×

ประชาธิปไตยใต้เงาครอบครัว 3 นายกฯ จากตระกูล ‘ชินวัตร’ อำนาจ และ ประชา (ชน) นิยม

โดย THE STANDARD TEAM
19.07.2025
  • LOADING...
นายกฯ ตระกูลชินวัตร

คำว่า ‘ประชาธิปไตย’ หมายถึง ระบอบการปกครองที่อำนาจในการบริหารประเทศ ความชอบธรรม และอธิปไตยของประเทศ เป็นของประชาชนโดยตรง และมีสิทธิ์เลือกผู้นำประเทศโดยการเลือกตั้ง

 

ประเทศไทยเปลี่ยนการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่พระมหากษัตริย์มีอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศเพียงผู้เดียว มาเป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (Democracy under a constitutional monarchy) จากการปฏิวัติสยาม เมื่อปี 2475 ซึ่งนำโดยคณะราษฎร

 

แม้ระบอบประชาธิปไตยจะยึดหลักว่าอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน ผ่านการเลือกตั้งผู้นำและผู้แทนโดยเสรี แต่บางครั้งการเมืองกลับสะท้อนให้เห็นถึงบทบาทของเครือญาติและสายสัมพันธ์ในครอบครัว ที่ยังคงมีอิทธิพลอย่างต่อเนื่อง

 

คำว่า ‘ประชาธิปไตยใต้เงาครอบครัว’ จึงถูกใช้เพื่ออธิบายสถานการณ์ที่กระบวนการเลือกตั้งยังคงดำเนินอยู่ตามครรลองประชาธิปไตย แต่มีการสืบทอดอำนาจหรืออิทธิพลทางการเมืองภายในกลุ่มบุคคลหรือครอบครัวเดิม

 

ขณะที่ครอบครัวชินวัตรก็เป็นหนึ่งในตระกูลการเมืองที่มีบทบาทอย่างมากในประเทศไทย โดยมีสมาชิกในครอบครัวดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาแล้ว 3 คน ได้แก่ ทักษิณ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรีคนที่ 23), ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (คนที่ 28) และแพทองธาร ชินวัตร (คนที่ 31)

 

แม้ผู้นำแต่ละคนจะเข้าสู่ตำแหน่งผ่านกระบวนการเลือกตั้ง สส. และมาเลือกผู้นำฝ่ายบริหาร ตามครรลองประชาธิปไตยแบบทางอ้อม และได้รับการสนับสนุนจากประชาชนจำนวนมาก แต่อีกด้านหนึ่งก็มีข้อสังเกตถึงบทบาทของสายสัมพันธ์ภายในครอบครัว ซึ่งอาจสะท้อนรูปแบบของการสืบทอดอำนาจทางการเมืองในระยะยาว

 

นายกฯ ตระกูลชินวัตร

 

ทักษิณ: จากนายทุน สู่ผู้นำประเทศ

 

จุดเริ่มต้นเส้นทางการเมืองของ ‘ทักษิณ’ นั้น เกิดขึ้นหลังช่วงวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ปี 2540 ที่ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยถดถอยหนักที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ หลายบริษัทล้มละลาย ประชาชนจำนวนมากต้องตกงาน และรัฐบาลในยุคนั้นถูกมองว่าไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอในการแก้ไขปัญหา 

 

ประเทศไทยในเวลานั้นจึงกำลังมองหาผู้นำคนใหม่ที่มีความสามารถในการกู้วิกฤตนี้ ด้วยความที่เป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ และเข้าใจเศรษฐกิจเป็นอย่างดี ‘ทักษิณ ชินวัตร’ จึงถูกมองว่าเป็นทางเลือกของความหวังใหม่สำหรับประชาชน

 

อย่างไรก็ดี ทักษิณไม่ใช่คนแรกในตระกูลที่ก้าวเข้าสู่การเมือง จุดเริ่มต้นของตระกูลชินวัตรในสนามการเมืองย้อนไปถึงรุ่นบิดา ‘เลิศ ชินวัตร’ ซึ่งเคยเป็น สส. จังหวัดเชียงใหม่ ในยุครัฐบาลจอมพล ถนอม กิตติขจร ระหว่างปี 2512-2519 และถือเป็นแรงบันดาลใจสำคัญในการปลูกฝังแนวคิดทางการเมืองให้กับลูกชาย

 

แม้จะเติบโตในครอบครัวนักการเมือง แต่ทักษิณเริ่มต้นเส้นทางของตัวเองในฐานะนักธุรกิจเต็มตัว หลังลาออกจากราชการตำรวจ ก่อนจะก้าวเข้าสู่เวทีการเมืองในเวลาต่อมา

 

ธุรกิจแรกของ ‘ทักษิณ’ คือ การจัดตั้ง ห้างหุ้นส่วนจำกัด ไอซีเอสไอ ในปี 2525 และต่อมาได้ขยายกิจการเป็น บริษัท ชินวัตรคอมพิวเตอร์ จำกัด เขามีพื้นฐานคอมพิวเตอร์จากการศึกษาที่สหรัฐอเมริกา แม้จะไม่ได้เรียนจบครบหลักสูตร แต่ก็สามารถเปิดธุรกิจค้าขาย และให้บริการเช่าเครื่องคอมพิวเตอร์แก่หน่วยงานราชการ จนประสบความสำเร็จ

 

ต่อมา ได้ขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง เปิดบริษัทย่อยเพื่อดูแลธุรกิจหลากหลายประเภทมากขึ้น รวมถึงธุรกิจบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น (Shin Corporation) ที่ก่อตั้งในปี 2525 ร่วมกับคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ ภริยา ซึ่งเป็นธุรกิจที่ต่อยอดจากการขายระบบคอมพิวเตอร์ให้ภาครัฐและเอกชน สู่ธุรกิจโทรคมนาคมที่ได้รับสัมปทานจากรัฐบาล ให้ดำเนินกิจการโทรศัพท์มือถือ ซึ่งต่อมาได้กลายเป็น AIS บริษัทโทรศัพท์มือถือรายใหญ่ที่สุดของไทย ผ่านสัมปทานของรัฐในขณะนั้น

 

หลังจากประสบความสำเร็จในธุรกิจ ‘ทักษิณ’ ก็เริ่มก้าวเข้าสู่แวดวงการเมือง โดย พล.ต. จำลอง ศรีเมือง หัวหน้าพรรคพลังธรรม ได้เชิญ ‘ทักษิณ’ ให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2537 ในสมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย

 

แต่เขาปฏิบัติหน้าที่ได้เพียง 101 วันก็ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่ง เนื่องจากกฎหมายรัฐธรรมนูญสมัยนั้นระบุว่า ผู้ที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีจะต้องไม่มีกิจการสัมปทานกับรัฐ

 

ต่อมาในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2538 ทักษิณได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคพลังธรรม และต่อมาก็ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น สส. เขต 2 จังหวัดกรุงเทพมหานคร และผ่านการเลือกตั้งโดยเป็นคะแนนเสียงลำดับที่ 1 และได้รับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลสมัยบรรหาร ศิลปอาชา

 

แต่ก็เกิดความขัดแย้งระหว่างภายในพรรคพลังธรรม ทำให้ ‘ทักษิณ’ ตัดสินใจลาออกจากพรรคพลังธรรม และถอนตัวจากรัฐบาลด้วยเช่นกัน

 

ต่อมาในสมัยรัฐบาลของ พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ ก็ได้กลับมารับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง หลังมีการปรับคณะรัฐมนตรีใหม่ในปี 2540 แต่ไม่นาน พล.อ. ชวลิต ก็ประกาศลาออกจากตำแหน่ง และได้ ชวน หลีกภัย ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่สองแทน

 

 

ในช่วงปี 2541 ‘ทักษิณ’ ได้ก่อตั้งพรรคไทยรักไทย โดยมีคำขวัญที่ได้รับความสนใจจากประชาชนอย่างมากคือ “คิดใหม่ ทำใหม่ เพื่อไทยทุกคน”

 

ภายหลังจากการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 6 มกราคม และเลือกตั้งซ่อมวันที่ 29 มกราคม   2544 พรรคไทยรักไทยชนะการเลือกตั้ง และได้ที่นั่งในสภาจำนวน 248 ที่นั่ง ทำให้ ‘ทักษิณ’ ในฐานะหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 23 ของประเทศไทย และได้ดำรงตำแหน่งถึง 2 สมัย

 

แม้ ‘ทักษิณ’ จะสามารถรักษาคะแนนนิยม และชนะการเลือกตั้งถึง 2 สมัย แต่ก็ถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับความโปร่งใส เช่น การให้ขายหุ้นชินคอร์ป ให้ต่างชาติ หรือปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน ในการปราบปรามยาเสพติด ซึ่งมีผู้บริสุทธิ์เสียชีวิต เหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องสำคัญ ที่นำไปสู่การถูกยึดอำนาจ โดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ซึ่งมี พล.อ. สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นหัวหน้าคณะรัฐประหารเมื่อปี 2549 ถูกตั้งสารพัดข้อหาคดีทุจริต และต้องลี้ภัยไปใช้ชีวิตในต่างแดนอย่างยาวถึง 17 ปี

 

 

ยิ่งลักษณ์: น้องสาวที่รัก สู่ ‘นายกฯ หญิงคนแรกของไทย’

 

‘ยิ่งลักษณ์’ สำเร็จการศึกษาปริญญาโทจากประเทศสหรัฐอเมริกาในปี 2533 จากนั้นได้เริ่มเข้าทำงานที่บริษัท ชินวัตร ไดเร็กทอรีส์ จำกัด ในปี 2534 ตำแหน่งพนักงานฝึกหัดและการขาย ต่อมาได้รับการเลื่อนตำแหน่งให้เป็นผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ และเป็นผู้อำนวยการฝ่ายผลิต

 

ในปี 2537 ย้ายไปรับตำแหน่งผู้จัดการทั่วไปของบริษัท เรนโบว์ มีเดีย ซึ่งเป็นแผนกหนึ่งของบริษัท ไอบีซี อินเตอร์เนชั่นแนล บรอดคาสติ้ง ซึ่งเป็นบริษัททรูวิชั่นในปัจจุบัน และขึ้นเป็นรองกรรมการผู้อำนวยการ ก่อนจะย้ายกลับมาที่บริษัท ชินวัตร ไดเร็กทอรีส์ จำกัด ในตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการ

 

ต่อมาในปี 2542 ได้ย้ายไปทำงานที่บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ ชิน คอร์ปอเรชั่น โดยดำรงตำแหน่งรองกรรมการผู้อำนวยการฝ่ายเซอร์วิส โอเปอเรชั่น ก่อนจะเลื่อนเป็นรองกรรมการผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวางแผนธุรกิจไร้สาย จนดำรงตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการบริษัทในปี 2545

 

หลังจากตระกูลชินวัตรขายหุ้นกลุ่มบริษัทชินคอร์ปให้กับ เทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ บริษัทของสิงคโปร์ ‘ยิ่งลักษณ์’ จึงย้ายกลับมาดำรงตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการที่บริษัท เอสซี แอสเซท จำกัด เป็นข้อสังเกตได้ว่า บริษัทต่างๆ ที่ ‘ยิ่งลักษณ์’ ได้เข้าทำงานนั้น อยู่ในกลุ่มบริษัทที่มีความเกี่ยวข้องกับตระกูลชินวัตร ทั้งด้านโทรคมนาคมหรือด้านอสังหาริมทรัพย์

 

หลังรัฐประหารปี 2549 ประเทศไทยเข้าสู่ยุคแห่งความขัดแย้งทางการเมือง ระหว่างฝ่ายสนับสนุนทักษิณ และฝ่ายตรงข้าม ขณะที่รัฐบาล ‘อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ’ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี หลังจากการยุบพรรคไทยรักไทย ก็เผชิญกับการชุมนุมและข้อกล่าวหาเรื่องความชอบธรรม

 

ทำให้ประชาชนต้องการผู้นำคนใหม่ ที่ไม่ถูกจับตามองว่าเป็นชนวนของความขัดแย้ง ‘ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร’ จึงถูกเสนอชื่อขึ้นมาเป็นทางเลือกใหม่ในแวดวงการเมือง แต่ยังคงเชื่อมโยงกับตระกูลที่มีฐานเสียงแข็งแกร่ง

 

เส้นทางทางการเมืองของ ‘ยิ่งลักษณ์’ เริ่มต้นมาจากการร้องขอของ ‘ทักษิณ’ ให้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น สส. ในพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นพรรคที่สืบทอดมาจากพรรคไทยรักไทย หลังการถูกตัดสินยุบพรรคของศาล

 

หลังจาก ‘อภิสิทธิ์’ ประกาศยุบสภาในวันที่ 10 พฤษภาคม 2554 ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย มีมติเอกฉันท์ให้ ‘ยิ่งลักษณ์’ เป็นผู้สมัคร สส. ระบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 1

 

เมื่อเข้าสู่การเลือกตั้งทั่วไป วันที่ 3 กรกฎาคม 2554 พรรคเพื่อไทยได้คะแนนอันดับ 1 จากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 265 เสียง

 

ต่อมามีการลงมติในรัฐสภา วันที่ 5 สิงหาคม 2554 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติเลือก ‘ยิ่งลักษณ์’ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ด้วยคะแนนเสียง 296 คะแนนเสียง ไม่เห็นชอบ 3 เสียง และงดออกเสียง 197 เสียง จากจำนวนสมาชิก สส. ที่มาลงชื่อใช้สิทธิ์ 458 คน จาก 500 คน

 

วันที่ 8 สิงหาคม 2554 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้แต่งตั้ง ‘ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร’ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 28 และเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทย

 

จากคำร้องของ ‘พี่ชาย’ ให้เธอเข้ามาสู่เส้นทางการเมืองนั้น ทำให้ยิ่งลักษณ์ต้องอยู่ท่ามกลางเสียงวิจารณ์ในขณะนั้นว่า เป็นตัวแทนของพี่ชาย, เป็นนายกฯ นอมินี เนื่องจากมีหลายคนมองว่า ‘ทักษิณ’ ยังคงมีอำนาจเหนือพรรคเพื่อไทย และนายกฯ หญิงคนแรกของไทยอยู่

 

ขณะที่ ‘ทักษิณ’ ออกมาโต้กระแสข่าวว่า ‘ยิ่งลักษณ์’ ไม่ใช่นายกฯ นอมินี แต่เป็น นายกฯ โคลนนิ่ง เนื่องจากเติบโตมาด้วยกัน ทำงานร่วมกัน และมีฐานความคิดแบบเดียวกัน

 

แม้จะขึ้นสู่ตำแหน่งด้วยคะแนนเสียงอย่างล้นหลาม และได้รับการจับตามองในฐานะ นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทย แต่ยิ่งลักษณ์ ก็ต้องเผชิญกับแรงกดดันทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เสียงวิจารณ์จากฝ่ายค้าน ไปจนถึงการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ชุมนุม

 

 

จุดเปลี่ยนสำคัญคือ ‘โครงการรับจำนำข้าว’ ที่รัฐบาลผลักดันโดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือชาวนา แต่กลับถูกตั้งคำถามถึงความไม่โปร่งใส การทุจริต และการขาดกลไกควบคุม จนทำให้รัฐต้องแบกรับภาระหนี้จำนวนมหาศาล

 

นอกจากนี้ ในปี 2557 ยิ่งลักษณ์ยังต้องเผชิญกับข้อกล่าวหาในกรณีโยกย้ายตำแหน่ง ‘ถวิล เปลี่ยนศรี’ ออกจากเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าเป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบ และมีผลให้ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 

 

ในช่วงเวลาเดียวกัน ประเทศไทยเผชิญกับวิกฤตความขัดแย้งทางการเมืองและการชุมนุมยืดเยื้อจากกลุ่ม กปปส. ที่ต่อต้านรัฐบาลอย่างหนัก จากนั้นวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น ได้นำกองทัพเข้ายึดอำนาจ นับเป็นการรัฐประหารครั้งที่ 13 

 

ต่อมาในปี 2560 ศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้พิพากษาให้ยิ่งลักษณ์มีความผิดในคดีโครงการรับจำนำข้าว ฐานปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริต ลงโทษจำคุก 5 ปี โดยไม่รอลงอาญา แม้เธอจะปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา

 

อย่างไรก็ตาม ก่อนวันพิพากษาไม่นาน ยิ่งลักษณ์ได้เดินทางออกนอกประเทศ และไม่กลับเข้าร่วมฟังคำตัดสิน ทำให้ถูกออกหมายจับ และกลายเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมืองนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา รวมเวลากว่า 8 ปีจนถึงปัจจุบัน ขณะที่ พล.อ. ประยุทธ์ ก็เข้าบริหารประเทศต่อยาวนานถึงปี 2566

 

 

ที่มา: pouyingluck_shin / Instagram

 

 

แพทองธาร: จากพ่อ และอา สู่นายกฯ ชินวัตรคนที่ 3 

 

แพทองธาร ชินวัตร บุตรสาวคนเล็กของทักษิณ และเป็นหลานอาของยิ่งลักษณ์ ก่อนหน้าที่จะเข้าสู่การเมือง ‘แพทองธาร’ ได้ทำงานในธุรกิจของตระกูลชินวัตร โดยเคยเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท เอสซี แอสเซท มูลค่าประมาณ 7 หมื่นล้านบาท รวมถึงเป็นผู้ถือหุ้นในกิจการอื่นๆ เช่น โรงแรมโรสวูด ในกรุงเทพมหานคร และเคยดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารธุรกิจโรงแรม ของบริษัท เรนด์ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน)

 

เข้าสู่การเมืองอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม ปี 2564 โดยเป็นประธานที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรมของพรรค และอีก 5 เดือนต่อมา ในวันที่ 20 มีนาคม 2565 ก็ได้รับเลือกให้เป็น ‘หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย’ ก่อนจะนำมาซึ่งการเป็น 1 ใน 3 แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้ง 2566

ตลอด 9 ปีของการบริหารประเทศโดย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้ยึดอำนาจจากอาของเธอ ได้สร้างกระแสความไม่พอใจในหมู่ประชาชน โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ เริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้น หลายคนมองว่าระบบการเลือกตั้งไม่สะท้อนหลักประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

เมื่อเข้าสู่การเลือกตั้งปี 2566 พรรคเพื่อไทยส่ง ‘แพทองธาร ชินวัตร’ ลงชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ด้วยภาพลักษณ์ของคนรุ่นใหม่ แม้จะเติบโตจากตระกูลการเมือง แต่สามารถสื่อสารและเข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้ จึงถูกมองว่าเป็นโอกาสในการเปลี่ยนทิศทางการเมืองไทยให้หลุดพ้นจากวังวนเดิม และสอดคล้องกับยุคสมัยมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ผลเลือกตั้งในปี 2566 กลับไม่เป็นไปตามเป้าหมาย พรรคเพื่อไทยไม่สามารถคว้าชัยแบบแลนด์สไลด์ได้ตามที่หวัง และยังพ่ายแพ้ให้กับพรรคก้าวไกล พรรคใหม่ที่ก่อตั้งมาไม่ถึง 4 ปี ซึ่งสามารถกวาดไปได้ถึง 151 ที่นั่ง ขณะที่เพื่อไทยได้ 141 ที่นั่ง

พรรคเพื่อไทยแสดงจุดยืนพร้อมร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคก้าวไกล ในฐานะผู้ชนะการเลือกตั้งอันดับที่ 1 ทว่าเสียงจากสมาชิกวุฒิสภากลับไม่สนับสนุน ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แม้มีความพยายามเสนอชื่อพิธาเข้าสภาถึง 3 ครั้ง แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ

 

 

จนในที่สุด พรรคเพื่อไทยตัดสินใจยุติการจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคก้าวไกล โดยให้เหตุผลว่า จำเป็นต้องจับมือกับพรรคอื่นเพื่อให้การจัดตั้งรัฐบาลเป็นไปได้จริง พร้อมเสนอชื่อ ‘เศรษฐา ทวีสิน’ อดีตผู้บริหารอสังหาริมทรัพย์ยักษ์ใหญ่ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30

กระนั้น เศรษฐาก็เป็นนายกรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินได้ไม่ถึง 1 ปี เขาก็ถูกถอดให้ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เนื่องจากถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีต้องสิ้นสุดลง เนื่องจากขาดคุณสมบัติ ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และมีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง 

 

จากการทูลเกล้าฯ แต่งตั้ง ‘พิชิต ชื่นบาน’ เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งที่พิชิตเคยต้องคำพิพากษาจำคุกหกเดือน ฐานละเมิดอำนาจศาล จนนำมาซึ่งการขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 31 และเป็นผู้หญิงคนที่สองของประเทศไทย ในวันที่เธออาจยังไม่พร้อม 100% ต่อจาก ‘ยิ่งลักษณ์’ ผู้เป็นอา และเป็นคนที่ 3 จากตระกูลชินวัตร 

 

 

ขณะเดียวกัน ‘ทักษิณ’ ผู้เป็นพ่อ ได้กล่าวในงาน Dinner Talk : Vision for Thailand 2024 ในวันที่ 22 สิงหาคม 2567 ซึ่งมีผู้เข้าร่วม 1,500 คน หลัง ‘แพทองธาร’ ได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์ว่า “ในฐานะพ่อ ผมต้องดูแลลูกสาวของผม และต้องช่วยเหลือเธอ แต่จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับหน้าที่ของเธอในฐานะนายกรัฐมนตรี แต่ก็ไม่สามารถอยู่นิ่งเฉย และมองปัญหาในประเทศ โดยไม่สนใจได้เช่นกัน”

 

ภายในงานดังกล่าว ‘ทักษิณ’ ยังได้กล่าวเสนอการแก้ไขปัญหาต่างๆ ในประเทศไทย ทั้งเรื่องหนี้สาธารณะ และหนี้ครัวเรือน รวมถึงแสดงความคิดเห็นต่อการเมืองไทย โดยทำให้หลายฝ่ายมองว่า ‘แพทองธาร’ ถูกใช้มาเป็นหุ่นเชิดในการดำเนินนโยบายตามความต้องการของพ่อหรือไม่

แม้หลายฝ่ายจะตั้งคำถามถึงบทบาทของ ‘ทักษิณ’ ว่าอาจมีอิทธิพลอยู่เบื้องหลังการจัดตั้งรัฐบาล แต่ ‘แพทองธาร’ ได้ตอบชัดว่า ตนทำงานอย่างอิสระ ไม่ได้อยู่ภายใต้การชี้นำของบิดา พร้อมยืนยันว่าเธอเป็นตัวของตัวเอง

อย่างไรก็ตาม แพทองธารก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงเสียงวิพากษ์วิจารณ์ฝ่ายค้าน และจากสังคม โดยเฉพาะเมื่อทักษิณยังคงแสดงบทบาทในที่สาธารณะ นำเสนอแนวคิดด้านการบริหารประเทศอย่างต่อเนื่อง จนหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตถึงอิทธิพลที่อาจมีอยู่จริง และเห็นว่าเธอไม่ใช่นายกฯ ตัวจริง

ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองอันดุเดือด และเข้าสู่ปีที่ 2 ครึ่งทางของรัฐบาลก่อนที่จะหมดสมัยแล้ว แต่รัฐบาลเพื่อไทยก็ยังไม่มีผลงานที่เป็นชิ้นเป็นอัน นโยบายที่เสนอต่อประชาชนหลายเรื่องก็ยังไม่สำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นการแจกเงินหมื่น การทำคาสิโนใน Entertainment Complex และคะแนนความนิยมที่ลดลงเรื่อยๆ

ระหว่างออกงานครั้งหนึ่ง ‘ทักษิณ’ ได้ประกาศทวงคืนกระทรวงมหาดไทยจากพรรคภูมิใจไทยในฐานะพรรคร่วมรัฐบาลอันดับ 2 เพื่อดำเนินนโยบายแก้ปัญหายาเสพติด ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายที่เคยทำสำเร็จมาแล้วเมื่อ 20 ปีก่อน หวังเรียกศรัทธาและเรียกความนิยมจากประชาชนอีกครั้ง จนทำให้พรรคภูมิใจไทยถอนตัวออกจากพรรคร่วมรัฐบาล และทำให้สถานการณ์ของ ครม. แพทองธารในวันนี้อยู่แบบหายใจไม่ทั่วท้องนัก

 

 

มากไปกว่านั้น ยังต้องเผชิญกับปัญหาจากประเทศเพื่อนบ้าน ประเทศกัมพูชา ซึ่งมีจุดเริ่มต้นมาจากปัญหาชายแดนในพื้นที่ 4 จังหวัดอีสานใต้ของไทย และ 3 จังหวัดตะวันตกของกัมพูชา นำมาซึ่งการถูกปล่อยคลิปเสียงการเจรจาระหว่างแพทองธาร และสมเด็จฮุน เซน ‘อังเคิลของเธอ’ เพื่อหาทางออก แต่แทนที่การเจรจาจะคลี่คลายข้อกังขา กลับยิ่งจุดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคม

ต่อมาสมาชิกวุฒิสภาได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อให้ตรวจสอบความชอบธรรมของการกระทำดังกล่าว พร้อมทั้งร้องขอให้ศาลสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ และถอดถอนออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

พร้อมทั้งให้เหตุผลว่า มีพฤติกรรมขาดความซื่อสัตย์สุจริต และฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง อันอาจเข้าข่ายเป็นการทรยศต่อประเทศชาติ ตามเนื้อหาในบทสนทนาที่ปรากฏในคลิปเสียงดังกล่าว ต่อมาศาลมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นการชั่วคราว พร้อมรับคำร้องไว้พิจารณา และให้ผู้ถูกร้องยื่นคำชี้แจงภายใน 15 วัน และมีการขยายเวลาอีก 15 วัน


ทำให้ขณะนี้ แพทองธารเหลือเพียงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมเพียงตำแหน่งเดียว ซึ่งชะตาทางการเมืองของแพทองธารจะเป็นอย่างไร คงต้องติดตามบทสรุปที่กำลังจะมาถึงในเร็ววันนี้

 

ภาพ: ingshin21 / Instagram

 

 

นโยบายประชานิยม: ความนิยมตระกูลชินวัตร

การเข้าสู่นายกรัฐมนตรีของตระกูลชินวัตรทั้ง 3 คน บ่งบอกถึงความสำเร็จทางการเมืองของครอบครัว แม้จะมีข้อครหาเกี่ยวกับคดีต่างๆ แต่ก็ยังคงรักษาฐานเสียงจำนวนมากไว้ได้

 

สาเหตุอาจเป็นเพราะนโยบายที่ขับเคลื่อนประเทศ และช่วยเหลือชนชั้นรากหญ้าได้จริง ตั้งแต่ยุค ‘ทักษิณ’ ที่นำนโยบายแบบภาคธุรกิจ มาปรับใช้ในภาครัฐพร้อมเปลี่ยนวิธีคิดของระบบราชการ รวมถึงเสนอนโยบายเศรษฐกิจที่เรียกกันว่า ทักษิโณมิกส์ (Thaksinomics)

 

หนึ่งในนโยบายที่ได้รับความนิยมสูงสุด คือนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค ซึ่งเปลี่ยนระบบสาธารณสุขไทยให้กลายเป็นระบบที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น แม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องงบประมาณและคุณภาพบริการก็ตาม

 

นอกจากนี้ ‘ทักษิณ’ ยังผลักดันโครงการ กองทุนหมู่บ้าน โดยแจกเงินหมู่บ้านละ 1 ล้านบาท ให้ใช้ลงทุนเพื่อพัฒนาท้องถิ่น ขณะเดียวกันยังมีนโยบาย พักหนี้เกษตรกร, โครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) และการส่งเสริม SME เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากโดยตรง 

 

ในขณะที่สมัยรัฐบาล ‘ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร’ ก็มีนโยบายประชานิยมเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ คือโครงการรับจำนำข้าว โดยรัฐบาลจะซื้อข้าวจากชาวนาในราคาที่สูงกว่าตลาดประมาณ 50% เพื่อยกระดับพื้นฐานคุณภาพชีวิตแก่เกษตรกร แม้จะมีข้อวิจารณ์เรื่องงบประมาณและหนี้สาธารณะที่เพิ่มมากขึ้นก็ตาม และโครงการ One Tablet PC per Child (OTPC) แท็บเล็ตฟรี สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 เพื่อลดช่องว่างทางการศึกษา และให้ประชาชนได้เข้าถึงอินเทอร์เน็ต

 

นอกจากนี้ ก็มีนโยบายจัดตั้งกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี หลังเข้ารับตำแหน่ง 1 ปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมศักยภาพและความเข้มแข็งของผู้หญิงในทุกมิติ ผ่านการสนับสนุนด้านเงินทุนและกิจกรรมพัฒนาในระดับชุมชน ปกป้องสิทธิของผู้หญิง และเพื่อให้มีเงินทุนในการประกอบอาชีพ สร้างรายได้

 

ทั้ง ‘ทักษิณ’ และ ‘ยิ่งลักษณ์’ เน้นผลักดันนโยบายที่จับต้องได้ และนโยบายที่เป็นประชานิยม เพื่อตอบโจทย์ความต้องการในชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะนักเรียนและชาวบ้านทั่วไป จึงอาจเป็นสิ่งที่ทำให้ฐานคะแนนเสียงของพรรคเพื่อไทยมีความมั่นคงและแข็งแรง

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคของ ‘ทักษิณ’ เป็นนโยบายที่เปรียบเสมือนตัวชูโรงให้กับพรรคเพื่อไทย ประชาชนส่วนใหญ่มองว่านโยบายของพรรคเพื่อไทยนั้น ไม่ใช่นโยบายที่เอื้อผลประโยชน์ต่อกลุ่มชนชั้นสูงด้วยกันเอง แต่เป็นนโยบายที่เข้าใจประชาชนชั้นรากหญ้า และไม่ทอดทิ้งผู้ประกอบการรายเล็ก ซึ่งสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดี

 

ขณะที่ยุคปัจจุบันของแพทองธารก็มีนโยบายที่คล้ายคลึงกับ ‘พ่อ’ และ ‘อา’ เช่นกัน คือโครงการแจกเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ให้กับคนไทยที่อายุ 17 ปีขึ้นไปทุกคน เพื่อการกระตุ้นการใช้จ่ายในจังหวัดสำหรับร้านค้ารายย่อยทั่วประเทศ โดยวงเงินรวมของโครงการอยู่ที่ประมาณ 500,000 ล้านบาท

 

โครงการนี้จะดำเนินการแจกเงินให้แก่ผู้ลงทะเบียน โดยได้ทำการแจกเงินให้กับกลุ่มเฟสแรก คือ เน้นช่วยกลุ่มเปราะบาง ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และผู้พิการ รวมประมาณ 14.5 ล้านคน โดยโอนเงินผ่านระบบพร้อมเพย์เมื่อช่วงเดือนกันยายน ปี 2567 ตามที่วางแผนไว้

 

แต่โครงการนี้กลับหยุดชะงักโดยเหลือกลุ่มเฟสสาม คือ กลุ่มคนรุ่นใหม่ อายุ 16-20 ปี และกลุ่มเฟสสี่ คือ บุคคลทั่วไปซึ่งอายุ 21-59 ปี เนื่องจากปัญหาสภาพเศรษฐกิจในประเทศ

 

จากนโยบายต่างๆ ของนายกรัฐมนตรีตระกูลชินวัตรทั้งสาม แสดงให้เห็นถึงแนวคิดนโยบายที่ประชาชนสามารถจับต้องได้จริง โดยเฉพาะกับกลุ่มชนชั้นรากหญ้า นอกจากนี้ยังออกนโยบายเพื่อให้สอดคล้องตามยุคสมัย

 

ในสมัยรัฐบาลทักษิณนั้น ประเทศไทยเพิ่งฟื้นตัวหลังจากเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ คือวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 ทำให้เศรษฐกิจในประเทศผันผวนและมีความไม่เสถียร ‘ทักษิณ’ ในฐานะที่เป็นนักธุรกิจมาก่อน จึงดำเนินนโยบายที่สามารถช่วยประชาชนให้ฟื้นตัวดีขึ้นจากวิกฤตนี้ได้ เพราะใช้ความคิดแบบนักธุรกิจเข้ามาบริหารประเทศ

 

ส่วนในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศ จึงมีการผลักดันนโยบายเพื่อผู้หญิงอย่างเต็มที่ โดยจัดตั้งกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ซึ่งยังคงดำเนินการต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

 

ขณะที่สมัยรัฐบาลแพทองธารเองก็สานต่อนโยบายนี้ โดยการเพิ่มมาตรการต่างๆ เช่น การเพิ่มงบประมาณกองทุน ผลักดันเข้าสู่ระบบดิจิทัล ให้สามารถอำนวยความสะดวกในการกู้เงินได้อย่างครบวงจร

 

 

จากนโยบายสู่ความนิยม: บทเรียนประชาธิปไตย จากตระกูลชินวัตร

 

สิ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนจากนโยบายของนายกรัฐมนตรีทั้งสาม 3 คนในตระกูลชินวัตรคือ นโยบายที่ตอบโจทย์แก่ประชาชนระดับรากหญ้า โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ซึ่งมักถูกมองข้ามจากรัฐบาล ทำให้กลุ่มคนเหล่านี้มองว่า ไม่มีพรรคใดที่เข้าใจความลำบากของพวกเขาได้ดีเท่าพรรคเพื่อไทย ในนามตระกูลชินวัตร

 

แม้พรรคการเมืองอื่นๆ จะมีนโยบายที่ให้ความสำคัญแก่ประชาชนรากหญ้า แต่เพราะความไม่ไว้วางใจ และไม่มีผลงานปรากฏเป็นชิ้นเป็นอันมากพอ ทำให้พวกเขายังคงตัดสินใจเลือกพรรคเพื่อไทยอยู่ดี

 

ในขณะเดียวกัน ความนิยมในตัว ‘ทักษิณ’ ก็ยังปรากฏให้เห็นในกลุ่มช่วงวัยกลางคนไปจนถึงผู้สูงอายุ ซึ่งเคยได้รับประโยชน์จากนโยบายของเขาในช่วงที่เข้ามารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจซบเซาหลังวิกฤตต้มยำกุ้ง ประชาชนกลุ่มนี้จึงจดจำ ‘ทักษิณ’ ในฐานะผู้นำที่กอบกู้เศรษฐกิจประเทศ

 

จากความนิยมเชิงนโยบายเหล่านี้ ค่อยๆ พัฒนาไปสู่กระแสนิยมตัวบุคคล ซึ่งสามารถอธิบายว่า เมื่อ ‘ยิ่งลักษณ์’ หรือ ‘แพทองธาร’ เข้ามาเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง โดยมีนามสกุล ‘ชินวัตร’ ต่อท้าย ประชาชนบางกลุ่มก็พร้อมให้การสนับสนุนและไว้วางใจทันที แม้จะยังไม่ทราบว่านโยบาย หรือผลงานอะไรหรือไม่

 

กระแสนิยมตัวบุคคลนี้ สามารถเปรียบเทียบได้กับกลุ่มคนรุ่นใหม่ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ที่เลือกพรรคก้าวไกล หรือพรรคประชาชน ด้วยความเชื่อมั่นในตัวบุคคลอย่าง ‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’ หรือ ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ ซึ่งจะสะท้อนความเป็นจริงว่า การเมืองไทยยังคงขับเคลื่อนด้วยความเชื่อมั่นในตัวบุคคล มากกว่านโยบายของพรรค หรืออุดมการณ์อย่างแท้จริง

 

อย่างไรก็ตาม แม้นโยบายของตระกูลชินวัตรจะได้รับการสนับสนุนและเป็นที่พึงพอใจจากประชาชนเป็นจำนวนมาก แต่ก็มาพร้อมกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ไม่น้อย ทั้งประเด็นด้านงบประมาณ ด้านการบริหารจัดการ การเพิ่มหนี้สาธารณะ หรือการดำเนินนโยบายที่ทำให้เกิดข้อสงสัยด้านจริยธรรมและความโปร่งใส

 

ตั้งแต่สมัยรัฐบาล ‘ทักษิณ’ ‘ยิ่งลักษณ์’ ไปจนถึง ‘แพทองธาร’ ต่างก็เคยเผชิญกับข้อกล่าวหาเรื่องการใช้ตำแหน่งในทางมิชอบ หรือถูกตั้งคำถาม ซึ่งกลายมาเป็นบทเรียนสำคัญของประชาธิปไตยในประเทศไทยว่า ความนิยมจากประชาชนเพียงอย่างเดียวนั้น อาจไม่เพียงพอที่จะเป็นประเทศประชาธิปไตยอย่างแท้จริง หากกระบวนการยุติธรรม ยังไม่สามารถตรวจสอบโปร่งใสได้

 

แม้ในปัจจุบันจะมีการพิพากษาคดีที่เกี่ยวข้องกับทั้ง ‘ทักษิณ’ และ ‘ยิ่งลักษณ์’ ไปแล้วหลายคดี และมีบางคดีศาลก็มีการตัดสินให้รับโทษจำคุก แต่ก็ยังมีข้อถกเถียงทางการเมืองและกระแสสังคมต่อบทบาทของทั้งสองคนว่า ยังไม่จบสิ้นลงง่ายๆ ทั้งในแง่ของความชอบธรรมทางกฎหมาย และความนิยมในประชาชนบางกลุ่ม

 

นอกจากนี้ ประชาชนบางกลุ่มยังคงให้การสนับสนุนตระกูลชินวัตร ด้วยเหตุผลว่า แม้จะมีข้อกล่าวหา หรือคดีทุจริตทางการเมืองเกิดขึ้น แต่นโยบายต่างๆ ก็ยังสร้างประโยชน์ให้กับประชาชนได้จริง ต่างจากนักการเมืองกลุ่มอื่น ที่แม้จะทุจริตเช่นกัน แต่ประชาชนกลับไม่ได้รับประโยชน์ใดๆ เลย

 

ตระกูลชินวัตรอาจไม่ใช่ตระกูลนักการเมืองในอุดมคติที่ดีพร้อมสำหรับทุกคนในประเทศ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าตระกูลนี้เคยทำให้ประชาชนจำนวนมากมีเสียงที่ดังขึ้นจากนโยบายของรัฐบาล ที่สามารถเปลี่ยนชีวิตคนธรรมดาได้จริง 

 

ขณะเดียวกันตระกูลชินวัตรเอง ก็เป็นกรณีศึกษาสำคัญของการเมืองไทยว่า ความนิยมของประชาชนนั้น ไม่ได้มองถึงเรื่องความโปร่งใส หรือการใช้อำนาจที่เหมาะสม 

 

ดังนั้นสิ่งที่สังคมไทยอาจเรียนรู้จากเรื่องนี้ จึงไม่ใช่แค่เรื่องของชื่อนามสกุล หรือคนในครอบครัวใด แต่คือบทเรียนว่าประชาธิปไตยที่ดีต้องไม่ยึดติดแค่กับตัวบุคคล ความรู้สึกชอบหรือไม่ชอบ แต่ต้องอาศัยกระบวนการยุติธรรมที่เข้มแข็ง และประชาชนที่รู้เท่าทันการเมือง

 

เพราะสุดท้ายแล้ว การเลือกผู้นำในประเทศไม่ได้ดูแค่ผลแพ้ชนะ หรือชื่อนามสกุลของใคร แต่เป็นการกำหนดทิศทางอนาคตของประเทศ และของประชาชนด้วยเช่นกัน

 

คำว่า ‘ประชาธิปไตยใต้เงาครอบครัว’ จึงเป็นเหมือนภาพสะท้อนของการเมืองไทย ที่ยังตั้งคำถามกับโครงสร้างของอำนาจ ความนิยม และความโปร่งใส

 

ตระกูลชินวัตรเป็นหนึ่งเครื่องทดสอบความเข้าใจของสังคมว่า ประชาชนมีความเข้าใจ และคาดหวังกับระบอบประชาธิปไตยอย่างไร ระหว่างเลือกการปกครองจากเสียงของประชาชนอย่างแท้จริง หรือเลือกจากผู้นำที่เรารัก

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising