สถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชา เกิดความตึงเครียด จากเหตุทหารไทยได้รับบาดเจ็บจากการเหยียบกับระเบิดระหว่างการลาดตระเวนเมื่อเย็นวันที่ 23 กรกฎาคม 2568 รัฐบาลไทยจึงได้ดำเนินมาตรการทางการทูตโดยเรียกเอกอัครราชทูตไทยกลับประเทศและส่งเอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำประเทศไทยกลับ
กระทั่ง ในช่วงเช้าวันที่ 24 กรกฎาคม เกิดการปะทะกันระหว่างทหารทั้งสองฝ่ายบริเวณปราสาทตาเมือนธม จ.สุรินทร์ ซึ่งนำไปสู่คำสั่งปิดจุดผ่านแดนถาวรทุกแห่งตลอดแนวชายแดน ทำให้การเดินทางและการค้าต้องหยุดชะงัก
เมื่อวันที่ 25 ก.ค. รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจระหว่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการบริหารลง มูลนิธิอาเซียน (ASEAN Foundation) กล่าวกับ THE STANDARD ระหว่างลงพื้นที่บรูไน ว่า ที่ผ่านมามีสัญญาณการปะทะเกิดขึ้นบริเวณชายแดนมาโดยตลอด โดยเริ่มจากการวางกับระเบิดในฝั่งของไทย เหตุช่องบก จ.อุบลราชธานี เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้กองทัพไทยเตรียมความพร้อมเรื่องนี้เอาไว้
ทว่า สาเหตุความขัดแย้งทั้งหมดที่เกิดขึ้นขณะนี้ต่างจากอดีต รศ.ดร.ปิติ มองว่า มาจากผลประโยชน์ที่ไม่ลงตัวของตระกูล ‘ฮุน’ ของกัมพูชา และตระกูล ‘ชินวัตร’ ของไทย
เหตุใดผลประโยชน์ที่ไม่ลงตัวของ 2 ตระกูล เป็นต้นตอสาเหตุให้เกิดเหตุการณ์ความเสียหายของ 2 ประเทศ โดยไทยและกัมพูชา มีความสัมพันธ์ฉันท์พี่น้อง ค้าขายเพื่อนบ้านกันมายาวนาน โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่โลกไม่แน่นอนทั้งปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ความท้าทายของเศรษฐกิจ การเมือง ซึ่งควรจะรวมตัวกันต่อรองในฐานะสร้างความแข็งแกร่งภูมิภาคอาเซียนกับจีนและสหรัฐอเมริกา แต่สุดท้ายก็กลับเป็นจุดอ่อน ที่ประชาสังคมโลกต่างจับตามอง
ดร.ปิติ ระบุว่า กัมพูชา และไทยต่างเผชิญปัญหา ‘การเมืองภายใน’ ที่ไร้เสถียรภาพ โดยกัมพูชานั้นตลอดการทำงาน 20 ปีที่ผ่านมา ได้มีโอกาสพบปะและพูดคุยกับคนรุ่นใหม่ บุคคลสำคัญกัมพูชา ก็พบว่า ชาวกัมพูชาเองไม่มีใครชื่นชอบตัวฮุน เซนแม้แต่คนเดียว เพราะเขารู้ว่าถ้ามีครอบครัวนี้อยู่ เขาจะไม่มีโอกาสได้เกิดหรือเติบโต แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถรวมกันเพื่อแสดงพลังออกมาได้ ทำได้เพียงเป็น ‘คลื่นใต้น้ำ’
ดังจะเห็นได้ว่า เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา อดีตผู้นำฝ่ายค้านของกัมพูชาเอง ก็ถูกฆาตกรรม
“ปัญหา ณ เวลานี้ คือฝ่ายกัมพูชา มีภาวะผู้นำมีสูง อีโก้มากเกินไป ขณะที่ฝั่งไทย การเมืองก็ไร้เสถียรภาพ ข้าราชการเกียร์ว่าง เมื่อไม่มีผู้นำก็ไม่มีผู้สั่งการ หรือคนที่จะบูรณาการการต่างประเทศ อีกทั้งการข่าว การสื่อสารข้อมูล การทหาร ความมั่นคง เศรษฐกิจ หัวหันไปทาง หางไปอีกทาง จึงกลายเป็นความล้มเหลวของประเทศ” ดร.ปิติ กล่าว
ดร.ปิติ ระบุอีกว่า เหตุการณ์ปะทะครั้งนี้ถือว่า ‘รุนแรงมาก’ และท้ายที่สุด เมื่อรบกันถึงจุดหนึ่งแล้ว จะเกิดความเสียหายขึ้นกับทั้ง 2 ฝ่าย รวมถึงไม่เชื่อว่าการเมืองในกัมพูชาจะเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ในเร็ววัน
“ส่วนในไทยยังมีหวัง พรรคไหน หรือใครจะเข้ามาบริหารในสถานการณ์นี้ก็ได้ ขอให้เป็นผู้นำที่มีศักยภาพ แข็งแกร่ง เพราะขณะนี้ไทยเผชิญหลายปัญหาทั้งภายนอกภายในรวมถึงภาษีสหรัฐก็ต้องจับตา”
หวั่นค้าชายแดน – เศรษฐกิจกระทบหนักคล้ายปม ‘เมียนมา’
ขณะที่ความเสียหาย ในเชิงเศรษฐกิจหากทั้งสองประเทศหาทางออกไม่ได้ บรรยากาศจับจ่ายไม่ดีในช่วง 3-6 เดือน ผู้ผลิตไทยที่ส่งออกไปกัมพูชาก็ต้องหาตลาดอื่น สุดท้ายผู้บริโภค ก็ไม่ซื้อของไทย กินของไทย นำเข้าของไทย ปัญหาที่ตามมาคือกัมพูชาก็จะหันไปค้าขายกับเวียดนาม จีน แทน ท้ายที่สุดคนที่ลำบากคือ ประชาชน เพราะค้าชายแดนปิด คนทำมาหากินไม่ได้ จะคล้ายกับปัญหาเมียนมาที่ไม่พึ่งพาสินค้าไทยแล้ว เพราะความไม่แน่นอนต่างๆ ที่เกิดขึ้น
นอกจากนี้ ดร.ปิติ ยังเปรียบเทียบ ฮุน เซน เหมือนแฟนเก่าที่มีคลิปลับเก็บไว้ และถูกโทร.มาเรียกเงิน เชื่อว่าอีกฝ่ายมีเรคอร์ดที่สำคัญทั้งเรื่องสถาบันฯ หรือการลอบสังหาร ทำให้ไทยไม่สามารถใช้บริการตระกูลชินวัตรให้บริหารประเทศได้อีกต่อไปแล้ว
“ปัญหาคือวันนี้ การเมืองในประเทศไทยหยำแหยะ จับไปตรงไหนก็เละ ทำให้ทุกอย่างพังหมด เรามีแค่โฆษกกระทรวงการต่างประเทศมาแถลง ในขณะที่ฝ่ายกัมพูชายกระดับ เราควรจะโต้ตอบในระดับที่เหมาะสมและเท่าเทียม แต่ตอนนี้เราไม่มีหัวขบวน เพราะเราไปโทรศัพท์เฮงซวยนั่นไว้” ดร.ปิติ กล่าว
ดร.ปิติ ชี้อีกว่า ทั้งสองตระกูลควรหาทางออกโดยเร็ว โดยสามารถใช้กลไกระงับข้อพิพาทของอาเซียนให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาอย่าง ‘สันติวิธี’ บนพื้นฐานของความเคารพซึ่งกันและกัน ความร่วมมือ และการปรึกษาหารือ เพื่อรักษาความมั่นคงและเสถียรภาพในภูมิภาคเป็นสำคัญ
ในกรณีที่กัมพูชารุกรานอธิปไตยของไทย กลไกของอาเซียนจะเน้นการดำเนินการเพื่อส่งเสริมการแก้ไขปัญหาอย่างสันติวิธี โดยมีขั้นตอนและแนวทางที่สามารถนำมาใช้ได้ดังนี้
- การปรึกษาหารือและเจรจาทวิภาคี (Bilateral Consultations and Negotiations)
สิ่งแรกที่อาเซียนจะสนับสนุนคือการที่ไทยและกัมพูชาจะ เปิดการเจรจาระหว่างกันโดยตรง ซึ่งอาจเกิดขึ้นในระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส รัฐมนตรีต่างประเทศ หรือแม้กระทั่งผู้นำรัฐบาล การเจรจาตรงนี้มีเป้าหมายเพื่อ
- ลดความตึงเครียด: บรรยากาศของการพูดคุยสามารถช่วยคลี่คลายสถานการณ์ได้
- ทำความเข้าใจสถานการณ์: ทั้งสองฝ่ายจะได้ชี้แจงมุมมองและข้อเท็จจริง
- หาทางออกร่วมกัน : พยายามหาข้อตกลงที่ทั้งสองฝ่ายยอมรับได้ เช่น การถอนกำลัง การกำหนดเขตแดนชั่วคราว หรือการตั้งคณะกรรมการร่วม
- การไกล่เกลี่ยและการอำนวยความสะดวกโดยอาเซียน (Mediation and Facilitation by ASEAN)
หากการเจรจาทวิภาคีไม่ประสบผล อาเซียนสามารถเข้ามามีบทบาทในฐานะ คนกลาง (Mediator) หรือ ผู้ประสานงาน (Facilitator) ได้ โดยมีแนวทางดังนี้
- ประธานอาเซียน (ASEAN Chair): ประธานอาเซียนในขณะนั้น (ซึ่งเปลี่ยนหมุนเวียนกันทุกปี) มักมีบทบาทสำคัญในการริเริ่มการปรึกษาหารืออย่างไม่เป็นทางการ หรือเสนอตัวเป็นคนกลางเพื่อช่วยให้คู่กรณีกลับมาเจรจากัน
- เลขาธิการอาเซียน (Secretary-General of ASEAN): เลขาธิการอาเซียนก็สามารถมีบทบาทในการอำนวยความสะดวกในการติดต่อสื่อสารระหว่างประเทศคู่กรณี
- คณะกรรมาธิการระดับสูง (High Council) ภายใต้ TAC: ตาม สนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (TAC) หากประเทศคู่กรณีร้องขอ คณะกรรมาธิการระดับสูงซึ่งประกอบด้วยรัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศภาคีสามารถประชุมเพื่อพิจารณาสถานการณ์และเสนอแนวทางแก้ไขที่เหมาะสมได้ โดยมีเป้าหมายเพื่อ ‘ส่งเสริมวัตถุประสงค์และหลักการของสนธิสัญญา’ และ ‘อำนวยความสะดวกในการแก้ไขข้อพิพาทโดยสันติวิธี’
- การประชุมฉุกเฉิน: อาเซียนอาจจัดประชุมพิเศษในระดับต่างๆ เช่น การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน (AMM) หรือการประชุมสุดยอดอาเซียน (ASEAN Summit) เพื่อหารือเกี่ยวกับสถานการณ์และหาทางออกร่วมกัน
- การใช้หลักการ ‘ASEAN Way’
ตลอดกระบวนการ ‘กระบวนการอาเซียน’ จะถูกนำมาใช้เป็นแนวทางสำคัญ โดยเน้น:
- ฉันทามติ (Consensus): การตัดสินใจหรือข้อเสนอแนะต่างๆ จะเน้นความเห็นชอบร่วมกันของทุกประเทศสมาชิก
- การไม่แทรกแซงกิจการภายใน (Non-interference): แม้จะมีการสนับสนุนให้แก้ไขข้อพิพาท แต่ก็เคารพในอธิปไตยของประเทศสมาชิก และจะไม่บีบบังคับ แต่จะใช้การโน้มน้าวและสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการแก้ไขปัญหา
- การไม่เผชิญหน้า (Non-confrontational): หลีกเลี่ยงการประณามหรือการดำเนินการที่อาจทำให้สถานการณ์แย่ลง แต่จะเน้นการประนีประนอมและการสร้างความเข้าใจ
ข้อจำกัดของกลไกอาเซียนในทางปฏิบัติ
แม้จะมีกลไกเหล่านี้ แต่สิ่งสำคัญที่ควรทราบคือ กลไกของอาเซียนไม่มีอำนาจบังคับ (Enforcement Power) โดยตรงเหมือนกับศาลระหว่างประเทศหรือองค์กรที่มีอำนาจเหนือรัฐสมาชิก การแก้ไขข้อพิพาทจะขึ้นอยู่กับ:
- ความเต็มใจของประเทศคู่กรณี: ทั้งไทยและกัมพูชาต้องเต็มใจที่จะใช้กลไกของอาเซียนและปฏิบัติตามข้อตกลงที่ได้จากการไกล่เกลี่ย
- บทบาทของประเทศสมาชิกอื่นๆ: ประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นๆ จะมีบทบาทในการสร้างแรงกดดันทางศีลธรรมและการทูต เพื่อกระตุ้นให้คู่กรณีแก้ไขปัญหาอย่างสันติ
โดยสรุปแล้ว ในกรณีที่กัมพูชารุกรานอธิปไตยของไทย อาเซียนจะทำหน้าที่เป็นเวทีและผู้สนับสนุนกระบวนการสันติวิธี โดยเน้นการเจรจา การไกล่เกลี่ย และการสร้างความเข้าใจระหว่างประเทศคู่กรณีเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน