×

กับระเบิดชายแดนไทย-กัมพูชา คำถามต่อพันธกรณีอนุสัญญาออตตาวา

19.07.2025
  • LOADING...
thailand-cambodia-mine-pmn2

กรณีพลทหาร ธนพัฒน์ หุยวัน กำลังพลกองร้อยทหารราบที่ 6021 เหยียบกับระเบิดระหว่างการลาดตระเวนในพื้นที่ช่องบก จังหวัดอุบลราชธานีจนขาขาดนั้นสร้างความตกใจให้กับประชาชนชาวไทยเป็นอย่างมาก พร้อมทั้งคำวิจารณ์ที่ปรากฎในสังคมว่า ถ้าเป็นการวางกับระเบิดใหม่จริง ๆ ก็ถือว่ากัมพูชาละเมิดอนุสัญญาออตตาวาหรืออนุสัญญาว่าด้วยการห้ามใช้ สะสม ผลิต และโอน และการทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคล ค.ศ. 1997 ซึ่งทั้งไทยและกัมพูชาต่างลงนามและให้สัตยาบันให้อนุสัญญานี้

 

อาการตกใจของคนไทยก็เป็นสิ่งที่อยู่ในใจของผู้นำจากหลายชาติที่มาประชุมตกลงกันและนำมาสู่อนุสัญญาออตตาว่านี้ เพราะทุ่นระเบิดสังหารบุคคลเป็นอาวุธที่ทำอันตรายไม่เลือกหน้า เนื่องจากจะทำงานไม่ว่าผู้ใดมาเหยียบ ส่วนใหญ่เน้นทำให้พิการคือขาขาด ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง 

 

อีกทั้งการวางทุ่นระเบิดนั้นมักจะวางโดยปราศจากการจดบันทึกที่ดี ทำให้บ่อยครั้งที่เมื่อสงครามจบลงแล้ว ทุ่นระเบิดที่ยังฝังอยู่และไม่ได้รับการเก็บกู้ยังส่งผลต่อเนื่องและสร้างผลกระทบให้กับประชาชนทั่วไปต่อมาอีกหลายสิบปี

 

ซึ่งจริง ๆ แล้วกัมพูชาเป็นประเทศที่น่าจะรู้ดีถึงผลกระทบของทุ่นระเบิดสังหารบุคคล เพราะตั้งแต่ปี 1979 เป็นต้นมา มีชาวกัมพูชากว่า 65,000 คนที่ได้รับบาดเจ็บ พิการ หรือเสียชีวิตจากทุ่นระเบิดที่ฝังเอาไว้ตั้งแต่สมัยสงครามกลางเมือง 

 

โดยเฉพาะในชายแดนไทยกัมพูชาที่ในครั้งนั้นฝ่ายสาธารณรัฐประชาชนกัมพูชา หรือ People’s Republic of Kampuchea ได้วางกับระเบิดเพื่อต่อต้านฝ่ายเขมรแดงเป็นจำนวนมากตลอดแนวชายแดนไทยกัมพูชากว่า 750 กิโลเมตรจนสนามทุ่นระเบิดนี้รู้จักกันในชื่อม่านไม้ไผ่หรือ Bamboo Curtain หรือโครงการสนามทุ่นระเบิด K5 ซึ่งตัว K มาจากคำว่า kar karpier หรือการป้องกันในภาษาเขมร และ 5 คือหลักการ 5 ข้อของพลเอกพิเศษ เล ดึ๊ก อัญ เพื่อใช้ในการของเวียดนามในการสนับสนุนรัฐบาลสังคมนิยมของกัมพูชาในการต่อต้านเขมรแดงในช่วงนั้น

 

แม้ว่ายังต้องรอรัฐบาลและกองทัพยืนยันด้วยการตรวจสอบหลักฐานว่าทุ่นระเบิดที่ทำให้พลทหาร ธนพัฒน์ต้องพิการนั้นเป็นทุ่นระเบิดเก่าหรือเป็นทุ่นระเบิดที่วางใหม่ แต่ก็มีข้อมูลบางส่วนระบุว่าตำแหน่งที่พลทหาร ธนพัฒน์เหยียบทุ่นระเบิดนั้นเป็นตำแหน่งที่หน่วยเก็บกู้วัตถุระเบิดของไทยได้ดำเนินการตรวจสอบและเคลียร์ทุ่นระเบิดไปหมดเป็นเวลานานแล้ว 

 

ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้สูงที่จะเป็นการวางทุ่นระเบิดใหม่ รวมถึงกองทัพของไทยได้ยกเลิกการใช้งานทุ่นระเบิดสังหารบุคคลไปแล้วหลังจากลงนามในอนุสัญญาออตตาวา 

 

อีกทั้งก่อนหน้าที่จะลงนามในอนสัญญาดังกล่าว กองทัพของไทยยังไม่เคยมีการจัดหาทุ่นระเบิดที่ผลิตในรัสเซียอย่าง PMN 2 มาใช้งาน ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่ทุ่นระเบิดนี้จะมาจากการใช้งานจากฝ่ายไทย

 

ทั้งนี้ ทุ่นระเบิดสังหารบุคคล PMN 2 เป็นทุ่นระเบิดที่ผลิตในโซเวียตตั้งแต่ในทศวรรตที่ 70 โดยพัฒนามาจาก PMN 1 มีลักษณะเป็นทรงกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง 120 เซนติเมตร บรรจุดินระเบิด TNT ถึง 100 กรัม ซึ่งมากกว่าทุ่นระเบิดตระกูลอื่น 2 – 3 เท่า 

 

นอกจากนั้นแม้ว่าจะยังทำงานเหมือนทุ่นระเบิดแบบอื่น ๆ คือใช้ชนวนที่ทำงานเมื่อมีแรงกด แต่การค้นหา PMN 2 จะทำได้ยากขึ้น เนื่องจากตัวทุ่นทำจากพลาสติก ทำให้มีชิ้นส่วนโลหะน้อย เครื่องตรวจจับโลหะจึงตรวจจับได้ยากขึ้น 

 

และเมื่อตรวจจับได้แล้วก็ยังทำลายยากขึ้น เพราะโดยปกติการทำลายที่ง่ายและปลอดภัยที่สุดคือการทำลายด้วยระเบิดทำลายทุ่นระเบิดเช่นระเบิดบังกาลอร์ (Bangalore Torpedo) ที่เป็นระเบิดเจาะช่องสนามทุ่นระเบิดที่มีลักษณะท่อยาวที่จะใช้แรงระเบิดสร้างแรงกดเพื่อให้ทุ่นระเบิดระเบิดออกหรือถูกทำลายจากแรงระเบิด 

 

แต่ทุ่นระเบิด PMN 2 นั้นมีแผนรับแรงกดที่เป็นรูปตัว X ซึ่งช่วยกระจายแรงกดของระเบิดบังกาลอร์จนไม่สามารถที่จะทำให้ตัวทุ่นระเบิดเกิดการระเบิดหลังการจุดระเบิดบังกาลอร์ได้ ทำให้การเก็บกู้มักจะต้องใช้เจ้าหน้าที่เก็บกู้ระเบิดคลานเข้าไปเก็บกู้หรือทำลายด้วยตัวเอง ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงของเจ้าหน้าที่เก็บกู้

 

ในรุ่นหลัง ๆ เช่น PMN 3 หรือ PMN 4 มีการพัฒนาเพิ่มเข้าไปอีก เช่น มีระบบชนวนกันเขยื้อน ซึ่งหมายถึงระเบิดจะทำงานเมื่อมีการขยับเขยื้อน เพื่อให้ระเบิดทำงานในขณะที่เจ้าหน้าที่เก็บกู้วัตถุระเบิดกำลังเก็บกู้ หรือมีขนาดเล็กลงเพื่อให้ตรวจจับและสังเกตุได้ยากขึ้น เป็นต้น

 

สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าทำไมทุ่นระเบิดจึงถูกขนานนามว่าเป็นอาวุธที่มีความโหดร้ายและไร้มนุษยธรรม ซึ่งถ้ามีหลักฐานพิสูจน์ได้ว่ากัมพูชาเพิ่งมาวางทุ่นระเบิดแล้ว นอกจากควรจะต้องดำเนินการทางการทูตด้วยการแจ้งเรื่องพร้อมหลักฐานในที่ประชุมของอนุสัญญาออตตาวาที่จะจัดขึ้นที่เจนีวาในวันที่ 1 – 5 ธันวาคมนี้ เพื่อให้นานาชาติมีแรงกดดันไปสู่รัฐบาลกัมพูชาให้ยกเลิกการใช้งานทุ่นระเบิด ก็จำเป็นที่จะต้องให้กำลังพลของไทยระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อลดอันตรายและป้องกันการสูญเสียจากฆาตกรที่ฆ่าไม่เลือกฝ่ายอย่างทุ่นระเบิดแบบนี้

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising