×

S&P Global Ratings ชี้ ‘การเมืองไทยไม่นิ่ง-ความไม่แน่นอนภายนอก’ อุปสรรคขวางการอัปเกรดอันดับเครดิตประเทศ

16.07.2025
  • LOADING...
S&P Global Ratings วิเคราะห์ความเสี่ยงการเมือง-โครงสร้างเศรษฐกิจไทยเป็นอุปสรรคต่อการอัปเกรดอันดับเครดิตปี 2025

HIGHLIGHTS

  • S&P Global Ratings มอง ‘สภาวะการเมืองไทยไม่นิ่ง และความไม่แน่นอนระหว่างประเทศเป็นอุปสรรคต่อการปรับปรุงอันดับเครดิตประเทศไทย
  • นอกจากนี้ S&P ยังมองว่า ‘โครงสร้างเศรษฐกิจไทย’ เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ถ่วงตัวชี้วัดด้านเครดิตสำคัญ โดยหากไทยไม่สามารถ ‘เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการส่งออก’ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังคงเผชิญกับ ‘หนี้ครัวเรือนในประเทศที่อยู่ในระดับสูง’ ปัจจัยเหล่านี้จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจ
  • S&P Global Ratings ยังกล่าวถึงผลกระทบจากมาตรการภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ โดยประเมินว่าหากสหรัฐฯ เก็บภาษีไทย 36% S&P อาจหั่นประมาณการ GDP ปีนี้ลง แต่มองว่าภาษีดังกล่าวไม่น่าจะส่งผลโดยตรงต่ออันดับความน่าเชื่อถือของไทย
  • พร้อมเปิดปัจจัยปรับเพิ่มอันดับเครดิต อาทิ การฟื้นฟูฐานะการคลัง และการให้ความสำคัญกับแผนระยะยาว โดยเฉพาะด้านการดูแลสุขภาพ การศึกษา และการดึงดูดการลงทุน

Kim Eng Tan กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายจัดอันดับความน่าเชื่อถือประเทศและองค์กรระหว่างประเทศ S&P Global Ratings กล่าวว่า สภาวะการเมืองไทยที่ไม่นิ่ง และการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ระหว่างประเทศในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า จะเป็นอุปสรรคต่อการปรับปรุงอันดับเครดิตประเทศ (Sovereign Credit Rating)

 

พร้อมระบุว่า “โครงสร้างเศรษฐกิจไทยก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ถ่วงตัวชี้วัดด้านเครดิตสำคัญ อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายก็สามารถลดแรงกดดันเหล่านี้ลงได้ หากรัฐบาลสามารถดำเนินการเปลี่ยนแปลงได้อย่างทันสถานการณ์” Kim Eng Tan กล่าวในงานสัมมนาหัวข้อ “Thailand Credit Spotlight 2025:Navigating Global Trade Shifts” ที่จัดขึ้นโดย S&P Global Ratings และ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด

 

ปัจจุบัน S&P Global Ratings คงอันดับความน่าเชื่อถือ (Sovereign Credit Rating) ที่ระดับ BBB+ และคงมุมมองความน่าเชื่อถือ (Outlook) ที่ระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook) โดย S&P คงอันดับประเทศไทยที่ BBB+ มาตั้งแต่ปี 2547 แล้ว

 

การเมืองไทยไม่นิ่ง ปัจจัยขัดขวางการอัปเกรดเครดิตเรตติ้งประเทศ


Kim Eng Tan ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD WEALTH เกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองไทยว่า ความไม่แน่นอนทางการเมืองปัจจุบัน ยังไม่ทำให้การจัดอันดับความน่าเชื่อถือแย่ลงในตอนนี้ แต่ก็เป็นอุปสรรคสำคัญที่ขัดขวางไม่ให้ไทยถูกปรับเพิ่มอันดับเครดิตให้ดีขึ้น

 

“อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์ความไม่มั่นคงทางการเมืองยืดเยื้อออกไปเป็นเวลานาน ก็อาจถึงจุดที่ปัจจัยนี้ฉุดรั้งอันดับความน่าเชื่อถือให้ลดลงได้ในที่สุด แต่ ณ ปัจจุบันยังไม่ถึงขั้นนั้น” Kim Eng Tan กล่าว

 

มอง ‘ภาษีทรัมป์’ ไม่น่าส่งผลต่ออันดับเครดิตไทย

 

Kim Eng Tan ยอมรับว่า หากสหรัฐฯ มีการเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากไทยในอัตราปัจจุบัน ตามที่มีการประกาศไปเมื่อเร็วๆ นี้ S&P อาจปรับลดประมาณการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย เมื่อเทียบกับการคาดการณ์ปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากประเทศคู่แข่งได้รับอัตราภาษีที่ต่ำกว่า

 

อย่างไรก็ตาม S&P ประเมินว่า มาตรการภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ ไม่น่าจะส่งผลโดยตรงให้ต้องมีการเปลี่ยนแปลงแนวโน้มหรืออันดับความน่าเชื่อถือของรัฐบาลไทยในอนาคตอันใกล้ เนื่องจากตัวชี้วัดโดยรวมของไทยยังคงมีความยืดหยุ่นสูง

 

ทั้งนี้ เมื่อเดือนมิถุนายน S&P คาดว่า ในปี 2568 และ 2569 เศรษฐกิจไทยจะเติบโตอยู่ที่ 2.3% และ 2.6% ตามลำดับ แต่ยังต้องจับตาความไม่แน่นอนจากภายนอก โดยเฉพาะนโยบายการจัดเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariff) ของสหรัฐฯ

 

ห่วงโครงสร้างส่งออกไทยกดศักยภาพโตระยะยาว

 

Kim Eng Tan แสดงความเห็นว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของบางประเทศในภูมิภาคช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมา มีปัจจัยสำคัญมาจากการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์มูลค่าสูง เช่น เซมิคอนดักเตอร์ สมาร์ทโฟน แล็ปท็อประดับสูง

 

ในกรณีของประเทศไทย แม้ปัจจุบันจะมีการส่งออกอุปกรณ์โทรคมนาคมจำนวนหนึ่ง ซึ่งรวมถึงโทรศัพท์มือถือ แต่ S&P ชี้ให้เห็นว่า การส่งออกส่วนใหญ่ยังคงเป็นฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ซึ่งความต้องการในอนาคตคาดว่าจะไม่แข็งแกร่ง และยังคงเผชิญกับแรงกดดันด้านราคาขาลงอย่างต่อเนื่อง

 

S&P ประเมินว่า สถานการณ์นี้สะท้อนว่าในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยอาจยังไม่สามารถดึงดูดการส่งออกที่มีมูลค่าสูงได้มากเท่ากับประเทศเพื่อนบ้านบางประเทศ ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยไม่แข็งแกร่งเท่าที่ควร

 

ชี้โครงสร้างส่งออกไทยไม่เปลี่ยน สวนทางเวียดนามมุ่งสู่สินค้ามูลค่าสูง

 

Kim Eng Tan มองว่า โครงสร้างการส่งออกของไทย ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ‘ไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญมากนัก’ แตกต่างจากกรณีของเวียดนาม ซึ่งอาจส่งผลต่อศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคต

 

S&P ระบุว่า โครงสร้างการส่งออกของเวียดนามได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญในช่วงเดียวกันนี้ ทำให้เวียดนามสามารถส่งออกสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่ม (Value Added) ได้มากขึ้น 

 

“เวียดนามมีความกระตือรือร้นอย่างมากกับการยกระดับตัวเองขึ้นไปในห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) โดยเห็นได้ชัดว่าเวียดนามได้ให้ความสำคัญกับนโยบายที่มุ่งผลักดันเรื่องนี้อย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เกิดขึ้นในประเทศ”

 

เปิดปัจจัยหนุนการปรับเพิ่มอันดับเครดิตประเทศ

 

Kim Eng Tan แสดงความเห็นว่า หากรัฐบาลไทยสามารถ ‘ฟื้นฟูงบดุล’ ให้ดีขึ้นได้ในระดับหนึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วย ‘ปรับปรุงตัวชี้วัดพื้นฐาน’ และเปิดโอกาสให้ S&P สามารถ ‘ปรับเพิ่มอันดับความน่าเชื่อถือ’ ของประเทศไทยได้ในอนาคต

 

นอกจากนี้ S&P ยังเน้นย้ำถึงความสำคัญของการที่รัฐบาลจะต้องแสดงให้เห็นถึง ‘ความมุ่งมั่นที่มากขึ้นในการวางแผนระยะยาว’ และที่สำคัญกว่านั้นคือ ‘การนำแผนไปปฏิบัติให้เกิดผล’ อย่างจริงจัง ซึ่งจะนำไปสู่การปรับเพิ่มอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยได้

 

หนี้ไทยพุ่ง ส่วนหนึ่งมาจาก GDP โตช้า

 

Kim Eng Tan ชี้ให้เห็นว่า ขณะที่หนี้ภาครัฐของประเทศส่วนใหญ่มีเสถียรภาพหรือลดลง แต่หนี้สาธารณะไทยกลับ ‘เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ’ โดย S&P อธิบายว่า แม้การขาดดุลงบประมาณของไทยจะไม่ได้สูงมากเมื่อเทียบแบบปีต่อปี แต่สาเหตุหลักที่ทำให้หนี้รัฐบาลไทยสูงกว่าในอดีต คือการเติบโตของ GDP ที่ไม่ทันกับการเพิ่มขึ้นของหนี้สาธารณะ

 

“แม้หนี้สาธารณะไม่ได้เพิ่มขึ้นมากเท่าประเทศอื่น แต่ GDP ไทยเติบโตช้ากว่ามาก อัตราส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ก็จะแย่ลงได้ แม้ว่าการขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลไทยจะค่อนข้างน้อยก็ตาม”

 

ตามข้อมูลจากสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะระบุว่า หนี้สาธารณะไทยอยู่ที่ 65.08% ต่อ GDP ณ เดือนพฤษภาคม 2568 จากช่วงก่อนโควิดที่เคยอยู่ระดับราว 41% ต่อ GDP

 

โดยสถานการณ์เดียวกันนี้ยังเกิดขึ้นกับหนี้ครัวเรือนของไทย ซึ่งตอนนี้อยู่ในอันดับสูงอันดับต้นๆ ของโลก Kim Eng Tan เตือนว่า ภาครัฐอาจประเมินสถานการณ์ผิดพลาด หากคุ้นชินกับการเติบโตของ GDP ในอดีตที่เคยสูง (8-9%) และเห็นหนี้ครัวเรือนเติบโตในอัตราใกล้เคียงกัน (10-12%) ก็จะไม่กังวลมากนัก แต่เมื่อการเติบโตของ GDP ชะลอตัวลงเหลือเพียง 3-5% การยอมให้หนี้ครัวเรือนที่สูงเช่นเดิมจึงกลายเป็นการตัดสินใจที่ไม่รอบคอบ และนี่อาจเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่อธิบายว่าทำไมหนี้ครัวเรือนไทยจึงสูงกว่าหลายประเทศ

 

‘สุขภาพ-การศึกษา-ดึงดูดลงทุน’ กุญแจสำคัญยกอันดับเครดิตไทย

 

นอกจากนี้ Kim Eng Tan ยังให้ความเห็นว่า เพื่อจะยกระดับอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาในด้านต่างๆ เช่น การดูแลสุขภาพ (Healthcare) การศึกษา (Education) และการดึงดูดการลงทุน (Investment Attraction)

 

S&P เน้นย้ำว่า ประเด็นเหล่านี้ล้วนต้องการ ‘นโยบายที่ชัดเจน’ จากภาครัฐ เพื่อดึงดูดผู้คนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพแรงงาน และการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อการเสริมสร้างศักยภาพทางเศรษฐกิจโดยรวม และนำไปสู่การปรับปรุงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยได้ในที่สุด

 

อัตราดอกเบี้ยต่ำคือข้อได้เปรียบ

 

Kim Eng Tan กล่าวอีกว่า อีกหนึ่งข้อได้เปรียบที่สำคัญของไทยคือ ‘อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมาก’ เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ แม้แต่ประเทศที่มีรายได้สูงก็ยังมีอัตราดอกเบี้ย และอัตราผลตอบแทนระยะยาวที่ต่ำกว่าไทย โดยปัจจัยนี้เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการจัดการกับปัญหาหนี้สินที่สูงของภาครัฐ และเอกชน และทำให้มีความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการมากขึ้น

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising