×

ศูนย์เฉพาะกิจบริหารสถานการณ์ชายแดนไทย–กัมพูชา แจงมาตรการผ่อนปรนการค้าชายแดน เพื่อลดผลกระทบเศรษฐกิจ

โดย THE STANDARD TEAM
22.07.2025
  • LOADING...
รถขนส่งสินค้าข้ามแดนไทย-กัมพูชาภายใต้มาตรการผ่อนปรนของ ศบ.ทก.

วันนี้ (22 กรกฎาคม) ศูนย์เฉพาะกิจบริหารสถานการณ์บริเวณชายแดนไทย–กัมพูชา (ศบ.ทก.) ได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงต่อประชาชนและสื่อมวลชนเกี่ยวกับมาตรการผ่อนปรนบางประการบริเวณแนวชายแดน 

 

โดยระบุว่าเป็นการดำเนินการเพื่อสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะ การค้าขายตามแนวชายแดน ภายใต้การพิจารณาอย่างรอบคอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการอนุญาตให้รถส่งสินค้า สามารถเข้า-ออกข้ามแดนได้ในบางกรณี

 

ศบ.ทก. ตระหนักดีถึงเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่อมาตรการเหล่านี้ และยืนยันว่าการดำเนินการไม่ได้เป็นไปโดยพลการหรือเลือกปฏิบัติแต่อย่างใด หากแต่เป็นการตอบสนองต่อ ข้อเรียกร้องของประชาชนในพื้นที่ชายแดน 

 

ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างมากจากการหยุดชะงักของกิจกรรมทางเศรษฐกิจแถลงการณ์ระบุถึงจุดประสงค์หลักของมาตรการผ่อนปรนเพื่อลดผลกระทบเร่งด่วนที่เกิดขึ้นในทางปฏิบัติ ดังนี้:

 

  1. การรักษาสัญญาการค้า: ผู้ประกอบการบางรายมีความจำเป็นต้องส่งสินค้าไปยังคู่สัญญาต่างประเทศภายในกำหนดเวลา หากไม่สามารถดำเนินการได้ทันตามเงื่อนไข จะต้องชดใช้ค่าเสียหาย หรือชำระค่าปรับรายวัน ซึ่งในสถานการณ์ตึงเครียดเช่นนี้ การเจรจาเพื่อขอยกเว้นหรือผ่อนผันค่าเสียหายเป็นเรื่องยาก และส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งสองประเทศ

 

  1. การรักษาสายการผลิตและเศรษฐกิจโดยรวม: ในหลายกรณี โดยเฉพาะผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมหรือโรงงานที่มีนักลงทุนจากประเทศที่สาม จำเป็นต้องส่งชิ้นส่วนหรือวัตถุดิบข้ามแดน หากการขนส่งหยุดชะงัก อาจทำให้สายการผลิตหยุดลงทันที ซึ่งจะส่งผลกระทบทั้งภาคอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม และแรงงานเป็นวงกว้าง ไม่เพียงแต่กระทบเศรษฐกิจในพื้นที่ แต่ยังสะเทือนต่อระบบซัพพลายเชน (Supply Chain) ของประเทศโดยรวม

 

ดังนั้น ศบ.ทก. จึงได้วางหลักการว่า การผ่อนปรนทุกกรณีจะต้องผ่านการเห็นชอบร่วมกันจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และอยู่บนหลักการของความจำเป็น เหมาะสม และตรวจสอบได้ พร้อมมีการติดตามประเมินผลอย่างใกล้ชิด และพร้อมทบทวนหากมีการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์

 

ศบ.ทก. ขอยืนยันว่าให้ความสำคัญกับทั้งมิติความมั่นคงและความอยู่รอดของภาคเศรษฐกิจไทยอย่างสมดุล บนพื้นฐานของข้อมูล ข้อเท็จจริง และเสียงสะท้อนจากประชาชนเป็นสำคัญ

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising