หุ้นไทยพุ่งเฉียด 20 จุด แตะ 1,130.28 จุด สูงสุดในรอบ 1 เดือน นักวิเคราะห์ชี้แรงหนุนจากเงินเฟ้อจีนพลิกเป็นบวก ช่วยดันหุ้นที่เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจจีน
ช่วงครึ่งวันแรกของวันนี้ (11 กรกฎาคม) ดัชนี SET ของหุ้นไทยปรับตัวขึ้นสูงสุดที่ 1,130 .28 จุด +19.88 จุด หรือราว 1.6% สูงสุดนับแต่ 12 มิถุนายนที่ผ่านมา
ภาดล วรรณรัตน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์การลงทุน บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) กล่าวว่า การปรับตัวขึ้นของหุ้นไทยวันนี้ได้แรงหนุนจากตลาดหุ้นจีนและฮ่องกง หลังจากที่จีนรายงานเงินเฟ้อเป็นบวก ทำให้เกิดความคาดหวังว่าจีนจะหลุดจากภาวะเงินฝืด รวมถึงคาดหวังต่อการออกมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ จากการประชุมใหญ่ของจีน
“หุ้นไทยขึ้นกระจุกตัวมาก เช่น SCC +4.4% PTTGC +7% ซึ่งเป็นหุ้นที่ได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน รวมทั้ง AOT +4-5% จากความคาดหวังว่านักท่องเที่ยวจีนจะกลับมามากขึ้น”
ภาดลกล่าวต่อว่า หากไม่นับ DELTA ที่ปรับตัวขึ้นแรงเช่นกัน หุ้นขนาดใหญ่ของไทยขึ้นกระจุกตัวในกลุ่มที่เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจจีน ซึ่งอาจจะช่วยดึงหุ้นตัวอื่นๆ ขึ้นตามมาได้ แต่การขึ้นแบบกระจุกตัวทำให้การฟื้นตัวโดยรวมของตลาดอาจจะไม่แข็งแรงมากนัก
ภาดลคาดว่า หุ้นไทยน่าจะแกว่งกรอบ 1,100 – 1,150 จุด โดยยังมี 3 ปัจจัยสำคัญที่ต้องจับตาหลังจากนี้
1.การเจรจากับสหรัฐฯ เรื่องของภาษี เพื่อให้ได้ข้อสรุปก่อน 1 สิงหาคมนี้
2.ปัจจัยการเมืองในประเทศ
3.ผลประกอบการไตรมาส 2 ของหุ้นไทย โดยกลุ่มธนาคารจะเริ่มรายงานในสัปดาห์หน้า หากกำไรออกมาดีจะช่วยให้ sentiment ตลาดดีต่อเนื่องได้
ING เผยเงินเฟ้อจีนพลิกบวกในรอบ 6 เดือน
ด้านธนาคาร ING ระบุว่า เงินเฟ้อจีนพลิกบวกในเดือนมิถุนายน แต่แรงกดดันด้านเงินฝืดยังคงอยู่ โดยอัตราเงินเฟ้อดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของจีนในเดือนมิถุนายน พลิกกลับมาเป็นบวกได้เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนมกราคม โดยขยายตัว 0.1% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า (YoY) หลังจากที่หดตัว -0.1% YoY ในเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นตัวเลขที่ดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้
เมื่อพิจารณาในหมวดหมู่ย่อย ราคาสินค้าหมวดอาหารยังคงอยู่ในภาวะเงินฝืดที่ -0.3% YoY ซึ่งเป็นการติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 สินค้าอาหารส่วนใหญ่ยังคงมีราคาลดลง
อัตราเงินเฟ้อหมวดที่ไม่ใช่อาหารมีทิศทางที่ดีกว่าในเดือนนี้ โดยขยายตัว 0.1% YoY ซึ่งช่วยชดเชยแรงกดดันจากราคาอาหารได้ อัตราเงินเฟ้อที่สูงที่สุดอย่างชัดเจนอยู่ในหมวดหมู่ย่อยสินค้าและบริการอื่นๆ ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 8.1% YoY
ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) หดตัวลงลึกขึ้นในภาวะเงินฝืด มาอยู่ที่ -3.6% YoY ซึ่งนับเป็นเดือนที่ 33 ติดต่อกันที่ราคาสินค้าจากโรงงานลดลง และเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 23 เดือน
ตลอดครึ่งแรกของปีนี้ อัตราเงินเฟ้อ CPI ของจีนยังคงอยู่ในภาวะเงินฝืดเล็กน้อยที่ -0.1% YoY ขณะที่เงินฝืด PPI ฝังรากลึกอยู่ที่ -2.8% YoY เมื่อรวมกับตัวปรับลด GDP (GDP Deflator) ที่ติดลบอย่างต่อเนื่อง ทำให้ภาวะเงินฝืดยังคงเป็นปัญหาที่น่ากังวล
หนึ่งในสาเหตุหลักคือวงจรการหดตัว (Contractionary Cycle) ที่มีการแข่งขันด้านราคาอย่างรุนแรง รวมถึงการตรึงและการลดค่าจ้าง ซึ่งเป็นความท้าทายที่แก้ไขได้ยาก อย่างไรก็ตาม เมื่อเร็วๆ นี้ ผู้กำหนดนโยบายได้หันมาให้ความสนใจกับการแก้ไขปัญหานี้ โดยมุ่งเน้นไปที่การปรับปรุงกลไกการออกจากตลาด (Market Exit Mechanisms) การส่งเสริมการควบรวมและปรับโครงสร้าง และการจัดการกับการปฏิบัติที่ไม่เป็นไปตามกลไกตลาดซึ่งส่งผลให้เกิดการแข่งขันด้านราคาที่มากเกินไป
จีนส่งสัญญาณแก้ปัญหาสงครามราคา หลังเผชิญเงินฝืดภาคการผลิต 33 เดือนติด
สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน กำลังส่งสัญญาณที่ชัดเจนและแข็งกร้าวว่าพร้อมจะเข้าจัดการกับปัญหา “กำลังการผลิตล้นเกิน (Overcapacity)” อย่างจริงจัง หลังจากปล่อยให้ภาวะเงินฝืดในภาคโรงงานและสงครามตัดราคาที่ดุเดือดกัดกร่อนเศรษฐกิจจีนมานานหลายปี
ท่าทีที่เปลี่ยนไปของผู้นำจีนเกิดขึ้นท่ามกลางแรงกดดันที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งจากมาตรการกำแพงภาษีของสหรัฐฯ และตัวเลขเศรษฐกิจภายในประเทศที่น่ากังวล โดยล่าสุดจีนรายงานว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ในเดือนมิถุนายน ลดลง 3.6% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งนับเป็นการติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 33 และเป็นการหดตัวที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2566 อีกทั้งยังย่ำแย่กว่าที่นักเศรษฐศาสตร์ทุกคนคาดการณ์ไว้ ตอกย้ำถึงความเร่งด่วนของปัญหา
ปัญหาดังกล่าวได้ก่อให้เกิดสงครามราคาที่รุนแรงในหลายอุตสาหกรรม ตั้งแต่เหล็กกล้า โซลาร์เซลล์ ไปจนถึงสมรภูมิรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่มีการแข่งขันตัดราคากันอย่างดุเดือดเพื่อระบายสินค้าคงคลัง
การตัดสินใจของจีนในการแก้ปัญหา Overcapacity ถือเป็นข่าวที่ทั่วโลกจับตามอง หากทำได้สำเร็จ จะช่วยลดแรงเสียดทานทางการค้ากับชาติตะวันตกที่กังวลเรื่องการทะลักของสินค้าราคาถูก และอาจช่วยฟื้นความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลกได้
อย่างไรก็ตาม เวนดี้ หลิว หัวหน้านักกลยุทธ์หุ้นเอเชียและจีนของ JPMorgan Chase & Co. ให้ความเห็นผ่าน Bloomberg Television ว่า “หากดำเนินการอย่างถูกต้อง มันจะเป็นประโยชน์ต่อการค้าโลก ในแง่ของการลดความตึงเครียดที่มาจากกำลังการผลิตส่วนเกินของจีนที่ทะลักเข้าสู่ตลาดโลก แต่ในระยะสั้น มันไม่เป็นผลดีต่อ GDP หรือการจ้างงาน ดังนั้นมันจึงเป็นเรื่องของการสร้างสมดุล”
ภาพ: Yuichiro Chino/Getty Images
อ้างอิง: