วันนี้ (11 กรกฎาคม) ภายหลังการประชุมกับทีมไทยแลนด์และทีมที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี เพื่อรับมือกรณีสหรัฐอเมริกาประกาศแจ้งอัตราการเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากไทย 36% ซึ่งใช้ระยะเวลานานเกือบ 3 ชั่วโมง ที่บ้านพิษณุโลก
ปรากฏว่า อรรถกร ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า ประธานที่ปรึกษาพรรคกล้าธรรม, จตุพร บุรุษพัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เดินออกมาส่ง ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในเวลาประมาณ 10.55 น. เพื่อขึ้นรถเดินทางออกจากบ้านพิษณุโลก
จากนั้นพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วย จตุพร, เอกนัฎ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และฉันทวิชญ์ ตัณฑสิทธิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้แถลงข่าวร่วมกัน
พิชัยระบุว่า วันนี้ได้เชิญทีมที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และปลัดกระทรวงการคลัง มาหารือกรณีที่ได้จดหมายจากสหรัฐฯ โดยย้ำว่า การส่งจดหมายดังกล่าว เป็นการเลื่อนเวลาให้เรา ยังไม่ได้เจรจาถึงที่สุด วันนี้จึงได้มีการทบทวน เพราะยังมีเวลาถึงวันที่ 1 สิงหาคม เพื่อจะได้ข้อยุติกับสหรัฐฯ ซึ่งจะพูดคุยกันอีกรอบ
พิชัยกล่าวว่า เมื่อวานนี้ได้เรียกประชุมสภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้าไทย และบริษัทใหญ่ๆ ว่า หากได้รับผลกระทบจะมีมาตรการรองรับอย่างไร ซึ่งได้ข้อสรุป 3 แนวทางในการเจรจา คือ
- การนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ จะต้องไม่ให้ผู้ผลิตโดยเฉพาะเกษตรกร และอุตสาหกรรมรายย่อยได้รับผลกระทบ
- การนำเข้าสินค้าจะต้องดูแลให้ทั่วถึง ไม่ให้เกิดเรื่องที่ไม่เหมาะสม และถือเป็นโอกาสในการทบทวนตัวเองให้สินค้าได้รับการกำกับดูแลให้มีประสิทธิภาพ ทั้งขาเข้าและขาออก
และ 3. มาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ จากการขึ้นภาษีของสหรัฐฯ
ส่วนกรณีที่มีทักษิณมาร่วมประชุมวันนี้ พิชัยกล่าวว่า ตนเป็นผู้เชิญในฐานะที่ทักษิณรู้เรื่องเหล่านี้ดี เชื่อว่าน่าจะให้ข้อคิดเห็นได้ดี และยืนยันว่าเราจะทำให้ดีที่สุดไม่ใช่เฉพาะอัตราภาษี แต่รวมถึงเรื่องอื่นๆ ประกอบด้วย จะชี้แจงให้ชัดเจน และหวังว่าจะไม่ทำให้เสียเปรียบ รวมถึงเชื่อว่าไทยจะไม่ได้รับผลกระทบสูงกว่าประเทศอื่น
พิชัยกล่าวว่า จะสรุปข้อมูลที่ได้ประชุมกัน รวมถึงที่ได้หารือกับภาคเอกชน ในวันจันทร์ที่ 14 กรกฎาคม ว่า มีข้อเสนอใดที่จะต้องปรับปรุงเพื่อยื่นข้อเสนอเพิ่มเติมอีกหรือไม่ จากเดิมที่เคย เสนอสหรัฐ ฯไปแล้วเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม และจะหาโอกาสในการพูดคุยทางออนไลน์กับผู้ปฏิบัติว่ายังต้องการอะไรอีกหรือไม่ เพื่อทำความเข้าใจกันก่อน และปรับปรุงข้อเสนออีกเล็กน้อย หากจำเป็นก็พร้อมจะเดินทางไปพูดคุย
ทั้งนี้ พิชัยยังระบุว่า สหรัฐฯต้องการเจรจาภาษีเกือบทุกตัวสินค้า และผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะสินค้าทางการเกษตรที่แม้จะมีมูลค่าไม่มากแต่เกี่ยวพันกับคนหมู่มาก