๆ ที่จำเป็นต้องพึ่งพาแรงงานต่างด้าวในการประกอบธุรกิจ

     ที่มาที่ไปของเรื่องนี้เป็นอย่างไร THE STANDARD รวบรวมทุกประเด็นที่ควรรู้เกี่ยวกับ พ.ร.ก. ฉบับดังกล่าวเพื่อให้คุณเข้าใจเรื่องนี้ได้ง่ายขึ้น

 

เปิด พ.ร.ก. ต่างด้าวใหม่ เพิ่มโทษปรับ 400,000-800,000 บาทต่อคน

     สำหรับ พ.ร.ก. การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 เป็นการรวมกฎหมาย 2 ฉบับไว้เป็นฉบับเดียว คือ พ.ร.บ. การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 และ พ.ร.ก. การนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศ พ.ศ. 2559 เนื่องจากกฎหมายทั้ง 2 ฉบับยังไม่ครอบคลุมการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวทั้งระบบ เช่น ขาดกลไกการร้องทุกข์แก่คนต่างด้าว ขาดมาตรการกำหนดโทษสำหรับนายจ้างที่ฝ่าฝืน ฯลฯ

     โดยสาระสำคัญที่ทำให้หลายฝ่ายเป็นกังวลอยู่ที่การเพิ่มโทษที่สูงขึ้น โดยเฉพาะโทษปรับในส่วนของนายจ้างที่เพิ่มขึ้นเป็น 400,000-800,000 บาทต่อคนต่างด้าวที่จ้าง 1 คน ขณะที่กฎหมายเดิมมีการกำหนดโทษไม่เกิน 100,000 บาทเท่านั้น สำหรับรายละเอียดใน พ.ร.ก. ฉบับใหม่มีดังนี้

     – ผู้ใดรับคนต่างด้าวทำงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำ หรือรับคนต่างด้าวที่มีใบอนุญาตทำงานแต่ไม่ได้รับอนุญาตให้ทำงานกับตน หรือรับคนต่างด้าวซึ่งไม่มีใบอนุญาตทำงานกับตนเข้าทำงาน มีโทษปรับตั้งแต่ 400,000-800,000 บาทต่อคนต่างด้าวที่จ้าง 1 คน (จากเดิมโทษปรับตั้งแต่ 10,000-100,000 บาทต่อคนต่างด้าวที่จ้าง 1 คน)

     – ผู้ใดให้คนต่างด้าวทำงานไม่ตรงตามที่กำหนดไว้ในใบอนุญาต มีโทษปรับไม่เกิน 400,000 บาทต่อคนต่างด้าวที่จ้าง 1 คน (จากเดิมโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาทต่อกรณี)

     – คนต่างด้าวทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาตให้ทำงาน หรือทำงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2,000-100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (เท่าเดิม)

     – คนต่างด้าวที่ทำงานจำเป็นและเร่งด่วนแต่ไม่แจ้งนายทะเบียน มีโทษปรับตั้งแต่ 20,000-100,000 บาท

     – คนต่างด้าวทำงานแตกต่างจากที่กำหนดไว้ในใบอนุญาต มีโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท

     – ผู้ใดยึดใบอนุญาตทำงานหรือเอกสารสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

     – ผู้ใดหลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศ มีโทษจำคุกตั้งแต่ 3-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 600,000-1,000,000 บาท ต่อคนต่างด้าว 1 คน หรือทั้งจำทั้งปรับ

     – ผู้ใดประกอบธุรกิจนำคนต่างด้าวมาทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมการจัดหางาน มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1-3 ปี หรือปรับตั้งแต่ 200,000-600,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

     ทั้งนี้ นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางานได้เปิดเผยก่อนที่จะมีการประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉบับดังกล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้มีผลดีต่อทั้งนายจ้าง ลูกจ้างต่างด้าว ภาครัฐ และภาคประชาชน โดยเฉพาะภาครัฐจะสามารถจัดระเบียบและให้ความคุ้มครองแก่แรงงานต่างด้าวให้มีความเหมาะสม เป็นไปตามมาตรฐานสากล

     นอกจากนี้ยังมีกลไกการร้องทุกข์ และกำหนดช่องทางให้คนต่างด้าวสามารถเข้าถึงสิทธิได้โดยตรง และได้รับประโยชน์จากสวัสดิการต่างๆ เพื่อทำงานในประเทศไทยได้อย่างปกติสุขด้วย

     สำหรับอัตราค่าธรรมเนียมที่ระบุไว้ใน พ.ร.ก. ฉบับดังกล่าว ยังประกอบไปด้วย ค่าใช้จ่ายส่วนของนายจ้าง เช่น ใบอนุญาตนำคนต่างด้าวมาทำงาน ฉบับละ 20,000 บาท การต่ออายุใบอนุญาตนำคนต่างด้าวมาทำงาน ครั้งละ 20,000 บาท ใบแทนใบอนุญาตนำคนต่างด้าวมาทำงาน ฉบับละ 10,000 บาท การจ้างงานคนต่างด้าว คนละ 20,000 บาท ฯลฯ

     ส่วนของลูกจ้าง เช่น ใบอนุญาตทำงาน ฉบับละ 20,000 บาท การต่ออายุใบอนุญาตทำงาน ครั้งละ 20,000 บาท ใบแทนใบอนุญาตทำงาน 3,000 บาท เป็นต้น

 

 

แรงงานต่าวด้าวแห่กลับประเทศ เตรียมออก ม.44 ยืดเวลา

     สำหรับสถานการณ์แรงงานล่าสุด หลายสำนักข่าวรายงานตรงกันว่า แรงงานต่างด้าวจากประเทศเพื่อนบ้านได้ทยอยเดินทางกลับประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะแรงงานชาวเมียนมาที่หลั่งไหลออกนอกประเทศแล้วกว่า 21,000 คน หลังมีการประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉบับดังกล่าว

     ด้านนายอนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ให้ความเห็นว่า แม้กฎหมายแรงงานต่างด้าวจะมีความจำเป็นในการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวจำนวนมากในประเทศ แต่ผลกระทบของการบังคับใช้กฎหมายได้ส่งผลต่อผู้ประกอบการและแรงงานจำนวนมากที่ปรับตัวไม่ทัน เกิดการขาดแคลนแรงงานและมีการปิดกิจการชั่วคราว เมื่อกฎหมายออกมาโดยไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของภาวะเศรษฐกิจและตลาดแรงงาน มีโทษสูง และขึ้นอยู่กับอำนาจดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการ จึงอาจก่อให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชันได้

     พร้อมคาดการณ์ว่าผลกระทบดังกล่าวอาจทำให้ตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาส 3 ขยายตัวไม่ถึง 3 เปอร์เซ็นต์ตามที่ตั้งเป้าไว้ และเสนอให้ใช้มาตรา 44 ชะลอการบังคับใช้ไปก่อนอย่างน้อย 6 เดือน หลังจากนั้นจึงออกเป็นพระราชบัญญัติแทนเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามามีส่วนร่วมในการออกกฎหมาย

     ขณะที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เปิดเผยว่า รัฐบาลรับทราบถึงปัญหาข้อกังวลใจของภาคเอกชน และเข้าใจถึงความเดือดร้อนของผู้ประกอบการที่จำเป็นต้องใช้แรงงานต่างด้าว โดยเตรียมใช้มาตรา 44 ชะลอหรือเลื่อนการบังคับใช้บางมาตราที่มีบทลงโทษรุนแรงไปก่อนอย่างน้อย 120 วัน

     “รัฐบาลเคารพในพันธกรณีที่ทำไว้กับประเทศต่างๆ และให้ความสำคัญกับการต่อต้านการค้ามนุษย์ โดยจะไม่ให้การใช้หรือไม่ใช้ พ.ร.ก. คนต่างด้าว เป็นอุปสรรคในเรื่องนี้ อย่างไรก็ตามการออกกฎหมายดังกล่าวนั้นถือเป็นเรื่องจำเป็นเพื่อสร้างมาตรฐานของการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวในไทย ซึ่งสอดคล้องกับกฎกติกาและการยอมรับของต่างประเทศ” พล.อ. ประยุทธ์ กล่าว

     ส่วน นายวรานนท์ อธิบดีกรมการจัดหางานประกาศย้ำไว้ตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายนที่ผ่านมาว่า กฎหมายนี้ไม่ได้จ้องเอาผิดทั้งหมด และทางกรมการจัดหางานได้มีการประชาสัมพันธ์ และแจ้งต่อนายจ้างก่อนที่จะประกาศใช้กฎหมายมาแล้วกว่า 2 เดือน

 

เปิดสถิติแรงงานต่างด้าวในไทย พบกว่า 1.3 ล้านคนผิดกฎหมาย

     ทั้งนี้ตามสถิติคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงานคงเหลือทั่วราชอาณาจักร โดยสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว กรมการจัดหางาน ประจำเดือนกันยายน 2559 ระบุว่าคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงานมีจำนวนทั้งสิ้น 1,510,740 คน แยกเป็นแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ คือ เมียนมา ลาว และกัมพูชา ทั้งสิ้น 1,331,617 คน

     ขณะที่มีการประมาณการณ์ว่า แรงงานต่างด้าวซึ่งมาจากประเทศเพื่อนบ้าน 3 ประเทศ คือ เมียนมา ลาว และกัมพูชา ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยน่าจะมีประมาณ 2.7 ล้านคน เท่ากับว่าจะมีแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายประมาณกว่า 1.3 ล้านคน ซึ่งหากมีการผลักดันแรงงานดังกล่าวกลับประเทศทั้งหมด หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าอาจส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจไทยอย่างมาก

     และปัจจุบันรัฐบาลยังไม่มีนโยบายเปิดจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวที่เข้าเมืองผิดกฎหมาย ดังนั้นนายจ้างและสถานประกอบการจะต้องดำเนินการนำเข้าแรงงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายตามระบบ MOU ที่เคยทำไว้กับประเทศเพื่อนบ้านทั้ง 3  ประเทศเท่านั้น

     ล่าสุดกรมการจัดหางานเตรียมเปิดกว้างให้ภาคส่วนต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น โดยในวันที่ 5 กรกฎาคมนี้จะมีการจัดงานเสวนาที่กระทรวงแรงงาน เพื่อทำประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นต่อไป

     ขณะที่วันนี้ (3 กรกฎาคม) เวลา 10.00 น. รองนายกรัฐมนตรี พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ มีกำหนดการเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน ที่กระทรวงแรงงาน ซึ่งหลังการประชุมเสร็จสิ้น THE STANDARD จะรายงานความคืบหน้าต่อไป

 

Photo: NICOLAS ASFOURI/AFP

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X