×

ย้อนรอยเส้นทางประชาธิปไตย ‘เกาหลีใต้’ จากรัฐประหารเผด็จการ สู่อำนาจในมือประชาชน

โดย THE STANDARD TEAM
11.07.2025
  • LOADING...

ย้อนกลับไปเมื่อ 17 กรกฎาคม ปี 1948 หรือเมื่อ 77 ปีที่ผ่านมา เกาหลีใต้ ได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับแรกอย่างเป็นทางการ ภายหลังจากที่ประเทศหลุดพ้นจากการยึดครองของญี่ปุ่นที่ยาวนานถึง 35 ปี (1910-1945) ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ประชาชนเกาหลีต้องเผชิญกับการถูกลบตัวตนทางวัฒนธรรมรากเหง้าของชาติ และถูกกดขี่อย่างหนักจากกองทัพญี่ปุ่น 

 

กระทั่งในปี 1945 ญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้ต่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้เกาหลีได้รับเอกราชกลับมาอีกครั้ง แต่เพียงไม่นานนัก ประเทศมหาอำนาจ ณ ขณะนั้นอย่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต ต่างยื่นมือเข้ามาแย่งดินแดนประเทศเกาหลี ซึ่งเป็นชนวนของสงครามเย็น ก่อนจะประกาศแยกประเทศเป็น เกาหลีใต้และเกาหลีเหนือ ในปี 1948 โดยเกาหลีเหนือปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ ซึ่งมีสหภาพโซเวียตให้การสนับสนุน และเกิดสงครามเกาหลีขึ้นในปี 1950

 

ในขณะที่เกาหลีใต้ประกาศเป็นประเทศประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงเป็นก้าวแรกในการจัดตั้งรัฐบาลของ ‘สาธารณรัฐเกาหลี’ ที่เพิ่งสถาปนาขึ้นในปีเดียวกัน โดยมุ่งหมายจะวางระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยและการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามแนวทางตะวันตก

 

แต่ทว่า อำนาจกลับยังคงอยู่ในมือของผู้นำที่ใช้ปกครองแบบเผด็จการ ทั้งการจำกัดเสรีภาพ และการใช้กำลังปราบปรามการเคลื่อนไหวทางการเมืองของประชาชน ซึ่งนำไปสู่การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยที่ยืดเยื้อเป็นเวลาหลายปี

 

‘อีซึงมัน’ เผด็จการที่ซ่อนตัวภายใต้รัฐธรรมนูญ

 

หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 และได้รับอิสรภาพจากอาณานิคมของญี่ปุ่น เกาหลีใต้จึงเริ่มจัดตั้งรัฐบาลพลเรือนชั่วคราว โดยมี ‘อีซึงมัน’ (Rhee Syngman) เป็นหัวหน้ารัฐบาลและผู้ก่อตั้งพรรคเสรีนิยม และในวันที่ 17 กรกฎาคม ปี 1948 หลังจากการร่างและประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับแรก ‘อีซึงมัน’ ก็ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีคนแรกของสาธารณรัฐเกาหลีอย่างเป็นทางการในวันที่ 20 กรกฎาคม ปี 1948

 

‘อีซึงมัน’ มีแนวคิดต่อต้านคอมมิวนิสต์อย่างแข็งกร้าว โดยมองว่าเกาหลีควรเป็นประเทศเดียวกันภายใต้ระบอบประชาธิปไตยและภายใต้การนำของเขา แต่ความขัดแย้งอุดมการณ์นำไปสู่จุดแตกหักในวันที่ 25 มิถุนายน ปี 1950 เมื่อเกาหลีเหนือภายใต้การนำของ ‘คิมอิลซอง’ (Kim Il-Sung) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหภาพโซเวียตและจีน บุกข้ามเส้นขนานที่ 38 (38th Parallel North) หรือเส้นแบ่งเขตแดนเกาหลีใต้-เหนือ เข้าโจมตีเกาหลีใต้ เพื่อโค่นล้มรัฐบาล ‘อีซึงมัน’ และรวมคาบสมุทรเกาหลีภายใต้ระบอบคอมมิวนิสต์

 

สงครามเกาหลีดำเนินต่อเนื่องเป็นเวลา 3 ปี ท่ามกลางความสูญเสียมหาศาลทั้งต่อทหารและพลเรือน รวมแล้วมีผู้เสียชีวิตกว่า 2.5 ล้านคน แต่ตลอดช่วงเวลาดังกล่าว ความพยายามในการเจรจาสันติภาพก็ไม่เกิดขึ้น โดยเฉพาะเมื่อ ‘อีซึงมัน’ ตัดสินใจปล่อยนักโทษชาวเกาหลีเหนือกว่า 25,000 คน ที่ถูกควบคุมตัวในเรือนจำเกาหลีใต้ โดยไม่ปรึกษาพันธมิตรประเทศอื่นๆ ซึ่งนำไปสู่ความโกรธอย่างรุนแรงจากฝั่งเกาหลีเหนือและจีน และทำให้การเจรจาหยุดยิงเกือบล่มไม่เป็นท่า

 

สุดท้าย เมื่อเห็นว่าสงครามนี้เกิดความยืดเยื้อมาเป็นเวลานานและไม่มีฝ่ายใดได้เปรียบหรือมีผู้ชนะ เกาหลีเหนือ, สหรัฐอเมริกา (ในนามกองกำลังสหประชาชาติ) และจีน จึงร่วมลงนามใน ข้อตกลงหยุดยิง (Armistice Agreement) เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม ปี 1953 โดย ‘อีซึงมัน’ ยังคงปฏิเสธการลงนาม เพราะไม่ต้องการให้มีข้อกฎหมายที่แบ่งแยกเกาหลีเป็นสองรัฐอย่างถาวร เนื่องจากเขายังคงยึดมั่นในเป้าหมายการรวมชาติภายใต้การปกครองของรัฐบาลเขา

 

แม้สงครามจะสงบลง แต่เกาหลีใต้ก็ยังคงอยู่กับการปกครองแบบอำนาจนิยมของ ‘อีซึงมัน’ ซึ่งใช้อำนาจประธานาธิบดีในการควบคุมสื่อมวลชนอย่างเข้มงวด เช่น การออกกฎหมายว่าด้วยการสื่อสาร (Communications Law) สั่งปิดหนังสือพิมพ์ที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล และจับกุมผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าว Dong-A Ilbo และ Kyunghyang Shinmun ที่รายงานข่าวปัญหาเศรษฐกิจและสังคม

 

อีกทั้งยังออกกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ (National Security Law) ที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐสามารถควบคุมตัวประชาชนที่ต้องสงสัยว่ามีแนวคิดคอมมิวนิสต์ได้โดยไม่ต้องมีหมายศาล ส่งผลให้ประชาชน นักศึกษา และสมาชิกฝ่ายค้านจำนวนมากถูกจับกุมหรือคุมขังโดยไม่มีการพิจารณาคดีอย่างยุติธรรม พร้อมทั้งจัดตั้งหน่วยงานด้านข่าวกรอง เช่น KCIA เพื่อเฝ้าระวังประชาชน

 

ในขณะที่การกดดันของประชาชนทวีความรุนแรงขึ้นทุกปี จุดแตกหักครั้งใหญ่เกิดขึ้นในวันที่ 15 มีนาคม ปี 1960 เมื่อ ‘อีซึงมัน’ ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีอีกสมัย แต่ประชาชนตั้งข้อสงสัยถึงการใช้วิธีโกงการเลือกตั้ง รวมถึงกรณีที่รองผู้สมัครฝ่ายค้านถูกพบเสียชีวิตก่อนวันเลือกตั้งเพียงหนึ่งวัน 

 

เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้นักศึกษาและประชาชนทั่วประเทศออกมาประท้วงในเดือนเมษายน ปี 1960 ซึ่งกลายเป็นที่รู้จักในนาม April Revolution หรือ การปฏิวัติเดือนเมษายน โดยนักเรียนมัธยมปลายในจังหวัดแทกู และจังหวัดแทจอน เริ่มออกมารวมตัวประท้วง ทำให้นักเรียน นักศึกษา และประชาชนในจังหวัดอื่นๆ เริ่มออกมาประท้วงด้วยเช่นกัน

 

จนกระทั่งในวันที่ 19 เมษายน ปี 1960 ‘อีซึงมัน’ ได้สั่งให้มีการใช้อาวุธปืนยิงเพื่อปราบปรามผู้ประท้วง และประกาศกฎอัยการศึก แต่ก็ไม่สามารถต้านการประท้วงของประชาชนได้ และเผชิญกับแรงกดดันจากนานาชาติ จนท้ายที่สุด ‘อีซึงมัน’ จำต้องลาออกจากตำแหน่งในวันที่ 26 เมษายน ปี 1960 และลี้ภัยไปยังฮาวาย ซึ่งเขาใช้ชีวิตบั้นปลายจนถึงแก่อสัญกรรมในวันที่ 19 กรกฎาคม ปี 1965

 

การปฏิวัติเดือนเมษายน (April Revolution)

การปฏิวัติเดือนเมษายน (April Revolution)

(ที่มา: Korea Democratic Movements)

 

‘พัคจองฮี’ ความหวังใหม่ของประชาชน ที่น่าผิดหวัง

 

การจากไปของ ‘อีซึงมัน’ ทำให้เกาหลีใต้มีเสรีภาพทางการเมืองในเวลาสั้นๆ และจัดตั้ง “สาธารณรัฐที่สอง” ภายใต้ระบบรัฐสภา ซึ่งมีนายกรัฐมนตรี ‘ชาง มยอน (Chang Myon)’ ขึ้นเป็นผู้นำรัฐบาลพลเรือนแห่งสาธารณรัฐที่สอง แต่ถึงแม้ว่าระบบการปกครองใหม่จะมีเสรีภาพมากขึ้น ทั้งด้านเสรีภาพสื่อ และการเลือกตั้ง แต่รัฐบาลชุดนี้กลับไร้เสถียรภาพในสายตาของประชาชน เกิดปัญหาเศรษฐกิจรุมเร้า ทำให้ประชาชนขาดความมั่นใจในรัฐบาล 

 

กองทัพตัดสินใจแทรกแซงอำนาจของรัฐบาล วันที่ 16 พฤษภาคม ปี 1961 พล. อ. ‘พัคจองฮี’ (Park Chung-hee) นำทหารเข้ายึดอำนาจ โดยเรียกว่า การปฏิวัติเพื่อชาติ (Military Revolution) และจัดตั้งรัฐบาลทหารชื่อว่า Supreme Council for National Reconstruction เพื่อควบคุมอำนาจเด็ดขาดทั้งหมดในประเทศ ซึ่งเป็นการยึดอำนาจโดยไม่ใช้หลักประชาธิปไตย หลังจากนั้นก็จัดการเลือกตั้งขึ้นในวันที่ 15 ตุลาคม ปี 1963 และชนะผลการเลือกตั้ง ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 3 ของประเทศ

 

‘พัคจองฮี’ สร้างความชอบธรรมให้แก่ตัวเอง และสร้างความหวังใหม่ให้ประชาชน ตลอดช่วงปี 1960-1970 เกาหลีใต้กลายเป็นประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างรวดเร็ว รัฐบาลผลักดันอุตสาหกรรมหนัก ขยายโครงสร้างพื้นฐาน และส่งเสริมบริษัทยักษ์ใหญ่ เช่น Samsung, Hyundai และ LG ให้เติบโตโดยการสนับสนุนจากรัฐ โดยเรียกว่า ปาฏิหาริย์บนแม่น้ำฮัน (Miracles on the Han River) ทางเศรษฐกิจ ก็กำลังก้าวกระโดดในทางบวกไปด้วย แต่ในทางการเมืองกลับแย่ลงเรื่อยๆ เสียอย่างนั้น

 

‘พัคจองฮี’ ค่อยๆ ขยายอำนาจขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเขาประกาศกฎอัยการศึกฉุกเฉินในวันที่ 17 ตุลาคม ปี 1972 และเปลี่ยนการปกครองเป็น ระบอบการปกครองยูชิน (Yushin Constitution) เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญและยกเลิกระบบการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตยที่ประชาชนมีสิทธิ์เลือกประธานาธิบดี เพื่อเปิดทางให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีได้อย่างไม่จำกัดวาระ ปิดกั้นเสรีภาพสื่อ ควบคุมพรรคฝ่ายค้าน และใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติเป็นเครื่องมือในการจัดการผู้เห็นต่าง

 

‘พัคจองฮี’ เปลี่ยนเกาหลีใต้ให้กลายเป็นรัฐเผด็จการอย่างเต็มตัว ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้แก่ประชาชนมาโดยตลอด จนทำให้ประชาชนเริ่มออกมาต่อต้านเผด็จการทั่วประเทศผ่านการลงชื่อให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่รัฐบาลก็ได้จัดการการต่อต้านรัฐบาลด้วยมาตรการฉุกเฉินที่รุนแรง

 

นอกจากนี้นักเรียนและประชาชนในเมืองปูซาน, มาซาน และซังวอน (Busan-Masan Democratic Uprising) ก็ได้ออกมาร่วมต่อต้านเผด็จการในวันที่ 16-20 ตุลาคม เพื่อจัดการกลุ่มผู้ประท้วง ‘พัคจองฮี’ ได้ประกาศกฎอัยการศึกในปูซาน ในวันที่ 18 ตุลาคม ปี 1979 และออกพระราชบัญญัติกองทหารรักษาการในเมืองมาซานและชังวอน ในวันที่ 20 ตุลาคม ปีเดียวกัน

 

แม้รัฐบาลจะจัดการกับกลุ่มผู้ประท้วงด้วยความรุนแรง แต่ในวันที่ 26 ตุลาคม ปี 1979 ‘พัคจองฮี’ ก็ถูกลอบสังหารโดยการยิงที่ศีรษะจาก ‘คิมแจ-กยู’ (Kim Jae Gyu) ผู้อำนวยการหน่วยข่าวกรองในเกาหลีใต้ (KCIA) และเหมือนจะเป็นคนใกล้ชิดของ ‘พัคจองฮี’ ด้วยเช่นกัน 

 

เหตุการณ์การเสียชีวิตของอดีตประธานาธิบดีดังกล่าวอาจดูเหมือนทำให้เผด็จการในเกาหลีใต้สิ้นสุดลง ซึ่งประชาชนเริ่มกลับมามีความหวังว่า ได้การปกครองในรูปแบบประชาธิปไตยที่แท้จริงอีกครั้ง

 

เหตุการณ์ประท้วงที่ปูซานและมาซาน (Busan-Masan Democratic Uprising)

เหตุการณ์ประท้วงที่ปูซานและมาซาน (Busan-Masan Democratic Uprising)

(ที่มา: Korea Democratic Movements)

 

จากรัฐประหาร ‘ชอนดูฮวาน’ สู่เสรีภาพที่แท้จริง 

 

แต่ความหวังของประชาชนที่จะได้รับประชาธิปไตยกลับอยู่ได้ไม่นาน เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม ปี 1979 ‘พลเอกชอนดูฮวาน’ (Chun Doo Hwan) ได้ทำการรัฐประหารในประเทศอีกครั้ง ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 5 และก่อตั้งพรรคยุติธรรมประชาธิปไตย แต่ในปีถัดไปก็ประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วประเทศ ปิดรัฐสภา และสั่งห้ามการชุมนุมทุกชนิด

 

การต่อต้านเริ่มต้นขึ้นที่เมืองกวางจู ในวันที่ 18 พฤษภาคม ปี 1980 โดยนักศึกษามหาวิทยาลัยช็อนนัมและประชาชนทั่วไปนับพันคน ออกมารวมตัวกันเรียกร้องให้ยกเลิกกฎอัยการศึกและฟื้นฟูประชาธิปไตยอีกครั้ง

 

แต่รัฐบาลของ ‘ชอนดูฮวาน’ ได้ทำการปราบปรามอย่างโหดร้าย โดยออกคำสั่งให้ทหารใช้กระสุนจริงยิงใส่ผู้ชุมนุม และสังหารประชาชนอย่างไม่เลือกหน้า โดยตัวเลขผู้เสียชีวิตประมาณการไว้ที่ 165 คน ไปจนถึงราว 2,300 คน

 

ประชาชนในเมืองกวางจูต้องจัดตั้งกลุ่มดูแลความปลอดภัย และเตรียมอาวุธเพื่อป้องกันตนเองจากกองกำลังทหารที่ใช้ความรุนแรง ทำให้เหตุการณ์นี้กลายเป็นบาดแผลลึกในใจของชาวเกาหลีใต้ และเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่สุดของขบวนการประชาธิปไตย

 

เหตุการณ์ประท้วงจากกวางจูยังคงดำเนินต่อเนื่องไปจนถึงปี 1987  ซึ่งเกิดเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้ประชาชนหลายล้านคนทั่วประเทศ ออกมาเดินขบวนประท้วง คือเมื่อนักศึกษา ‘พัคจงชอล’ (Park Jong Chul) ถูกทรมานจนเสียชีวิตโดยตำรวจ ในวันที่ 14 มกราคม และ ‘อีฮันยอล’ (Lee Han Yeol) เสียชีวิตจากการโดนแก๊สน้ำตาในวันที่ 5 กรกฎาคม ปีเดียวกัน 

 

ประชาชนได้ออกมาเรียกร้องให้มีบทลงโทษแก่ผู้รับผิดชอบในเหตุการณ์นี้ และขอให้มีการจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่จากประชาชนโดยตรง และร่างรัฐธรรมนูญใหม่ แต่ทางรัฐบาลและตำรวจกลับไม่ยอมรับความจริง และได้ประกาศ การคุ้มครองรัฐธรรมนูญ (Hoheon Chiji) เพื่อรักษาอำนาจของตนเองและเพิกเฉยต่อข้อเรียกร้องของประชาชน

 

การประท้วงดังกล่าวเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่วันที่ 10-29 มิถุนายน ปี 1987 โดยมีประชาชนเข้าร่วมการประท้วงกว่า 4-5 ล้านคนทั่วประเทศ ประชาชนนัดหยุดงานทั่วประเทศเพื่อออกมาเรียกร้อง พร้อมตะโกนว่า “ล้มล้างเผด็จการ” และ “สู้เพื่อประชาธิปไตย” โดยวันประท้วงครั้งใหญ่ซึ่งมีประชาชนเข้าร่วมราว 1.3 ล้านคน คือวันที่ 26 มิถุนายน ปี 1987

 

จนกระทั่งวันที่ 29 มิถุนายนปีเดียวกันนั้น รัฐบาล ‘ชอนดูฮวาน’ ได้ออกแถลงการณ์ประกาศให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และจัดตั้งการเลือกตั้งประธานาธิบดีจากประชาชนโดยตรง ในเดือนธันวาคม ปี 1987

 

ต่อมา ‘โนแทอู’ (Roh Tae Woo) เป็นผู้ชนะการเลือกตั้งและดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 6 จากพรรคยุติธรรมประชาธิปไตย ซึ่งเป็นพรรคของรัฐบาลเดิม ซึ่งถือว่าเป็นชัยชนะจากการเลือกตั้งแบบเสรีครั้งแรกในประวัติศาสตร์เกาหลีใต้

 

รัฐบาลของ ‘โนแทอู’ เปิดโอกาสให้พรรคฝ่ายค้านมีบทบาทมากขึ้นโดยการเปิดสภาเสรี และให้อิสระแก่สื่อมวลชน ให้เสรีภาพในการชุมนุมของประชาชนในด้านการเมืองมากขึ้น

 

แต่หลังจากพ้นตำแหน่งประธานาธิบดี ‘โนแทอู’ ถูกจับกุมในข้อหาก่อกบฏและทรยศต่อชาติ จากการมีส่วนร่วมในการรัฐประหารของ ‘ชอนดูฮวาน’ และเหตุการณ์สังหารประชาชนที่เมืองกวางจู ที่ขณะนั้น ‘โนแทอู’ เป็นหนึ่งในทหารระดับสูงของหน่วยลับทางการทหาร ฮานา-ฮเว ที่สนับสนุนการปราบปรามการประท้วงที่รุนแรง โดยได้รับโทษจำคุก 22 ปี ในขณะที่ ‘ชอนดูฮวาน’ ได้รับโทษประหารชีวิต แต่ต่อมาทั้งสองก็ได้รับการอภัยโทษ

 

โนแทอู (ซ้าย) และ ชอนดูฮวาน (ขวา)

โนแทอู (ซ้าย) และ ชอนดูฮวาน (ขวา)

(ที่มา: pool photo)

 

‘พัคกึน-ฮเย’ กับบทพิสูจน์ประชาธิปไตยอีกครั้ง

 

หลังจากผ่านเหตุการณ์รัฐประหารและการปราบปรามการประท้วงที่รุนแรงที่ผ่านมานั้น เกาหลีใต้เริ่มเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริงมากขึ้น โดยหลังจากสิ้นสุดรัฐบาล ‘ชอนดูฮวาน’ เกาหลีใต้ก็ไม่เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองต่อประชาชนอีกเลย

 

แต่ในวันที่ 29 ตุลาคม ปี 2016 เหตุการณ์ประท้วงเพื่อประชาธิปไตยช่วง ‘พัคกึน‑ฮเย’ (Park Geun Hye) ถือเป็นบททดสอบครั้งสำคัญของประชาธิปไตยเกาหลีใต้อีกครั้ง ในปลายปี มีข้อมูลหลุดออกมาว่า ‘พัคกึน‑ฮเย’ จากพรรคแซนูรี ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 11 และเป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกของเกาหลีใต้ มีส่วนเกี่ยวข้องกับ ‘ชเว-ซุนชิล’ (Choi Soon Sil) ซึ่งไม่ใช่เจ้าหน้าที่ในรัฐบาล แต่สามารถเข้าถึงข้อมูลลับระดับชาติ และมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจในนโยบายหลายด้าน  รวมถึงมีการเรียกรับเงินจากกลุ่มธุรกิจใหญ่ในประเทศที่เรียกว่า แชโบล เช่น Samsung และ LG เพื่อก่อตั้งมูลนิธิโดยเป็นผู้บริหาร

 

เรื่องนี้จุดชนวนให้ประชาชนเริ่มออกมาเดินขบวนในสัปดาห์แรกของเดือนพฤศจิกายน มีผู้ชุมนุมหลายแสนคนร่วมประท้วงที่จตุรัสควังฮวามุน (Gwanghwamun Square) โดยเรียกร้องให้ ‘พัคกึน‑ฮเย’ ลาออกจากตำแหน่ง โดยเรียกการประท้วงครั้งนี้ว่า Candlelight Revolution หรือการปฏิวัติด้วยแสงเทียน ซึ่งทุกสุดสัปดาห์มีผู้ถือเทียนถึงเกือบสองล้านคนออกมาชุมนุม โดยตำรวจประเมินว่ามีการชุมนุมกว่า 1.5 ล้านคนในบางคืน

 

การชุมนุมในครั้งนี้ใช้เวลาต่อเนื่องกว่า 20 สัปดาห์ นำไปสู่การลงมติถอดถอนในรัฐสภาเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม ปี 2016 และศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้พ้นจากตำแหน่งอย่างเป็นเอกฉันท์ เมื่อวันที่ 10 มีนาคม ปี 2017 ซึ่งเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยเกาหลีใต้ที่ผู้นำถูกถอดออกจากตำแหน่งด้วยการเคลื่อนไหวของประชาชน และไม่มีการใช้ความรุนแรง นอกจากนี้ เทียนยังถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของประชาธิปไตยที่สะท้อนว่าประชาชนยังมีบทบาทในการต่อรองกับรัฐบาล  

 

หลังถูกถอดถอนจากตำแหน่งและถูกฟ้องร้อง ‘พัค กึน‑ฮเย’ ถูกตัดสินจำคุกเป็นเวลา 24 ปี ในขณะที่ ‘ชเว-ซุนชิล’ ก็ถูกตัดสินจำคุกเป็นเวลา 20 ปีด้วยเช่นกัน

 

เหตุการณ์นี้ไม่เพียงแค่ทำให้เกิดการเปลี่ยนผู้นำอย่างสันติ แต่ยังกลายเป็นตัวอย่างระดับโลกของประชาธิปไตยที่สามารถบังคับใช้อำนาจจากประชาชนที่ไม่ใช้ความรุนแรงอย่างแท้จริง

 

การประท้วงโดยใช้แสงเทียน (Candlelight Revolution)

การประท้วงโดยใช้แสงเทียน (Candlelight Revolution)

(ที่มา: Kyunghyang Shinmun)

 

กฎอัยการศึกกลับมาอีกครั้ง ภายใต้การปกครองของ ‘ยุนซอกยอล’

 

หลังจากขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเกาหลีใต้คนที่ 13 ในปี 2022 ‘ยุนซอกยอล’ (Yoon Suk Yeol) ซึ่งมาจากพรรคพลังประชาชน ซึ่งเป็นพรรคอนุรักษนิยมของเกาหลีใต้ ได้เผชิญกับการประท้วงจากประชาชนอีกครั้ง เนื่องจากแนวทางการบริหารประเทศที่เข้มงวด และข้อครหาเรื่องการใช้มาตรการรัฐอำนาจนิยม ซึ่งทำให้เกิดความไม่พอใจในหมู่ประชาชนจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่และฝ่ายเสรีนิยม

 

จุดแตกหักเกิดขึ้นในวันที่ 3 ธันวาคม ปี 2024 เมื่อ ‘ยุนซอกยอล’ ออกคำสั่ง ประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วประเทศ ซึ่งเป็นการประกาศใช้ในรอบเกือบ 50 ปีในเกาหลีใต้ โดยอ้างเหตุผลด้านความมั่นคง และมีภัยคุกคามจากกลุ่มที่เชื่อมโยงกับเกาหลีเหนือและเครือข่ายคอมมิวนิสต์ ซึ่งคำประกาศนี้สร้างความตื่นตระหนกไปทั่วประเทศ 

 

แม้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็ร่วมโหวตยกเลิกการใช้กฎอัยการศึก หลังจากประกาศใช้ไม่กี่ชั่วโมง

 

แต่คนทั้งประเทศก็มองว่าการใช้กฎอัยการศึกเป็นข้ออ้างให้ ‘ยุนซอกยอล’ สามารถควบคุมอำนาจ โดยมีการระงับการประชุมของรัฐสภา ควบคุมสื่อมวลชน และอนุญาตให้กองทัพเข้าควบคุมพื้นที่สาธารณะบางแห่ง รวมถึงจับกุมผู้ต้องสงสัยโดยไม่มีหมายศาล ซึ่งถือว่าเป็นการใช้อำนาจเกินขอบเขต

 

จากเหตุการณ์นี้ ทำให้ประชาชนหลายแสนคนออกมารวมตัวชุมนุมที่จัตุรัสควังฮวามุน (Gwanghwamun Square) ใจกลางกรุงโซลอีกครั้ง โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนที่มีบทบาทอย่างโดดเด่นในการเคลื่อนไหว พวกเขาร่วมกันร้องเพลงของศิลปิน K-POP ซึ่งมีเนื้อหาสะท้อนความหวังในประชาธิปไตยและการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เช่น Into The New World ของวง Girls’ Generation นอกจากนี้ แท่งไฟของศิลปิน K-POP ยังถูกนำมาใช้แทนเทียนแบบดั้งเดิม กลายเป็นสัญลักษณ์ของประชาชน การประท้วงครั้งนี้จึงสะท้อนถึงพัฒนาการของวัฒนธรรมการเคลื่อนไหวในเกาหลีใต้ ที่ผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมสมัยใหม่กับการแสดงออกทางการเมือง 

 

การชุมนุมขยายตัวอย่างรวดเร็วทุกสัปดาห์ โดยในบางวันมีผู้เข้าร่วมมากกว่า 2 ล้านคนทั่วประเทศ และยังมีการเดินขบวนพร้อมกันในหลายเมืองใหญ่ เช่น ปูซาน และแทกู ภายใต้แรงกดดันนี้ รัฐสภาจึงเสนอให้ถอดถอน ‘ยุนซอกยอล’ ออกจากตำแหน่ง โดยคำตัดสินสุดท้ายมาจาก ศาลรัฐธรรมนูญซึ่งมีมติเอกฉันท์ให้พ้นจากตำแหน่ง ในวันที่ 4 เมษายน ปี 2025 ด้วยเหตุผลที่ใช้อำนาจเกินขอบเขต และขัดต่อรัฐธรรมนูญในการจำกัดสิทธิเสรีภาพพลเมืองโดยไม่มีเหตุอันควร ทั้งนี้  ‘ยุนซอกยอล’ กลายเป็นประธานาธิบดีคนที่สองของเกาหลีใต้ ถัดจาก ‘พัคกึน-ฮเย’ ที่ถูกถอดจากตำแหน่งอย่างเป็นทางการ

 

เหตุการณ์นี้จึงเป็นอีกเหตุการณ์ที่สามารถยืนยันถึงความเข้มแข็งของระบอบประชาธิปไตยในเกาหลีใต้ได้เป็นอย่างดี แม้ ‘ยุนซอกยอล’ จะพยายามรวมศูนย์อำนาจ แต่พลังของประชาชนก็สามารถปกป้องสิทธิเสรีภาพไว้ได้ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ที่ได้แสดงให้เห็นว่าประชาธิปไตยในเกาหลีใต้ ไม่ใช่เพียงการเลือกตั้ง แต่รวมถึงการตรวจสอบ และแสดงออกเมื่อมีผู้ละเมิดกติกา

 

‘ยุนซอกยอล’ ถูกฟ้องร้องจากการประกาศใช้กฎอัยการศึก และถูกจับกุมครั้งแรกในวันที่ 15 มกราคม ปี 2025 แต่ก็ได้รับการปล่อยตัวออกมาเนื่องจากศาลเห็นว่าเงื่อนไขยังไม่สมบูรณ์ แต่ต่อมาในวันที่ 10 กรกฎาคมที่ผ่านมาก็ถูกจับกุมอีกครั้ง โดยศาลรับคำร้องของอัยการพิเศษที่กล่าวว่า ‘ยุนซอกยอล’ อาจจะทำลายหลักฐานหรือสั่งการเพื่อขัดขวางกระบวนการยุติธรรม เช่น การสั่งลบข้อมูลบางอย่าง หรือใช้เจ้าหน้าที่ส่วนตัวช่วยเลี่ยงการจับกุม

 

‘ยุนซอกยอล’ ถูกตั้งข้อหา ก่อรัฐประหาร, ใช้อำนาจเกินขอบเขตโดยการปกครองแบบอำนาจนิยม, ขัดขวางกระบวนการตรวจสอบ และการลบเอกสารดิจิทัลเพื่อปกปิดหลักฐาน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้อยู่ในการควบคุมตัวอย่างเข้มงวด และหากมีการตั้งข้อหาเพิ่มเติมจากกระบวนการสอบสวนของอัยการพิเศษ และหากถูกพิจารณาว่าเป็นการก่อกบฏ อาจถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิตหรือโทษประหาร

 

การประท้วงอดีตประธานาธิบดี ‘ยุนซอกยอล’

การประท้วงอดีตประธานาธิบดี ‘ยุนซอกยอล’

(ที่มา: The Korea Herald)

 

บทพิสูจน์ประชาธิปไตย ไร้ความรุนแรง แต่ฉ้อโกง

 

หลังพ้นตำแหน่งประธานาธิบดีของ ‘พัคกึน-ฮเย’ ก็ได้จัดตั้งการเลือกตั้งขึ้นมาอีกครั้งในวันที่ 9 พฤษภาคม ปี 2017 โดยผู้ชนะการเลือกตั้งคือ ‘มุนแจอิน’ (Mun Jae In) จากพรรคประชาธิปไตย ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 12 ของประเทศเกาหลีใต้ แม้นโยบายในการทำงานจะดูมีความโปร่งใส และเป็นประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมกับประชาชน ทั้งการสร้าง Blue House E-petition แพลตฟอร์มที่ให้ประชาชนส่งคำร้องเรียนถึงรัฐบาลได้โดยตรง รวมถึงนโยบายด้านอื่นๆ แต่ก็ยังมีข้อครหา

 

หลังจากพ้นตำแหน่งในปี 2022 ต่อมา ‘มุนแจอิน’ ถูกสอบสวนและถูกตั้งข้อหาทุจริตในวันที่ 24 เมษายน ปี 2025 โดยที่มาของคดีนี้เริ่มจากการว่าจ้าง อดีตลูกเขย ให้ทำงานในตำแหน่งผู้บริหารของสายการบิน Thai Eastar Jet ระหว่างปี 2018–2020 แม้จะไม่มีประสบการณ์ในอุตสาหกรรมสายการบินเลยก็ตาม และอ้างว่ามีหน้าที่บริหารเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่กลับได้รับค่าตอบแทนรวมกว่า 217 ล้านวอน

 

นอกจากนี้ยังโยงไปถึงการแต่งตั้ง ‘ลีซังจิก’ (Lee Sang-jik) อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และผู้ก่อตั้งสายการบิน ให้ดำรงตำแหน่งสำคัญในรัฐบาล ซึ่งถูกมองว่าเป็นการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์

 

แต่ศาลไม่อนุมัติควบคุมตัว เนื่องจากไม่มีหลักฐานว่าเขาจะหลบหนีหรือทำลายเอกสาร

 

ทั้งนี้ ‘มุนแจอิน’ ได้ปฏิเสธข้อกล่าวหา และกล่าวว่าเป็นการโจมตีทางการเมืองโดยฝ่ายตรงข้ามในช่วงใกล้เลือกตั้ง 

 

ในขณะนี้ยังต้องรอการตัดสินจากศาล หาก ‘มุนแจอิน’ ถูกตัดสินว่ามีความผิด อาจต้องรับโทษจำคุกหรือถูกตัดสิทธิทางการเมือง

 

อดีตประธานาธิบดี ‘มุนแจอิน’

อดีตประธานาธิบดี ‘มุนแจอิน’

(ที่มา: Kyunghyang Shinmun)

 

ต่อมาหลังการถอดถอน ‘ยุนซอกยอล’ ออกจากตำแหน่งประธานาธิบดี เกาหลีใต้ได้มีการเลือกตั้งครั้งใหม่ โดยประธานาธิบดีคนที่ 14 ของประเทศคือ ‘อีแจ-มยอง’ (Lee Jae Myung) จากพรรคเดโมแครต (DPK) โดยมีจุดยืนที่ชัดเจนว่าจะปกครองอย่างโปร่งใส และผลักดันเรื่องการกระจายอำนาจ

 

แต่ในขณะเดียวกัน ‘อีแจ-มยอง’ ก็ต้องเผชิญกับข้อครหาหลังการรับตำแหน่งมากมาย โดยถูกตั้งข้อหาว่าทำการละเมิดกฎหมายเลือกตั้ง ซึ่งศาลได้ตัดสินในเดือนพฤศจิกายน 2024 ว่าได้ให้ข้อมูลเท็จระหว่างการปราศรัยในปี 2022 และคดีการใช้เงินทุนสาธารณะส่วนตัว โดยใช้บัตรเครดิตของจังหวัดคยองกีขณะดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อใช้จ่ายส่วนตัว ประมาณ 106 ล้านวอน หรือประมาณ 2.5 ล้านบาท 

 

นอกจากนี้ยังถูกตั้งข้อกล่าวหาว่ามีการโอนเงินผิดกฎหมายไปยังเกาหลีเหนือจำนวน 8 ล้านดอลลาร์ แต่ ‘อีแจ-มยอง’ ยืนยันว่าไม่มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ โดยอัยการยื่นฟ้องต่อศาลว่า ‘อีแจ-มยอง’ ในขณะนี้อยู่ในระหว่างการตัดสินคดี ซึ่งหากตัดสินว่ามีความผิดจริงอาจทำให้ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง  แต่ในขณะนี้คดียังอยู่ในระหว่างการพิจารณา

 

ประธานาธิบดี ‘อีแจ-มยอง’

ประธานาธิบดี ‘อีแจ-มยอง’

(ที่มา: Kim Kyung Ho)

 

ประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยในเกาหลีใต้ สะท้อนให้เห็นถึงพลังของประชาชนในการผลักดัน และรักษาประชาธิปไตย แม้จะมีความท้าทายจากการรัฐประหาร การใช้อำนาจเกินขอบเขต และการปราบปรามประท้วงอย่างรุนแรง แต่ประชาชนยังคงยืนหยัดในความเป็นประชาธิปไตยที่ถูกต้อง  และระบอบยุติธรรมก็พร้อมที่จะตรวจสอบอำนาจ เรียกร้องความโปร่งใสอย่างต่อเนื่อง

 

ด้วยความเข้มแข็งของประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วมของประชาชน เกาหลีใต้จึงกลายเป็นตัวอย่างประเทศที่มีเสรีภาพและความยุติธรรมสูงในระดับโลก แสดงให้เห็นว่าประชาธิปไตยไม่ได้หมายถึงแค่การเลือกตั้ง แต่คือการตรวจสอบและปกป้องสิทธิอย่างแท้จริงของประชาชนทุกคน

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising