คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) จัดการประชุมฉุกเฉินที่สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก เมื่อวานนี้ (25 กรกฏาคม) ตามเวลาท้องถิ่น หลังไทยและกัมพูชาต่างยื่นหนังสือเพื่อรายงานถึงสถานการณ์และชี้แจงเกี่ยวกับเหตุการณ์ปะทะกันตามแนวชายแดนระหว่างไทยและกัมพูชา
การประชุมแบบปิดครั้งนี้ เชิดชาย ใช้ไววิทย์ เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติได้ชี้แจงต่อที่ประชุมและประธาน UNSC โดยย้ำว่า กัมพูชาเป็นฝ่ายรุกรานโดยที่ไทยไม่ได้ยั่วยุ เป็นการคุกคามต่ออธิปไตย บูรณภาพแห่งดินแดน และชีวิตพลเรือนผู้บริสุทธิ์
เชิดชายเน้นย้ำว่า ไทยถือว่ากัมพูชาเป็นเพื่อนบ้านและเป็นสมาชิกที่ใกล้ชิดของครอบครัวอาเซียนมาโดยตลอด และหากเกิดกรณีพิพาทก็ควรใช้การเจรจาเพื่อแก้ปัญหา ซึ่งเหตุการณ์การปะทะกันก่อนหน้านี้ ไทยได้ขอให้ใช้กลไกการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมชายแดน (JBC) เพื่อเจรจาหาทางออก
อย่างไรก็ตาม เชิดชายกล่าวว่า แม้ไทยมีความพยายามอย่างต่อเนื่องในการเจรจากับกัมพูชามาตลอด แต่เหตุการณ์เมื่อวันที่ 16 และ 23 กรกฎาคม ที่กำลังพลทหารไทยได้เหยียบกับระเบิดในระหว่างปฏิบัติภารกิจลาดตระเวนในเขตแดนของประเทศไทย ทำให้มีทหารสองนายได้รับบาดเจ็บสาหัสและพิการถาวร ซึ่งหลักฐานยืนยันว่ากับระเบิดถูกฝังในพื้นที่ที่เคยกำจัดทุ่นระเบิดไปหมดแล้ว จึงถือเป็นระเบิดใหม่ ซึ่งเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศอย่างโจ่งแจ้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งอนุสัญญาว่าด้วยการห้ามใช้ทุ่นระเบิดสังหารบุคคล หรือที่รู้จักกันในชื่ออนุสัญญาออตตาวา ซึ่งประเทศไทยและกัมพูชาต่างเป็นรัฐภาคีทั้งคู่ และขัดต่อเจตนารมณ์ของปฏิญญาเสียมเรียบ-อังกอร์ที่ลงนามในเดือนพฤศจิกายน 2567
เชิดชายกล่าวว่า จากสถานการณ์ที่ร้ายแรงนี้ ประเทศไทยได้ส่งจดหมายสองฉบับถึงประธานการประชุมรัฐภาคีครั้งที่ 22 ของอนุสัญญา โดยให้รายละเอียดของเหตุการณ์และประณามการกระทำเหล่านี้อย่างรุนแรงว่าเป็น การจงใจละเมิดอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของไทย นอกจากนี้ ประเทศไทยได้ส่งจดหมายถึงเลขาธิการสหประชาชาติเพื่อขอคำชี้แจงจากรัฐบาลกัมพูชาตามมาตรา 8 วรรค 2 ของอนุสัญญาดังกล่าว
จากนั้น เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม เวลา 08.20 น. กองกำลังกัมพูชาได้เปิดฉากยิงใส่ไทยก่อนด้วยปืนใหญ่เข้าใส่ฐานปฏิบัติการไทยที่จังหวัดสุรินทร์ หลังจากนั้นไม่นาน กองกำลังกัมพูชาได้เปิดฉากโจมตีพลเรือนอย่างไม่เลือกหน้าในพื้นที่ชายแดนไทย 4 จังหวัด ได้แก่ บุรีรัมย์, สุรินทร์, ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี ส่งผลให้พลเรือนเสียชีวิต และบาดเจ็บ และมีโรงพยาบาลและโรงเรียนได้รับความเสียหายอย่างหนัก
จากข้อมูลเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม เวลา 09.00 น. ในช่วงที่โจมตี มีผู้เสียชีวิต 14 ราย และบาดเจ็บ 13 ราย ซึ่งอยู่ในภาวะวิกฤต มีผู้คนกว่า 130,000 คนที่ต้องอพยพออกจากบ้าน
ทูตไทยย้ำจุดยืนของไทยว่ายึดมั่นในหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในของรัฐ และเคารพต่ออธิปไตยแห่งชาติและบูรณภาพแห่งดินแดน ไทยรักสันติ และปฏิเสธการใช้กำลังในการแก้ไขข้อพิพาทระหว่างประเทศ และมุ่งมั่นต่อการระงับข้อพิพาทอย่างสันติ โดยสอดคล้องกับกฎบัตรสหประชาชาติ
ไทยยังใช้เวทีนี้ยืนยันว่า การตอบโต้ของฝ่ายไทยเป็นไปเพื่อป้องกันตนเองตามกฎหมายระหว่างประเทศ โดยยึดหลักการสัดส่วนและความจำเป็นที่เหมาะสม
ด้าน เจีย แก้ว เอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำสหประชาชาติกล่าวในที่ประชุมคณะมนตรีฯ ว่า กัมพูชาต้องการให้มีการหยุดยิงทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข พร้อมเรียกร้องให้มีการแก้ไขข้อพิพาทอย่างสันติ
นอกจากนี้ทูตกัมพูชายังอ้างว่า เหตุการณ์ปะทะกันที่เกิดขึ้นตามแนวชายแดนในช่วงที่ผ่านมานั้นเป็นฝ่ายไทยที่เริ่มก่อน
“คณะมนตรีความมั่นคงฯ เรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายใช้ความยับยั้งชั่งใจสูงสุดและหันมาใช้แนวทางแก้ปัญหาทางการทูต นั่นคือสิ่งที่เราเรียกร้องเช่นกัน” เจีย แก้ว กล่าว