จากสถานการณ์ความเสื่อมศรัทธาต่อคณะสงฆ์ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง มหาเถรสมาคม (มส.) ได้จัดการประชุมวาระพิเศษเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2568 ตามพระบัญชาของ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
เพื่อหาแนวทางดำเนินการกับพระภิกษุที่กระทำผิดและถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดพระธรรมวินัยประเภท ‘ครุกาบัติ’ หรือความผิดร้ายแรง
ในที่ประชุม มส. มีมติสำคัญเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนและเด็ดขาด
- ประสานงานกับตำรวจและเจ้าคณะผู้ปกครอง: ให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ประสานกับกองปราบปรามเพื่อขอข้อมูลและพยานหลักฐานเกี่ยวกับพระภิกษุที่กระทำผิด แล้วส่งต่อให้เจ้าคณะใหญ่ในแต่ละภาค ซึ่งมีหน้าที่เรียกตัวพระภิกษุรูปนั้นมาสอบสวน หากพบหลักฐานชัดเจนให้ดำเนินการให้สละสมณเพศทันที โดยต้องดำเนินการอย่างรวดเร็วและเด็ดขาด
- พักการปฏิบัติหน้าที่และปลดจากตำแหน่ง: หากพบว่าพระภิกษุมีมูลความผิดทางพระวินัย เจ้าคณะผู้ปกครองสามารถสั่งพักการปฏิบัติหน้าที่ไว้ก่อนได้ และในกรณีที่พระภิกษุผู้ต้องอาบัติสังฆาทิเสส ซึ่งเป็นความผิดร้ายแรงรองจากปาราชิก หากดำรงตำแหน่งเจ้าคณะหรือมีสมณศักดิ์ มส. จะดำเนินการปลดจากตำแหน่งและขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตถอดถอนสมณศักดิ์
- เน้นย้ำความรับผิดชอบของพระสังฆาธิการ: กำชับให้เจ้าคณะทุกระดับชั้น รวมถึงพระวินยาธิการ (ตำรวจพระ) ปฏิบัติหน้าที่ในการตรวจสอบและกำกับดูแลพฤติกรรมของพระภิกษุในปกครองอย่างใกล้ชิด หากพบความผิดให้รีบดำเนินการสอบสวนโดยไม่ชักช้าและรายงานต่อ มส. โดยเร็ว
- ตั้งคณะกรรมการพิเศษ: มส. จะกราบบังคมทูลสมเด็จพระสังฆราชเพื่อทรงมีพระบัญชาแต่งตั้ง ‘คณะกรรมการพิเศษเพื่อคุ้มครองพระพุทธศาสนา’ ขึ้น เพื่อทบทวนกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับ ‘นิคหกรรม’ (การลงโทษพระภิกษุ) และขั้นตอนการสอบสวนให้ทันสมัย เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน
- เตือนระมัดระวังการนำเสนอข่าวสาร: ในกรณีที่ยังไม่มีการตัดสินความผิดอย่างชัดเจน ทั้งตามกฎหมายบ้านเมืองและพระธรรมวินัย การเปิดเผยชื่อ ภาพ หรือข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ถูกกล่าวหา อาจเป็นการละเมิดสิทธิและทำให้คณะสงฆ์เสียหายได้ จึงควรระมัดระวังเป็นพิเศษ
- ยืนยันไม่ปกปิดความผิด: มส. และ พศ. ยืนยันว่าไม่มีนโยบายที่จะช่วยเหลือ ปกปิด หรือบิดเบือนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำผิดวินัยร้ายแรงของพระภิกษุ โดยจะดำเนินการตามหลักพระธรรมวินัยและกฎหมายอย่างเคร่งครัด
นอกจากนี้ มส. ยังเสนอแนะให้รัฐบาลพิจารณาปรับปรุงโครงสร้างและเพิ่มศักยภาพให้แก่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เพื่อให้สามารถสนองงานคณะสงฆ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
อ้างอิง: