×

‘ดร.รุ่ง มัลลิกะมาส’ เผย หากได้นั่ง ‘ผู้ว่าฯ ธปท’ จะหนุนนโยบายการเงินผ่อนคลาย เน้นสื่อสารดอกเบี้ยเชิงรุก สอดประสานการคลัง

17.07.2025
  • LOADING...
ดร. รุ่ง มัลลิกะมาส รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ถึงแนวนโยบายหากได้เป็นผู้ว่าฯ คนใหม่

ดร.รุ่ง มัลลิกะมาส รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และเป็นหนึ่งในแคนดิเดตท้าชิงตำแหน่งผู้ว่าฯ ธปท. คนต่อไป ได้ให้สัมภาษณ์กับ Bloomberg โดยกล่าวอย่างชัดเจนว่า จะดำเนินการสื่อสารทิศทางของอัตราดอกเบี้ยในเชิงรุกมากขึ้น พร้อมชูแนวทางดำเนินนโยบายการเงินและการคลังให้มีความสอดประสานกันมากขึ้น

 

“เนื่องจากทรัพยากรเรามีจำกัดมาก กระสุนทุกนัดจึงต้องมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ นโยบายการเงินและนโยบายการคลังมีความสอดประสานกลมกลืนผ่านการดำเนินงานร่วมกัน” ดร.รุ่งกล่าว

 

ดร.รุ่ง ให้สัมภาษณ์กับ Bloomberg ในวันอังคารที่ผ่านมา ซึ่งก่อนหน้านี้ มีการคาดเดากันว่า ครม.จะมีการชงชื่อ วิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ ธปท. คนใหม่ แต่วาระดังกล่าวกลับถูกเลื่อนออกไปอีกหนึ่งสัปดาห์ ทำให้ดร. รุ่ง ยังมีลุ้นนั่งเก้าอี้ผู้ว่าฯ ธปท. อยู่

 

ศึกชิงตำแหน่งผู้ว่าฯ ธปท. ครั้งนี้ได้รับความสนใจจากสาธารณชนเป็นวงกว้าง ซึ่งดร. รุ่งถูกจับตาว่าจะมาสานต่อนโยบายไปในแนวทางเดียวกับ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าฯ ธปท. คนปัจจุบัน ผู้มีทีท่าแข็งกร้าวต่อแรงกดดันที่คอยให้ลดดอกเบี้ยมาโดยตลอดของภาครัฐ ขณะที่ วิทัยถูกมองว่าเป็นผู้ที่พร้อมเข้ามาลดอัตราดอกเบี้ย ท่ามกลางความไม่แน่นอนทางการเมือง จากการที่แพทองธาร ชินวัตรถูกศาลรัฐธรรมนูลสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี พร้อมกับความเสี่ยงจากสงครามการค้า ที่ไทยถูกสหรัฐฯ เรียกเก็บภาษีแบบตอบโต้ (Reciprocal Tariff) ในอัตรา 36% ตลอดจนตลาดหุ้นที่มีผลประกอบการย่ำแย่ที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 


 

ที่ผ่านมา ธปท. คอยต้านทานแรงกดดันให้ลดอัตราดอกเบี้ยจากฝั่งรัฐบาลมาโดยตลอด ภายใต้การบริหารของ ผู้ว่าฯ เศรษฐพุฒิ อย่างไรก็ตาม ดร. รุ่งกล่าวว่าจะเพิ่มความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐ สถาบันการเงิน และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องมากขึ้น หากได้รับตำแหน่งผู้ว่าฯ คนต่อไป

 

“หลายครั้งเรารอให้ปัญหาเกิดขึ้นก่อน แต่ถ้าเรารับฟังมากขึ้น สื่อสารมากขึ้น โอกาสที่ปัญหาจะคลี่คลายก็เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้มองเห็นปัญหาไปในทิศทางเดียวกันมากขึ้น รวมถึงทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีเวลาเตรียมการมากขึ้นด้วย” 

 

ทั้งนี้ ดร.รุ่งกล่าวสนับสนุนจุดยืนของการผ่อนคลายทางการเงิน (Accomodative Policy Stance) ของธปท.ในปัจจุบัน ซึ่งปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมา 0.75% แล้ว นับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2567 

 

“ท่ามกลางความไม่แน่นอน นโยบายการเงินจำเป็นต้องสนับสนุน และทำหน้าที่เป็นดั่งสมอที่คอยยึดไว้ซึ่งเสถียรภาพ เนื่องจากความเสี่ยงมีเยอะแล้ว และเราไม่จำเป็นต้องซ้ำเติมมากขึ้นไปอีก” รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงินโดยย้ำว่าจะดำเนินการสื่อสารเกี่ยวกับแนวทางของอัตราดอกเบี้ยในเชิงรุกมากขึ้น

 

ทั้งนี้ อัตราการเติบโตของสินเชื่อในระบบธนาคารพาณิชย์ไทย หดตัว 3 ไตรมาสติดต่อกัน และแม้หนี้ครัวเรือนจะยังคงสูง แต่กนง. ภายใต้การนำของผู้ว่าฯ เศรษฐพุฒิยังคงเน้นย้ำความจำเป็นในการรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (Policy Space) เพื่อรับมือกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด 

 

โดยตัวเต็งอย่าง ‘วิทัย รัตนากร’ ซึ่งเป็นถึงผู้อำนวยการธนาคารออมสิน และคอยเป็นหัวหอกในการบรรเทาภาระการเงินให้แก่ภาคครัวเรือนอย่างใกล้ชิด ผู้ซึ่งแสดงออกอย่างชัดเจนว่าสนับสนุนการลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อพยุงเศรษฐกิจ ก็ยังถูกตั้งข้อกังขาถึงความเป็นอิสระของธนาคารกลาง เนื่องจากมีความใกล้ชิดที่มีต่อกระทรวงการคลังอย่างสูง

 

ส่วนดร. รุ่งผู้มีบทบาทใน ธปท. มาเกือบ 30 ปี และคอยช่วยกำหนดทิศทางนโยบาย กฎระเบียบทางการเงิน รวมถึงการกำกับดูแลฟินเทคมาอย่างยาวนาน ทั้งยังเคยทำงานกับธนาคารกรุงไทยมาก่อน

 

“ดิฉันเคยรับมือกับความท้าทายทั้งในระดับมหภาคและจุลภาค จึงมีความคุ้นเคยกับเครื่องมือ ขอบเขตงานของธนาคารกลาง ซึ่งอันที่จริงแล้ว กว้างมากๆ ดังนั้น ดิฉันจึงอยากนำเสนอประสบการณ์เหล่านี้ สำหรับการเป็นผู้ว่าฯ คนต่อไป”

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising