×

อดีตผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ‘ธาริษา วัฒนเกส’ เขียนจดหมายเปิดผนึกถึงรมต.คลัง เตือนผู้ว่าฯคนใหม่ต้อง ‘เป็นอิสระจากการเมือง’

08.07.2025
  • LOADING...
ดร.ธาริษา วัฒนเกส อดีตผู้ว่าฯ ธปท.

วันนี้ (8 กรกฎาคม) ดร.ธาริษา วัฒนเกส อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้เขียนจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยมีใจความดังนี้ 

 

จดหมายเปิดผนึกถึง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

 

ขณะนี้ท่านมีรายชื่อแคนดิเดตผู้ว่าการ #ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อยู่ในมือสองคน อยู่ที่ท่านว่าจะเสนอใครต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป เรื่องความเหมาะสมมีการพูดกันมากแล้ว 

 

ดิฉันใคร่ขอเตือนสติท่านเพียงประเด็นเดียวว่า คุณสมบัติที่สำคัญที่สุดของผู้ว่าการธนาคารกลางคือ การทำนโยบายอย่าง ‘เป็นอิสระจากการเมือง’ หรือที่เราเรียกว่า Central Bank Independence ซึ่งเป็นสิ่งที่จะธำรงไว้ซึ่งความน่าเชื่อถือในการทำนโยบายของธนาคารกลาง และมีผลพวงถึงความน่าเชื่อถือของประเทศในสายตาของนักลงทุนต่างประเทศด้วย 

 

ไม่ได้หมายความว่า #ธนาคารกลาง และ #รัฐบาล จะต้องขัดแย้งกัน ทุกฝ่ายจะต้องทำงานร่วมกันอยู่แล้ว แต่ทั้งสองฝ่ายมีเป้าหมายของการทำนโยบายระยะสั้น-ยาวไม่เท่ากัน 

 

การทำนโยบายของธนาคารกลางซึ่งมุ่งเน้นผลในระยะยาว จึงเป็นการถ่วงดุลไม่ให้มีแต่นโยบายระยะสั้นจนเป็นผลเสียในระยะยาว การเป็นอิสระจากการเมือง จึงเป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างยิ่ง 

 

เราเคยเห็นตัวอย่างแล้วจากต่างประเทศว่าการขาดความอิสระของธนาคารกลางสร้างความเสียหายแก่เศรษฐกิจและระบบการเงินอย่างไร เช่น ในตุรกี ในสมัยประธานาธิบดี Erdogan การแทรกแซงทางการเมืองทำให้นโยบายการเงินขาดความเป็นอิสระ อัตราดอกเบี้ยนโยบายต่ำเกินไปเป็นเวลานาน  เป็นผลให้ค่าครองชีพพุ่งสูง นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นอย่างรุนแรง และค่าเงินอ่อนลงอย่างมาก 

 

คนทำงานใน #ธนาคารแห่งประเทศไทย ซึมซับถึงหลักการสำคัญข้อนี้ดี ตรงกันข้าม #ผู้บริหารธนาคารเฉพาะกิจ คุ้นเคยกับการรับนโยบายของรัฐบาลไปทำอยู่แล้ว เพราะเมื่อเกิดความเสียหาย รัฐบาลก็ต้องชดเชยให้ (ตามกติกาการกันสำรองหนี้สูญหรือเพิ่มทุนของการกำกับดูแลของ ธปท.) 

 

จึงไม่มีความเสี่ยงกับองค์กรในการรับนโยบายของรัฐบาลมาทำ ซึ่งต่างจากกรณีขององค์กร เช่น #ธปท. อย่างมาก เพราะถ้าเกิดความเสียหาย คือ #ความเสียหายของประเทศชาติ  

 

ดังนั้น ถ้าท่านเลือกผู้ว่าการที่มีประสบการณ์การทำงานเดิมที่ต้องสนองนโยบายของรัฐจนเป็นความเคยชิน จึงยากที่จะคาดหวังให้ทำหน้าที่ของผู้ว่าการอย่างเป็นอิสระ ที่จริงยังไม่ต้องทำนโยบายอะไร เพียงแค่ประวัติและประสบการณ์ที่ก่อให้เกิด perception ว่าผู้ว่าการ ธปท. คนใหม่เป็นคนที่ใกล้ชิดกับรัฐบาล และเคยสนองนโยบายของรัฐบาลมาตลอดในฐานะผู้บริหารของธนาคารของรัฐ ความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศต่อสถาบันนี้ก็จะเสื่อมถอยไปทันที 

 

ปัจจุบันนักลงทุนต่างประเทศก็เลือกไปลงทุนในประเทศอื่นๆ ในอาเซียนมากขึ้นเรื่อยๆ อยู่แล้ว 

 

ท่ามกลางความท้าทายที่รุมเร้าจากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่ำกว่าศักยภาพ  ตัวเลขหนี้สินภาคครัวเรือนที่สูงอยู่ที่ระดับ 87.5% และยังมีผลกระทบของสงครามการค้าหากไทยถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าสูงถึง 36% 

 

ดิฉันหวังว่าท่านจะไม่ทำให้ความน่าเชื่อถือต่อธนาคารกลางเสื่อมถอยไปอีกสถาบันหนึ่ง ซึ่งจะเป็นตัวเร่งให้ความเชื่อมั่นต่อประเทศชาติหดหายไปมากยิ่งขึ้นอีก 

 

ดร.ธาริษา วัฒนเกส

อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

8 กรกฎาคม 2568

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising