×

‘ดร.ศุภวุฒิ’ ยอมรับดีลภาษีกับสหรัฐฯ อาจสำเร็จได้ยาก 11 ก.ค.นี้ เปิดบ้านพิษณุโลก นัดทีมไทยแลนด์ร่วมถก รมว.เศรษฐกิจทุกกระทรวง เร่งหาทางออก

10.07.2025
  • LOADING...

วันที่ 11 กรกฎาคมนี้ ที่ปรึกษาด้านนโยบายของนายกรัฐมนตรี เตรียมเปิดบ้านพิษณุโลก หารือร่วม ‘ทีมไทยแลนด์’ นำโดย พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะหัวหน้าคณะเจรจาทีมไทยแลนด์ รวมรัฐมนตรีเศรษฐกิจทุกกระทรวง หาทางรับมือเจรจาภาษีสหรัฐฯ ที่ประกาศเก็บสินค้านำเข้าจากไทยที่อัตรา 36%

 

ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษาด้านนโยบายของนายกรัฐมนตรี ที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร และประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD WEALTH ว่า ในการประชุมดังกล่าวตนไม่ได้มีบทบาทเป็นผู้กำหนดท่าทีในการเจรจาภาษีการค้ากับสหรัฐฯ แต่จะเข้าร่วมเพื่อรับฟังข้อมูลและให้คำปรึกษาทางนโยบายหากจำเป็น โดยระบุว่า กรอบเจรจาเบื้องต้นได้มีการสนับสนุนตั้งแต่ก่อนเริ่มต้นแล้ว แต่การเจรจาเชิงลึกต้องขึ้นอยู่กับคณะเจรจาอย่างเป็นทางการซึ่งมี พิชัย ชุณหวชิร หัวหน้าคณะเจรจา

 

“ผมจะไปร่วมประชุมในฐานะผู้ฟัง ไม่ได้มีบทบาทในรายละเอียดการเจรจาโดยตรง เพราะหน้าที่ตรงนั้นเป็นของทีมเจรจาโดยเฉพาะ จึงจะขอฟังข้อมูลจากทีมไทยแลนด์ก่อน จากนั้นทางทีมที่ปรึกษาด้านนโยบายของนายกรัฐมนตรี จึงจะมีคำแนะนำในที่ประชุมที่มีรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจต่างๆ มาร่วมประชุมในครั้งนี้เป็นครั้งแรกด้วย” ดร.ศุภวุฒิกล่าว

 

ภาพ: ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษาด้านนโยบายของนายกรัฐมนตรี

ที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร และประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์)

 

สำหรับประเด็นที่สหรัฐฯ ต้องการจากไทยในการแลกเปลี่ยนเพื่อยกเลิกมาตรการภาษี 36% นั้น มีรายงานว่า มีข้อเสนอหลัก 4 ด้าน ได้แก่

 

1. การเปิดเสรีสินค้าเกษตร
2. การเปิดเสรีธุรกิจการเงิน
3. การเปิดเสรีโทรคมนาคม
4. การจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์จากสหรัฐฯ

 

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลทั้ง 4 ข้อนี้ดังกล่าวข้างต้นมีการปรากฏในเอกสารรายงานประจำปีของ USCR (United States Country Report) อยู่แล้ว และยังมีรายการข้อเรียกร้องอื่นอีกจำนวนมาก จึงเชื่อว่าในการเจรจาครั้งนี้ ไทยจะต้องโฟกัสประเด็นหลักที่เกี่ยวข้องกับการเปิดตลาด (Market Access) เป็นสำคัญ

 

โดยประเด็นที่เชื่อว่าสหรัฐฯ จะยกมาเป็นเงื่อนไขหลัก ได้แก่

 

  • การเข้าถึงตลาด (Access to Market) ทั้งในรูปของภาษีศุลกากร และ
  • มาตรการที่ไม่ใช่ภาษี (Non-Tariff Measures)
  • ประเด็นการส่งสินค้าผ่านประเทศที่สาม (Transshipment)

 

“สหรัฐฯ ได้ขยายกรอบเวลาออกไปถึง 1 สิงหาคมนี้ที่จะเริ่มมีผลบังคับใช้ในการจัดเก็บภาษี ไม่ใช่แค่กับประเทศไทยเท่านั้น แต่กับทุกประเทศ ผมคิดและพูดอยู่เสมอว่ามันยาก เพราะสหรัฐฯ เขาจะต้องการเอาประโยชน์ของเขาแต่ฝ่ายเดียว การเจรจาจึงยาก ผมเลยไม่กล้าคาดหวังหรือมีความคาดหวังว่าเราจะทำได้สำเร็จ ผมพูดตรงๆ” ดร.ศุภวุฒิกล่าวย้ำ

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising