ประเทศไทยตั้งเป้าไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ.2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี ค.ศ.2065 แนวทางที่หลายประเทศดำเนินการ คือการเพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาดและลดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิล
แต่การเปลี่ยนผ่านพลังงานไม่สามารถทำได้ในชั่วข้ามคืน โดยเฉพาะในประเทศที่ยังต้องพึ่งพาโรงไฟฟ้าถ่านหินเพื่อความมั่นคงด้านพลังงาน
โรงไฟฟ้าแม่เมาะ จังหวัดลำปาง คือหนึ่งในกำลังผลิตสำคัญของภาคเหนือและของประเทศ ซึ่งใช้ถ่านหินลิกไนต์ในประเทศที่มีสำรองจำนวนมาก จุดเด่นของโรงไฟฟ้าแม่เมาะคือการผลิตไฟฟ้าด้วยต้นทุนต่ำ มีเสถียรภาพ
โรงไฟฟ้าแม่เมาะ จ.ลำปาง
ในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ กฟผ. มุ่งมั่นเดินหน้าเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง หนึ่งในโครงการที่น่าจับตามองที่สุดคือ “การดักจับคาร์บอนด้วยน้ำขี้เถ้า” ซึ่งใช้ของเสียจากกระบวนการผลิตมาเปลี่ยนให้เป็นโอกาส
นวัตกรรมใหม่จากของเสีย “การดักจับคาร์บอนด้วยน้ำขี้เถ้า”
อรรถพล อิ่มหนำ ผู้อำนวยการฝ่ายการผลิตโรงไฟฟ้าแม่เมาะ กฟผ. อธิบายว่าทางโรงไฟฟ้าแม่เมาะ มีการตั้งคณะทำงานศึกษาเทคโนโลยีใหม่มาใช้ มีคณะทำงาน CCUS (Carbon Capture Utilization and Storage) ซึ่งมีการดำเนินการโครงการดักจับ CO2 ด้วยน้ำขี้เถ้าที่มาจากกระบวนการเผาไหม้ถ่านหิน ของโรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่องที่ 14 โดยคณะทำงานได้ศึกษาว่า น้ำขี้เถ้าที่ใต้เตาของกระบวนการผลิต มีคุณสมบัติเป็นด่างสูง (pH 11–12) เมื่อนำมาทำปฏิกิริยากับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO₂) ใที่กำลังจะปล่อยออกจากปล่องโรงไฟฟ้า สามารถดักจับ CO₂ ได้จริง ผ่านกระบวนการทางเคมีที่เรียกว่า Mineral Carbonation
บ่อน้ำขี้เถ้าของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เครื่องที่ 14
จากแนวคิดนี้ โรงไฟฟ้าแม่เมาะจึงเริ่มทดลองในเครื่องที่ 14 ด้วยเครื่องต้นแบบความจุ 100 ลิตร พบว่าก๊าซ CO₂ จากเดิมที่มีความเข้มข้นประมาณ 13% ลดลงเหลือ 4–5% หลังผ่านกระบวนการดักจับด้วยน้ำขี้เถ้า
ต้นแบบจำลอง (Prototype) เครื่องดักจับ CO2 ขนาด 100 ลิตร
การทดลองยังคงดำเนินอยู่ และมีเป้าหมายจะขยายผลโดยใช้น้ำขี้เถ้าเต็มกำลังจากระบบของหน่วยผลิต หากสามารถใช้ได้ที่อัตราไหล 200 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง จะสามารถดักจับ CO₂ ได้ถึง 850 ตันคาร์บอนต่อปี ซึ่งเป็นดักจับ CO₂ ได้มากอย่างมีนัยสำคัญ และยังได้แคลเซียมคาร์บอเนต (CaCO₃) ซึ่งเป็นผลพลอยได้ที่มีประโยชน์ต่ออุตสาหกรรม เช่น ใช้ในวัสดุก่อสร้าง หรือในกระบวนการดักจับซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO₂) ต่อไปได้ด้วย
นวัตกรรมนี้จึงไม่ใช่แค่การลด CO₂ แต่ยังสอดคล้องกับแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่เปลี่ยนของเสียให้กลายเป็นทรัพยากร
ผงแคลเซียมคาร์บอเนต (CaCO₃) ที่ได้จากการทดลอง
ทำอย่างไรถึงจะสำเร็จ? กับเงื่อนไขที่ต้องเกิดขึ้น
แม้เทคโนโลยีนี้ยังอยู่ในระดับต้นแบบ แต่มีศักยภาพในการต่อยอดและขยายผลในอนาคต โดยมีปัจจัยสำคัญที่ต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
- ขยายขนาดจากระดับหน่วยไปสู่ระบบทั้งโรงไฟฟ้า
หากสามารถนำแนวทางนี้ไปใช้กับหลายหน่วยผลิต หรือออกแบบให้เชื่อมต่อกับปล่องก๊าซอื่น ๆ ของโรงไฟฟ้าได้ ก็จะยิ่งเพิ่มปริมาณ CO₂ ที่สามารถดักจับได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ
- ใช้ประโยชน์จากผลพลอยได้อย่างเต็มที่
แคลเซียมคาร์บอเนต หรือหินปูน ที่ได้จากการดักจับ CO₂ เป็นของแข็ง สามารถนำมาใช้ในกระบวนการดักจับก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยลดต้นทุนให้กับโรงไฟฟ้าแม่เมาะ
แม่เมาะในวันข้างหน้า จากน้ำขี้เถ้าสู่พลังงานสะอาด ที่ลดการปล่อย CO2
โรงไฟฟ้าแม่เมาะยังคงมีบทบาทสำคัญต่อความมั่นคงทางพลังงานในภาคเหนือ และยังอยู่ในระบบไฟฟ้าของไทยต่อไปในช่วงเปลี่ยนผ่านพลังงาน แต่ความพยายามที่จะพัฒนาเทคโนโลยีดักจับ CO₂ ด้วยทรัพยากรที่มีอยู่ในโรงไฟฟ้า คือสัญญาสำคัญว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ไม่ได้หยุดนิ่งต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
ในวันที่การลดคาร์บอนกลายเป็นเป้าหมายสำคัญของโลก ทุกแนวทางที่ช่วยลดการปล่อย CO₂ ได้ แม้จะเริ่มต้นจากจุดเล็ก ๆ อย่างน้ำขี้เถ้า ก็อาจกลายเป็นนวัตกรรมเปลี่ยนเกมที่ทำให้การผลิตไฟฟ้าสะอาดขึ้น
ในช่วงแห่งการเปลี่ยนผ่านพลังงาน จากพลังงานฟอสซิลไปสู่พลังงานสะอาดที่ไม่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน หากโครงการดักจับ CO2 ด้วยน้ำขี้เถ้า สามารถขยายผลสู่โครงการนำร่องขยายการดักจับ CO2 ได้ตามปริมาณที่ตั้งเอาไว้ จะช่วยให้การมีอยู่ของโรงไฟฟ้าแม่เมาะนั้น ตอบโจทย์ได้ทั้ง มิติด้านเศรษฐกิจ คือ ต้นทุนค่าไฟฟ้าที่ต่ำ มิติสิ่งแวดล้อม คือ การเป็นโรงไฟฟ้าที่ลดการปล่อย CO2 และก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และมิติสังคม คือ การส่งเงินเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้า เพื่อนำไปช่วยพัฒนาท้องถิ่นซึ่งเป็นอีกแรงขับเคลื่อนการพัฒนาสังคมสู่ความยั่งยืนต่อไป
นี่อาจไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในวันเดียว แต่เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างพลังงานที่ยั่งยืนในแบบของไทยเอง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ประชาชนซื้อขายไฟฟ้าเองใกล้เป็นความจริง! กกพ. สนับสนุนการทดสอบซื้อขายไฟฟ้า P2P ในจุฬาฯ ทำได้จริง เพิ่มความมั่นใจให้ฝ่ายนโยบายก่อนขยายผล
- รู้จัก “BESS”: Power Bank ของระบบไฟฟ้าไทย ช่วยให้ไฟไม่ดับในยุคพลังงานใหม่ เสริมความมั่นคงระบบพลังงานไทย
- “พลังงานลมไทย” ทางเลือกสู่ Net Zero ที่จะเปลี่ยนท้องถิ่นให้เป็นฐานพลังงานแห่งอนาคต